Episode 2 : ธรรมทำให้รอด COVID - 19

ตอน ธรรมทำให้รอด COVID – ๑๙

ช่วง..ฆราวาสกับการดำเนินชีวิตชอบ

...ชีวิตท่านเคยพบกับปัญหาทำให้เกิดความทุกข์หรือกลัวสิ่งเหล่านี้บ้างไหม

เป็นหนี้สินล้นพ้นตัว,  ถูกไล่ออกจากราชการ/ถูกเลิกจ้าง, สามีหรือภรรยาหย่าร้าง/แฟนทิ้ง, พิการ, ตาย ทันที ด้วยอุบัติเหตุ ถูกฆาตกรรม โรคต่างๆ รวมทั้งโรคไวรัสโควิด,  ติดคุก, เป็นผู้วิกลจริต(บ้า), เจ็บป่วยเรื้อรัง, ถูกสังคมรังเกียจตราหน้าว่าเป็นคนเลว ชั่ว,  คนในครอบครัว พ่อแม่ สามี/ภรรยา บุตร เจ็บป่วยเรื้อรัง เป็นผู้วิกลจริต(บ้า) ติดคุก ตาย พิการ ถูกไล่ออกจากราชการ/ถูกเลิกจ้าง

จากความกลัวเบื้องต้นที่ทำให้ท่านให้ประสบกับชีวิตของตนเองตั้งแต่อดีตและปัจจุบันที่เราจะต้องพบกับโรคระบาด covid -๑๙ ทำให้เราหาทางออกชีวิตไม่ได้ หนทางชีวิตมืดมนครั้นคิดถึงบุคคลอื่นที่หวังช่วยเหลือไม่ว่าจะเป็นคนใกล้ตัวพ่อแม่พี่น้อง ภรรยา  สามี  บุตร ญาติ  มิตรสหาย  เพื่อนร่วมงาน ผู้บังคับบัญชา ผู้ใต้บังคับบัญชาผู้แทนประชาชนในระดับต่างๆจนถึงผู้บริหารระดับประเทศเช่นทุกวันนี้ก็คงยากจะอาศัยได้จะช่วยเหลือเราได้เพียงบางส่วนเพราะแต่ละคนที่กล่าวมาแล้วนั้นก็ไม่ต่างจากตัวเรามากนัก เพียงแต่ตัวเขาอาจจะสมบูรณ์หรือมีอำนาจในส่วนระดับหนึ่งเท่านั้น แต่แล้วมันก็หนีไม่พ้นตัวเราที่จะพึ่งตนเอง  ทุกท่านเคยได้ยินคำว่า”ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน” ในสถานการณ์แบบนี้ผู้เขียนได้ประสบกับความทุกข์หลายอย่างเบื้องต้นตามที่กล่าวมาแล้วและได้ทำการศึกษาค้นคว้าตามตำรับตำราโดยเฉพาะพระไตรปิฎกซึ่งเป็นคัมภีร์พุทธศาสนาทำให้พบทางออกของชีวิต

พื้นฐานชีวิตทางสังคม ของผู้เขียน  วัยเด็ก เกิดในชนบท  ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อาชีพของครอบครัวทำเกษตร(ทำนา)เป็นหลัก ปลูกพืชผัก เลี้ยงสัตว์ เป็ด ไก่ เพื่อเป็นอาหาร  และเลี้ยงควายสำหรับใช้แรงงาน ไถนา คาดนา เทียมเกวียนบรรทุกข้าวช่วงเก็บเกี่ยว พื้นทางทางสังคมชนบทในภาคอิสานจะเป็นเกษตรกร ทำนาเป็นหลัก การทำนาเป็นอาชีพที่ลำบาก เหนื่อยยาก สาธารณูปโภคพื้นฐานถนนไฟฟ้าน้ำประปาไม่มี การศึกษาในหมู่บ้านมีถึงระดับประถม(ป.๔) ระดับประถม มัธยม  มีอยู่ที่อำเภอ คนในหมู่บ้านและครอบครัวนับถือศาสนาพุทธ วัด เป็นที่รวมกิจกรรมทางประเพณีและทางศาสนา ได้ซึมซับทางศาสนา สติปัญญาในวัยนั้นยังไม่รับรู้แยบคายมากนัก เมื่อเจริญเติบโตขึ้นได้เล่าเรียนตามหลักสูตรวิชาทางศาสนาของกระทรวงศึกษาธิการกำหนดและบางช่วงชีวิตเป็นเด็กวัดไปอาศัยอยู่วัดเพื่อเรียนหนังสือมีเวลาว่างอ่านหนังสือธรรมะห้องสมุดของวัด  พอจับใจความหลักของพุทธศาสนาได้บางส่วน เช่น  พระพระรัตนตรัย วัฏสงสาร  กฎแห่งกรรม  อริยสัจ  ไตรลักษณ์ ไตรสิกขา อริยมรรค  ทางสายกลาง เป็นต้น แต่ก็ไม่ลึกซึ้งเท่าใดเพราะอยู่ในช่วงวัยเรียนหนังสือ  ใช้สมองส่วนใหญ่ไปกับวิชาอื่นหรือคิดแต่เรื่องทางโลกเท่านั้น  แต่ก็พอจับหลักหัวใจของศาสนาพุทธได้ใจความว่า "ทำความดี ละเว้นความชั่ว ทำจิตใจให้บริสุทธิ์"

วัยทำงาน  ปัญหาส่วนตัวคือครอบครัว  และปัญหางานหน้าที่ทำงาน  เริ่มเกิดขึ้นเรื่อยๆ เป็นเรื่องเล็กๆ ไปหาเรื่องใหญ่ๆ  จำนวนจากน้อยไปหามาก  จากมากไปหามากที่สุด  การแก้ปัญหาเช่นกันแก้จากง่ายไปหายาก  จากยากไปจนถึงยากที่สุด  และยากจนไม่สามารถแก้ไขได้  ทางด้านครอบครัวต้องแยกทางอย่าร้าง  การงานเฉียดออกจากราชการ  เฉียดติดคุก คำพูดที่ผู้คนใกล้ชิดให้กำลังใจมีเพียงคำว่าปล่อยวาง  งง!(ภาษทางการแปลว่าสงสัย)  ปล่อยอะไรวางอะไรไม่มีใครตอบได้เลย ฉุกคิดถึงตำราทางศาสนาที่เคยอ่านตามประสาวัยช่วงนั้น  กลับไปค้นคว้าหนังสือ  ตำรา คัมภีร์ ทางศาสนา มาอ่าน  อ่าน  และอ่าน วันหนึ่งจึงรู้ถึงว่าปล่อยอะไร วางอะไร

ชีวิตเดินตามโลกยุคโลกาภิวัตน์

ผลจากการพัฒนาการติดต่อสื่อสาร การคมนาคมขนส่ง และเทคโนโลยีสารสนเทศ อันแสดงให้เห็นถึงการเจริญเติบโตของความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ การเมือง เทคโนโลยี และวัฒนธรรมที่เชื่อมโยงระหว่างปัจเจกบุคคล ชุมชน หน่วยธุรกิจ และรัฐบาล การแพร่กระจายไปทั่วโลก การที่ประชาคมโลกไม่ว่าจะอยู่ ณ จุดใด สามารถรับรู้ สัมพันธ์ หรือรับผลกระทบจากสิ่งที่เกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็วกว้างขวาง ซึ่งเนื่องมาจากการพัฒนาระบบสารสนเทศเป็นต้น" โลกาภิวัตน์ เป็นคำศัพท์เฉพาะที่บัญญัติขึ้นเพื่อตอบสนองปรากฏการณ์ของสังคมโลกที่เหตุการณ์ทางเศรษฐกิจ การเมือง สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรมที่เกิดขึ้นในส่วนหนึ่งของโลก ส่งผลกระทบอันรวดเร็วและสำคัญต่อส่วนอื่นๆของโลก โลกาภิวัตน์ จึงหมายถึงกระบวนการที่ประชากรของโลกถูกหลอมรวมกลายเป็นสังคมเดียว กระบวนการนี้เกิดจากแรงของอิทธิพลร่วมทางเศรษฐกิจ เทคโนโลยีและสังคม-วัฒนธรรมและการเมือง ประเทศไทยก็อยู่ในกระบวนการโลกาภิวัตน์นี้ด้วย

ชีวิตหมดหนทาง หมดหวัง

เมื่อการนำความรู้ทางโลกที่ได้จากการเล่าเรียนมาใช้ดำเนินชีวิต ปฏิบัติหน้าที่การงาน ถึงทางตันใช้แก้ปัญหาชีวิตไม่ได้  ทุกข์สุดๆ จิตเริ่มนึกถึงศาสนา  พุทธศาสนาสอนเรื่องทุกข์  ทำไมเราไม่นำมาประยุกต์ใช้ในการดำเนินชีวิต  เริ่มรื้อฟื้นความรู้เดิม ในวัยเด็กสิ่งที่พอจำได้หลังจากที่อ่านหรือฟังเรื่องจากพระเทศนาพอจับใจความหลักพุทธศาสนาได้คือ  ทำความดี ละเว้นความชั่ว  ทำจิตใจให้บริสุทธิ์  อะไรคือความหมายของสามประโยคนี้  จึงค้นหาคำตอบด้วยตนเอง คัมภีร์ทางพุทธศาสนาที่ดีที่สุดคือพระไตรปิฎก  ในช่วงที่ยังไม่       อินเทอร์เนตการหาหนังสืออ่านนั้นยากมาก แหล่งที่มีหนังสือพอจะหาอ่านได้คือห้องสมุด ห้องสมุดระดับจังหวัดหนังสือจะมากกว่าระดับอำเภอ ซึ่งลำบากกว่าปัจจุบันนี้มาก หลังจากที่ค้นคว้าอ่านหนังสือคัมภีร์พระไตรปิฎกแล้วเกิดศรัทธา(เชื่อ)และก็เกิดความกลัวขึ้นมา ถามตนเองว่ากลัวอะไร จิตส่วนลึกกลัวอบายภูมิเมื่อเราตายไปแล้วกลัวเป็นสัตว์เดรัจฉาน เปรต อสูรกาย และสัตว์นรก จิตใจหมดหวังเพราะคิดย้อนหลังในช่วงอดีตไม่เชื่อเรื่องบาปกรรม ศาสนาไม่มีจริงในอดีตบรรพบุรุษใช้คนแต่งขึ้นเพื่อวัตถุประสงค์ต่างๆเช่นเพื่อให้รัฐใช้ปกครองง่ายหรือคนในสังคมที่เราเคารพนับถือได้ใช้ประโยชน์จากศาสนา  เป็นต้น จึงใช้ชีวิตที่ผ่านมากระทำความชั่วต่างๆ ศีลห้าข้อผิดทุกข้อ เกิดความหมดหวังที่จะปฏิบัติความดีให้กลบความชั่วที่ได้กระทำมา  จึงคิดหาบุคคลในอดีตที่เป็นตัวอย่างในการกลับใจ จำชื่อบุคคลนี้ได้ 

บุคคลในอดีตร่วมสมัยพุทธกาลที่ให้แง่คิด เพิ่มความมั่นใจ

องคุลิมาล หรือ พระองคุลิมาลเถระ เป็นบุคคลสำคัญในยุคต้นแห่งพุทธศาสนา โดยเฉพาะตามพุทธประวัติพุทธฝ่ายเถรวาท เดิมนั้นเป็นโจรปล้นฆ่าคน แต่ภายหลังมีศรัทธาในพุทธศาสนา ได้กลับใจบวชเป็นพระภิกษุ และบรรลุเป็นพระอรหันต์ แต่เดิมนั้นองคุลิมาลชื่อว่า อหิงสกะ เป็นบุตรของปุโรหิตในราชสำนักของ พระเจ้าปเสนทิโกศล เมืองสาวัตถี บิดามีนามว่า "คัคคะ" มารดามีนามว่า นางมันตานี อหิงสกะได้ไปเรียนวิชาที่เมืองตักกสิลา  และสามารถเรียนได้รวดเร็วอีกทั้งยังปรนนิบัติอาจารย์อย่างดี จนเป็นที่รักใคร่ของอาจารย์อย่างมาก เป็นเหตุให้ศิษย์อื่นริษยา จึงยุยงอาจารย์ว่าองคุลิมาลคิดจะทำร้าย อาจารย์จึงคิดจะกำจัดองคุลิมาลเสีย โดยบอกกองคุลิมาลว่า ถ้าจะสำเร็จวิชาต้องฆ่าคนให้ได้ ๑,๐๐๐  คนเสียก่อน 

องคุลิมาลจึงออกเดินทางฆ่าคน แล้วตัดนิ้วหัวแม่มือมาคล้องที่คอเพื่อให้จำได้ว่าฆ่าไปกี่คนแล้ว เหตุนี้เอง อหิงสกะจึงได้รับสมญานามว่า องคุลิมาล เมื่อฆ่าจนครบ ๙๙๙ คน ก็มาพบพระพุทธเจ้า และได้เลื่อมใสในพระพุทธศาสนา ออกบวชเป็นพุทธสาวก  แง่คิดที่ได้จากการศึกษาประวัติองคุลิมาลท่านหลงผิดที่เชื่ออาจารย์ไม่มีเจตนาโดยสันดาน  ความชั่วจากกรรมนั้นคงไม่นำพาสู่อบายและยังสามารถบำเพ็ญเพียรจนบรรลุเป็นพระอรหันต์ กลับมามองที่ตัวเราก็ไม่ชั่วโดยสันดานกระทำชั่วบางอย่างด้วยความหลงผิด ความคิดบวกกลับขึ้นมาเป็นความมั่นใจในตนเองว่าจะปฏิบัติให้ใด้มรรคผล อย่างน้อยก็ไม่ให้ตกสู่อบายภูมิเมื่อตาย

