ราคารวม : ฿ 0.00
มีคำกล่าวว่า “ทัพพีไม่รู้รสแกง” นั่นเป็นคำกล่าวที่ถูกต้องที่สุด และจะสมบูรณ์ยิ่งขึ้นหากเราปล่อยทัพพีแช่ไว้ในหม้อแกงหลาย ๆ วัน เมื่อนำทัพพีออกจากหม้อแกงจะเห็นว่าทัพพีทั้งที่เป็นทองเหลือง อะลูมิเนียม สเตนเลส จะถูกพริก เกลือ กรดส้ม กัดกร่อนจนคอดหรือทะลุ นั่นเป็นเครื่องบ่งบอกว่าการเป็นพุทธศาสนิกชนที่เป็นเพียงทะเบียนบ้าน ไม่ศึกษาพระธรรมคำสอนของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าย่อมไม่รู้รสของพระธรรม ว่า “รสพระธรรมย่อมชนะรสทั้งปวง” คือ รสอันเกิดจากการฟัง การอ่าน การปฏิบัติ รสพระธรรมจะเกิดแก่พุทธศาสนิกชนได้นั้นต้องค่อยเป็นค่อยไป
“คำข้าวต้องค่อย ๆ ขบเคี้ยว จึงจะได้รับโอชารส”
“คำพูด (พระธรรม) ต้องค่อย ๆ ขบคิด จึงจะได้ธรรมรส”
สำหรับภิกษุสามเณรผู้บวชแล้ว เหมือนทัพพีที่ค้างคาอยู่ในหม้อแกง หากไม่ศึกษา ไม่ปฏิบัติ นอกจากจะไม่ได้รับรสพระธรรมแล้ว ยังจะเป็นเหมือนทัพพีที่สึกกร่อนผุกร่อน คือได้รับโทษได้รับทุกข์ อยู่ก็เป็นอาบัติอาเภท ตายไปแล้วก็วิบัติในขุมนรก การศึกษา การปฏิบัติจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งและให้ถึงปัญญาคือพุทธิปัญญา
หันมาดูวันอาสาฬหบูชาที่จำได้หมายรู้โดยสาระสำคัญ คือ เป็นวันเพ็ญกลางเดือน ๖ ปีแรกแห่งการตรัสรู้ของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ก่อนตั้งพุทธศักราช ๔๕ ปี เป็นวันที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมครั้งแรกแก่ปัญจวัคคีย์ (พระฤาษีปลงผม) พระธรรมที่ทรงแสดงคือ “ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร” (เขียนตามศัพท์ศาสนาไม่เกี่ยวกับวิธีเขียนทางภาษาไทย) เป็นวันที่รู้ว่ามีพระรัตนตรัยครบสาม คือ พุทธรัตนะ ธรรมรัตนะ สังฆรัตนะ นี่คือสาระที่พึงจำได้หมายรู้
แต่...หากจะพึงใช้ความรู้และวิจารณปัญญาจากจุดนี้ย้อนหลังไปนิด และเดินหน้าไปอีกหน่อย เราจะรู้จักสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าดีขึ้นอีก และจะได้รับความรู้ความเข้าใจถึงคำว่า “พุทธวิธี” ที่เข้ามาแทน “ยุทธวิธี”
วันหนึ่ง (เมื่อ ๒๓ ปีที่แล้ว) ขณะที่กำลังนั่งกำกับช่างปูนปั้นที่กำลังปั้นบัวสี่เหล่า ข้างแท่นฐานรูปปัญจวัคคีย์ที่แสดงอาการรังเกียจการเสด็จไปแสดงธรรมของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งเป็นรูปปั้นหล่อด้วยทองแดง พลันนึกถึงคำของพระรูปหนึ่งที่พูดว่า “อาจารย์ครับ...เดี๋ยวนี้บัวมีห้าเหล่าแล้วครับ... เหล่าที่ ๕ คือ บัวเต่าถุย คือเต่ากินแล้วรีบถ่มถุย เพราะบัวมันเน่า...” จึงหวนนึกถึงว่า “ทำไมสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงแบ่งบัวคืออุปนิสัยสัตว์โลกเป็น ๔ เหล่า” และก็ได้คำตอบตรงนั้นเองว่า...การปกครองชาวชมพูทวีป ซึ่งมีอินเดียเป็นศูนย์กลางแห่งอารยธรรม มีการแบ่งการปกครองเป็น ๔ ชนชั้น เป็นการปกครองแบบกดขี่ข่มเหงโดยอำนาจและอาวุธ คือ...
