ตอนที่ 6 : เที่ยว พิษณุโลก เพชรบูรณ์

พิษณุโลก เพชรบูรณ์

(เดินทางระหว่าง 28-30 กรกฎาคม 2563)

By: รณยุทธ์  จิตรดอน

     แม้จะมีความเจริญรุ่งเรืองมายาวนานตั้งแต่ก่อนสมัยสุโขทัย แต่เมื่อถึงสมัยสุโขทัย เมืองพิษณุโลกก็กลายเป็นเมืองลูกหลวงของกรุงสุโขทัยเช่นเดียวกับเมืองกำแพงเพชร  ทำหน้าที่เป็นเมืองหน้าด่านป้องกันข้าศึกจากทางเหนือ จวบจนถึงสมัยกรุงศรีอยุธยา เมืองพิษณุโลกก็ยังได้เป็นที่ระดมพลเมื่อกรุงศรีอยุธยาต้องทำสงครามกับพม่า อีกทั้งยังเคยเป็นเมืองหลวงแทนกรุงศรีอยุธยาถึง 25 ปี ในรัชสมัยของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ และเป็นสถานที่เสด็จพระราชสมภพของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชและสมเด็จพระเอกาทศรถ พระอนุชาด้วย

     เมืองพิษณุโลกเดิมมีชื่อเรียกว่า “เมืองสองแคว” เพราะเมืองนี้ตั้งอยู่ระหว่างแม่น้ำ 2 สาย คือ แม่น้ำน่านและแม่น้ำแควน้อย ตัวเมืองโบราณพิษณุโลกมีผังเมืองเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีแม่น้ำน่านไหลผ่านกลางเมืองจากด้านเหนือลงสู่ใต้ ทำให้เมืองเหมือนถูกแบ่งออกเป็น 2 ส่วน โบราณสถานที่สำคัญ คือ พระราชวังจันทน์ ตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำ ส่วนวัดสำคัญต่างๆ ทั้ง วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ และ วัดราชบูรณะ ตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันออก

     พระราชวังจันทน์ สันนิษฐานว่าเคยเป็นที่ประทับของพระมหากษัตริย์ไทยมาตั้งแต่สมัยสุโขทัยจนถึงกรุงศรีอยุธยา และยังเป็นสถานที่พระราชสมภพของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชและสมเด็จพระเอกาทศรถ พระอนุชาด้วย ปัจจุบันเหลือเพียงแนวเขตพระราชฐานที่กรมศิลปากรขุดพบบางส่วน และได้ทำรูปแบบจำลองพระราชวังขึ้นจากการสันนิษฐาน และยังได้สร้างศาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราชขึ้นภายในอาณาบริเวณด้วย

     จากพระราชวังจันทน์มาทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ อีกฝั่งหนึ่งของแม่น้ำน่าน จะพบกับ วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ ซึ่งเป็นวัดที่สำคัญที่สุดของจังหวัดพิษณุโลก และเป็นสถานที่ประดิษฐาน พระพุทธชินราช  พระพุทธรูปที่ถือว่างดงามที่สุดในประเทศไทย

     วัดราชบูรณะ อยู่ใกล้กับวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ เป็นวัดโบราณเก่าแก่ สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยสุโขทัย มีโบราณสถานสำคัญที่ยังเหลืออยู่ คือ อุโบสถ วิหารหลวง และเจดีย์ อายุกว่า 600 ปีซึ่งตั้งอยู่หลังวิหารหลวง

