ตอนที่ 12 : เที่ยว นครชัยบุรินทร์ (นครราชสีมา) - ชัยภูมิ - บุรีรัมย์ – สุรินทร์

นครชัยบุรินทร์ (นครราชสีมา) - ชัยภูมิ - บุรีรัมย์ – สุรินทร์

(เดินทางระหว่าง 22-23 กุมภาพันธ์ 2562) 

(ออกรายการวิทยุศึกษาเมื่อ 4 มิถุนายน 2562)

By: รณยุทธ์ จิตรดอน

     ชัยภูมิ มีอารยธรรมทับซ้อนกันหลายสมัยทั้ง ทวาราวดี ขอม ล้านช้าง  มีการค้นพบโบราณสถานในหลายพื้นที่ของจังหวัด    ปรางค์กู่ เป็นปราสาทหินสมัยขอม มีลักษณะเช่นเดียวกับ “อโรคยาศาล” หรือสถานพยาบาลในพุทธศตวรรษที่ 18 ซึ่งพบมาก        ในจังหวัด บุรีรัมย์ นครราชสีมาและสุรินทร์ 

     นอกจากร่องรอยอารยธรรมโบราณต่างๆ ชัยภูมิยังมี ‘ทิวทัศน์สวย รวยป่าใหญ่ ดอกไม้งาม...’ ซึ่งแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่มีชื่อเสียงและเป็นที่นิยมที่สุด คือ ทุ่งดอกกระเจียว

     ทุ่งดอกกระเจียว อยู่บริเวณ ลานหินงาม ไปจนถึง ผาสุดแผ่นดิน ภายใน อุทยานแห่งชาติป่าหินงาม ในช่วงฤดูฝนประมาณเดือนมิถุนายน-สิงหาคม ดอกกระเจียวจะบานเต็มทุ่ง เหมาะมาเที่ยวชม พร้อมชมความงามของโขดหินที่เกิดจากการกัดเซาะจนเป็นรูปต่างๆ กัน กระจายอยู่เต็มไปหมดในเนื้อที่กว่า 10ไร่ ที่ ลานหินงาม และชมทิวทัศน์และทะเลหมอกที่ ผาสุดแผ่นดิน ซึ่งเป็นหน้าผาสูงชัน เป็นรอยต่อระหว่างภาคอีสานและภาคกลาง  คือ  ชัยภูมิกับลพบุรี  แต่มีเพชรบูรณ์อยู่บนแนวเทือกเขาเดียวกันด้วย   จึงถือว่าเป็น  ‘ดินแดน 3 ภาค อีสาน กลาง เหนือ’ 

     ผาเกิ้ง ผาสูงที่มีลักษณะคล้ายพระจันทร์เสี้ยว เป็นจุดชมวิวที่สวยงามจุดหนึ่งใน อุทยานแห่งชาติภูแลนคา ซึ่งภายในอุทยานฯ แห่งนี้ยังมีจุดที่น่าสนใจอีกมากมาย เช่น ป่าหินงามจันทร์แดง ซุ้มประตูหินธรรมชาติ ผากล้วยไม้ น้ำตกตาดหินดาด น้ำตกตาดโตน  ถ้ำพระ ผาเก้ง ผาแพ ทุ่งดอกกระเจียว มอหินขาว เป็นต้น

     สุรินทร์ ‘ถิ่นช้างใหญ่’ มีชื่อเสียงด้าน การเลี้ยงช้าง การทอผ้าไหม มีผู้คนหลายเผ่าพันธุ์และภาษา ทั้ง เขมร กูย (ส่วย)  และ ลาว (ไทยอีสาน) นอกจากสถานที่ท่องเที่ยวที่เกี่ยวกับช้างแล้ว ยังมีที่แหล่งท่องเที่ยวอื่นๆ อีกมากมายให้นักท่องเที่ยวได้เข้าไปสัมผัส ทั้งแหล่งท่องเที่ยวเชิงศาสนา ศิลปวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ มีปราสาทหินมากกว่า 31 แห่ง และอยู่ใน เส้นทางปราสาทขอม จากเมืองพระนคร (นครวัต) ไปสู่เมืองพิมายด้วย