ชั้นที่ ๑. พวกกษัตริย์
ชั้นที่ ๒. พราหมณ์
ชั้นที่ ๓. แพศย์ ได้แก่ชนที่ถูกแบ่งชั้นแรงเงินคือพวกพ่อค้าซึ่งต้องทำมาหากินเสียภาษีบำรุงรัฐ ซึ่งอาจถูกกษัตริย์ยกระดับเป็นชนชั้นกษัตริย์ก็ได้
ชั้นที่ ๔. พวกศูทร คือชนชั้นแรงงาน ยากจน ซึ่งเป็นชนพื้นเมืองที่เป็นทาส กรรมกร ได้แก่ พวกมิลักขะที่ยากจนและไม่ได้รับโอกาสให้พัฒนาฐานะเป็นคนรวย ทั้งได้กษัตริย์ก็แสนฉลาดที่จะดึงเอาศาสนาหลักคือศาสนาพราหมณ์และพระพรหม มาเป็นเครื่องมือกำกับ เพราะชาวชมพูทวีปมีความเคารพในเทพ คือ พระพรหม พระอิศวร พระนารายณ์
การแบ่งอุปนิสัยสัตว์โลกโดยหลักการบัวสี่เหล่า จึงเป็นพุทธวิธีปลดปล่อยชนชั้น ซึ่งสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงกำหนดในพระทัยเป็นพุทธวิธี แหละที่สำคัญไม่สามารถป่าวประกาศให้ใครทราบได้เลย เพราะการแบ่งเช่นนี้ย่อมเป็นปฏิปักษ์แก่ยุทธวิธีของกษัตริย์ในครั้งนั้น หากได้ป่าวประกาศไปก่อน ย่อมถูกแรงต้านจากกษัตริย์ผู้สูญเสียประโยชน์ การที่จะเริ่มพุทธวิธีจึงต้องถูกวางแผนจุดเริ่มอย่างเหมาะสม จึงเห็นได้ว่าสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้เริ่มในจุดที่สำคัญ คือเจ้าสำนักศาสนาพราหมณ์ ได้แก่ ปัญจวัคคีย์ เจ้าสำนักลัทธิเทพบูชาไฟคือชฎิลดาบส ๓ พี่น้อง ซึ่งมีบริวารนักบวช ๑,๐๐๐ รูป มีผู้นับถือคือพระเจ้าพิมพิสาร แห่งราชคฤห์ แคว้นมคธ ซึ่งเป็นกษัตริย์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุด เมื่อผลประจักษ์จึงเป็นที่มาของชั้นแห่งพระอริยบุคคล ๔ คือ โสดาบันน์ สกทาคามี อนาคามี อรหันต์ นี่ก็ ๔ ชั้นแห่งอริยบุคคล เช่นเดียวกับวรรณะ ๔ และที่สำคัญคือ การให้ความเคารพโดยความเป็นอริยะที่มิได้มีวรรณะเดิมเข้ามาเกี่ยวข้อง การนั่งลำดับ แม้แต่เจ้าชายแห่งโกลิยวงศ์ ศากยวงศ์ ออกบวช ก็ให้อุบาลีนายช่างกัลบกซึ่งเป็นวรรณะแพศย์บวชก่อน แล้วเจ้าชายเหล่านั้นบวชภายหลัง เพื่อการทำความเคารพกราบไหว้ ทำลายทิฏฐิแห่งความเป็นชนชั้นซึ่งฝังหัวมาเนิ่นนาน เมื่อนักบวชเข้าสู่เส้นทางพุทธวิธี กษัตริย์เมืองใหญ่ ๆ เข้าสู่เส้นทางพุทธวิธีโดยประจักษ์ความจริงใน บุญ วาสนา บารมี มิใช่การกดขี่ ความสงบสุขก็เริ่มแผ่กระจายสู่ชมพูทวีป แน่นอนว่ามีกษัตริย์ที่มิได้เห็นชอบด้วย มีนักบวชที่มิได้เห็นชอบด้วย แต่ผลที่ปรากฏเป็นความสุขที่เรียกว่าสันติสุข เป็นสิ่งที่ชนชั้นปกครองไม่อาจปฏิเสธได้ จึงต้องยินยอม การสะสมอาวุธเพื่อรุกราน ห้ำหั่น กดขี่ จึงไม่จำเป็นอีกต่อไป สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ได้พิสูจน์ว่าพระองค์เป็นศาสดามือเปล่า ไม่ต้องมีมือปืน ไม่ต้องมีมือปราบ ....