     จากเมืองพิษณุโลกใช้ทางหลวงหมายเลข 12 ผ่านสี่แยกอินโดจีน ซึ่งเป็นจุดตัดของทางหลวงหมายเลข 12 และหมายเลข 11 โดยเส้นทางนี้ถือเป็นส่วนหนึ่งของถนนภายใต้โครงการถนนสายเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก (East-West Economic Corridor) จากย่างกุ้ง–ตาก–พิษณุโลก–ขอนแก่น–สุวรรณเขต–ดานัง  ความยาวประมาณ 1,500 กิโลเมตร เป็นทางลัดเชื่อมทะเลจีนใต้กับมหาสมุทรอินเดีย ด้วยเหตุนี้จึงมีการขยายถนนกว้างขวาง เดินทางสะดวกสบาย ใช้เวลาไม่นานนักก็ถึงสามแยกบ้านแยง ซึ่งเป็นทางขึ้นสู่ อุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า

     อุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า นอกจากมีธรรมชาติที่สวยงาม เส้นทางศึกษาธรรมชาติ ป่าเขา น้ำตก ให้ชมเหมือนอุทยานฯ ทั่วไปแล้ว ยังมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ มีจุดที่น่าสนใจหลายแห่ง อาทิ โรงเรียนการเมืองการทหาร สำนักอำนาจรัฐ หมู่บ้านมวลชน ซึ่งในอดีตเคยเป็นฐานปฏิบัติการของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) ตลอดจนโพรงหินที่ใช้เป็น หลุมหลบภัยทางอากาศ หรือโขดหินตรงหน้าผาที่ใช้สำหรับขึ้นไปชูธงแดง (ฆ้อนเคียว) ทุกครั้งทีฝ่าย พคท. รบชนะทหารของรัฐบาลและชูธงส่งข่าวสาร จนมีชื่อเรียกว่า ผาชูธง ปัจจุบันเป็นจุดชมทิวทัศน์และชมพระอาทิตย์ตกดินที่สวยงาม

     จากอุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า สามารถลงจากเขาได้อีกทาง ไม่ต้องย้อนกลับเส้นทางเก่า โดยเส้นทางนี้ ผ่าน ภูทับเบิก ด้วย แต่เส้นทางคดเคี้ยวและลาดชันกว่าเส้นทางจากสามแยกบ้านแยง 

     ลงจากภูกลับสู่ถนนสายหลัก ทางหลวงหมายเลข 12 ที่สี่แยกน้ำชุน อำเภอหล่มสัก ซึ่งอยู่ห่างจากทางแยกขึ้นวัดพระธาตุผาซ่อนแก้วเพียง 16 กิโลเมตรเศษ

     วัดพระธาตุผาซ่อนแก้ว ไม่เพียงแต่ตั้งอยู่ท่ามกลางขุนเขาสลับซับซ้อน ทิวทัศน์สวยงาม แต่สิ่งปลูกสร้างต่างๆ ในวัด ล้วนแต่วิจิตรงดงาม ประดับด้วยแก้วและเซรามิค โดดเด่นอยู่ท่ามกลางธรรมชาติ ปัจจุบันจึงกลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยม โดยเฉพาะในช่วงวันหยุด จะมีนักท่องเที่ยวมาเยี่ยมชมเป็นจำนวนมาก จนทำให้การจราจรติดขัดเป็นอย่างมาก

     วันรุ่งขึ้นเดินทางขึ้นเขาค้อ แวะที่ ทุ่งกังหันลม เป็นที่แรก โดยปัจจุบันสถานที่แห่งนี้เป็นเสมือนแลนด์มาร์กอีกแห่งของเขาค้อไปแล้ว

     ทุ่งกังหันลม เป็นโครงการผลิตไฟฟ้า โดยใช้พลังงานลมจากกังหันลมขนาดใหญ่จำนวน 24 ต้น เริ่มเปิดผลิตกระแสไฟฟ้าตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2559 และได้พัฒนาพื้นที่บริเวณนี้ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว มีบริการรถไฟฟ้าของกลุ่มวิสาหกิจชุมชน นำไปจุดชมวิวต่างๆ มีทุ่งดอกไม้ให้เที่ยวชม จัดกิจกรรมต่างๆ เช่น โล้ชิงช้าม้ง และนั่งรถสามล้อเลื่อนชาวเขา โดยมีการเก็บค่าบริการทั้งค่ารถไฟฟ้าและค่าเข้าชมสถานที่ด้วย