บุคคลที่ช่วยให้มีกำลังใจที่สำคัญที่สุด

จากการศึกษาพุทธประวัติ พระพุทธเจ้าพระองค์ทรงแสวางหาทางออกจากทุกข์ที่มนุษย์ทั่วไปไม่ทำกัน ผู้เขียนขอคัดพุทธประวัติจากพระโอษฐ์ให้ท่านผู้อ่านได้ทราบ อาจจะมีความยาวพอสมควรเพื่อวัตถุประสงค์ให้ท่านผู้อ่านได้น้อมศรัทธาแด่พระองค์ที่ท่านทรงทุกข์ทรมานอย่างแสนสาหัสในการบำเพ็ญทุกรกิริยา  กว่าที่จะพบสัจธรรม และได้นำคำสอนที่ทรงตรัสรู้มาอบรมสั่งสอนสานุศิษย์ อุบาสก อุบาสิกา  คำสอนนั้นได้สืบทอดจนถึงปัจจุบัน จากการอ่านพุทธประวัติจากพระโอษฐ์ได้แง่คิดท่านทรงพบกับอุปสรรคความทุกข์ทรมานอย่างแสนสาหัสแล้วเราล่ะหมกมุ่นในลาภ ยศ สรรเสริญ  ร่างกายเสพ จิตใจหลุ่มหลง  รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส  อย่างเมามัน  นี่หรือคือสัตบุรุษน่าจะเป็นโมฆะบุรุษมากกว่า  เมื่อน้อมคิดถึงพระองค์ท่านทำให้มีกำลังใจที่มุ่งมั่นบำเพ็ญเพียร

พุทธประวัติจากพระโอษฐ์

ทุกรกิริยา

(วาระที่ ๑) ราชกุมาร ! ความคิดข้อนี้ได้เกิดขึ้นแก่เราว่า ถ้ากระไรเราพึงขบฟันด้วยฟันอัดเพดานด้วยลิ้น ข่มจิตด้วยจิต บีบให้แน่นจนร้อนจัด

ดูที. ราชกุมาร ! ครั้นเราคิดดังนั้นแล้ว จึงขบฟันด้วยฟัง อัดเพดานด้วยลิ้นข่มจิตด้วยจิต บีบให้แน่นจนร้อนจัดแล้ว เหงื่อไหลออกจากรักแร้ทั้งสอง,

ราชกุมาร !เปรียบเหมือนคนที่แข็งแรงจับคนกำลังน้อยที่ศีรษะหรือที่คอ บีบให้แน่นจนร้อนจัดฉะนั้น.

ราชกุมาร ! แต่ความเพียรที่เราปรารภแล้ว จะได้ย่อหย่อนก็หาไม่ สติจะฟั่นเฟือนไปก็หาไม่,เป็นแต่กายกระสับกระส่ายไม่สงบเพราะกำลังความเพียรที่ทนได้ยากเสียดแทงเอา.

(วาระที่ ๒) ราชกุมาร ! ความคิดข้อนี้ได้เกิดขึ้นแก่เราว่า ถ้ากระไรเราพึงเพ่งฌานเอาการไม่หายใจเป็นอารมณ์เถิด. ราชกุมาร ! ครั้นคิดดังนั้นแล้วเราจึงกลั้นลมหายใจออกเข้าทั้งทางจมูกและทางปาก. ครั้นเรากลั้นลมหายใจทั้งทางจมูกและทางปาก เสียงลมออกทางช่องหูทั้งสองดังเหลือประมาณ เหมือนเสียงลมในสูบแห่งนายช่องทองที่สูบไปสูบมาฉะนั้น. ราชกุมาร ! แต่ความเพียรที่เราปรารภแล้ว จะได้ย่อหย่อนก็หาไม่ สติจะฟั่นเฟือนไปก็หาไม่ เป็นแต่กายกระสับกระส่ายไม่สงบ เพราะกำลังแห่งความเพียรที่ทนได้ยากเสียดแทงเอา.

(วาระที่ ๓) ราชกุมาร ! ความคิดข้อนี้ได้เกิดขึ้นแก่เราว่า ถ้ากระไรเราพึงเพ่งฌาน มีการไม่หายใจนั่นแหละ (ให้ยิ่งขึ้น)๑ เป็นอารมณ์เถิด.

ราชกุมาร !ครั้นคิดดังนั้นแล้ว เราจึงกลั้นลมหายใจออกเข้า ทั้งทางจมูกทางปากและทางช่องหูทั้งสองแล้ว. ราชกุมาร ! ครั้นเรากลั้นลมหายใจออกเข้าทั้งทางจมูกทางปากและทางช่องหูทั้งสองแล้ว ลมกล้าเหลือประมาณ แทงเซาะขึ้นไปทางบนกระหม่อมเหมือนถูกบุรุษแข็งแรง เชือดเอาที่แสกกระหม่อมด้วยมีดโกนอันคมฉะนั้น. ราชกุมาร ! แต่ความเพียรที่เราปรารภแล้วจะได้ย่อหย่อนก็หาไม่

สติจะได้ฟั่นเฟือนไปก็หาไม่ เป็นแต่กายกระสับกระส่ายไม่สงบ เพราะความเพียร

ที่ทนได้แสนยากเสียดแทงเอา.

(วาระที่ ๔) ราชกุมาร ! ความคิดข้อนี้ได้เกิดขึ้นแก่เราว่า ถ้ากระไรเราพึงเพ่งฌาน มีการไม่หายใจนั่นแหละ (ให้ยิ่งขึ้นไปอีก) เป็นอารมณ์เถิด.ราชกุมาร ! ครั้นคิดดังนั้นแล้ว เราได้กลั้นลมหายใจออกเข้า ทั้งทางจมูกทางปากและทางช่องหูทั้งสองแล้ว. ราชกุมาร ! ครั้นเรากลั้นลมหายใจออกเข้าทั้งทางจมูกทางปากและทางช่องหูทั้งสองแล้ว รู้สึกปวดศีรษะทั่วไปทั้งศีรษะเหลือประมาณเปรียบปานถูกบุรุษแข็งแรง รัดศีรษะเข้าทั้งศรีษะด้วยเชือก

มีเกลียวอันเขม็งฉะนั้น.ราชกุมาร ! แต่ความเพียรที่เราปรารภแล้ว จะได้ย่อหย่อนก็หาไม่ สติจะฟั่นเฟือนไปก็หาไม่ เป็นแต่กายกระสับกระส่ายไม่สงบเพราะความเพียรที่ทนได้แสนยากเสียดแทงเอา.

(วาระที่ ๕) ราชกุมาร ! ความคิดข้อนี้ได้เกิดขึ้นแก่เราว่า ถ้ากระไรเราพึงเพ่งฌานมีการไม่หายใจนั่นแหละ (ให้ยิ่งขึ้นไปอีก) เป็นอารมณ์เถิด.

ราชกุมาร ! ครั้นคิดดังนั้นแล้ว เราได้กลั้นลมหายใจออกเข้า ทั้งทางจมูกและทางปากและทางช่องหูทั้งสอง. ราชกุมาร ! ครั้นเรากลั้นลมหายใจออกเข้าทั้งทางจมูกและทางปากและทางช่องหูทั้งสองแล้ว ลมกล้าเหลือประมาณหวนกลับลงแทงเอาพื้นท้อง ดุจถูกคนฆ่าโคหรือลูกมือตัวขยันของเขา เฉือนเนื้อพื้นท้องด้วยมีด

สำหรับเฉือนเนื้อโคอันคมฉะนั้น.ราชกุมาร ! แต่ความเพียรของเราจะได้ย่อหย่อนก็หาไม่ สติจะได้ฟั่นเฟือนไปก็หาไม่ เป็นแต่กายกระสับกระส่ายไม่สงบเพราะกำลังแห่งความเพียรที่ทนได้แสนยากเสียดแทงเอา.

(วาระที่ ๖) ราชกุมาร ! ความคิดอันนี้ได้เกิดขึ้นแก่เราว่า ถ้ากระไรเราพึงเพ่งฌานมีการไม่หายใจนั่นแหละ (ให้ยิ่งขึ้นไปอีก) เป็นอารมณ์เถิด.

ราชกุมาร ! ครั้นคิดดังนั้นแล้ว เราได้กลั้นลมหายใจออกเข้าไว้ทั้งทางจมูกและทางปากและทางช่องหูทั้งสอง. ราชกุมาร ! ครั้นเรากลั้นลมหายใจออกเข้าไว้ทั้งทางจมูกทางปากและทางช่องหูทั้งสอง ก็เกิดความร้อนกล้าขึ้นทั่วกาย ดุจถูกคนแข็งแรงสองคนช่วยกันจับคนที่กำลังน้อยที่แขนข้างละคนแล้ว ย่างรมไว้เหนือหลุมถ่านเพลิงอันระอุฉะนั้น. ราชกุมาร !แต่ความเพียรที่เราปรารภแล้วจะได้ย่อหย่อนก็หาไม่ สติจะฟั่นเฟือนไปก็หาไม่ เป็นแต่กายกระวนกระวายไม่สงบเพราะกำลังแห่งความเพียรที่ทนได้แสนยากเสียดแทงเอา.

โอ ราชกุมาร ! พวกเทวดาเห็นเราแล้วพากันกล่าวว่า พระสมณโคดมทำกาละเสียแล้ว,บางพวกกล่าวว่า พระสมณโคดมไม่ใช่ทำกาละแล้ว เป็นแต่กำลังทำกาละอยู่, บางพวกกล่าวว่า ไม่ใช่เช่นนั้น จะว่าพระสมณโคดม

ทำกาละแล้วหรือกำลังทำกาละอยู่ ก็ไม่ชอบทั้งสองสถาน พระสมณโคดมเป็นพระอรหันต์ นั่นเป็นการอยู่ของท่าน, การอยู่เช่นนั้นเป็นการอยู่ของพระอรหันต์ดังนี้.

(วาระที่ ๗) ราชกุมาร ! ความคิดอันนี้ได้เกิดขึ้นแก่เราว่า ถ้ากระไรเราพึงปฏิบัติการอดอาหารโดยประการทั้งปวงเสีย. ราชกุมาร ! ครั้งนั้นพวกเทวดาเข้ามาหาเราแล้วกล่าวว่า “ท่านผู้นิรทุกข์ ! ท่านอย่าปฏิบัติการอด

อาหารโดยประการทั้งปวงเลย ถ้าท่านจักปฏิบัติการอดอาหารโดยประการทั้งปวงไซร้พวกข้าพเจ้าจักแทรกโอชาอันเป็นทิพย์ลงตามขุมขนของท่าน ท่านจักมีชีวิตอยู่ได้ด้วยโอชาทิพย์นั้น”. ราชกุมาร ! ความคิดนี้ได้เกิดขึ้นแก่เราว่า เราปฏิญญาการไม่บริโภคอาหารด้วยประการทั้งปวงด้วยตนเอง ถ้าเทวดาเหล่านี้แทรกโอชา

อันเป็นทิพย์ลงตามขุมขนแห่งเราแล้ว ถ้าเราจะมีชีวิตอยู่ด้วยโอชานั้น ข้อนั้นจักเป็นมุสาแก่เราไปดังนี้. ราชกุมาร ! เราบอกห้ามกะเทวดาเหล่านั้นว่าอย่าเลย.

ราชกุมาร ! ความคิดอันนี้ได้เกิดมีแก่เราว่า ถ้ากระไรเราบริโภคอาหารผ่อนให้น้อยลงวันละฟายมือบ้าง เท่าเยื่อถั่วเขียวบ้าง เท่าเยื่อถั่วพูบ้างเท่าเยื่อถั่วดำบ้าง เท่าเยื่อในเมล็ดบัวบ้างดังนี้. ราชกุมาร ! เราได้บริโภค

อาหารผ่อนน้อยลง วันละฟายมือบ้าง เท่าเยื่อถั่วเขียวบ้าง เท่าเยื่อถั่วพูบ้างเท่าเยื่อถั่วดำบ้าง เท่าเยื่อในเมล็ดบัวบ้าง แล้ว. ราชกุมาร ! เมื่อเป็นเช่นนั้นร่างกายของเราได้ถึงการซูบผอมลงยิ่งนัก. เพราะโทษที่เรามีอาหารน้อย อวัยวะใหญ่น้อยของเราเป็นเหมือนเถาวัลย์อาสีติกบรรพ หรือเถากาฬบรรพ, เนื้อที่ตะโพกที่นั่งทับของเรา มีสัณฐานดังเท้าอูฐ, ข้อกระดูกสันหลังของเราผุดขึ้นระกะราวกะเถาวัลย์วัฏฏนาวลี. ซี่โครงของเราโหรงเหรงเหมือนกลอนศาลาอันเก่าคร่ำคร่า. ดาวคือดวงตาของเรา ถล่มลึกอยู่ในกระบอกตา ดุจเงาแห่งดวงดาวที่ปรากฏอยู่ในบ่อน้ำอันลึกฉะนั้น, ผิวหนังศีรษะของเรา เหี่ยวย่นเหมือนน้ำเต้าอ่อนที่ตัดมาแต่ยังสด ถูกแดดเผาเหี่ยวย่นเช่นเดียวกัน. ราชกุมาร !เราคิดว่าจะจับพื้นท้องครั้นจับเข้าก็ถูกกึงกระดูกสันหลังตลอดไป, คิดว่าจะจับกระดูกสันหลัง ครั้นจับเข้าก็ถูกถึงพื้นท้องด้วย. ราชกุมาร ! ตถาคตคิดจะถ่ายปัสสาวะหรืออุจจาระ ก็เซล้มราบอยู่ ณ ที่นั้นเอง. ราชกุมาร ! ตถาคตหวังจะให้กายมีความสุขบ้าง จึงลูบไปตามตัวด้วยฝ่ามือ ขนมีรากอันเน่าหลุดตกลงจากกาย.

โอ ราชกุมาร ! มนุษย์ทั้งหลายเห็นเราแล้วกล่าวว่า พระสมณโคดมดูดำไป, บางพวกกล่าวว่า พระสมณโคดมไม่ดำ เป็นแต่คล้ำไป, บางพวกกล่าวว่า จะดำก็ไม่เชิง จะคล้ำก็ไม่เชิง พระสมณโคดมมีผิวเผือดไปเท่านั้น.