อโห พุทฺโธ พระพุทธเจ้าช่างน่าอัศจรรย์จริง
อโห ธมฺโม พระธรรมของพระพุทธเจ้าน่าอัศจรรย์จริง
อโห สงฺโฆ พระสงฆ์สาวกของพระพุทธเจ้าช่างน่าอัศจรรย์จริง
พุทธวิธีได้แพร่หลายไปยังประเทศที่พระพุทธศาสนาแผ่ไปถึง ทั้งนี้พระสาวกที่จะจุดประกายพุทธวิธีแทนยุทธวิธีในเมืองต่าง ๆ ที่เป็นระบบชนชั้น จึงเป็นพระอริยสาวกที่เป็นกษัตริย์ หรือเคยเป็นเจ้าสำนักใหญ่ในนิกายเทพทั้งสิ้น ส่วนสาวกที่พื้นฐานเดิมเป็นชนชั้นแพศย์ ศูทร์ จึงเป็นองค์ประกอบเสริม หรือเป็นทัพหลังที่เข้าไปเสริมงานของพระสาวกในระดับผู้นำ แม้แต่สุวรรณภูมิคือเมืองไทยของเราก็มีพระสาวกที่เป็นชาติเชื้อเนื้อกษัตริย์นำพระพุทธศาสนาเข้ามาเผยแผ่ จึงได้รับการยอมรับทั้งโดยความเป็นกษัตริย์และความดีงามของพระพุทธศาสนา จนถึงพระราชามหากษัตริย์ได้สละความสุขออกบวชปฏิบัติธรรม จนบรรลุความสิ้นกิเลส เช่น สมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระปรมานุชิตชิโนรส พระราชโอรสในรัชกาลที่ ๑ หรือ สมเด็จพระสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรส พระราชโอรสในรัชกาลที่ ๔ เป็นต้น
เมื่อประจักษ์โดยพุทธิปัญญาอันเป็นวิจารณปัญญาดั่งที่ได้เล่ามาแล้ว จึงมีคำถามต่อมาว่า....ก็แล้วทำไมสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงต้องทรงแสดงพระธรรมเทศนาครั้งแรกด้วยพระธรรมเทศนาชื่อ “ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร” ซึ่งแสดงความเสียความทรามของการบำเพ็ญตปธรรมแบบดั้งเดิม แล้วทรงแสดงอริยสัจจ์ ๔ ซึ่งองค์ธรรมปรากฏอยู่ในมรรค คือ มรรค ๘ อันเริ่มจากสัมมาทิฏฐิ ถึง สัมมาสมาธิ และเพราะเหตุไรจึงทรงแสดงพระธรรมเทศนากัณฑ์ที่ ๒ ชื่อ “อนัตตลักขณสูตร” แล้วก็ได้คำตอบ ณ ขณะที่มองดูพระพุทธรูปปางแสดงปฐมเทศนาซึ่งสมเด็จพระสังฆราช (แพ) ได้ออกแบบแล้วหล่อจำลองไว้ ซึ่งประดิษฐานเบื้องหน้าของรูปปั้นปัญจวัคคีย์ ได้รู้ว่า...พระธรรมเทศนาทั้ง ๒ วาระนั้นเป็นทั้งพุทธวิธี พุทธวิสัย และทั้งตรงและหักล้างอุปนิสัยกับศรัทธาของปัญจวัคคีย์
นี่คืออัศจรรย์วันอาสาฬหบูชา มาเถิดท่านทั้งหลาย เราไปทำการบูชาด้วยทั้งอามิสบูชาและปฏิบัติบูชา คือ เข้าวัดในโอกาสเข้าพรรษา โดยจุดมุ่งหมายที่ถูกต้อง ดังนี้ คือ...
- รักษาศีล ๕, ศีล ๘, ศีล ๑๐, ศีล ๒๒๗ เพื่อกำจัดราคะ
- เจริญเมตตาเพื่อกำจัดโทสะ
- ทำบุญสุนทานเพื่อประหารโลภะ
- สวดมนต์เพื่อชำระกิเลส
- ฟังธรรมฟังเทศน์เพื่อเพิ่มพูนปัญญา
- บำเพ็ญสมถะ-วิปัสสนา เพื่อถอนตัณหาอุปาทาน.
พระเทพปฏิภาณวาที
“เจ้าคุณพิพิธ”
ขอบคุณเจ้าของภาพ
Share :
Write comment