ราคารวม : ฿ 0.00
ดังเป็นที่ทราบกันในหมู่ศาสนิกชนและผู้สนใจศึกษาพระพุทธศาสนาว่า “วันอาสาฬบูชา” เป็นวันที่สมเด็จพระบรมศาสดาพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงแสดงพระธรรมเทศนาครั้งแรก เมื่อพระองค์ทรงมีพระชนมายุ ๓๕ พรรษา (นับถอยหลังจากพุทธศักราช ๓๕ ปี)
การแสดงพระธรรมเทศนาแก่นักบวช ๕ รูป ซึ่งเป็นพราหมณ์พยากรณ์พุทธลักษณะ ได้แก่ โกณฑัญญะ ซึ่งเป็นหนึ่งใน ๘ พราหมณ์พยากรณ์ และพราหมณ์อีก ๔ รูป ซึ่งเป็นบุตรของพราหมณ์ผู้พยากรณ์ในวันนั้น นักบวชโกณฑัญญะเมื่อสดับ “ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร” จบลงแล้วได้ดวงตาเห็นธรรม สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่า “อัญญาสิ วะตะ โภ โกณฑัญโญ” แปลว่า “โกณฑัญญะได้รู้แล้วหนอ” จึงเป็นสมัญญาของโกณฑัญญะว่า “พระอัญญาโกณฑัญญะ”
การรู้เรื่องเชิงประวัติเป็นสิ่งสำคัญอันจะนำมาซึ่งหลักฐาน แต่การเรียนรู้คำสอนในพระธัมมจักกัปปวัตตนสูตรก็ยิ่งมีความสำคัญ แต่อย่ามัวเอาแต่ตีความศัพท์ จนลืมนำเอาพระธัมมจักกัปปวัตตนสูตรไปวิเคราะห์ ปฏิบัติให้เหมาะสม เพื่อแก้วิถีชีวิตของโลกียชนให้เข้าสู่มรรควิธี ๘ ประการ
พระธรรมคำสอนของสมเด็จพระสัพพัญญู พระบรมครูสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น ถือว่าเป็นการชี้ทิศทางให้ ๒ ประการ คือ...“ดวงตาเห็นโทษ และ ดวงตาเห็นธรรม”...
ธรรมดามนุษย์เราทุกคนนี้นั้น เวลาปกติก็กิน-นอน-เล่นสนุก เฉื่อยชา เฉื่อยแฉะ เรียกว่า “กามสุขัลลิกานุโยค” คือ อยู่เสพสุข ติดสุข แต่ครั้นพอจะเอาอะไรจริงขึ้นมาก็เร่งรัดร่างกาย เวลา ดูเหมือนเอาจริงเอาจังขึ้นมาทีเดียว โหมแรงแข่งกับเวลาที่ตนเองเคยหย่อนยาน จนกลายเป็นทรมานกายสังขารของตน เรียกว่า “อัตตกิลมัตถานุโยค” เหมือนกับความประพฤติของนักเรียน นักศึกษา ปกติก็ไม่ค่อยสนใจเรียน เรียนแบบกามสุขัลลิกานุโยค ฟังก็ไม่ค่อยฟัง การบ้านงานมีมือก็ไม่ค่อยทำ การทบทวนวิชาที่เรียนก็ไม่สม่ำเสมอ แต่พอใกล้สอบในวิชานั้น ๆ ก็เร่งรัดตนเองดูเหมือนเอาจริงเอาจัง ไม่หลับไม่นอน ไม่ค่อยกินอะไร กลายเป็นอัตตกิลมัตถานุโยค คือ แก้ข้อบกพร่องจากความเฉื่อยชา เฉื่อยแฉะของตน ผลการเรียนการสอบออกมาก็ไม่ดี ร่างกายก็ทรุดโทรม เพราะขาดความเพียรอย่างสม่ำเสมอซึ่งเรียกว่า “มัชฌิมาปฏิปทา” ตัวอย่างนี้เป็นตัวอย่างแบบเทียบความสุดโต่งของคนในกรณีอื่น ๆ เหมือนกัน แต่ถ้าคนเราทำอะไรแบบสม่ำเสมอใน “ภารกิจ - หน้าที่การงาน, กรรมบถ - ความดี, กรรมฐาน - วิถีแห่งสติปัญญา ในขั้นแห่งสมถกรรมฐาน และ วิปัสสนากรรมฐาน” ความสม่ำเสมออันเรียกว่า “คงเส้นคงวา” ก็จะเป็นมัชฌิมาปฏิปทาของตนเองในกรรมทั้ง ๓ ประการดังกล่าวแล้ว แต่ส่วนใหญ่คนเราทำแบบ “กรรมบถ และ กรรมฐาน” เอาตอนใกล้ ๆ จะตาย จึงกลายเป็นอัตตกิลมัตถานุโยค... “เอาดีได้ยาก เอามากไม่ได้”
