ราคารวม : ฿ 0.00
สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้แสดงทางสายเอกให้พุทธบริษัท คือ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา และ พุทธศาสนิกชนได้ดำเนินตาม ได้แก่ สัมมาทิฏฐิ จนถึง สัมมาสมาธิ แต่ในระยะหลังพุทธบริษัท บางรูป บางคน กลับเห็นว่า “ทางสายเอกเป็นทางสายอับ ทางสายเอกเป็นทางสายอด” คือถ้าประพฤติปฏิบัติตามทางสายเอกได้แก่ มรรค ๘ จะเป็นทางสายอับ ได้แก่ อับเฉา อับจน หรือเห็นว่าทางสายเอกเป็นทางสายอด ได้แก่ อดอยาก อดยศ จึงพากันทิ้งมรรค ๘ อันเป็นทางสายเอกหันมาสู่ มรรค ๙ และ มรรค ๑๐ อันเป็นทางสายอิ่มและเป็นทางสายอวด มรรคที่ ๙ คือ มักมาก, มรรคที่ ๑๐ คือ มักใหญ่ใฝ่สูง
เมื่อเดินผิดทางมรรค ๘ ของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ความสับสนความสับปลับก็เกิดขึ้น โดยมีพระเป็นแกนหลัก คือ ตัวเองก็จุ้นจ้าน ลูกหลานก็เข้ามาใกล้ชิด ลูกศิษย์ก็เพล่นพล่าน ชาวบ้านก็เข้ามาหาผลประโยชน์ ความสับสนปนเปก็ออกมาเป็นความสับสนปนเปื้อน นำความเสื่อมเสียและความเสียหายมาสู่ตน
สำหรับพระสงฆ์ที่ทิ้งมรรค ๘ ของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เดินเข้าสู่ความมักมาก และ มักใหญ่ใฝ่สูง ก็จะปรากฏอยู่ในพฤติกรรมและความเป็นอยู่ คือ อยากอยู่วัดที่มีชื่อเสียงดี อยากมีลูกศิษย์ อยากมีกิจนิมนต์มาก ๆ อยากใกล้ชิดพระผู้ใหญ่ อยากได้เลื่อนตั้งสมณศักดิ์ อยากเข้าไปตวงตักผลประโยชน์ใส่ตน อยากให้คนสรรเสริญ
สำหรับฆราวาสบางคนที่เข้าวัดก็มิได้มุ่งหมายที่จะทำให้วัดเป็นวัด แต่มักจะทำให้วัดเป็นวิก และทำวัดเป็นเว็จ คือเข้าวัดแล้วก็กลายเป็นบ่างช่างยุ ยุยงพระสารพัดวิธี เช่น ยุให้สร้างวัตถุมงคล ยุให้พระจัดสรรผลประโยชน์ ยุให้พระโกรธเกลียดกัน ยุให้ประชาสัมพันธ์ประวัติทางสื่อมวลชน และ ยุให้คนแตกเป็นฝักเป็นฝ่าย การเข้าวัดเช่นนี้เป็นการกระทำที่เรียกว่า “นรกกินกบาล”
เรื่องราวที่เกิดขึ้นแก่สงฆ์ไทยในแต่ละวัด ๆ ก็เพราะพระมิได้เป็นแกนหลัก เหตุที่ไม่ได้เป็นแกนหลักก็เพราะเดินออกจากทางอริยมรรคของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อเป็นเช่นนี้ความเสื่อมก็เกิดแก่คณะสงฆ์ไทยหลายรูปแบบ เป็นความเสื่อมทรุด เป็นความเสื่อมโทรม และกลายเป็นความเสื่อมทราม
เมื่อรู้เช่นนี้กันแล้วก็ไม่ต้องถามกลับมาหรอกว่า “ตัวท่านและวัดของท่านน่ะดีนักนี่” เอาเป็นอันว่าถ้ากล้าพูดถึงขนาดนี้ได้ก็ต้องกล้าที่จะทำได้ ส่วนใครจะเจ็บใจก็ไม่ว่ากัน เจ็บก็รักษาให้หาย จะได้ไม่ต้องพากันเดินไปตายด้วยความเจ็บปวด.
“เจ้าคุณพิพิธ”
Share :
Write comment