ราชกุมาร !ผิวพรรณที่เคยบริสุทธิ์ผุดผ่องของตถาคต มากลายเป็นถูกทำลายลงแล้ว เพราะความที่ตนมีอาหารน้อยนั้น.__จบ

บุคคลร่วมสมัยที่ช่วยสร้างแรงบันดาลใจที่สำคัญ

หลวงปู่มั่น

พระอาจารย์มั่นได้แสวงหาวิเวกบําเพ็ญสมณธรรมในที่ต่าง ๆ ตามราวป่า ป่าช้า ป่าชัฏ ที่แจ้งหุบเขา ซอกเขา ห้วย ธารเขา เอื้อมเขา ท้องถ้ำ เรือนว่างทางฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงบ้าง ทางฝั่งขวา แม่น้ำโขงบ้าง

คำสอนและปฏิปทา(การปฏิบัติ) ที่ตรงตามพระไตรปิฎก ซึ่งควรศึกษาทั้งปริยัติและปฏิบัติ การฝึกตนก็คือร่างกายที่พ่อแม่ให้มา ไม่ต้องไปหาทรัพย์ที่ไหนมาลงทุนในการปฏิบัติ การปฏิบัติเน้นที่จิตใจชัยภูมิที่จะทําให้เรารบชนะกิเลสได้คือมหาสติปัฏฐาน สิ่งแรกที่เราจะต้องทํา ณ ชัยภูมิ ดังกล่าวนี้คือการพิจารณากาย (กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน) เมื่อพิจารณาเห็นแจ้งในกายแล้ว จิตย่อมจะรวมใหญ่ ปรากฏว่าทุกสิ่งรวมลงเป็นอันเดียวกัน คือทั้งโลกเป็นธาตุทั้งสิ้น เมื่อเห็นแจ้ง ประจักษ์ดังนี้ จิตก็จะพ้นจากสมมติเป็นวิมุตติ สิ่งที่เป็นเค้ามูลให้เราวนเวียนไปในโลก ๓ คือ กามโลก รูปโลก อรูปโลก ก็คือ ราคะ โทสะ โมหะ ทางแก้ที่จะให้พ้นไปจากโลก ๓ ก็คือ ศีล สมาธิ ปัญญา

พระอาจารย์มั่น ฝึกให้ศิษย์จะต้องไม่มีนิสัยเกียจคร้าน มักง่าย และเห็นแก่ตัวในอามิส ถ้าใครมีนิสัยดังกล่าวจะถูกขับ ออกไป คําสอนทั้งส่วนที่เป็นบทประพันธ์คือท่านเรียบเรียงเอง ทั้งส่วนที่เป็นบันทึกโอวาทคําสอนที่ศิษยานุศิษย์บันทึกไว้ มีเนื้อหาที่สอดคล้องเป็นแนว เดียวกัน คือ เป็นคําสอนเกี่ยวกับ ธรรมปฏิบัติ หรือหลักธรรมเพื่อการปฏิบัติ ซึ่งรวมอยู่ในกรอบใหญ่คือ ไตรสิกขา หรือ ศีล สมาธิ ปัญญา โดยเน้นให้เห็นว่า ศีลนั้นจะต้องปฏิบัติรักษาอย่างเคร่งครัดบริบูรณ์เพราะเป็นรากฐานของสมาธิ สมาธินั้นจะต้องฝึกหัดอบรมอย่างเอาจริงเอาจังทั้งกลางวันและกลางคืน ปัญญานั้นจะต้องฝึกฝนพิจารณาอย่างต่อเนื่อง และทั้งศีล สมาธิ ปัญญานั้นก็มีอยู่ที่ตัวเราคือกายกับใจนั้นเอง ไม่ต้องไปสนใจฝึกอบรมหรือพิจารณาที่ไหน

วิธีการปฏิบัติธรรม วิธีการฝึกสมาธิเบื้องต้นตามแบบพระอาจารย์มั่น มีดังนี้

นั่งคุกเข่าประนมมือด้วยความตั้งใจ นอบน้อมถึงพระรัตนตรัยแล้วว่าบทกราบพระรัตนตรัย ต่อด้วยบทนมัสการพระรัตนตรัย ๓ จบ แล้วกล่าวไตรสรณคมน์ แล้วอธิษฐานถึงพระไตรสรณคมน์ ให้มั่นก่อนว่า ข้าพเจ้าขอถึงพระพุทธเจ้า องค์อรหันต์ ผู้ละกิเลสขาดจากสันดานกับพระธรรมเจ้า กล่าวคือ คําสอนของพระพุทธเจ้าที่เป็นปริยัติธรรม ปฏิบัติธรรม ปฏิเวธธรรม

เหตุที่คนแสวงหาความสุข  ปรากฏข้อความในสัลลัตถสูตร  ปัญหา คนมีสุขจึงแสวงหาความสุขจากกาม หรือว่ามีความทุกข์จึงแสวงหาความสุขจากกาม ?
พุทธดำรัสตอบ “ดูก่อนฯ ปุถุชนผู้มิได้เรียนรู้..... อันทุกขเวทนา ถูกต้องแล้ว ย่อมโศกเศร้า ร่ำไร รำพัน.... เขาเป็นผู้มีความขัดเคืองเพราะทุกขเวทนานั้น ปฏิฆานุสัยของทุกขเวทนานั้น ย่อมติดตามเขาผู้มีความขัดเคืองเพราะทุกขเวทนานั้น เขาอันทุกขเวทนา ถูกต้องแล้ว ย่อมแสวงหาความเพลิดเพลินจากกามสุข เพราะเหตุไร เพราะปุถุชนผู้มิได้เรียนรู้ย่อมไม่รู้อุบายกำจัดทุกข์เวทนานอกจากกามสุข.....” จบ

วิเคราะห์ตนเอง

วิถีชีวิตของตนเองเหมือนกับคนในสังคมปัจจุบัน  ซึ่งใช้เวลาส่วนมากหมดไปกับการประกอบอาชีพเพื่อเลี้ยงตนเองและครอบครัวจึงไม่ให้ความสำคัญของศาสนาถึงแม้ให้ความสำคัญก็เห็นว่าศาสนาไม่ใช่ความจำเป็นของชีวิต  การดำเนินชีวิตตกอยู่ในวัฏจักรของลัทธิบริโภคนิยมที่ให้ความสำคัญกับวัตถุเงินตรามากกว่าสิ่งอื่น  แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นจะเนื่องจากความจำเป็นในชีวิตด้วยเพราะจะต้องหาปัจจัยสี่ด้วยได้แก่อาหารเครื่องนุ่งห่มยารักษาโรค จึงบ้าทำแต่งานเพื่อหาเงิน  ทำให้ร่างกายและจิตใจของตนเหนื่อยล้าจากการวิ่งตามกระแสบริโภคนิยมประกอบกับการเป็นปัจเจกบุคคลมีความคิดเห็นเกี่ยวกับการเข้าไปสนทนาธรรมกับพระที่เป็นผู้สืบทอดศาสนานั้นพระบางรูปมีพฤติกรรมไม่เหมาะสมที่จะเคารพรวมทั้งอ้างเหตุต่างๆเช่นไม่มีเวลาไม่มีผู้รู้จักธรรมะที่แท้จริง  วัตถุนิยมครอบงำไม่เห็นประโยชน์ของศาสนาไม่เห็นทุกข์มองเห็นว่าทางโลกนั้นสนุกกว่าเป็นต้น ด้วยเหตุดังกล่าวจึงละเลยการประพฤติปฏิบัติทางด้านจริยธรรม  จนในที่สุดถึงทางตันจึงกลับเข้าหาธรรมะที่ตนเองละเลยมานาน กลับมาค้นคว้าศึกษาธรรมะอีกครั้งได้อ่านพระไตรปิฎก เนื้อความที่ปรากฎในคัมภีร์พระไตรปิฎกนั้นถูกต้องทั้งหมด

ข้อโต้แย้งในใจ   ฝึกทำไม จะต้องปฏิบัติสมาธิภาวนาและวิปัสสนาทำไม ทำเพื่ออะไร  ทำไปทำไม  ได้ประโยชน์อะไร   สู้เอาเวลานั้นไปหาเงินเลี้ยงปากท้องตนเองและครอบครัวจะดีกว่า  แต่หากเราหันหลังให้กับทุกข์ไม่ศึกษาหาทางแก้ไข  เราจะเป็นแค่โมฆะบุรุษ  บุรุษเปล่า, คนเปล่า, คนที่ใช้การไม่ได้, คนโง่เขลา, คนที่พลาดจากประโยชน์อันพึงได้พึงถึง  อย่างนั้นหรือ เราก็ศึกษามาไม่ใช่น้อย  สาเหตุที่ทำให้เกิดทุกข์  ความดับทุกข์ แนวปฏิบัติที่นำไปสู่หรือนำไปถึงความดับทุกข์ วิธีการปฏิบัติต่างๆก็ศึกษามาอย่างดีแค่ปฏิบัติซึ่งก็ไม่ใช้ทุนทรัพย์อะไรเลย

เหตุผลอธิบายตามผังดังกล่าวพอจะรวบรวมวิเคราะห์ได้ดังนี้ เราจะต้องวิ่งหาทรัพย์สินเงินทองเพื่อมาสนองความอยากของตนเองและครอบครัว  เหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้า  กระทบกระทั่งกับผู้คนที่เกี่ยวข้อง หากการหาทรัพย์นั้นไม่เบียดเบียนบุคคลอื่นก็ถือว่าเลี้ยงชีพด้วยชอบ  อยากเบียดเบียนบุคคลอื่นก็ถือว่าเรากระทำการทุจริตทั้งทางกาย  วาจา ใจ  ประมาทในชีวิตดำรงชีวิตโดยมิชอบ ไม่สมถะ  ไม่อยู่อย่างสันโดษ แสวงหากามมีความเพลิดเพลินกับรูปรสกลิ่นเสียงสัมผัส หันหลังให้กับความทุกข์ไม่สนใจจะคิดแก้ไขปัญหา ไม่ใฝ่หาปัญญา ความรู้ สู้กิเลส

กายพร้อม  ใจพร้อม

แก้ทุกข์ สู้ทุกข์    ถ้าหากไม่รู้วงจรทุจริต(ทางกาย,วาจา,ใจ) จะไม่รู้วิธีแก้ไขชีวิตให้ดำเนินไปอย่างราบรื่น

ผู้เขียนทบทวนตัวเองพอจะประเมินได้ดังนี้ปริยัติธรรมมีความรู้พอประมาณ  ยังคงเหลือปฏิบัติธรรม  สมาธิภาวนาและวิปัสสนาตามอริยสัจ  มีอยู่ ๔ ประการ คือ

ทุกข์ คือ สภาพที่ทนได้ยาก ภาวะที่ทนอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ สภาพที่บีบคั้น ได้แก่ ชาติ (การเกิด) ชรา (การแก่ การเก่า) มรณะ (การตาย การสลายไป การสูญสิ้น) การประสบกับสิ่งอันไม่เป็นที่รัก การพลัดพรากจากสิ่งอันเป็นที่รัก การปรารถนาสิ่งใดแล้วไม่สมหวังในสิ่งนั้น กล่าวโดยย่อ ทุกข์ก็คืออุปาทานขันธ์ 

สมุทัย คือ สาเหตุที่ทำให้เกิดทุกข์ ได้แก่  คือ กามตัณหา-ความทะยานอยากในกาม ความอยากได้ทางกามารมณ์, ภวตัณหา- ความทะยานอยากในภพ ความอยากเป็นโน่นเป็นนี่ ความอยากที่ประกอบด้วยภวทิฏฐิหรือสัสสตทิฏฐิ และ วิภวตัณหา-ความทะยานอยากในความปราศจากภพ ความอยากไม่เป็นโน่นเป็นนี่ ความอยากที่ประกอบด้วยวิภวทิฏฐิหรืออุจเฉททิฏฐิ

นิโรธ คือ ความดับทุกข์ ได้แก่ ดับสาเหตุที่ทำให้เกิดทุกข์ กล่าวคือ ดับตัณหาทั้ง ๓ ได้อย่างสิ้นเชิง

มรรค คือ แนวปฏิบัติที่นำไปสู่หรือนำไปถึงความดับทุกข์ มีองค์ประกอบอยู่แปดประการ คือ ๑. สัมมาทิฐิ ความเห็นชอบ ๒. สัมมาสังกัปปะ ความดำริชอบ ๓. สัมมาวาจา เจรจาชอบ ๔. สัมมากัมมันตะ กระทำชอบ ๕. สัมมาอาชีวะ เลี้ยงชีพชอบ ๖. สัมมาวายามะ พยายามชอบ ๗. สัมมาสติ ระลึกชอบ และ ๘. สัมมาสมาธิ ตั้งใจชอบ ซึ่งรวมเรียกอีกชื่อหนึ่งได้ว่า "มัชฌิมาปฏิปทา"  หรือทางสายกลาง

          ข้อ ๑-๕ ตัวเราเองก็ไม่ได้บกพร่องมากนัก ส่วนข้อ ๖- ๘ ยังบกพร่องอยู่มากเพราะไม่เห็นความสำคัญ  ข้อสงสัยในใจยังมีอยู่  มานั่งสมาธิทำไม  ทำเพื่ออะไร ได้ประโยชน์อย่างไร เอาเวลานั้นไปดูหนัง ดูละคร ฟังเพลง หรือไปทำอะไรที่มันสบายกายสบายใจจะไม่ดีกว่าหรือ แต่อีกใจหนึ่งก็คิดว่าครูบาอาจารย์ที่เป็นพระสงฆ์เช่นหลวงปู่มั่นท่านยังเน้นการปฏิบัติสมาธิ การที่เราจะรู้ในสิ่งที่สงสัยมานานทำไมไม่ลงมือปฏิบัติกลับไปอ่านพระไตรปิฎกอีกครั้ง ค้นให้แน่ชัดว่าพระสูตรใดบ้างที่บอกการปฏิบัติธรรมที่ถูกต้องที่สุด