คำสอนของสมเด็จพระบรมศาสดาพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น หากจะลองพิเคราะห์จัดกรอบแห่งคำสอนเสียใหม่โดยแบ่งต่างไปจากพระวินัย พระสูตร พระอภิธรรม ซึ่งเรียกว่า “ไตรปิฎก” คือ ตะกร้าคำสอน จะเห็นลักษณะคำสอน ๕ กรอบ หรือ ๕ ตะกร้า คือ
- สอนหน้าที่หลัก
- สอนให้รู้จักหน้าที่การงาน
- สอนให้บริหารจิต
- สอนให้เตรียมชีวิตไว้โลกหน้า
- สอนให้ดับกิเลสตัณหาเข้าสู่พระนิพพาน
๕ ตะกร้าคำสอนนี้เป็น “How to…” ที่ละเอียดละออ ขยายผลของคำสอนตามวัยและบทบาทของผู้ปฏิบัติ เป็นคำสอนอัศจรรย์ ซึ่งคำสอน ๔ กรอบแรกมีในทุกศาสนา แต่การสอนให้ดับกิเลสตัณหามีในพระพุทธศาสนาเท่านั้น จึงควรที่จะถามตนเองว่า...“เวลาฟังธรรม ศึกษาพระธรรม ตนเองต้องการอะไรไปใช้ในชีวิต”... หาคำตอบให้พบแล้วลงมือฟัง-อ่าน-พิเคราะห์ แบบโยนิโสมนสิการ คือ “รู้ไว้ใช้เฉพาะหน้าและล่วงหน้า” ส่วนอื่น ๆ นั้นอาจจำเป็นต้อง “รู้ไว้ ใช้ทีหลัง” เช่น จะให้เด็กเรียนกรรมฐาน จะต้องรู้ว่าเอากันขนาดไหนในวัยเด็ก มิเช่นนั้นจะไม่เป็นประโยชน์ใดใดต่อเด็ก เด็กก็จะเบื่อหน่าย เอาไปใช้ในกรรมกิจและกรรมบถสมกับวัยปัจจุบันไม่ได้เลย โรงเรียน และ พระทั้งหลายก็นิยมให้เด็กนั่งกรรมฐานแบบ “ลมปราณเลื่อนลอย” เมื่อลมปราณเลื่อนลอย จิตก็ถดถอยและฟุ้งเหมือนนุ่นปลิวไปตามลม พระก็จะสรุปว่า “เป็นบุญ”
เรื่อง “มรรคมีองค์ ๘” ในพระธัมมจักกัปปวัตนสูตรก็เช่นเดียกัน สอนกันสอดคล้องกับชีวิตเด็กในวัยเรียนกันหรือเปล่า? ส่วนใหญ่แล้วเอามรรคมีองค์ ๘ ของผู้ใหญ่ หรือของผู้มีภูมิปัญญาเข้าขั้นอริยบุคคลไปยัดใส่ให้เด็ก เด็กก็ไม่เห็นคุณค่าของมรรค ๘ ก็จะพากัน “แบกหามมรรค ๘” มากว่าจะเดินตาม
“มรรค ๘” ของคำในเครื่องหมายคำพูดนี้เป็นโจทย์ที่ผู้สอนจะต้องสังวรระวัง วิเคราะห์จัดมรรค ๘ ให้สอดคล้องกับชีวิตของแต่ละวัยและภูมิปัญญาของแต่ละคน แต่ละกลุ่ม
โรงเรียนยานนาเวศ เขตยานนาวา กรุงเทพมหานคร จัดเทศน์มหาชาติมหาเวสสันดรชาดก นิมนต์อาตมาให้ไปเทศน์กัณฑ์นครกัณฑ์ ซึ่งเป็นกัณฑ์ที่ ๑๓ คือเป็นกัณฑ์สุดท้าย ครูที่ติดต่อไปก็ขอให้เทศน์อริยสัจจ์ ๔ ตามโบราณประเพณีที่ปฏิบัติมา จึงถามถึงกลุ่มผู้ฟังว่าเป็นกลุ่มใด ก็ได้รับคำตอบว่าส่วนใหญ่เป็นนักเรียนมัธยมศึกษาปีที่ ๖ และมีบุคคลภายนอกเข้าร่วมฟังด้วย
