ตอนที่ 14 : เที่ยว อ่างทอง สิงห์บุรี ลพบุรี สุพรรณบุรี

อ่างทอง สิงห์บุรี ลพบุรี สุพรรณบุรี

(เดินทางระหว่างวันที่ 10-12 ธันวาคม 2562 และ 4-5 มกราคม 2563)               

By: รณยุทธ์  จิตรดอน

      จังหวัดเมืองรองภาคกลางถึงแม้จะตั้งอยู่ในระยะประมาณ 200 กิโลเมตรจากกรุงเทพมหานคร แต่ก็ได้จัดการเดินทางเป็น 2 ครั้ง คือ ระหว่าง 10-12 ธันวาคม 2562  มีอ่างทอง สิงห์บุรี  ลพบุรี และได้แยกเดินทางไปสุพรรณบุรีอีกครั้งระหว่าง 4-5 มกราคม 2563

      พื้นที่ภาคกลางดังกล่าวได้เกี่ยวข้องมาตั้งแต่เป็นประธานกรรมการติดตามตรวจสอบการบูรณะศาสนสถานและโบราณสถาน พ.ศ. 2555 และเมื่อเป็นที่ปรึกษากรมการท่องเที่ยว พ.ศ. 2556 - 2558 การไปเยือนอีกครั้งได้ทบทวนสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆว่าได้มีการพัฒนาขึ้น และมีนักท่องเที่ยวนิยมมากขึ้นกว่าเดิมไหมด้วย

      เริ่มต้นจาก วัดป่าโมก ซึ่งเป็นวัดที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ กล่าวคือ สมเด็จพระนเรศวรมหาราชได้เคยเสด็จมาถวายสักการะพระพุทธไสยาสน์และชุมนุมพลเมื่อคราวที่จะยกทัพไปรบกับพระมหาอุปราช พระพุทธไสยาสน์ที่วัดแห่งนี้ มีขนาดใหญ่และงดงามมากองค์หนึ่ง 

      ด้วยเหตุที่มีที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา เมื่อคราวเกิดมหาอุทกภัยปลายปี พ.ศ.2554 วัดได้ถูกน้ำท่วมอาคารสถานที่เสียหายพระวิหารพระพุทธไสยาสน์ผุกร่อน ฝาผนังและหลังคาชำรุดทรุดโทรมและปูนติดทององค์พระหลุดออกเสียหาย ทางสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ และกรมศิลปากรจึงได้จัดสรรงบประมาณจำนวนหนึ่งบูรณะซ่อมแซมให้กลับสู่สภาพสมบูรณ์

      วัดม่วง ที่อำเภอวิเศษชัยชาญ นักท่องเที่ยวจะ.แวะมาสักการะ ”พระพุทธมหานวมินทร์ศากยมุนีวิเศษชัยชาญ” หรือ หลวงพ่อใหญ่ 

      วัดต่อมาคือ วัดขุนอินทประมูล อำเภอโพธิ์ทอง เป็นวัดโบราณสร้างขึ้นในสมัยกรุงสุโขทัย มีพระพุทธไสยาสน์องค์ใหญ่ พระนามว่า “พระพุทธไสยาสน์ขุนอินทประมูล” เป็นพระพุทธรูปที่งดงามและมีความสำคัญ

       วัดไชโยวรวิหาร สร้างขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยา แต่เพิ่งจะปรากฏชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันทั่วไปในสมัยรัชกาลที่ 4 เมื่อสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) ได้มาสร้างพระพุทธรูปองค์ใหญ่ไว้ในวัดแห่งนี้ วัดไชโยจึงกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวหลักของจังหวัดไปโดยปริยาย

      เนื่องจากหลวงพ่อโตองค์เดิมที่สร้างไว้กลางแจ้งได้พังทลายลงเสียก่อน รัชกาลที่ 5 โปรดฯให้สร้าง”หลวงพ่อโต” ที่ประดิษฐานในพระวิหารวัดนี้ สร้างขึ้นตามแบบหลวงพ่อโต วัดกัลยาณมิตร โดยพระมหาวิหารสร้างเป็นเรือนใหญ่ครอบองค์พระไว้ เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กทรงไทย

      ก่อนที่จะเดินทางต่อ แวะทานข้าวกลางวันที่ “อินทร์โตฟาร์ม” นอกจากอาหารกลางวันเลิศรสที่นักท่องเที่ยวที่ผ่านมาทางนี้จะต้องแวะแล้ว ที่นี่ยังปลูกแคนตาลูปพันธุ์ดีไว้บริการลูกค้าด้วย ทั้งอยู่ในเมนูอาหารคาวหวาน หรือจะซื้อเป็นลูกกลับบ้าน

      ต่อจากอ่างทอง เดินทางเข้าสิงห์บุรี ซึ่งเป็นจังหวัดที่อยู่ติดต่อกัน 

สิงห์บุรี เกิดจากการรวมเมืองเล็กๆ 3 เมือง คือ เมืองอินทร์บุรี พรหมบุรี และสิงห์บุรีเข้าด้วยกัน ในสมัยรัชกาลที่ 5 