พระสูตรที่ตอบโจทย์  เวลามสูตร

ขอนำเอาเนื้อความพระสูตรลงไว้เต็มเพื่อเป็นการศึกษาที่ชัดเจน

เวลามสูตรว่าด้วยเวลามพราหมณ์

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวันอารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ใกล้พระนครสาวัตถี ครั้งนั้นแล ท่านอนาถบิณฑิกคฤหบดีเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง พระผู้มีพระภาคได้ตรัสถามท่านอนาถบิณฑิกคฤหบดีว่า ดูกรคฤหบดีในตระกูลของท่าน ยังให้ทานอยู่บ้างหรือหนอ ฯท่านอนาถบิณฑิกคฤหบดีกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ในตระกูลของข้าพระองค์ยังให้ทานอยู่ แต่ทานนั้นเป็นของเศร้าหมอง เป็นปลายข้าว มีน้ำผักดองเป็นที่สอง ฯ

พ. ดูกรคฤหบดี คนให้ทานอันเศร้าหมองหรือประณีตก็ตาม แต่ให้ทานนั้นโดยไม่เคารพ ไม่ทำความนอบน้อมให้ ไม่ให้ด้วยมือตนเอง ให้ของที่เหลือไม่เชื่อกรรมและผลของกรรมให้ทาน ทานนั้นๆ ย่อมบังเกิดผลในตระกูลใดๆในตระกูลนั้นๆ จิตของผู้ให้ทานย่อมไม่น้อมไปเพื่อบริโภคอาหารอย่างดี ย่อมไม่น้อมไปเพื่อบริโภคผ้าอย่างดี ย่อมไม่น้อมไปเพื่อบริโภคยานอย่างดี ย่อมไม่น้อมไปเพื่อบริโภคกามคุณ ๕ อย่างดี แม้บริวารชนของผู้ให้ทานนั้น คือ บุตรภรรยา ทาส คนใช้ คนทำงาน ก็ไม่เชื่อฟัง ไม่เงี่ยหูฟัง ส่งจิตไปที่อื่นเสียข้อนั้นเพราะเหตุไร ทั้งนี้เป็นเพราะผลแห่งกรรมที่ตนกระทำโดยไม่เคารพ ฯ

ดูกรคฤหบดี บุคคลให้ทานอันเศร้าหมองหรือประณีตก็ตาม แต่ให้ทานนั้นโดยเคารพ ทำความนอบน้อมให้ ให้ด้วยมือตนเอง ให้ของที่ไม่เหลือ เชื่อกรรมและผลของกรรมให้ทาน ทานนั้นๆ บังเกิดผลในตระกูลใดๆ ในตระกูลนั้นๆ จิตของผู้ให้ทานย่อมน้อมไปเพื่อบริโภคอาหารอย่างดี ย่อมน้อมไปเพื่อบริโภคผ้าอย่างดี ย่อมน้อมไปเพื่อบริโภคยานอย่างดี ย่อมน้อมไปเพื่อบริโภคกามคุณ ๕ อย่างดี แม้บริวารชนของผู้ให้ทานนั้น คือ บุตร ภรรยา ทาสคนใช้ คนทำงาน ก็เชื่อฟังดี เงี่ยหูฟัง ไม่ส่งจิตไปที่อื่น ข้อนั้นเพราะเหตุไรทั้งนี้เป็นเพราะผลของกรรมที่ตนกระทำโดยเคารพ ฯ

ดูกรคฤหบดี เรื่องเคยมีมาแล้ว มีพราหมณ์ชื่อเวลามะ พราหมณ์ผู้นั้นได้ให้ทานเป็นมหาทานอย่างนี้ คือ ได้ให้ถาดทองเต็มด้วยรูปิยะ ๘๔,๐๐๐ ถาดถาดรูปิยะเต็มด้วยทอง ๘๔,๐๐๐ ถาด ถาดสำริดเต็มด้วยเงิน ๘๔,๐๐๐ ถาด ให้ช้าง ๘๔,๐๐๐ เชือก มีเครื่องประดับล้วนเป็นทอง มีธงทอง คลุมด้วยข่ายทองให้รถ ๘๔,๐๐๐ คัน หุ้มด้วยหนังราชสีห์ หนังเสือโคร่ง หนังเสือเหลือง ผ้ากัมพลเหลือง มีเครื่องประดับล้วนเป็นทอง มีธงทอง คลุมด้วยข่ายทอง ให้แม่โคนม๘๔,๐๐๐ ตัว มีน้ำนมไหลสะดวก ใช้ภาชนะเงินรองน้ำนม ให้หญิงสาว ๘๔,๐๐๐ คน ประดับด้วยแก้วมณีและแก้วกุณฑล ให้บัลลังก์ ๘๔,๐๐๐ ที่ ลาดด้วยผ้าโกเชาว์ ลาดด้วยขนแกะสีขาว เครื่องลาดมีสัณฐานเป็นช่อดอกไม้ มีเครื่องลาดอย่างดีทำด้วยหนังชะมด มีเครื่องลาดเพดาน มีหมอนข้างแดงทั้งสอง ให้ผ้า  ๘๔,๐๐๐ โกฏิ เป็นผ้าเปลือกไม้ ผ้าแพร ผ้าฝ้าย เนื้อละเอียด จะป่วยกล่าวไปไยถึงข้าว น้ำ ของเคี้ยว ของบริโภค เครื่องลูบไล้ ที่นอน ไหลไปเหมือนแม่น้ำ ดูกรคฤหบดี ก็ท่านพึงมีความคิดอย่างนี้ว่า สมัยนั้น ผู้อื่นไม่ใช่เวลามพราหมณ์ผู้ที่ให้ทานเป็นมหาทานนั้น ดูกรคฤหบดี แต่ท่านไม่ควรเห็นอย่างนี้สมัยนั้น เราเป็นเวลามพราหมณ์ เราได้ให้ทานนั้นเป็นมหาทาน ก็ในทานนั้นไม่มีใครเป็นพระทักขิเณยยบุคคล ใครๆ ไม่ชำระทักขิณานั้นให้หมดจด 

ดูกรคฤหบดี ทานที่บุคคลเชื้อเชิญท่านผู้ถึงพร้อมด้วยทิฐิผู้เดียวบริโภค มีผลมากกว่าทานที่เวลามพราหมณ์ให้แล้ว ทานที่บุคคลเชื้อเชิญให้ท่านผู้ถึงพร้อมด้วยทิฐิร้อยท่านบริโภค มีผลมากกว่าทานที่บุคคลเชื้อเชิญให้ท่านผู้ถึงพร้อมด้วยทิฐิผู้เดียวบริโภค ทานที่บุคคลเชื้อเชิญให้พระสกทาคามีผู้เดียวบริโภค มีผลมากกว่าทานที่บุคคลเชื้อเชิญให้ท่านผู้ถึงพร้อมด้วยทิฐิร้อยท่านบริโภค ทานที่บุคคลเชื้อเชิญให้พระสกทาคามีร้อยท่านบริโภค มีผลมากกว่าทานที่บุคคลเชื้อเชิญให้พระสกทาคามีผู้เดียวบริโภค ทานที่บุคคลเชื้อเชิญให้พระอนาคามีผู้เดียวบริโภค มีผลมากกว่าทานที่บุคคลเชื้อเชิญให้พระสกทาคามีร้อยท่านบริโภค ทานที่บุคคลเชื้อเชิญพระอนาคามีร้อยท่านบริโภค มีผลมากกว่าทานที่บุคคลเชื้อเชิญพระอนาคามีผู้เดียวบริโภค ทานที่บุคคลถวายให้พระอรหันต์ผู้เดียวบริโภค มีผลมากกว่าทานที่บุคคลเชื้อเชิญให้พระอนาคามีร้อยท่านบริโภค ทานที่บุคคลถวายให้พระอรหันต์ร้อยท่านบริโภค มีผลมากกว่าทานที่บุคคลถวายให้พระอรหันต์ผู้เดียวบริโภคทานที่บุคคลถวายให้พระปัจเจกพุทธเจ้ารูปเดียวบริโภค มีผลมากกว่าทานที่บุคคลถวายให้พระอรหันต์ร้อยรูปบริโภค ทานที่บุคคลถวายให้พระปัจเจกพุทธเจ้าร้อยรูปบริโภค มีผลมากกว่าทานที่บุคคลถวายให้พระปัจเจกพุทธเจ้ารูปเดียวบริโภค ทานที่บุคคลถวายให้พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าบริโภค มีผลมากกว่าทานที่บุคคลถวายให้พระปัจเจกพุทธเจ้าร้อยรูปบริโภค ทานที่บุคคลถวายให้ภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุขบริโภค มีผลมากกว่าทานที่บุคคลถวายให้พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าบริโภค การที่บุคคลสร้างวิหารถวายสงฆ์ผู้มาจากจาตุรทิศ มีผลมากกว่าทานที่บุคคลถวายให้ภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุขบริโภค การที่บุคคลมีจิตเลื่อมใสถึงพระพุทธเจ้า พระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ มีผลมากกว่าทานที่บุคคลสร้างวิหารถวายสงฆ์อันมาจากจาตุรทิศ การที่บุคคลมีจิตเลื่อมใสสมาทานสิกขาบท คือ งดเว้นจากปาณาติบาต ฯลฯ จากการดื่มน้ำเมาคือสุราและเมรัยอันเป็นฐานะแห่งความประมาท มีผลมากกว่าการที่บุคคลมีจิตเลื่อมใสถึงพระพุทธเจ้า พระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ การที่บุคคลเจริญเมตตาจิตโดยที่สุดแม้เพียงเวลาสูดดมของหอม มีผลมากกว่าการที่บุคคลมีจิตเลื่อมใสสมาทานสิกขาบท คือ งดเว้นจากปาณาติบาต ฯลฯ ดูกรคฤหบดีทานที่บุคคลเชื้อเชิญให้ท่านผู้ถึงพร้อมด้วยทิฐิผู้เดียวบริโภค มีผลมากกว่ามหาทานที่เวลามพราหมณ์ให้แล้ว ... การที่บุคคลเจริญเมตตาจิตโดยที่สุดแม้เพียงเวลาสูดดมของหอม มีผลมากกว่าการที่บุคคลมีจิตเลื่อมใสสมาทานสิกขาบท คือ งดเว้นจากปาณาติบาต ... และการที่บุคคลเจริญอนิจจสัญญาแม้เพียงเวลาลัดนิ้วมือ มีผลมากกว่าการที่บุคคลเจริญเมตตาจิตโดยที่สุดแม้เพียงเวลาสูดดมของหอม ฯ  จบ

เอาหล่ะไมผิดแน่ถ้าเราจะปฏิบัติธรรม  ทาน ศีล  สมาธิ โดยเฉพาะสมาธิดังข้อความในพระสูตรว่า “บุคคลเจริญอนิจจสัญญาแม้เพียงเวลาลัดนิ้วมือ มีผลมากกว่าการที่บุคคลเจริญเมตตาจิตโดยที่สุดแม้เพียงเวลาสูดดมของหอม  แสดงว่าบุญที่มากกว่าทุกบุญคือการปฏิบัติสมาธิจนจิตใจเข้าถึงอนิจจสัญญาคือพิจารณาว่า รูปไม่เที่ยง เวทนาไม่เที่ยง สัญญาไม่เที่ยง สังขารทั้งหลายไม่เที่ยง วิญญาณไม่เที่ยง พิจารณาเห็นโดยความเป็นของไม่เที่ยง ในอุปาทานขันธ์ ๕ 

 

จะเริ่มอย่างไร

          หลังจากตกลงปลงใจตนเองแล้วว่าจะเริ่มปฏิบัติธรรมคือการทำสมาธิ  เพราะปริยัติธรรม(การศึกษาธรรม)ก็พอสมควรแล้ว  ใครจะเป็นผู้นำคอยแก้ไขปัญหาที่เราพบหนอ นึกถึงพระสงฆ์โดยเฉพาะพระป่าคือพระที่อยู่ตามสำนักสงฆ์หรือที่พักสงฆ์ในป่าช้า ป่าทั่วไป เข้าไปถามท่าน บางรูปก็ถูกว่ากล่าวออกมา บางรูปก็ตอบคำถามเราไม่ได้  สุดท้ายก็กลับมาที่คัมภีร์พระไตรปิฎกอีกพร้อมกับปฏิบัติสมาธิแบบมั่วๆ หามุมห้องบ้าง หานั่งตามป่าบ้าง นั่งขัดสมาธิหลับตาดูลมหายใจเข้าออก กลับมาอ่านพระไตรปิฎกบ้าง ทำสลับอย่างนี้หลายเดือน  ยังไม่ได้เรื่องอยู่ดี  นั่งสมาธิเมื่อไรใจไม่เคยสงบเลย 

ความพยายามอยู่ทีไหนความสำเร็จต้องอยู่ที่นั่น  ความพยายามแล้วครั้งเล่าไม่เคยพบผลสำเร็จการปฏิบัติที่น่าพอใจเลยหาหนังสือครูบาอาจารย์มาอ่านเปิดวิทยุหมุนคลื่นหาครูบาอาจารย์ที่เป็นพระสงฆ์เทศนาเกี่ยวกับการทำสมาธิก็ยังไม่เป็นผล  ใจหนึ่งก็ท้อใจใจหนึ่งก็สู้  นึกถึงพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ท่านแสวงหาความจริงโดยการบำเพ็ญสมาธิตั้งแต่ออกผนวชอยู่เล่าเรียนกับอาจารย์ทั้ง ๒  ท่านและได้แสวงหาธรรมด้วยตัวของพระองค์เองใช้เวลาไม่ใช่น้อย ๖-๗ ปีท่านก็ยังสู้รวมถึงพระอาจารย์มั่นที่ท่านปฏิบัติอดทนพยายามบุคคลทั้งสองท่านก็เป็นมนุษย์  ตัวเราก็เป็นมนุษย์ทำไมเราถึงอ่อนแอเกียจคร้านกลับมาดูที่มรรคความเพียรสัมมาวายามะ  สัมมาสติ  สัมมาสมาธิ ทั้ง ๓ องค์ต้องผนวกเข้าด้วยกันใช้ร่วมกันธรรมที่ทำให้สำเร็จก็คือ