     ศูนย์คชศึกษาสุรินทร์ มีวัตถุประสงค์เพื่อแก้ไขปัญหาช้างเร่ร่อนให้กลับมาอยู่ถิ่นฐานบ้านเกิดตามโครงการนำช้างคืนถิ่น และ    สืบทอดวัฒนธรรมให้คนทั่วโลกได้รู้จักการเลี้ยงช้างตาม วิถีชาวกูย ที่ หมู่บ้านช้างบ้านตากลาง หมู่บ้านช้างที่ใหญ่ที่สุดในโลก มีการจัดการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมเพื่อรองรับนักท่องเที่ยว เช่น การแสดงช้าง นั่งช้างชมหมู่บ้าน และพิพิธภัณฑ์ช้าง เป็นต้น ชมวิถีชีวิตของคนในชุมชนและช้าง รวมทั้งประเพณีและวัฒนธรรม เช่น งานประเพณีบวชนาคช้าง เป็นการแห่นาคบนหลังช้าง ประเพณีพื้นบ้านที่สืบต่อกันมาหลายร้อยปี ก่อนไปทำ พิธีบวงสรวงศาลปะกำ ศาลปู่ตา เพื่อบอกกล่าวสิ่งศักดิ์สิทธิ์ งานจดทะเบียนสมรสบนหลังช้าง หรือ พิธีซัตเต เป็น พิธีแต่งงานแบบชาวกูย เป็นต้น และในระหว่างสัปดาห์ที่สามของเดือนพฤศจิกายนของทุกปี จะมีการจัดงาน มหัศจรรย์งานช้างสุรินทร์ ชมขบวนแห่ต้อนรับช้าง การแสดงความสามารถพิเศษของช้าง การแสดงศิลปวัฒนธรรมพื้นเมือง ฯลฯ

     ผ้าไหมยกทองโบราณ ทำให้ หมู่บ้านทอผ้าไหมยกทอง บ้านท่าสว่าง มีชื่อเสียงโด่งดังระดับนานาชาติ โดยได้รับคัดเลือกให้เป็นผู้ทอผ้าไหมเพื่อมอบให้ผู้นำเอเปค 21 เขตเศรษฐกิจ ที่มาร่วมประชุมผู้นำเอเปคเมื่อปี พ.ศ.2546 จนเป็นที่รู้จักกันในนาม หมู่บ้านทอผ้าเอเปค และกลายเป็นหมู่บ้านเพื่อการท่องเที่ยวเชิงหัตถกรรม ผ้าไหม ที่มีนักท่องเที่ยวจำนวนไม่น้อย มาเที่ยวชมวิธีชีวิตของคนในชุมชน ชมการถักทอผ้าไหมด้วยลวดลายอันแสนงดงาม กรรมวิธีการย้อมผ้า  เลือกซื้อผลิตภัณฑ์จากผ้าไหมคุณภาพดีที่ตลาดชุมชน

     พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติสุรินทร์ แหล่งเรียนรู้และสถานที่ท่องเที่ยวด้านศิลปวัฒนธรรม ซึ่งไม่เพียงแค่ได้เรียนรู้ลักษณะทางกายภาพ ประวัติความเป็นมา วิถีชีวิตของชนพื้นเมืองในสมัยโบราณ ศิลปวัฒนธรรมและเรื่องอื่นๆ ของเมืองสุรินทร์ แต่ยังได้ชมสถาปัตยกรรมปราสาทขอมในรูปแบบร่วมสมัยของอาคารหลักพิพิธภัณฑ์ ซึ่งจัดแสดงเป็น 4 อาคาร และมีวิธีการนำเสนอที่ทันสมัยที่สุดอีกแห่งหนึ่งของไทย

     วนอุทยานแห่งชาติพนมสวาย อยู่บนภูเขาเตี้ยๆ ที่มียอดเขา 3 ลูกติดต่อกัน เป็นที่แสวงบุญของชาวสุรินทร์มาแต่อดีต ในวันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 5 ของทุกปี (ประมาณต้นเดือนเมษายน) จะมีการจัด งานประเพณีขึ้นเขาสวาย เดินขึ้นยอดเขา เพื่อสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์บนเขาพนมสวาย 9 สิ่ง การเคาะระฆัง 1,080 ใบ เพื่อเสริมสิริมงคลให้แก่ตนเองและครอบครัว ชมการแสดงศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้าน 