     จากทุ่งกังหันลมไป อุทยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวง ใช้ GSP นำทาง ก็พาหลงเข้าไปในหมู่บ้านชาวม้ง ซึ่งสังเกตได้ว่ามีความพยายามที่จะพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว โดยตลอดทางมีป้ายติดเชิญชวนให้นักท่องเที่ยวเข้ามาสัมผัสวิถีชีวิตในชุมชนแห่งนี้ แต่ดูเหมือนว่าจะไม่ประสบความสำเร็จ นักท่องเที่ยวไม่ได้ให้ความสนใจ ได้แต่ขับรถผ่านเลยไป ซึ่งตามความเป็นจริงแล้วหมู่บ้านแห่งนี้ก็ไม่มีศักยภาพเพียงพอที่จะพัฒนา เพราะไม่เพียงแต่ไม่มีอะไรน่าสนใจ แต่ถนนภายในหมู่บ้านยังแคบและชำรุดทรุดโทรม มีลุ้นเล็กๆ กว่าจะกลับออกมาสู่ถนนสายหลักที่จะเดินทางไปอุทยานฯ ได้

     ขับรถชมทิวทัศน์สองข้างไปเรื่อยๆ หากไม่แวะ น้ำตกศรีดิษฐ์ ซึ่งไม่เพียงแต่ได้ชมน้ำตกที่สวยงาม แต่ยังเป็นแหล่งเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์ ด้วยบริเวณนี้เคยเป็นชุมชนของคอมมิวนิสต์ ซึ่งชื่อของน้ำตกก็ตั้งขึ้นเพื่อเป็น อนุสรณ์ระลึกถึงการพลีชีพของ ส.อ. ประพจน์ ศรีดิษฐ์ ผู้เสียสละชีวิตในการต่อสู้กับผกค. ในสมรภูมิรบแห่งนี้

     อุทยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวง ทุ่งสะวันนาแห่งพื้นป่าไทย มีสภาพธรรมชาติทิวทัศน์ที่สวยงามทั้งน้ำตก ทุ่งหญ้าโล่ง พื้นที่ครอบคลุมท้องที่อำเภอวังทอง อำเภอนครไทย อำเภอเนินมะปราง จังหวัดพิษณุโลก และอำเภอเขาค้อ อำเภอวังโป่ง จังหวัดเพชรบูรณ์

     อุทยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวงมี ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว 2 แห่ง คือ ที่ทำการอุทยานฯ ซึ่งตั้งอยู่ที่อำเภอนครไทย จังหวัดพิษณุโลก และที่หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติที่ สล. 8 (หนองแม่นา) ที่อำเภอเขาค้อ จังหวัดเพชรบูรณ์ แต่นักท่องเที่ยวนิยมที่จะมาที่หน่วยพิทักษ์อุทยานฯ เพราะตั้งอยู่ใกล้กับ ทุ่งแสลงหลวง มากกว่า ที่ทำการอุทยานฯ ซึ่งอยู่ห่างจากทุ่งแสลงหลวงถึง 60 กิโลเมตร ประกอบกับบริเวณหน่วยพิทักษ์อุทยานฯ อยู่ใกล้กับเขาค้อ ซึ่งสามารถมาเที่ยวในคราวเดียวกันได้

     ที่ด้านหน้าของศูนย์บริการข้อมูลนักท่องเที่ยว หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติที่ สล. 8 (หนองแม่นา) ยังได้จัดทำบอร์ดแสดงแผนที่แหล่งท่องเที่ยวภายในอุทยานฯ พร้อม QR Code ให้สแกน เพื่อรับข้อมูลอีกด้วย

     อุทยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวง มีบริการพื้นที่กางเต็นท์อยู่บริเวณเดียวกับบ้านพักที่แสนสบาย  ท่ามกลางธรรมชาติที่บริสุทธิ์ เงียบสงบ สวยงาม โดยในบริเวณพื้นที่กางเต็นท์ มีห้องอาบน้ำ ห้องสุขาแยกชายหญิง และสิ่งอำนวยความสะดวกอื่นๆ ไว้อย่างเรียบร้อย ส่วนบ้านพัก เป็นบ้านเดี่ยวขนาดใหญ่ แบบ 2-4 ห้องนอน ซึ่งพักได้หลังละ 7-10 คน ภายในบ้านพักมีสิ่งอำนวยความสะดวกเตรียมไว้ให้พร้อม

     ในช่วงวันหยุดยาวหรือวันหยุดตามเทศกาลต่างๆ จะมีนักท่องเที่ยวมาพักกางเต๊นท์กันจนเต็มพื้นที่ ต้องจองล่วงหน้ากันนานหลายเดือน

     เส้นทางจากอุทยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวงสู่พระตำหนักเขาค้อ มีจุดชมวิวให้แวะถ่ายรูปอีกเช่นกัน คือ จุดชมวิวเขาตะเคียนโง๊ะ และจากจุดนี้ไปอีก 7 กิโลเมตร เป็นที่ตั้งของที่ทำการ อุทยานแห่งชาติเขาค้อ ซึ่งได้จัดให้มีสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ทั้งศูนย์บริการนักท่องเที่ยว ที่พักทั้งลานกางเต็นท์และบ้านพัก  

     ก่อนกลับแวะสักการะพระบรมสารีริกธาตุที่ พระบรมธาตุเจดีย์กาญจนาภิเษก โดยระหว่างทางไปยังเจดีย์ ยังมีจุดชมวิวให้แวะถ่ายรูป เช่น จุดชมวิวที่ทำการไปรษณีย์เขาค้อ และ จุดชมวิววัดกองเนียม และมีสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์แห่งให้แวะ เช่น อนุสาวรีย์ผู้เสียสละ พิพิธภัณฑ์อาวุธ ฐานอิทธิ ฐานปืนใหญ่ยิงสนับสนุนการสู้รบกับคอมมิวนิสต์ ซึ่งเป็นจุดชมวิวที่งดงามอีกจุดหนึ่ง

      ที่ยอดเจดีย์ พระบรมธาตุเจดีย์กาญจนาภิเษก บรรจุพระบรมสารีริกธาตุที่อัญเชิญมาจากประเทศศรีลังกา โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทรงพระราชทานให้กับประชาชนในพื้นที่ หลังจากยุติการสู้รบกับคอมมิวนิสต์ในประเทศไทย

     ลงจากเขาค้อมาแวะที่ หอโบราณคดีเพ็ชรบูรณ์ อินทราชัย ในเมืองตัวเมืองเพชรบูรณ์ เพื่อหาข้อมูลเกี่ยวกับ ถ้ำฤาษีสมบัติ ซึ่งจอมพล ป.พิบูลสงคราม ขณะดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรีและคิดที่จะสร้างเมืองหลวงแห่งใหม่ขึ้นที่เมืองเพชรบูรณ์ ได้จัดตั้งให้เป็นที่เก็บสมบัติของชาติ เพื่อหนีภัยสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยได้อัญเชิญพระแก้วมรกตไปประดิษฐานไว้ รวมถึงขนสมบัติจากท้องพระคลังหลวงมาไว้ในถ้ำด้วย เนื่องจากเส้นทางไปถ้ำแห่งนี้ ต้องย้อนกลับขึ้นไปทางอำเภอหล่มสัก จึงตั้งใจว่าจะแวะไปในโอกาสหน้า ซึ่งวางแผนไว้ว่าจะเดินทางในระหว่างวันที่ 21-24 พฤศจิกายน 2563 นี้

 


อ่าน : 0

แชร์ :


เขียนความคิดเห็น