อิทธิบาท ๔ ซึ่งใช้ตั้งแต่สมัยเรียนใช้มาตลอดก็ประสบผลสำเร็จ ฉันทะ วิริยะ  จิตตะ  วิมังสา  ทำอยู่อย่างนั้นไปเรื่อยๆ นี่คือความตั้งใจจะอดทนต้องสู้อย่างนี้จนถึงที่สุด  ช่วงเวลาในการปฏิบัติสมาธิจะทำได้ในช่วงเย็นหลังกลับจากทำงานทำภารกิจส่วนตัวอาบน้ำรับประทานอาหาร  วันไหนทนหิวได้ก็ทนไม่ต้องกินเพราะอะไรเพราะว่าถ้าท้องอิ่มมันขี้เกียจง่วงนอนแต่หากท้องว่างๆกินอะไรสักอย่างบ้างเล็กน้อยที่ทำให้ไม่แสบกระเพาะพออยู่ได้ร่างกายจะเบาการทำสมาธิใจจะนิ่ง  ทำทุกวันอาทิตย์หนึ่งทำไม่น้อยกว่าห้าวัน  ถ้าไม่มีความจำเป็นไม่มีภาระไปงานอื่นจะต้องทำนี่คือการตั้งปณิธานให้กับตนเอง เริ่มจากดูอารมณ์ใจของตนเอง

 

จริต คือ อารมณ์ใจ  สำรวจจิตตนเองชอบอะไรเพื่อจะใช้กัมมัฏฐานที่เหมาะสมกับจริต

จริต  แปลว่า จิตท่องเที่ยว สถานที่จิตชอบท่องเที่ยว หรืออารมณ์ที่ชอบท่องเที่ยวของจิตนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสไว้ มี ๖ ประการ หมายถึง ความประพฤติ คือกิริยาอาการที่แสดงออกมาให้เห็น มีความหมายเช่นเดียวกับคำว่า จริย จริยา หรือ จรรยา โดยทั่วไปจะใช้หมายถึงกิริยาอาการที่ไม่ดี เช่น เสียจริต วิกลจริต ดัดจริต จริตจะก้าน แต่ในทางพุทธศาสนา หมายถึง ความประพฤติ, พื้นเพ นิสัย มี ๖ อย่างคือ

  1. ราคจริต หนักไปทางรักสวยรักงามคือ พอใจในรูปสวย เสียงเพราะ กลิ่นหอม รสอร่อย สัมผัสนิ่มนวล ชอบการมีระเบียบ สะอาด ประณีต พูดจาอ่อนหวาน เกลียดความเลอะเทอะ
  2. โทสจริต หนักไปทางเจ้าอารมณ์มักโกรธ เป็นคนขี้โมโหโทโส พูดเสียงดัง เดินแรง ทำงานหยาบ แต่งตัวไม่พิถีพิถัน เป็นคนใจเร็ว ชอบจับผิด จึงมองข้อตลกของคนได้ดี จึงมักเป็นคนที่พูดจาได้ตลกและสนุกสนาน
  3. โมหจริต หนักไปทางเขลา ง่วงซึม ไม่ค่อยชอบคิดมาก และขี้เกียจ
  4. สัทธาจริต หนักไปทางเชื่อถือจริงใจ น้อมไปในความเชื่อเป็นอารมณ์ประจำใจ เกิดปีติเลื่อมใสได้ง่ายเมื่อเจอบุคคลน่านับถือ เชื่อตามที่บอกต่อกันมา ขาดการพิจารณา
  5. พุทธิจริตหรือญาณจริต หนักไปทางใช้ปัญญา เจ้าปัญญาเจ้าความคิด มีความฉลาด มีปฏิภาณไหวพริบ การคิดการอ่าน ความทรงจำดี ชอบสั่งสอนคนอื่น
  6. วิตกจริต หนักไปทางชอบคิดมาก ถ้าขี้ขลาดจะวิตก กังวล ฟุ้งซ่านชอบคิด ตัดสินใจไม่เด็ดขาด ไม่กล้าตัดสินใจ คิดอย่างไม่มีเหตุผล เกินจริง

โดยแยกเป็นสองกลุ่ม คือ ตัณหาจริต และ ทิฏฐิจริต ราคจริต โทสจริต โมหจริต จัดเป็นตัณหาจริต สัทธาจริต พุทธิจริต วิตกจริต จัดเป็นทิฏฐิจริต

สมาธิภาวนาและวิปัสสนาที่เหมาะสมกับจริต

  1. ราคจริต เหมาะกับ อสุภะ ๑ นวสี ๙ กายคตานุสสติ
  2. โทสจริต เหมาะกับ วัณณกสิน ๔ พรหมวิหาร ๔
  3. โมหจริต เหมาะกับ อานาปานสติ
  4. วิตกจริต เหมาะกับ อานาปานสติ กสินทั้ง ๖ คือ ปฐวีกสิน อาโปกสิน เตโชกสิน วาโยกสิน อาโลกกสิน อากาสกสิน
  5. สัทธาจริต เหมาะกับ อนุสสติ ๖ คือพุทธานุสสติ ธรรมานุสสติ สังฆานุสสติ จาคานุสสติ ศีลานุสสติ เทวตานุสสติ
  6. พุทธิจริต เหมาะแก่การบอกไตรลักษณ์ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เพื่อให้เกิดความเลื่อมใส พิจารณาธาตุ ๔ อาหาเรปฏิกูลสัญญา มรณานุสสติ อุปสมานุสสติ

อานาปานสติเหมาะสมกับทุกจริต

อารมณ์ที่กล่าวมา ๖ ประการนี้ บางคนมีอารมณ์ทั้ง ๖ อย่างนี้ครบถ้วน บางรายก็มีไม่ครบ มีมากน้อยกว่ากันตามอำนาจวาสนาบารมีที่อบรมมาในชาติอดีต อารมณ์ที่มีอยู่คล้ายคลึงกัน แต่ความเข้มข้นรุนแรงไม่เสมอกันนั้น เพราะบารมีที่อบรมมาไม่เสมอกัน ส่วนตัวผู้เขียนมีอารมณ์ใจ พุทธจริตเป็นลำดับแรก ส่วนลำดับต่อไปคงเป็นราคจริต  โทสจริต  โมหจริต วิตกจริต และสัทธาจริต ตามลำดับ

เริ่มปฏิบัติธรรม สมาธิภาวนาและวิปัสสนา  เพื่อพิสูจน์ข้อสงสัยคำสวด “ สันทิฏฐิโก อะกาลิโก เอหิปัสสิโก โอปะนะยิโก ปัจจัตตัง เวทิตัพโพ วิญญูหีติ” แปลว่า  พึงเห็นได้ด้วยตัวเอง เป็นธรรมที่ปฏิบัติได้และให้ผลได้ไม่จำกัดกาล เป็นธรรมที่ควรกล่าวกับผู้อื่นว่าท่านจงมาดูเถิด เป็นธรรมที่ควรน้อมเข้ามาใส่ตัว เป็นธรรมที่ผู้รู้ก็รู้ได้เฉพาะตน

หากง่วง  แก้ด้วยการเดินจงกรม  และหากยังแก้ง่วงไม่ได้ให้สมาธิภาวนาท่านอน(หลับไปเลย)ตามที่พระองค์ได้ตรัสกับพระ

โมคคัลลานะ  

ดังนี้  “

เธอละความง่วงนั้นได้ ถ้ายังละไม่ได้ แต่นั้นเธอพึงอธิษฐานจงกรมกำหนด

หมายเดินกลับไปกลับมา สำรวมอินทรีย์ มีใจไม่คิดไปในภายนอก ข้อนี้จะเป็นเหตุให้เธอละความง่วงนั้นได้ ถ้ายังละไม่ได้ แต่นั้นเธอพึงสำเร็จสีหไสยา คือนอนตะแคงเบื้องขวา ซ้อนเท้าเหลื่อมเท้า มีสติสัมปชัญญะ ทำความหมายในอันจะลุกขึ้น พอตื่นแล้วพึงรีบลุกขึ้นด้วยตั้งใจว่า เราจักไม่ประกอบความสุขในการนอน ความสุขในการเอนข้าง ความสุขในการเคลิ้มหลับ ดูก่อนโมคคัลลานะ เธอพึงศึกษาอย่างนี้แล ฯ “

“ดูก่อนฯ อานิสงส์ในการจงกรม  ๕ ประการนี้

๕ ประการเป็นไฉน คือ....ผู้เดินจงกรมย่อมเป็นผู้อดทนต่อการเดินทางไกล ๑ย่อมเป็นผู้อดทนต่อการบำเพ็ญเพียร ๑ ย่อมเป็นผู้มีอาพาธน้อย ๑ อาหารที่กิน ดื่ม เคี้ยว ลิ้มแล้วย่อมย่อยไปโดยดี ๑ สมาธิที่ได้เพราะการเดินจงกรมย่อมตั้งอยู่ได้นาน ๑ ดูก่อน อานิสงส์ในการเดินจงกรม ๕ ประการนี้แล ฯ “ จบ

                  

ผู้เขียนเองเมื่อฝึกสมาธิภาวนาและวิปัสสนาเริ่มแรกจะใช้ทั้งสามท่า  เพื่อให้ชินคุ้นเคยกับการจับลมหายใจ  เพราะในชีวิตประจำของเราจะใช้ท่าทั้งสามตลอดทั้งวัน  แต่จะใช้ท่านั่งขัดสมาธิเพชรมากที่สุด  ท่านั่งจะทำให้เกิดฌานง่าย  เทคนิคการจับลมหายใจให้ได้นิ่งเร็วที่สุดเราจะฝึกการจับอยู่ทุกขณะเวลาตั้งแต่ตื่นขึ้นมาทำภารกิจส่วนตัวออกไปทำงานทำกิจกรรมพักผ่อนหรืออยู่ในที่ประชุมหรือทำอื่นๆให้เราอยู่ที่ลมหายใจเข้าออกเพื่อให้เกิดความชิน  กลับมาที่พักหรือที่บ้าน  จัดแจงเตรียมการปฏิบัติสมาธิภาวนาหลังจากที่เราทำภารกิจส่วนตัวอาบน้ำกินอาหารเสร็จสิ้นจากนั้นก็ตั้งจิตอธิษฐานโดยการนั่งคุกเข่าพนมมือตั้งนะโม ๓ จบ  จะมีหรือไม่มีพระพุทธรูปหรือรูปภาพก็ได้ตั้งนะโม  ๓  จบ  ดังนี้  “นะโมตัสสะภะคะวะโตอะระหะโตสัมมาสัมพุทธัสสะ” จบแล้วตั้งจิตอธิษฐานว่าการทำสมาธิในครั้งนี้อย่าได้มีอุปสรรคขอให้ประสบความสำเร็จให้จิตใจสงบจิตใจนิ่งให้เกิดฌานเพื่อให้เกิดญาณในการทำสมาธิในครั้งนี้ด้วยเถิด หลังจากนั้นก็นั่งขัดสมาธิเพชรกำหนดดูลมหายใจเข้าจิตคิด”พุทธ”ดูลมหายใจออกจิตคิด  ”โธ”ทำอย่างนี้ไปเรื่อย ๆ จนกว่าจิตจะนิ่ง  วิธีการหรือเทคนิคการนั่งสมาธิแต่ละคนจะมีวิธีการหรือเทคนิคส่วนตัวไม่จำเป็นจะต้องทำตามผู้เขียนเสมอไป  ผู้เขียนใช้เทคนิคอย่างนี้เวลานั่งในวันนั้นหากจับจิตไม่สงบภายใน ๕-๑0 นาทีก็จะเลิกนั่งในวันนั้นเพราะเคยทำมานั่งฝืนทน ๓๐  นาทีหรือเป็นชั่วโมงแต่จิตยังไม่นิ่งก็จะเลิกนั่งแล้วไปทำภารกิจอื่นซักระยะ จากนั้นก็กลับมานั่งอีกครั้ง หากยังจับลมหายใจไม่ได้(จิตจับที่ลมหายใจ)ก็จะเลิกทำในวันนั้นไว้ทำวันหลัง การทำสมาธิหลังจากที่เราจับลมหายใจได้พอสมควรคือปฏิบัติอานาปานสติ ให้ได้ก่อน  หลังจากนั้นก็ขยับไปทำกรรมฐาน ๔๐   กอง  เลือกกองที่ตรงจริตของตนเองที่จิตมีมากที่สุดอย่างเช่นมีราคะจริตมากอันดับ ๑ อันดับ ๒ ก็คือโมหะ  อันดับ ๓ คือโทสะ  ก็เพ่งอสุภะโดยหารูปภาพที่เป็นซากศพแล้วหลับตาคิดถึงภาพนั้นทำได้ซักระยะหนึ่ง   เปลี่ยนมาดูลมหายใจเข้าออกใช้เวลาพอประมาณ  เปลี่ยนไปเพ่งกสิณหรือเจริญเมตตา (คิดสงสารสัตว์หรือคนที่ลำบากทุกข์ทรมาน)

