ราคารวม : ฿ 0.00
ยามที่ราคาน้ำมันลอยตัว ค่าใช้จ่ายทั้งภาคครัวเรือนและภาครัฐก็เพิ่มขึ้น ภาวะทางเศรษฐกิจขณะนี้คือ ซื้อไม่ไหว ขายไม่ออก รายรับหาย รายได้ไม่เพิ่ม ทำเอาวัดก็จน คนก็เจ๊ง หนี้ก็เจ๊า ชาวบ้านชาวเมืองทั่วโลกโดนวิกฤติเหมือนกันหมด ไม่ว่าจะเป็นจีนมังกร ฝรั่ง เอเชีย ยุโรป ฯลฯ ดูแล้ว หน้าไม่ใส ใจไม่สุข ทุกข์ตลอด ทอดถอนต่อชีวิต เป็นโรคจิตอ่อน ๆ
สภาวการณ์แห่งการดำรงชีวิตทั้งวันนี้และวันข้างหน้า ชาวโลกจึงอยู่อย่างหวาด อาการที่อยู่อย่างหวาด คือ หวาดกลัว หวาดหวั่น หวาดระแวง หวาดผวา หวาดเสียว ความหวาดทั้งหมดนี้พิฆาตความสุขของคนทั้งโลก เมื่ออยู่ด้วยความหวาด โรคประสาทก็ตามมา การบันเทิงจึงเป็นเครื่องผ่อนคลาย แต่ถ้าไม่มีการบันเทิง มนุษย์จึงเข้าหายาเสพติด ยากล่อมประสาท ยานอนหลับ ซึ่งเป็นเครื่องผ่อนคลาย ระงับ หยุดยั้งได้เพียงชั่วครู่ชั่วคราว แต่มิได้ทำให้สุขภาพจิตดีขึ้นมาแต่อย่างใด
คราวนี้ก็มาถึงคำถามว่า “ถ้าไม่ให้ทำอย่างที่ว่ามาแล้ว จะให้ทำอย่างไร” ก็อยากจะให้ทำตามอย่างที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสเอาไว้ว่า กัมมุนา วัตตะตี โลโก สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกฎแห่งกรรม คือ กรรมของตนและกรรมของคนสัตว์ทั้งโลก เช่น ถ้าแผ่นดินถล่มทลาย คนสัตว์ก็ต้องพากันตาย ไม่เราก่อนก็เขาก่อน จะโทษใครไม่ได้ ต้องคิดว่าร่วมกันทำกรรม และต้องร่วมกันรับกรรม เหตุผลก็คือทุกคนมีส่วนในการขุดเจาะแผ่นดิน สูบน้ำมันใต้ดินมาใช้กันอย่างเมามัน น้ำมันอันเป็นตัวหนุนแผ่นดินหมดไป แผ่นดินถล่ม คนสัตว์ตายก็ต้องถือว่าทุกคนมีส่วนในการใช้น้ำมันไม่ทางตรงก็ทางอ้อม นี่เป็นเพียงตัวอย่างเดียว
ดังนั้นการยอมรับพระพุทธพจน์ว่า กัมมุนา วัตตะตี โลโก สัตว์โลกเป็นไปตามกรรม จึงเป็นการทำลายความหวาดทั้งหมด พระพุทธพจน์นี้มีคำไทย ๆ ที่พูดเอาไว้ อันน่าจะนำมาภาวนาแก้ความหวาด คำนั้นก็คือ...อะไรจะเกิดมันก็ต้องเกิด... ภาวนาคำนี้ไว้มาก ๆ แล้วจะสบายใจขึ้น คือมองโลกในแง่มุมที่สว่างไสว จิตใจก็จะปลอดโปร่ง ปลอดโปร่งในภาวการณ์ที่โลกไม่ปลอดภัย
เมื่อภาวนาว่าอะไรจะเกิดมันก็ต้องเกิดแล้ว หันมาสร้างความกล้ายอมรับทุกสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้น เดินหน้าอย่างกล้าหาญ กำมือแน่น ๆ เม้มปากให้บาง ๆ กัดฟันเบา ๆ แล้วพูดกับตัวเองเสมอว่า...ชีวิตวันนี้และวันหน้า เป็นอะไรก็เป็นกันวะ... ทำได้แบบนี้ถือว่าอยู่อย่างใจนักเลง
สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสอนให้พิจารณาเนือง ๆ อันจะสอดคล้องกับพระพุทธพจน์ว่า กัมมุนา วัตตะตี โลโก สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม คือให้พิจารณาว่า สัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็นของ ๆ ตน มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ มีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย สัตว์เหล่าใดทำกรรมใดไว้ดีหรือเลว ก็ต้องเป็นผู้ได้รับมรดกกรรมนั้น
นี่แสดงให้เห็นชัดเจนว่า มรดกกรรมมี ๒ ส่วน
- มรดกกรรมดี เรียกว่า กรรมสมบัติ
- มรดกกรรมเลว เรียกว่า กรรมวิบัติ
จะเลือกเอาเพียงกรรมดีมาใช้อย่างเดียวไม่ได้ กรรมชั่วก็ต้องยอมรับด้วยใจเป็นธรรม จึงควรที่เราจะพูดกับตนและคนทั้งหลายว่า...
อะไรมันจะเกิดก็ต้องเกิด
เป็นอะไรก็เป็นกันวะ....
“เจ้าคุณพิพิธ”
แชร์ :
เขียนความคิดเห็น