     กลุ่มปราสาทตาเมือน ประกอบด้วย ปราสาทตาเมือน ซึ่งสันนิษฐานว่าเป็น 1 ใน 17 ธรรมศาลาหรือที่พักผู้เดินทางตามรายทางจากเมืองพระนคร (นครวัต) ไปสู่เมืองพิมาย ซึ่งเรียกกันว่า เส้นทางปราสาทขอม โดยธรรมศาลาเหล่านี้มักจะสร้างควบคู่กับอโรคยาศาลหรือสถานรักษาพยาบาลผู้เดินทางที่เกิดเจ็บป่วยในระหว่างการเดินทาง ในกลุ่มปราสาทตาเมือนนี้  สันนิษฐานว่า ปราสาทตา   เมือนโต๊ด เป็นอโรคยาศาล และ ปราสาทตาเมือนธม ซึ่งมีขนาดใหญ่ที่สุดในกลุ่มปราสาทตาเมือน  เป็นศาสนสถาน เพราะปรากฏรูปเคารพของศาสนาฮินดูในปราสาทหลัก

     วัดเขาศาลาอตุลฐานะจาโร เป็นพุทธอุทยานแห่งแรกตาม โครงการพุทธอุทยานในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ หรือ โครงการวัดช่วยงานด้านป่าไม้ โดยให้พระสงฆ์เข้าไปใช้พื้นที่และช่วยดูแลรักษาป่าไม้ เพื่อเป็นการยับยั้งการตัดไม้ทำลายป่าและการล่าสัตว์ในบริเวณดังกล่าว ซึ่งเป็นพื้นที่ที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยพันธุ์ไม้ สัตว์ป่าและเป็นแหล่งกำเนิดต้นน้ำลำธาร นอกจากการอนุรักษ์ป่าไม้ วัดยังได้ดำเนินกิจกรรมหลายอย่างควบคู่ไปด้วยทั้งการส่งเสริมกิจกรรมพุทธศาสนาในรูปแบบต่างๆ โครงการบรรพชาอุปสมบทภาคฤดูร้อน การตั้งโรงสีเกษตรอินทรีย์ชุมชน เพื่อเป็นศูนย์การเรียนรู้และเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ จากลานชมวิวสามารถมองเห็นทิวทัศน์เบื้องล่าง คือ อ่างเก็บน้ำบ้านจรัส และแนวเทือกเขาพนมดงรักซึ่งเป็นพรมแดนธรรมชาติระหว่างไทย-กัมพูชา นอกจากนี้หากมาที่นี่ในช่วงฤดูแล้ง จะได้ชมใบไม้เปลี่ยนสีด้วย

     บุรีรัมย์ ถูกขนานนามว่าเป็นเมืองปราสาทหิน เพราะมีปราสาทหินอยู่ทั่วไปมากกว่า 60 แห่ง ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความรุ่งเรืองที่มีมาแต่อดีตและอิทธิพลวัฒนธรรมขอมบนดินแดนแห่งนี้ จึงเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ ปราสาทหินพนมรุ้ง เป็นเทวสถานในศาสนาฮินดูที่สร้างขึ้นตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 15 และถูกดัดแปลงให้กลายเป็นศาสนสถานในพุทธศาสนาในพุทธศตวรรษที่ 18 ในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ซึ่งได้เปลี่ยนมานับถือพุทธศาสนาแบบมหายาน ตัวปราสาทนอกจากจะมีลักษณะทางสถาปัตยกรรมที่วิจิตรงดงาม อลังการแล้ว ยังแสดงให้เห็นถึงภูมิปัญญาอันน่าทึ่งของคนโบราณที่ออกแบบองค์ประกอบและแผนผังของตัวปราสาทให้มีลักษณะเป็นแนวเส้นตรง ทำให้เกิดปรากฏการณ์ที่แสงพระอาทิตย์ขึ้นและตก ลอดช่องประตูตรงกันทั้ง 15 ช่อง โดยเกิดขึ้นเพียงปีละ 4 ครั้ง คือ พระอาทิตย์ขึ้นลอดช่องประตู 2 ครั้ง ในช่วงต้นเดือนเมษายนและกันยายน พระอาทิตย์ตกลอดช่องประตู 2 ครั้ง ในช่วงต้นเดือนมีนาคมและตุลาคม และในวันเสาร์-อาทิตย์แรกของเดือนเมษายน จะมีการจัด ประเพณีขึ้นเขาพนมรุ้ง งานแสดงแสง สี เสียงย้อนรอยอดีตพนมรุ้ง และขบวนแห่ราชประเพณีขอมโบราณ 

