ตอนที่ 7 : เที่ยว ราชบุรี - สมุทรสงคราม

ราชบุรี – สมุทรสงคราม

(เดินทางระหว่าง 9-11 สิงหาคม 2563)

By: รณยุทธ์  จิตรดอน

       การที่ได้ท่องเที่ยว นักท่องเที่ยวจะได้เรียนรู้ชีวิตความเป็นอยู่ของชุมชนที่ไปเยือน วิถีชีวิตของชุมชน อาหารการกิน และความบันเทิงจากการใช้ชีวิต สร้างความสุขสดชื่นแก่นักท่องเที่ยว โดยส่วนรวมแล้วการท่องเที่ยว ไม่เพียงแต่สร้างให้เกิด คุณค่าทางจิตใจ (spiritual value) แต่ยังก่อให้เกิด มูลค่าทางเศรษฐกิจ (economic value) ทั้งแก่ชุมชนและประเทศชาติ โดยการท่องเที่ยวได้สร้างรายได้ให้ประเทศเป็นอันดับหนึ่ง มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2557 กระทั่งปี พ.ศ. 2562 ก่อนเกิดวิกฤติโควิด รายได้จากการท่องเที่ยวยังคงอันดับหนึ่งอยู่ การท่องเที่ยวเป็นวิถีชีวิตที่คงอยู่คู่กับคนไทย หลังการระบาดโควิด หากการท่องเที่ยวกลับมาพลิกฟื้นได้เร็วย่อมสร้างให้ชุมชนมีชีวิตชีวา และเศรษฐกิจจะกลับมาพลิกฟื้นอย่างรวดเร็ว

       เพื่อให้การท่องเที่ยวฟื้นตัว กระจายจากเมืองท่องเที่ยวหลัก 22 จังหวัด ไปสู่แหล่งท่องเที่ยวในเมืองรอง 55 จังหวัด ได้โดยรวดเร็ว รายการ “ลุงป้าพาเที่ยว” ได้ตั้งเป้าหมายการท่องเที่ยวเชื่อมโยงเส้นทางคมนาคมหลักสู่เมืองรองอย่างทั่วถึง และเมื่อการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย เริ่มโครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน” ตั้งแต่วันที่ 16 กรกฎาคม  โดยช่วยค่าที่พัก 40% และให้ค่าอาหารอีกวันละ 600 บาทด้วยแล้ว (ได้เพิ่มเป็น 900 บาท สำหรับท่องเที่ยวในวันธรรมดา) ราชบุรี สมุทรสงคราม จึงเป็นแนวทางการพัฒนาผังเมืองตามเส้นทางแนวไฮสปีดเทรนสายใต้ “กรุงเทพ-หัวหิน” เริ่มเดินทางในวันที่ 9-11 สิงหาคม โดยใช้เส้นทางถนนเพชรเกษมและถนนธนบุรี-ปากท่อเป็นหลัก

       เริ่มต้นจากราชบุรีแวะตามรายทางบนถนนเพชรเกษม.แวะจุดแรกที่ “ณ สัทธา อุทยานไทย” โครงการนี้ตั้งอยู่บนพื้นที่ประมาณ 50 ไร่ แต่ใช้พื้นที่ดูแล้วคิดว่าเป็น 100 ไร่ ทางอุทยานให้ความสำคัญแก่บุคคลสำคัญของชาติเริ่มตั้งแต่ “มหาราชกษัตรา” 3 พระองค์ และ (หุ่นขี้ผึ้ง) บุคคลสำคัญๆ ของชาติ และที่เป็นบุคคลที่ผมให้ความเคารพ คือ “ดร.ป๋วย อึ้งภากรณ์” นอกจากจะได้เรียนกับท่าน 1 วิชา คือ “พัฒนาชนบท” ท่านยังให้เกียรติแนะนำให้ผมไปศึกษาต่ออีก และสถาบันสำคัญที่อุทยานแสดงอีกคือ การเผยแผ่เข้ามาของพุทธเถรวาท กระทั่งพุทธศาสนาได้ลงหลักปักฐานในประเทศไทย และ พระพุทธรูปตามลำดับ “อู่แสนสุข” (อู่ทอง เชียงแสน และสุโขทัย) และก่อนจบยังมีบ้านไทยภาคต่างๆ อีกด้วย

       ลำดับถัดมาเป็น ”วัดหนองหอย” เป็นพระอารามหลวงที่มีองค์พระโพธิสัตว์กวนอิมประดิษฐานอยู่ ที่อัศจรรย์ยิ่งคือวัดตั้งตระหง่านอลังการอยู่บนเขาสูง