          ในช่วงปฏิบัติเริ่มต้นการนั่งสมาธิ  ผู้เขียนเองจะมีอาการเจ็บขาปวดหลัง  ง่วง เหนื่อย  เพราะว่าทำงานในตอนกลางวัน ร่างกายเหนื่อยล้า  ถามตนเองว่าปฏิบัติสมาธิภาวนาและวิปัสสนาทำไม  ทำเพื่ออะไร ทำไปทำไม  ได้ประโยชน์อะไร  ทำไมไม่พักผ่อน  ดูหนัง ฟังเพลง เพื่อเอาแรงไว้สู้งานหาเงินเลี้ยงปากท้องตนเองและครอบครัวดีกว่า  แต่เมื่อย้อนดูชีวิตตนเองในอดีตที่ผ่านมาก็ประพฤติตัวอย่างนั้นมาตลอดแล้วเมื่อไหร่จะพบคำตอบที่ติดค้างในใจ  ต้องต่อสู้ใจตนเอง แต่ถ้าคิดว่าเลิกปฏิบัติแสดงว่าเราไม่รักตัวเองเลยหรือใครจะอาศัยเราได้ในเมื่อตัวเราเองยังไม่รักตัวเอง  ไม่ว่าจะเป็น ครอบรัวพ่อแม่   ลูก เมีย  ดังที่พระพุทธเจ้าดำรัสในนันถิปุตตสมสูตร “ความรักเสมอด้วยความรักตนไม่มี ทรัพย์เสมอด้วยข้าวเปลือกย่อมไม่มี แสงสว่างเสมอด้วยปัญญาย่อมไม่มี ฝนต่างหากเป็นสระยอดเยี่ยม”
          การปฏิบัติยังไม่ก้าวหน้า มีเพียงอาการตัวโยกโคลงขนลุกซู่ซ่า  วิเคราะห์ถึงสาเหตุที่จิตไม่สงบ  อาจเป็นเหตุจากสถานที่  ในบ้านมีเสียงรบกวนไม่ว่าจะเป็นเสียงรถเพราะบ้านติดกับถนน เสาะแสวงหาสถานที่น่ากลัวเพื่อให้จิตสงบจะได้จับลมหายใจนิ่งซักที  สถานที่ที่คิดจะไปนั่งสมาธิภาวนา ได้แก่ป่าเกาะกลางแม่น้ำ ป่าเกาะกลางเขื่อน  ป่าช้า แต่เมื่อคิดจะไปก็นึกถึงว่ามีคนมาพบเขาจะถามว่ามาทำอะไรเราตอบเขาคงไม่เชื่อและจะหาว่าเรามาเตรียมการลักลักทรัพย์หรือก่ออาชญากรรม  คิดกลับมาที่เดิมคือบ้านพัก  หลังจากกลับจากทำงาน ช่วงเวลาเย็นจัดทำภารกิจส่วนตัวเรียบร้อย  ตกกลางคืนก่อนเข้านอนจะปฏิบัติสมาธิภาวนาและวิปัสสนาด้วยท่านั่ง เดิน วันคืนแล้วคืนเล่ายังไม่มีอะไรเกิดขึ้น อย่ากลัวต่อบุญในใจพยายามท่องคำนี้ ความเพลิดเพลินทางกาม รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส  เสพมาก็มากแล้วจะยังไม่เบื่อเลยหรือ  พระผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบมีเป็นตัวอย่าง  ท่านทั้งหลายก็เป็นคนเราก็เป็นคน ถ้าท่านปฏิบัติสมาธิภาวนาและวิปัสสนาแล้วไม่เกิดผลคงจะลาสิกขาแล้ว และยังเห็นพระสงฆ์หลายรูปออกธุดงค์เพื่อหาความสงบเพื่อให้ได้ฌานและเกิดญาณ  เมื่อคิดถึงธรรมอิทธิบาท ๔   เป็นคุณธรรมที่นำไปสู่ความสำเร็จแห่งผลที่มุ่งหมายซึ่งใช้เป็นประจำเมื่อครั้งเรียนหนังสือจึงทำความเพียรต่อไป

          และแล้ว ในที่สุด  หลังจากที่ปฏิบัติสมาธิภาวนาและวิปัสสนาเป็นเวลาประมาณหกเดือน คืนวันหนึ่งขณะที่นั่งท่าสมาธิเพชรอาการจากการที่นั่งสมาธิปฏิบัติไประยะหนึ่งอาการจะเกิดตัวโยกโคลงหมุนหรือขนลุกซู่ซ่ามีความรูสึกดีใจร้องให้นำตาไหล เริ่มจากอาการของขณิกสมาธิ(จับลมหายใจได้เล็กน้อย)  อุปจารสมาธิ(จับลมหายใจได้นานขึ้น)และจะเกิดฌาน ๑ ๒ ๓  เป็นช่วงที่จิตจะออกจากกาย  จะเกิดสุข อาการสุขนั้นเป็นสุขที่ไม่เคยพบในโลกนี้ตั้งแต่เกิดมา  ต่อไปถึงฌาน ๔ อาการเป็นเหมือนคนตาย คือจิตกับกายแยกออกจากกัน มืดและเงียบ ตกใจนึกว่าตัวเองตายคิดห่วงลูกจิตจึงหลุดออกจากฌาน งุนงงว่าเกิดอะไรขึ้นมีโอกาสได้สอบถามพระสงฆ์ที่นับถือท่านตอบว่าเป็นอาการของฌาน ๔  ผู้เขียนไม่แนะนำให้ผู้อ่านที่ฝึกปฏิบัติจำอาการดังกล่าวเนื่องจากหากเราจำเราจะเกิดความอยากได้ฌาน  ทำให้การปฏิบัติหยุดชะงักไม่เป็นผลให้ท่านทำไปเรื่อยๆเพียงบอกหากเกิดอาการนี้เป็นเรื่องธรรมดา  บางคนจะเกิดอาการอย่างอื่น เช่น  ตัวลอยจากพื้น  เป็นต้น

อธิบายตามภาพผังอวิชชา  เดิมจิตใจผ่องใสสะอาด  แต่ถูกกิเลสครอบงำพอกพูนขึ้นเรื่อยๆ เพราะโลกยุคโลกาภิวัตน์นำพาดำเนินชีวิตตามนั้น จึงไม่รู้ถึงโทษของกาม  กาม  ณ ที่นี่  คือ รูป  เสียง กลิ่น  รส  โผฏฐัพพะ ที่ไม่เที่ยง  ชีวิตตั้งแต่เกิดถูกสอนให้ดิ้นรนหาสิ่งดังกล่าว  หาได้บ้างไม่ได้บ้าง  สมหวังบ้างผิดหวังบ้าง ทุกข์กายใจตลอดชีวิต เหตุที่ไม่ทราบเนื่องจากความไม่รู้(อวิชชา)  ซึ่งมีเครื่องกั้น(นิวรณ์ ๕) กั้นไว้ ได้แก่ 

กามฉันทะ ความพอใจ ติดใจ หลงใหลใฝ่ฝัน ในกามโลกีย์ทั้งปวง ดุจคนหลับอยู่

   พยาบาท  ความไม่พอใจจากความไม่ได้สมดังปรารถนาในโลกียะสมบัติทั้งปวงดุจคนถูกทัณท์ทรมาน

ถีนมิทธะ ความขี้เกียจ ท้อแท้ อ่อนแอ หมดอาลัย ไร้กำลังทั้งกายใจ ไม่ฮึกเหิม

อุทธัจจะกุกกุจจะ ความคิดซัดส่าย ตลอดเวลา ไม่สงบนิ่งอยู่ในความคิดใด ๆ

วิจิกิจฉา ความไม่แน่ใจ ลังเลใจ สงสัย กังวล กล้า ๆ กลัว ๆ ไม่เต็มที่ ไม่มั่นใจ

ความปิดกั้นไม่ทราบเครื่องกั้นไว้เพราะทุจริต ๓ ได้แก่  ๑.กายทุจริต หมายถึง ความประพฤติชั่วทางกายมี ๓ ประการ ได้แก่ การฆ่าสัตว์ การลักทรัพย์ และการประพฤติผิดในกาม
๒. วจีทุจริต หมายถึง ความประพฤติชั่วทางวาจา มี ๔ ประการ ได้แก่ การพูดเท็จ การพูดคำหยาบ 

พูดเพ้อเจ้อและพูดส่อเสียด
๓. มโนทุจริต หมายถึง ความประพฤติชั่วทางใจมี ๓ ประการ คือ ความโลภ ความคิดพยาบาท ความเห็นผิดจากคลองธรรม

การกระทำทุจริต ๓ เป็นเหตุจากการไม่สำรวมอินทรีย์คือการไม่ระมัดระวังตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ

การไม่สำรวมอินทรีย์เพราะไม่มีสติสัมปชัญญะ คือความระลึกได้และความรู้ตัว การไม่มีสติสัมปชัญญะเหตุมาจากไม่กระทำไว้ในใจโดยไม่แยบคาย คือโยนิโสมนสิการ" หมายถึง การทำในใจให้แยบคาย หรือ การพิจารณาโดยแยบคาย กล่าวคือ ความเป็นผู้ฉลาดในการคิด คิดอย่างถูกวิธีถูกระบบ พิจารณา ไตร่ตรองสาวไปจนถึงสาเหตุหรือต้นตอของเรื่องที่กำลังคิด คือคิดถึงรากถึงโคนนั่นเอง แล้วประมวลความคิดรอบด้านจนกระทั่งสรุปออกมาได้ว่าสิ่งนั้นควรหรือไม่ควร ดีหรือไม่ดี เป็นวิถีทางแห่งปัญญา เป็นธรรมสำหรับกลั่นกรองแยกแยะข้อมูลหรือแหล่งข่าวหรือที่เรียก "ปรโตโฆสะ" อีกชั้นหนึ่ง กับทั้งเป็นบ่อเกิดแห่งความคิดชอบหรือ "สัมมาทิฐิ" ทำให้มีเหตุผล และไม่งมงาย   การไม่กระทำไว้ในใจโดยไม่แยบคายเพราะเหตุไม่มีศรัทธาในศาสนาพุทธ ไม่เชื่อในพระรัตนตรัย ไม่มีศรัทธาเพราะไม่ฟังธรรมและคบแต่คนชั่วเป็นมิตร 

ผลของการไม่รู้วิชชา  ทำให้เกิดความทุกข์  แล้วก็วิ่งหนีทุกข์เดินตามหาสุขไปเรื่อย ๆ อย่างไม่มีจุดหมาย

เหตุเกิดทุกข์  มันอยู่ตรงนี้ ขันธ์ ๕  ประกอบด้วย ๑.รูป ๒.เวทนา ๓.สัญญา  ๔.สังขาร  ๕.วิญญาณ

อวิชชาคือไม่รู้อะไร ปรากฏข้อความใน อวิชชาสูตร ขันธ  ปัญหา อวิชชา ความไม่รู้นั้น หมายถึงไม่รู้อะไร?
พุทธดำรัสตอบ “.....ดูก่อนฯ..... ปุถุชนผู้มิได้เรียนรู้ในโลกนี้ ไม่รู้ชัดซึ่งรูป....เวทนา... สัญญา... สังขาร... วิญญาณ ไม่รู้ชัดซึ่งเหตุเกิดแห่งรูป....เวทนา... สัญญา... สังขาร... วิญญาณ ไม่รู้ชัดซึ่งความดับแห่งรูป....เวทนา... สัญญา... สังขาร... วิญญาณ ไม่รู้ชัดซึ่งหนทางให้ถึงความดับรูป....เวทนา... สัญญา... สังขาร... วิญญาณนี้เรียกว่าอวิชชา”

ลำดับขั้นตอนการปฏิบัติธรรมเพื่อจะเกิดปัญญาละกิเลสสำหรับแก้ไขปัญหาชีวิต 

ให้ทุกข์เหลือน้อย  เริ่มจากข้อที่ ๑  ไปถึง ๙ ให้ปฏิบัติดังนี้

อธิบายเพิ่มเติมจากภาพ  การปฏิบัติตนเพื่อให้ถึงวิชชาคือความรู้แจ้ง

ข้อ ๑  การประพฤติตามโลก ยุคโลกาภิวัตน์ให้หลีกเลี่ยงอกุศลกรรม  ๑๐

ข้อ ๒ คนดีดูอย่างไร  ท่านผู้อ่านจะงง  เพราะไม่มีใครว่าตนเองชั่ว คนดีคือบัณฑิตปรากฏข้อความ

ในพาลบัณฑิตสูตร

  คุณลักษณบัณฑิตได้แก่ เป็นคนคิดดี  พูดคำที่พูดดี  ทำกรรมที่ทำดี ประพฤติกายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต 

ข้อ  ๓  อาจเลือกดู/ฟังในสื่อต่าง ๆ เช่น ยูทูป เป็นต้น หรืออ่านหนังสือพระไตรปิฏก หรืออาจใช้หนังสือเล่มนี้อ่านเสริมเพิ่มเติมได้เพราะผู้เขียนได้ใช้เวลา ๑๐  ปี ในการอ่านและปฏิบัติตามพระไตรปิฏกโดยคัดเลือกเฉพาะพระสูตรที่สำคัญมาเรียบเรียงไว้เหมือนย่อคัมภีร์พระไตรปิกฎให้สะดวกในการศึกษามากขึ้น

ข้อ ๔  ให้ศึกษากาลามสูตร  เพราะหลักในการศรัทธานั้นจะเชื่ออะไรง่าย ๆ โดยไม่มีการพิสูจน์นั้นไมได้

ส่วนข้อ ๕,๖.๗,๘,๙ นั้นท่านผู้อ่านใช้วิจารณญาณของท่านปฏิบัติเองเพราะนิสัยแต่ละคนไม่เหมือนกัน