     ปราสาทหินเมืองต่ำ ตั้งอยู่บนพื้นราบด้านล่างของเขาพนมรุ้งและสันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในช่วงเวลาใกล้เคียงกับการสร้างปราสาทพนมรุ้ง มีสถาปัตยกรรมสวยงามไม่ด้อยไปกว่าปราสาทพนมรุ้งเลย 

     ปราสาทบ้านบุ เป็น 1 ใน 17 ธรรมศาลาหรือที่พักผู้เดินทางตามรายทางจากเมืองพระนคร (นครวัต) ไปสู่เมืองพิมาย ซึ่งเรียกกันว่า เส้นทางปราสาทขอม โดยธรรมศาลาเหล่านี้อยู่ในประเทศไทย 9 แห่ง โดยอยู่ในเขตจังหวัดนครราชสีมา 2 แห่ง สุรินทร์ 1 แห่ง และบุรีรัมย์มากที่สุด คือ 6 แห่ง ได้แก่ ปราสาทถมอ อำเภอบ้านกรวด ปราสาทบ้านบุ อำเภอประโคนชัย ปราสาทโคกปราสาท อำเภอนางรอง ปราสาทหนองปล่อง อำเภอนางรอง ปราสาทเทพสถิต อำเภอชำนิ ปราสาทบ้านสำโรง อำเภอลำปลายมาศ 

     ถนนคนเดินเซราะกราว อยู่บริเวณหน้าจวนผู้ว่า เปิดเฉพาะวันเสาร์ อาทิตย์ ตั้งแต่เวลา 17.00-22.00 น. มีจำหน่าย ของฝากของที่ระลึก ผลิตภัณฑ์ภูมิปัญญา หัตถกรรมพื้นเมือง ทั้งผ้าไหม ผ้าภูอัคนีที่มีชื่อเสียง อาหารและสินค้าอื่นๆ อีกมากมาย มีการแสดงดนตรี การละเล่น การแสดงศิลปวัฒนธรรมพื้นเมืองให้ชมอีกด้วย

     สนามแข่งรถ ช้างอินเตอร์เนชั่นแนล เซอร์กิต สนามแข่งรถมาตรฐานระดับโลกแห่งแรกและแห่งเดียวในบุรีรัมย์ บนเนื้อที่กว่า 1,000 ไร่ และยังมีสนามยิงปืน มาตรฐานสากล ทันสมัยและดีที่สุดในบุรีรัมย์ และลานกิจกรรมขนาดใหญ่สำหรับจัดงานต่างๆอีกด้วย 

     วนอุทยานเขากระโดง   อยู่ห่างจากตัวเมืองบุรีรัมย์เพียง  9 กิโลเมตรเศษ อยู่บนเนินเขาขนาดเล็ก 2 ลูกติดกัน ซึ่งเป็นภูเขาไฟที่ดับสนิทแล้ว มีปากปล่องที่มีลักษณะเป็นแอ่งมีน้ำขังตลอดปี สามารถมองเห็นได้อย่างชัดเจน มีเส้นทางเดินชมรอบปล่องและมีสะพานแขวนให้ยืนชมจากมุมสูง บริเวณโดยรอบยังเป็นป่าไม้ที่อุดมสมบูรณ์ มีเส้นทางให้เดินศึกษาธรรมชาติ นอกจากนี้ยังมีโบราณสถานกู่เขากระโดง เป็นที่ประดิษฐานรองพระพุทธบาทจำลอง  และมี พระสุภัทรบพิตร พระพุทธรูปองค์ใหญ่คู่เมืองบุรีรัมย์ อยู่บนยอดเขา 

     นอกจากนั้นยังได้ไปกับเพื่อนๆ เศรษฐศาสตร์จุฬา 2 เมื่อ 18-19 พฤศจิกายน 2560 ฟังบรรยายสรุปและชมวิดีทัศน์ ณ ที่ทำการอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ เป็นต้น 

 


อ่าน : 0

แชร์ :


เขียนความคิดเห็น