เมื่อโจทย์ออกมา ๒ วัยเช่นนี้ก็ต้องเลือกเอาว่าจะเอากลุ่มใด ระหว่าง วัยรุ่น กับ วัยโรย จึงได้นำมรรค ๘ มาวิเคราะห์ให้เหมาะแก่วัยเรียนวัยรุ่น ส่วนวัยโรยซึ่งประกอบด้วยครูและบุคคลภายนอก ก็ควรรู้แบบเดียวกับวัยเรียน แต่ควรให้รู้เพื่อ “ชี้แจง, ชี้แนะ, ชี้นำ” ให้เด็กเดินทางมรรค มิใช่ให้เด็กเดินแบกมรรค
เพื่อให้เป็นประโยชน์แก่ผู้อ่านที่จะได้ทำ “ทิศทางแห่งมรรค ๘” แก่วัยเรียน วัยรุ่น เรียกโก้ ๆ ว่า Road map ก็ได้ ผู้ปกครองและครูควรวางแผนการเรียน การสอน ความประพฤติของวัยเรียนวัยรุ่นให้เดินเส้นทางมรรค ๘ ดังนี้ (อ่านเฉพาะภาษาไทยก่อนแล้วค่อยดูภาษาบาลีในวงเล็บ ถ้าเป็นผู้นับถือศาสนาอื่นก็อย่าเอาภาษาบาลีไป และอย่ารังเกียจมรรค ๘ ของพระพุทธเจ้า ให้ทำใจเหมือนเราใช้ถนนซุปเปอร์ไฮเวย์ร่วมกัน คือทุกคนใช้ได้ ปลอดภัย ถึงจุดหมายปลายทางได้เร็ว ประสบสิ่งที่มุ่งหวังตั้งใจ)
ทฤษฎีปลูกฝังนักเรียนในมรรค ๘
• ปลูกฝังทัศนคติในการพึ่งพาคนอื่น - พึ่งพาตน
(สัมมาทิฏฐิ)
• ฝึกฝนการเป็นคนช่างคิด - ช่างทำ
(สัมมาสังกัปปะ)
• ฝึกพูดแต่คำน่ารัก และ เป็นประโยชน์
(สัมมาวาจา)
• ฝึกไม่เป็นคนชั่วโฉดในการทำรายงาน - การบ้าน - สอบแบบทุจริต
(สัมมากัมมันตะ)
• ดำรงชีวิตในระเบียบวินัย - ศีลธรรม - กฎหมาย
(สัมมาอาชีวะ)
• ขวนขวายแบบพึ่งพาตนเอง
(สัมมาวายามะ)
• เคร่งในเวลา - ตาราง
(สัมมาสติ)
• ไม่ละวางในปณิธาน
(สัมมาสมาธิ)
การวางแผนการเรียน การสอน การอบรม จะมีรายละเอียดอย่างไร ก็ต้องจัดประชุมวางแผน ใส่วิชาการ ข้อปฏิบัติ วิถีชีวิต กฏระเบียบ และต้องปลูกฝังให้เด็กมีปัญญาและยังเห็นว่ามรรค ๘ เป็นซุปเปอร์ไฮเวย์ของพวกเขา พวกเด็กก็จะพากันเดินตามทางมรรค ๘ ด้วยความศรัทธา เพราะเห็นความสุขและอนาคตในเบื้องหน้า แล้วเขาก็จะเป็นผู้ถ่ายทอดมรรค ๘ ให้เด็กรุ่นต่อ ๆ ไป และเมื่อถึงวัยแต่ละช่วงวัย พวกเขาก็จะพากันขยับขยายมรรค ๘ จนถึง มรรค ผล นิพพาน
มรรค ๘ เป็นทางสำหรับเดินอันต่อเชื่อมถึงกัน ขอให้ ครู ผู้ปกครอง พระสงฆ์ วางแผนให้เด็ก “เดินบนมรรค ๘” เถิด อย่าให้เขาแบกมรรค ๘ เลย ถนนน่ะเขาทำเอาไว้ให้เดิน ไม่ใช่ทำเอาไว้ให้แบก เพราะอาตมาตอนเป็นเณรเล็ก ๆ ก็แบกมรรค ๘ จนหลังแอ่นมาแล้ว ทั้งนี้ เพื่อให้สอบได้ แต่มาใช้มรรค ๘ ได้ก็ตอนกว่า ๕๐ ปี
พระเทพปฏิภาณวาที
(เจ้าคุณพิพิธ)
Share :
Write comment