อธิบายจากภาพ  เราจะละอาสวะได้โดยอาศัยการปฏิบัติตามหลักศีล สมาธิ ปัญญา ผู้เขียนนำภาพที่ดูแล้วอาจจะว่าอุจาด แต่เพื่อให้ผู้อ่านได้เห็นภาพที่ชัดเจน ในการดำเนินชีวิตประจำวันของพวกเราจะวนเวียนอยู่อย่างนี้   ตาเห็นรูปโดยเฉพาะเพศตรงข้าม เสียงก็เช่นเดียวกันไม่มีเสียงใดเพราะเท่าเสียงเพศตรงข้ามที่พูดจาอ่อนหวาน  กลิ่นจมูกต้องการสูดดมแต่กลิ่นหอม ๆ โดยเฉพาะกลิ่นของเพศตรงข้าม รสลิ้นต้องการรับรสที่อร่อยในแต่ละวันจะต้องคิดสรรหาอาหารที่ถูกปากมารับประทานทั้งๆที่เข้าสู่ร่างกายแล้วย่อยออกมาเป็นสิ่งปฏิกูลมีกลิ่นเหม็นแม้ตนเองยังไม่อยากมองดูต้องราดน้ำลงโถส้วมทันที สิ่งต่อไปที่คนหลงใหลกันมากคือการสัมผัสจากเพศตรงข้ามทั้ง ๆ ที่ถ้าแยกส่วนออกมาแล้วมีเพียงธาตุ ดิน น้ำ ลม ไฟ มีหนังบาง ๆ ห่อหุ้มไว้เท่านั้น        มีวิธีใดอีกบ้างหรือไม่ที่เราจะละอาสวะ(กิเลสที่หมักดองอยู่ในจิต)ได้ ถ้าไม่ใช้วิธีการตามภาพข้างบนนี้

ภาพที่นำมาแสดงไว้เพื่อให้ท่านผู้อ่านเห็นตามตัวหนังสือ วิธีฝึกปฏิบัติสมาธิภาวนาและวิปัสสนา จะต้องปฏิบัติอย่างนี้ อาจจะใช้ภาพถ่ายอย่างอื่นก็ได้ เพื่อให้ติดตาเมื่อเราทำสมาธิภาวนาและวิปัสสนาจะลืมตาดูแล้วจำภาพนั้นไว้ให้ฝังอยู่ในจิต ปฏิบัติอย่างนี้ด้วยความเพียรตามมรรคข้อสัมมาวายามะ  ใช้อิทธิบาท ๔ ประกอบความเพียร  ปฏิบัติเช่นนี้หลายร้อยครั้งหลายพันครั้งเป็น วัน เดือน ปี หรือหลายปี เพื่อให้กิเลสเบาบาง   ผลที่จะเกิดกับผู้ที่ปฏิบัติสมาธิภาวนาและวิปัสสนา จะเกิดภาวะที่จิตสงบแน่วแน่เนื่องมาจากการเพ่งอารมณ์เรียกว่าฌาน เมื่อเกิดฌานจะมีความปรีชาหยั่งรู้หรือกําหนดรู้ที่เกิดจากอํานาจสมาธิเรียกว่าญาณ ดังนี้

วิชชา คือความรู้แจ้ง, ความรู้วิเศษ;
       วิชชา ๓ คือ
           ๑. ปุพเพนิวาสานุสติญาณ ความรู้ที่ได้ระลึกชาติได้
           ๒. จุตูปปาตญาณ ความรู้จุติและอุบัติของสัตว์ทั้งหลาย
           ๓. อาสวักขยญาณ ความรู้ที่ทำอาสวะให้สิ้น;
       วิชชา ๘ คือ
           ๑. วิปัสสนาญาณ ญาณในวิปัสสนา
           ๒. มโนมยิทธิ ฤทธิ์ทางใจ
           ๓. อิทธิวิธิ แสดงฤทธิ์ได้ต่างๆ
           ๔. ทิพพโสต หูทิพย์
           ๕. เจโตปริยญาณ รู้จักกำหนดใจผู้อื่นได้
           ๖. ปุพเพนิวาสานุสติ
           ๗. ทิพพจักขุ ตาทิพย์ (=จุตูปปาตญาณ)
           ๘. อาสวักขยญาณ

ความปรีชาหยั่งรู้หรือกําหนดรู้ที่เกิดจากอํานาจสมาธิ วิชชา  ๓ หรือ วิชชา  ๘ บุคคลผู้ปฏิบัติธรรมสมาธิภาวนาหรือวิปัสสนาอาจได้บางวิชชาหรือได้หลายวิชชาขึ้นอยู่กับความสามารถแต่ละคน  ณ  ที่นี่จะขอกล่าวแต่อาสวักขยญาณ คือการหยั่งรู้วิธีการกำจัดกิเลสให้หมดไปจากจิต  เพื่อให้หลุดพ้นเป็นพระอรหันต์ละสังโยชน์ ๑๐ บรรลุถึงนิพพาน สังโยชน์ คือ กิเลสที่ผูกมัดใจสัตว์, ธรรมที่มัดสัตว์ไว้กับทุกข์ หรือกิเลสเครื่องร้อยรัดจิตใจให้จมในวัฏฏะ มี ๑๐ อย่าง คือ

๑. สักกายทิฏฐิ - มีความเห็นว่าร่างกายนี้เป็นของเรา มีความยึดมั่นถือมั่นในระดับหนึ่ง

๒. วิจิกิจฉา - มีความสงสัยในคุณของพระรัตนตรัย คือพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์

๓. สีลัพพตปรามาส - ความถือมั่นศีลพรต

๔. กามราคะ - มีความติดใจในกามคุณ

๕. ปฏิฆะ - มีความกระทบกระทั่งในใจ

๖. รูปราคะ - มีความติดใจในรูปฌาน

๗. อรูปราคะ - มีความติดใจในอรูปฌานหรือความพอใจในนามธรรมทั้งหลาย

๘. มานะ - มีความยึดมั่นถือมั่นในตัวตนหรือคุณสมบัติของตน

๙. อุทธัจจะ - มีความฟุ้งซ่าน

อวิชชา - มีความไม่รู้จริง

พระโสดาบัน ละสังโยชน์ ๓ ข้อต้นได้คือ หมดสักกายทิฏฐิ,วิจิกิจฉาและสีลัพพตปรามาส

พระสกทาคามี ทำสังโยชน์ข้อ ๔  และ ๕  คือ กามราคะและปฏิฆะ ให้เบาบางลงด้วย

พระอนาคามี ละสังโยชน์ ๕  ข้อแรกได้หมด

พระอรหันต์ ละสังโยชน์ทั้ง ๑๐  ข้อ

ปฏิเวธธรรม  ผลของการปฏิบัติสมาธิภาวนาและวิปัสสนา   พอจะนำความรู้ที่ได้จากการปฏิบัติมาใช้ มาเขียนเป็นคำอธิบายให้เข้าใจง่าย ดังนี้

          ผลการปฏิบัติสมาธิภาวนาและวิปัสสนา   พิสูจน์ข้อสงสัยคำสวด “ สันทิฏฐิโก อะกาลิโก เอหิปัสสิโก โอปะนะยิโก ปัจจัตตัง เวทิตัพโพ วิญญูหีติ”คำตอบคือความจริงที่พึงเห็นได้ด้วยตัวเอง เป็นธรรมที่ปฏิบัติได้และให้ผลได้ไม่จำกัดกาล เป็นธรรมที่ควรกล่าวกับผู้อื่นว่าท่านจงมาดูเถิด เป็นธรรมที่ควรน้อมเข้ามาใส่ตัว เป็นธรรมที่ผู้รู้ก็รู้ได้เฉพาะตน  ไม่มีใครในโลกนี้โกหกเราได้

ประเมินตนเอง  ไปนิพพานไม่ได้ 

การปฏิบัติธรรมเพื่อให้หลุดพ้นเป็นพระอรหันต์ละสังโยชน์ ๑๐ บรรลุถึงนิพพานนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย คงต้องลดระดับความหวังของตนเองลงไม่ให้ทุกข์มาก  เห็นอริยสัจทุกข์เหลือน้อย ตามพระสูตรสิเนรุสูตร  ขอเป็นฆราวาสกับการดำเนินชีวิตชอบก็พอแล้ว (ความคิดของผู้เขียน) 

คำถามที่ตั้งไว้ข้างต้นนั้นว่าฝึกทำไม  จะต้องปฏิบัติสมาธิภาวนาและวิปัสสนาทำไม  ทำเพื่ออะไร ทำไปทำไม  ได้ประโยชน์อะไร   สู้เอาเวลานั้นไปหาเงินเลี้ยงปากท้องตนเองและครอบครัวจะดีกว่า คำตอบจะต้องวิเคราะห์ตนเองเสียก่อน 

ปฏิบัติธรรมแล้วมีโยชน์อะไร    คำตอบคือได้ ความรู้ เพื่อแสวงหาความสุข

บำเพ็ญสมาธิทำไม 
ปรากฏข้อความใน  สมาธิสูตร  ปัญหา การบำเพ็ญสมาธินั้น มีจุดมุ่งหมายเพื่อจะทำลายกิเลส แล้วบรรลุมรรคผลเป็นพระอรหันต์เท่านั้นหรือ? หรือว่ามีจุดมุ่งหมายอย่างอื่นด้วย ? 
พุทธดำรัสตอบ “.....ดูก่อนฯ  สมาธิภาวนามีอยู่ ๔ ประการ คือ สมาธิภาวนาที่บุคคลเจริญแล้วเพิ่มพูนแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่ออยู่เป็นสุขในปัจจุบัน ๑.... ย่อมเป็นไปเพื่อให้เกิดจากเป็นแจ้งด้วยญาณ ๑.... ย่อมเป็นไปเพื่อ ความสมบูรณ์แห่งสติสัมปชัญญะ ๑.... ย่อมเป็นไปเพื่อความหมดสิ้นแห่งอาสวะ ๑.....

การประยุกต์ธรรมะใช้ดำเนินในชีวิต 

๑. ใช้ใฝ่หา ๓ สิ่ง  ปรากฏข้อความใน อเนสนาสูตร ปัญหาคนในโลกใฝ่หาอะไรบ้างและเราควรทำ

อย่างไรเกี่ยวกับการใฝ่หานั้น? 
พุทธดำรัสตอบ “ ดูก่อนฯ  การแสวงหา ๓ อย่างนี้ ๓ อย่างเป็นไฉน? คือ การแสวงหากาม ๑ การแสวงหาภพ ๑ การแสวงหาพรหมจรรย์ ๑  ดูก่อนฯ การแสวงหา ๓ อย่างนี้แล  ดูก่อนฯควรเจริญอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ เพื่อความรู้ยิ่งซึ่งการแสวงหา ๓ อย่างนี้แล อริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ เป็นไฉน? ดูก่อนฯ ในธรรมวินัยนี้ ย่อมเจริญสัมมาทิฏฐิ อันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ น้อมไปในการสละ ฯลฯ ย่อมเจริญสัมมาสมาธิ อันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ น้อมไปในการสละ ดูก่อนฯ.ควรเจริญอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ นี้ เพื่อรู้ยิ่งด้วยการแสวงหา ๓ อย่างนี้แล....”  จบ

ความหมายของศัพท์  พรหมจรรย์ แปลว่าการศึกษาปรมัตถ์(ประโยชน์อย่างยิ่ง, เนื้อความอย่างยิ่ง, ความจริงอันเป็นที่สุด), การศึกษาพระเวท,  การถือพรตบางอย่าง

กาม  แปลว่า ความใคร่(ความอยาก, ต้องการ, ปรารถนา, ใฝ่)  ความใคร่ทางเมถุน(การร่วมสังวาส(การร่วมประเวณี)  ภพ แปลว่า  โลก, แผ่นดิน,วัฏสงสาร 

เหตุที่คนแสวงหาความสุข  ปรากฏข้อความใน  สัลลัตถสูตร  ปัญหาคนมีสุขจึงแสวงหาความสุขจากกาม หรือว่ามีความทุกข์จึงแสวงหาความสุขจากกาม ?
พุทธดำรัสตอบ “ดูก่อนฯ ปุถุชนผู้มิได้เรียนรู้..... อันทุกขเวทนา ถูกต้องแล้ว ย่อมโศกเศร้า ร่ำไร รำพัน.... เขาเป็นผู้มีความขัดเคืองเพราะทุกขเวทนานั้น ปฏิฆานุสัยของทุกขเวทนานั้น ย่อมติดตามเขาผู้มีความขัดเคืองเพราะทุกขเวทนานั้น เขาอันทุกขเวทนา ถูกต้องแล้ว ย่อมแสวงหาความเพลิดเพลินจากกามสุข เพราะเหตุไร เพราะปุถุชนผู้มิได้เรียนรู้ย่อมไม่รู้อุบายกำจัดทุกข์เวทนานอกจากกามสุข.....” จบ

ศัพท์ที่ควรรู้ ปฏิฆานุสัยหมายถึงกิเลสอย่างละเอียดที่ทำให้เกิดความคับแค้น,ความกระทบกระทั่งอาการรุ่มร้อน จะขอเน้นการแสวงหากาม   ได้แก่ รูป  รส  กลิ่น เสียง  สัมผัส  อาจจะตั้งคำถามตนเองการใช้ธรรมะเป็นหลักในการดำเนินชีวิตได้อะไร  สรุปมรรคมีองค์ ๘ จะมีศีลอยู่ในจำนวนนั้นด้วย ศีลทำให้เราและครอบครัวมีความสุข    สมาธิภาวนาเพื่อควบคุมจิตให้ประพฤติสุจริต ด้วยกาย วาจา ใจ  ใช้แสวงหาโภคทรัพย์โดยชอบธรรม โดยไม่ใช้วิธีรุนแรง ครั้นแสวงหาโภคทรัพย์โดยชอบธรรมแล้ว ย่อมเลี้ยงจนให้เป็นสุขโดยไม่เบียดเบียนใคร จำแนกทาน ทำบุญไม่ละโมบ ไม่หลงใหล 