       ลำดับถัดมา “อุทยานหินเขางู” และ “ถ้ำเขาบิน”

       ราชบุรีขึ้นชื่อมาจากโอ่งราชบุรี และที่ขึ้นชื่อต้องที่ “เถ้าฮงไถ่” ร้านนี้ตั้งอยู่บนถนนเพชรเกษม ตรงแยกถนนเจดีย์หัก มีให้ชมโรงงานปั้นและเขียนลาย มี workshop ให้ผู้ที่สนใจได้ทดลองทำด้วยตนเองด้วย เมื่อมีผู้ซื้อร้านจะบรรจุลังไม้อย่างดีและจัดส่งให้ถึงที่

       ที่มีขึ้นใหม่คือ “กาดวิถีชุมชนคูบัว” ตั้งอยู่ที่ “วัดโขลงสุวรรณคีรี” เมืองโบราณคูบัว ตลาดจะมีเฉพาะวันเสาร์และวันอาทิตย์เท่านั้น

       เย็นนี้ได้ทานกับอาหารเย็นแสนอร่อย ทั้ง “แหนมซี่โครง ผัดเต้าหู้ดำ และ ต้มยำปลาคัง” ที่ร้านโอ่งข้าว โอ่งน้ำ

       ตั้งใจไว้ว่าจะแวะแหล่งท่องเที่ยวสวนผึ้ง 9 แห่ง เพียงแต่แวะเข้าไปดูไม่กี่แห่ง เพราะทุกแห่งเก็บค่าเข้าดู ได้แต่ถ่ายรูปมาดู ข้อน่าสังเกตคือถนนทางขึ้นเขาจะมีทางวิ่งจักรยานต่างหากจากถนนยาวไปไกล แต่ถนนทางขึ้นเขากลับใช้ทางร่วมกัน 

        จุดที่แวะตามลำดับคือ

       Coro Field อยู่ริมถนนทางขึ้นเขา เป็นที่ทดลองปลูกแคนตาลูปพันธุ์ญี่ปุ่น และปลูกผักตามฤดู  

       แวะที่ Alpaca Hill แล้วย้อนกลับลงมาทานข้าวกลางวันที่ “ครัวม่อนไข่” กากหมูผัดพริกเผาไข่เค็ม ต้มยำกุ้งสดน้ำข้น และยำผักกูดกุ้งสด ซึ่งทั้งหมดเป็นอาหารแนะนำของร้าน น่าแปลกที่สุดคือร้านใหญ่ (มี 2 ชั้น) ขนาดนี้มาตั้งในป่าลึก แต่มีนักท่องเที่ยวมาแวะทานข้าวกันอุ่นหนาฝาคั่ง

       อ้อมเขา มีรีสอร์ตขนาดใหญ่อยู่หลายแห่ง มาออกถนนกลับทางถนนสายหลักของสวนผึ้ง แวะ“บ้านเทียนหอม” แล้วเดินทางต่อไปอัมพวา  

        พักที่ “The Buffalo Ampawa” ซึ่งเป็นโรงแรมขนาด 80 ห้อง ร้านอาหารของโรงแรม Rusty Rose” ได้ทั้งส่วนลดค่าห้องและค่าอาหารเย็นมื้อนี้ นั่งทานริมแม่น้ำแม่กลอง มีคากิคะน้าเห็ดหอม ฉู่ฉี่ปลาทู และผลไม้รวม

       วันรุ่งขึ้นจะออกย้อนกลับไปตลาดน้ำดำเนินสะดวก และมาแวะที่บางคนที โครงการอัมพวาชัยพัฒนานุรักษ์ เป็นอันจบการเดินทางจังหวัดภาคกลาง จะได้นำข้อสรุปที่นักท่องเที่ยวจะได้จากโครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน” เมื่อเดินทางในระยะประมาณ 200 กม. ไปเปรียบเทียบกับการเดินทางปกติเมื่อยังไม่มีโครงการ

       ตลาดน้ำในเขตลุ่มแม่กลองมีอยู่หลายแห่งทั้งที่ อัมพวา บางคนที และดำเนินสะดวก ได้เลือกที่จะแวะไปตลาดน้ำดำเนินสะดวก เพื่อดูความเปลี่ยนแปลงหลังจากการระบาดโรคโควิด 19 ปรากฎว่าซบเซา ไปถึงตลาด หลัง 9:00 น. แล้วตลาดเพิ่งจะเริ่ม ทั้งที่ปกติใกล้จะวายแล้ว