      สิงห์บุรี มีสถานที่ท่องเที่ยวไม่มาก แต่มีวัดวาอารามเป็นจำนวนมาก เกือบ 200 วัด วัดอัมพวัน อำเภออินทร์บุรี เป็นวัดที่ทีชื่อเสียงในด้านการอบรมวิปัสสนากรรมฐาน  ตั้งแต่พระธรรมสิงหบุราจารย์ (หลวงพ่อจรัญ ฐิตธมโม) เป็นเจ้าอาวาส ก็มีผู้มาปฏิบัติธรรมจำนวนมาก โดยผู้ที่มาวัดอัมพวัน ส่วนมากจะมาแบบแสวงบุญหรือเชิงปฏิบัติธรรมมากกว่าเที่ยวเยี่ยมชมสถานที่

      วัดพระนอนจักสีห์ นักท่องเที่ยวมากราบไหว้ขอพรองค์ พระพุทธไสยาสน์ ที่ประดิษฐานอยู่ในวิหาร

จุดต่อมา คือ อุทยานวีรชนค่ายบางระจัน อีกด้านของอุทยานฯ เป็น ตลาดไทยย้อนยุคบางระจัน

      ลพบุรี เป็นพื้นที่ที่มีการสำรวจพบชุมชนโบราณยุคก่อนประวัติศาสตร์มากที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศไทย กล่าวคือ พบมากกว่า 47 แห่ง กระจายอยู่ทั่วไปเกือบทุกอำเภอ ซึ่งบางแห่งต่อมาก็ได้พัฒนาขึ้นเป็นชุมชนเมืองในสมัยทวาราวดี (พุทธศตวรรษที่ 12-16) โดยเมืองที่สำคัญที่สุด คือ เมืองลพบุรี ซึ่งในสมัยนั้นมีชื่อว่า “เมืองลวปุระ” หรือ “เมืองละโว้”

      ลพบุรี เป็นเมืองที่มีผังเมืองแสดงพัฒนาการต่อเนื่องมาตั้งแต่สมัยทวาราวดี ลพบุรี อยุธยา มาจนกระทั่งสมัยรัตนโกสินทร์ ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าเป็นเมืองโบราณเพียงแห่งเดียวในประเทศไทยที่ปรากฏหลักฐานการตั้งถิ่นฐานติดต่อกันมานับพันปีโดยไม่เคยถูกทิ้งร้าง 

      สิ่งปลูกสร้างภายในลพบุรี ได้รับอิทธิพลจากขอม โดยโบราณสถานที่ยังคงเหลืออยู่ให้เห็น เช่น วัดพระศรีมหาธาตุ พระปรางค์สามยอด และ ปรางค์แขก  

      เมืองลพบุรี ได้รับการปรับปรุงครั้งใหญ่ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ซึ่งทรงสถาปนาเมืองลพบุรีให้เป็นราชธานีแห่งที่ 2 ด้วย มีการขุดคู สร้างกำแพงเมือง ประตูน้ำ และป้อมปราการ จากการที่ได้ใช้สถาปนิกชาวฝรั่งเศสมาช่วยสร้างเมืองใหม่ จึงทำให้สิ่งปลูกสร้างต่างๆ ได้รับอิทธิพลจากสถาปัตยกรรมแบบตะวันตกด้วย นับตั้งแต่ พระนารายณ์ราชนิเวศน์ บ้านหลวงรับราชทูต (บ้านวิชาเยนทร์) และ บ้านพักราชทูตจากประเทศเปอร์เซีย (ตึกโคโรซานหรือตึกคชสาร)

      สุพรรณบุรี ตั้งอยู่บนฝั่งแม่น้ำท่าจีน เป็นเมืองโบราณที่มีอายุไม่ต่ำกว่า 3,500-3,800 ปี โดยมีทั้งยุคหินใหม่ ยุคสำริด ยุคเหล็ก และต่อเนื่องมาจนถึงสมัยสุวรรณภูมิ ทวารวดีและศรีวิชัย

เมืองสุพรรณบุรีเดิมมีชื่อว่า”ทวารวดีศรีสุพรรณภูมิ” หรือ “พันธุมบุรี” ต่อมาได้มีการย้ายเมืองมาอยู่ที่เมืองใหม่ชื่อว่า ”สองพันบุรี” และในสมัยพระเจ้าอู่ทองได้มาสร้างเมืองทางฝั่งใต้ชื่อว่า”เมืองอู่ทอง” ซึ่งมาเปลี่ยนชื่อเป็น”สุพรรณบุรี”ในสมัยขุนหลวงพะงั่วและใช้ชื่อนี้จวบจนกระทั่งปัจจุบัน

      ในสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี เมืองสุพรรณบุรีเป็นเมืองอู่ข้าวอู่น้ำและเป็นเมืองหน้าด่านที่สำคัญ ต้องผ่านศึกสงครามกับพม่ามาหลายต่อหลายครั้ง โดยครั้งที่สำคัญที่สุด คือ การชนช้างระหว่างสมเด็จพระนเรศวรมหาราชกับพระมหาอุปราชา เมืองสุพรรณบุรีจึงโดดเด่นด้วยการท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมนอกเหนือจากแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่หลากหลาย โดยที่วัดที่สำคัญในจังหวัด คือ วัดพระศรีมหาธาตุ และ วัดป่าเลไลยก์ อำเภอเมือง  วัดสองพี่น้อง และ วัดไผ่โรงวัว อำเภอสองพี่น้อง 

      วัดพระศรีมหาธาตุ เป็นวัดคู่บ้านคู่เมือง อายุไม่ต่ำกว่า 600 ปี อยู่ภายในกำแพงเมือง “สุพรรณภูมิ” มีโบราณสถานสำคัญ คือ เจดีย์ศิลปะอู่ทอง ก่ออิฐไม่ถือปูน ซึ่งเป็นวิธีการก่อสร้างที่เก่าแก่ก่อนสมัยกรุงศรีอยุธยา

      วัดป่าเลไลยก์ เป็นที่ประดิษฐาน หลวงพ่อโต พระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมือง ปางป่าเลไลยก์ ศิลปะอู่ทอง ในแต่ละวันจะมีผู้คนแวะเวียนมาสักการะหลวงพ่อโตอยู่เสมอ รวมทั้งผู้ที่เดินทางมาท่องเที่ยวจังหวัดสุพรรณบุรี ก็ต้องแวะมาไหว้หลวงพ่อโตก่อน 

      ได้ไปสุพรรณบุรีอีกครั้งเมื่อวันที่ 4-5 มกราคม 2563 ไปที่อำเภอสองพี่น้อง ช่วงเย็นมีพิธีจุดเทียนบูชามหาปูชะนียาจารย์ที่มหาเจดีย์พระมงคลเทพมุนี และเช้าวันรุ่งขึ้นมีพิธีตักบาตรพระ 1,000 รูป เสร็จพิธีได้แวะเข้าไปกราบหลวงปู่สดทองคำ ที่วิหาร วัดสองพี่น้อง 

       ภายในตัวเมืองสุพรรณบุรีมีแหล่งท่องเที่ยวที่สร้างขึ้นแสดงถึงรกรากของคนรุ่นใหม่ที่นี่ ทั้ง พิพิธภัณฑ์ลูกหลานมังกร และ หอชมวิว  

      ที่เลยออกจากตัวเมืองไป ก่อนถึงอู่ทอง เป็นที่ตั้ง นาเฮียใช้ นอกจากจะเป็นแปลงนาที่จำหน่ายพันธุ์ข้าวแล้ว ยังมีของที่ระลึกและของฝากจำหน่ายอีกด้วย 

      ที่อำเภออู่ทอง ได้มีการพัฒนาพระพุทธรูปองค์ใหญ่แกะจากหินที่เขา “พระพุทธรูปปุษยคีรีศรีสุวรรณภูมิ” (หลวงพ่ออู่ทอง)  

      บริเวณใกล้เคียงกันก่อนกลับควรจะแวะ พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติอู่ทอง จัดแสดงความเป็นมาและวัตถุโบราณที่ขุดค้นขึ้นได้จากที่เป็นเมืองโบราณอู่ทอง

      ตลาดสามชุก 100 ปี เป็นแหล่งชุมชนของชาวไทยเชื้อสายจีน อยู่อาศัยกันในห้องแถวไม้ริมแม่น้ำท่าจีน สามารถชมตลาดอายุกว่า 100 ปี เลือกซื้อ เลือกชิมอาหารอร่อยนานาชนิด เมื่อตอนมาถึงเป็นเวลาเย็นแล้ว ตลาดจึงเริ่มวายแล้ว ประกอบกับสภาวะเศรษฐกิจ จึงทำให้การค้าไม่คึกคักเท่าที่ควร 

     บึงฉวาก เฉลิมพระเกียรติ บึงน้ำธรรมชาติขนาดใหญ่บนพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 2,700 ไร่ ได้รับการประกาศให้เป็นเขตห้ามล่าสัตว์มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2526  ต่อมาได้มีการสร้างศูนย์พัฒนาการจัดการสัตว์ป่าบึงฉวากขึ้น เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ในวโรกาสทรงครองราชย์เป็นปีที่ 50 และได้รับการพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว มีการสร้างศูนย์บริการนักท่องเที่ยว สิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ อาคารแสดงพันธุ์ปลาทั้งน้ำจืด น้ำเค็ม อุโมงค์ปลา กรงนกใหญ่ กรงสัตว์หายาก จัดนิทรรศการและกิจกรรมต่างๆ ให้นักท่องเที่ยวได้เข้าชม 

 


อ่าน : 0

แชร์ :


เขียนความคิดเห็น