       จากนั้นใช้เส้นทางทางหลวงจังหวัดเก่ากลับมาที่อำเภอบางนกแขวก แวะ”อาสนวิหารพระแม่บังเกิด” ซึ่งคริสตจักรได้เข้ามาเผยแพร่ศาสนาตั้งแต่ตอนต้นกรุงเทพ ตั้งอยู่บนแม่กลอง และมีโรงเรียนตั้งแต่อนุบาลถึง ม.3

       “ค่ายวัดบางกุ้ง” อำเภอบางคนที ที่สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชตั้งค่ายฝึกทหารไว้ตั้งแต่กู้เอกราช และฝ่ายไทยได้ชนะฝ่ายพม่าที่การรบที่นี่ คนไทยได้ฟื้นกำลังใจให้คนไทยเพราะเป็นครั้งแรกที่ฝ่ายไทยชนะพม่าหลังจากได้สถาปนากรุงธนบุรีเป็นราชธานี

       ก่อนถึงเวลาอาหารกลางวัน และ”อุทยานร.2 อัมพวา” ตั้งอยู่บนแม่น้ำแม่กลอง เป็นพิพิธภัณฑ์ขนมไทย พิพิธภัณฑ์มรดกทางวัฒนธรรมอัมพวา และบริเวณใกล้เคียงกัน เป็นที่ตั้ง ตลาดน้ำอัมพวา และวัดอัมพวันเจติยาราม

        เลยไปเล็กน้อยก่อนถึงร้านอาหาร “แดงริมน้ำ” เป็น “วัดเพชรสมุทรวรวิหาร” หรือที่รู้จักกันทั่วไป คือ วัดหลวงพ่อบ้านแหลม  หลวงพ่อวัดบ้านแหลมเป็นพระพุทธรูปยืน ปางอุ้มบาตร สำหรับคนเกิดวันพุธบูชา และใกล้เคียงกัน คือ “ตลาดร่มหุบ” ซึ่งเป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยวที่ร้านค้าตั้งอยู่บนทางรถไฟสายธนบุรี-แม่กลอง ต้องพับร่ม เมื่อรถไฟเคลื่อนผ่าน

       เนื่องจากเป็นวันทำการปกติ โครงการ  “เราเที่ยวด้วยกัน” ให้ค่าอาหารและซื้อสินค้า 900 บาท เลือกที่จะทานกลางวันที่ร้าน”แดงริมน้ำ” สั่งอาหารครบทั้งกุ้ง หอย ปู ปลา (ต้มยำกุ้ง หอยหลอดผัดพริกเผา ข้าวผัดกรรเชียงปู และปลากระพงนึ่ง) และต้มจืดเต้าหู้หมูสับ ได้ส่วนลด 40% ที่พ่อค้าบ่นกันมากคือ โครงการจ่ายเงินช้า 60% แม้ค่าอาหารจะจ่ายวันรุ่งขึ้น แต่ 40% กว่าจะจ่ายให้ 5-7 วันแล้ว ถ้าจะมีโครงการส่งเสริมท่องเที่ยวทำนองนี้คงจะต้องปรับแก้ให้จ่ายเงินให้ร้านค้าเร็วกว่านี้ ไม่เช่นนั้นร้านค้า (โดยเฉพาะร้านเล็กๆ) ก็จะถอนตัวกันหมด

       ค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ราชบุรี-สมุทรสงคราม  3 วัน 2 คืน (9-11 สิงหาคม 2563)

เป็นค่าที่พัก                       2,481 บาท

ค่าน้ำมันรถและค่าอาหาร    3,903 บาท

รวมค่าใช้จ่าย                    6,384 บาท

                  เฉลี่ยคนละ     3,192 บาท

       นอกจากนั้นยังได้ไปกับเพื่อนๆ เพื่อให้ได้แวะชมโครงการพระราชดำริทั้ง 2 แห่ง คือ โครงการแหลมผักเบี้ย และโครงการช่างหัวมัน โดยใช้เส้นทางหลวงชนบท สมุทรสงคราม–ชะอำ (ถนนเลียบอ่าวไทย) เที่ยวเพชรบุรี หัวหิน กับเพื่อนเศรษฐศาสตร์จุฬา 2 เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2562  

       เที่ยวเพชรบุรี หัวหิน กับ เพื่อนสาธิตจุฬาฯ วันที่ 23-24 มกราคม 2562 

 


อ่าน : 0

แชร์ :


เขียนความคิดเห็น