๒.  ใช้วางตัวในสังคม  ดังปรากฏข้อความใน ต. ทุก. อํ.  ปัญหา บัณฑิตควรระวังรักษาตนอย่างไร จึงจะไม่ประสบทุกข์โทษในชีวิต ?
พุทธดำรัสตอบ “ดูก่อนฯ  สัตบุรุษผู้ฉลาดเฉียบแหลมประกอบด้วยธรรม ๒ ประการ ย่อมบริหารตนไม่ให้ถูกกำจัด ไม่ให้ถูกทำลายเขาย่อมไม่มีโทษ ไม่ถูกผู้รู้ติเตียน ทั้งได้ประสบบุญเป็นอันมากอีกด้วย ธรรม ๒ ประการคืออะไร คือ พิจารณาไตร่ตรองแล้ว พูดติเตียนคนที่ควรติเตียน ๑ 
พิจารณาไตร่ตรองแล้ว พูดสรรเสริญคนที่ควรสรรเสริญ ๑... 
พิจารณาไตร่ตรองแล้ว เกิดความเลื่อมใสในฐานะอันเป็นที่ตั้งแห่งความเลื่อมใส ๑ 
ย่อมปฏิบัติชอบในบุคคล ๒ จำพวก คือมารดา ๑ บิดา ๑ 
ปฏิบัติชอบในบุคคล ๒ จำพวกคือ พระตถาคต ๑ สาวกของพระตถาคต ๑....”  จบ

๓.  ใช้ ละ เลิก สิ่งที่ทำให้ประสบทุกข์ในชีวิตคือทุจริต  ดังปรากฏข้อความใน  ทุจริตสูตร

             จริงอยู่ พระสูตรนี้พระผู้มีพระภาคตรัสแล้ว พระสูตรนี้พระผู้มีพระภาคผู้เป็นพระอรหันต์ตรัสแล้ว เพราะเหตุนั้น ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วว่าดูก่อนฯ ทุจริต ๓ อย่างนี้ ๓ อย่างเป็นไฉน คือ กายทุจริต ๑วจีทุจริต ๑ มโนทุจริต ๑ ดูก่อนฯ ทุจริต ๓ อย่างนี้แล ฯ  พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความนี้แล้ว ในพระสูตรนั้น พระผู้มีพระภาคตรัสคาถาประพันธ์ดังนี้ว่าบุคคลผู้มีปัญญาทราม กระทำกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริตและกระทำอกุศลกรรมอย่างอื่นอันประกอบด้วยโทษ ไม่กระทำกุศลกรรม กระทำอกุศลกรรมเป็นอันมาก เมื่อตายไปย่อมเข้าถึงนรก ฯ  เนื้อความแม้นี้พระผู้มีพระภาคตรัสแล้ว เพราะเหตุนั้น ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วฉะนี้แล ฯ

             ดูก่อนฯ  โทษในเพราะทุจริต ๕ ประการนี้ ๕ ประการเป็นไฉน คือ แม้ตนเองย่อมติเตียนตนได้ ๑ วิญญูชนพิจารณาแล้วย่อมติเตียนได้ ๑ กิติศัพท์อันชั่วย่อมฟุ้งไป ๑ ย่อมเป็นผู้หลงกระทำกาละ ๑ เมื่อตายไปย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก ๑ ดูก่อนฯ โทษในเพราะทุจริต ๕ประการนี้แล ฯ

             ดูก่อนฯ  อานิสงส์ในเพราะสุจริต ๕ ประการนี้ ๕ ประการเป็นไฉน คือแม้ตนเองย่อมไม่ติเตียน

ตนได้ ๑ วิญญูชนพิจารณาแล้วย่อมสรรเสริญ ๑ กิติศัพท์อันงามย่อมฟุ้งไป ๑ ย่อมไม่เป็นผู้หลงกระทำกาละ ๑ เมื่อตายไปย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ ๑ ดูก่อนฯ อานิสงส์ในเพราะสุจริต ๕  ประการนี้แล ฯ จบ

การนำธรรมะมาประยุกต์ใช้ในการดำเนินชีวิตประจำวัน สำหรับค่าใช้จ่ายการกินจะมีค่าใช้จ่ายมากที่สุดเรานำธรรมะที่เราฝึกฝนมาจากการทำสมาธิภาวนาและวิปัสสนาคืออาหาเรปฏิกูลอาหารที่เรากินทุกวันมาจากสิ่งสกปรกเนื้อสัตว์ได้แก่เนื้อหมูเนื้อวัวหรือสัตว์อื่นเขาได้รับความทุกข์ทรมานจากการฆ่าเจ็บปวดก่อนที่จิตจะออกจากร่างแต่เรามีความเอร็ดอร่อยกินเนื้อเขาซึ่งมีความเจ็บปวดเสียงร้องเสียงโหยหวนสัตว์บางชนิดมีน้ำตาเช่นวัวควาย เรากลับเห็นเนื้อของเขาเหล่านั้นเป็นที่เอร็ดอร่อยเมื่อเรารับประทานไปแล้วผ่านกระบวนการย่อยในร่างกายออกมาเป็นอุจจาระซึ่งมีกลิ่นเหม็นแม้แต่ตัวเองยังไม่อยากมองถ้าเราคิดอย่างนี้ในการกินอยู่ก็จะง่ายขึ้นเราจะกินอาหารที่เป็นพืชผักผลไม้ได้เยอะขึ้นเพราะอาหารเหล่านี้จะเป็นยาด้วยคือผักผลไม้จะมีวิตามินช่วยให้จุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ได้ย่อยทำให้เสริมสร้างอวัยวะและภูมิคุ้มกันให้แข็งแรง เพื่อที่จะต่อสู้กับโรคภัยต่างๆ ที่มารุกรานร่างกายของเรา เซลล์เม็ดเลือดขาวจะกำจัดเชื้อโรคดังกล่าวออกจากร่างกาย 

ฆราวาสธรรม ๔
   คือธรรมสำหรับการครองเรือนในชีวิตของบุคคลทั่วไปได้แก่
   ๑.พูดจริงทำจริงและซื่อตรง (สัจจะ)
   ๒.ฝึกหัดแก้ไขปรับปรุง (ทมะ)
   ๓.อดทนตั้งใจและขยัน (ขันติ)
   ๔.เสียสละ (จาคะ)

พระสูตรดังต่อไปนี้ที่นำมาเป็นความรู้ในการดำเนินชีวิต

กินเนื้อสัตว์บาปหรือไม่  ปรากฏในชีวกสูตร ปัญหา มีพุทธศาสนิกชนบางพวกเห็นว่า การกินเนื้อสัตว์เป็นบาปเพราะเป็นการส่งเสริมให้คนอื่นฆ่า ในเรื่องนี้พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่าอย่างไร?  
พุทธดำรัสตอบ “..... ดูก่อนชีวก เรากล่าวเนื้อว่าไม่ควรเป็นของบริโภคด้วยเหตุ ๓ ประการ คือ เนื้อที่ตนเห็น เนื้อที่ตนได้ยิน เนื้อที่ตนรังเกียจ ดูก่อนชีวก เรากล่าวเนื้อว่า เป็นของไม่ควรบริโภคด้วยเหตุ ๓ ประการนี้แล ดูก่อนชีวก เรากล่าวเนื้อว่าเป็นของควรบริโภค ด้วยเหตุ ๓ ประการคือ เนื้อที่ตนไม่ได้เห็น เนื้อที่ตนไม่ได้ยิน เนื้อที่ตนไม่ได้รังเกียจ ดูก่อนชีวก เรากล่าวเนื้อว่า เป็นของบริโภคด้วยเหตุ ๓ ประการนี้แล.....” จบ

พระสูตรบทนี้ทำให้เราดำเนินชีวิตได้ราบรื่น เนื่องจากมีบางกระแสบอกว่าการกินเนื้อสัตว์เป็นบาปต้องกินเจ มังสวิรัติเท่านั้น  ในความเป็นจริงอาหารที่มีหรือขายในหมู่บ้าน  ชุมชนที่เราอาศัยอยู่ จะเลือกไม่ได้หรือถ้าเลือกได้จะมีทางเลือกน้อย  ทำให้การดำรงชีวิตของเราลำบาก  ยากในการปฏิบัติธรรม พระสูตรบทนี้จึงแก้ความสงสัยได้ดี

พรหมลิขิตมีหรือไม่  
ปัญหา สมณพราหมณ์บางพวกยืนยันว่า สุขก็ดี ทุกข์ก็ดี ไม่สุขไม่ทุกข์ก็ดี ที่บุคคลได้รับเสวยอยู่นั้น ล้วนแต่มีการสร้างสรรค์ ของเทพเจ้าอยู่ยิ่งใหญ่เป็นเหตุดังนี้ พระพุทธองค์ทรงเห็นอย่างไร?
พุทธดำรัสตอบ “.....ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สมณพราหมณ์..... พวกที่มีวาทะอย่างนี้ มีทิฐิอย่างนี้ว่า สุข ทุกข์ หรือไม่ใช่สุข ไม่ใช่ทุกข์ อย่างใดอย่างหนึ่งที่บุคคลเสวยนั้น ล้วนแต่มีการสร้างสรรค์ ของเทพเจ้าผู้ยิ่งใหญ่เป็นเหตุจริงหรือ ถ้าสมณพราหมณ์พวกนั้น.... ปฏิญญาว่าจริง เราก็กล่าวกะเขาว่า ถ้าเช่นนั้น เพราะการสร้างสรรค์ ของเทพเจ้าผู้ยิ่งใหญ่เป็นเหตุ ท่านทั้งหลายจักต้องฆ่าสัตว์.... จักต้องลักทรัพย์...... จักต้องประพฤติกรรมเป็นข้าศึกต่อพรหมจรรย์..... จักต้องพูดเท็จ..... จักต้องพูดคำส่อเสียด.... จักต้องพูดคำหยาบ..... จักต้องพูดคำเพ้อเจ้อ..... จะต้องมากไปด้วยอภิชฌา...... จักต้องมีจิตพยาบาท..... มิจฉาทิฏฐิ.....
“.....ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็เมื่อบุคคลยึดถือการสร้างสรรค์ ของเทพเจ้าผู้ยิ่งใหญ่เป็นสำคัญ ความพอใจหรือความพยายามว่า กิจนี้ควรทำหรือไม่ว่ากิจนี้ไม่ควรทำ ย่อมจะมีไม่ได้.....ฯ”  จบ

ทำอย่างไรจึงจะค้าขายมีกำไร  ปรากฏในชีวกสูตรวณิชชสูตร  ปัญหา เพราะเหตุไร คนบางคนค้าขายจึงขาดทุน บางคนไม่ได้กำไรตามที่ประสงค์ บางคนได้กำไรตามที่ประสงค์ บางคนกลับได้ยิ่งกว่าที่มุ่งหมายไว้ ?
พุทธดำรัสตอบ “.....ดูก่อนสารีบุตร บุคคลบางคนในโลกนี้เข้าไปหาสมณะหรือพราหมณ์แล้ว ย่อมปวารณาว่า ท่านจงบอกปัจจัยที่ท่านประสงค์มาเถิด เขากลับไม่ถวายปัจจัยดังที่ได้ปวารณาไว้ ถ้าเขาเคลื่อนจากอัตตภาพนั้นมาสู่ความเป็นมนุษย์นี้ เขาทำการค้าขายอย่างใด เขาย่อมขาดทุน
“.... บุคคลบางคนในโลกนี้ เข้าไปหาสมณะหรือพราหมณ์แล้วย่อมปวารณาว่าท่านจงบอกปัจจัยที่ท่านประสงค์มาเถิด แต่เขาถวายปัจจัยไม่เต็มตามที่ได้ปวารณาไว้ ถ้าเขาเคลื่อนจากอัตภาพนั้นมาสู่ความเป็นมนุษย์นี้ เขาทำการค้าขายอย่างใดๆ เขาย่อมไม่ได้กำไรตามที่ประสงค์
“.... บุคคลบางคนในโลกนี้ เข้าไปหาสมณะหรือพราหมณ์แล้วย่อมปวารณาว่าท่านจงบอกปัจจัยที่ท่านประสงค์มาเถิด เขาถวายปัจจัยเต็มตามที่ได้ปวารณาไว้ ถ้าเขาเคลื่อนจากอัตภาพนั้นมาสู่ความเป็นมนุษย์นี้ เขาทำการค้าขายอย่างใดๆ เขาย่อมได้กำไรตามที่ประสงค์
“.... บุคคลบางคนในโลกนี้ เข้าไปหาสมณะหรือพราหมณ์แล้วย่อมปวารณาว่าท่านจงบอกปัจจัยที่ท่านประสงค์มาเถิด แต่เขาถวายปัจจัยยิ่งกว่าที่ได้ปวารณาไว้ ถ้าเขาเคลื่อนจากอัตภาพนั้นมาสู่ความเป็นมนุษย์นี้ เขาทำการค้าขายอย่างใดๆ เขาย่อมได้กำไรยิ่งกว่าที่ประสงค์  จบ

ทำอย่างไรจะได้พบกันอีกในชาติหน้า  ปรากฏในสมชีวสูตร  ปัญหา ถ้าสามีภรรยารักกันมากๆ ในชาตินี้ และปรารถนาจะพบกันอีก ได้เป็นสามีภรรยากันอีกในชาติหน้า จะมีทางเป็นไปได้ไหม? และควรจะปฏิบัติอย่างไร?
พุทธดำรัสตอบ “.....ดูก่อนคฤหบดีและคฤหปตานี ถ้าภรรยาและสามีทั้งสองหวังจะพบกันและกัน ทั้งในปัจจุบัน ทั้งในสัมปรายภพ (ชาติหน้า) ไซร้ทั้งสองคนนั้นแลพึงเป็นผู้มีศรัทธาเสมอกัน มีศีลเสมอกัน มีจาคะเสมอกัน มีปัญญาเสมอกัน ภรรยาและสามีทั้งสองนั้น ย่อมได้พบกันและกัน ทั้งในปัจจุบัน ทั้งในสัมปรายภพ..”จบ

ฆราวาสกับการเข้าถึงสวรรค์  ปรากฏข้อความในเวฬุทวารสูตร  ปัญหา พราหมณ์และคฤหบดีชาวเวฬุทวารคาม ทูลถามพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า คฤหัสถ์ที่อยู่ครองเรือน นอนแออัดด้วยบุตร ยังทัดทรงดอกไม้ของหอม... ใช้เงินทอง ตายไปแล้วอยากเข้าสู่สุคติโลกสวรรค์ ควรจะปฏิบัติอย่างไร ?
พุทธดำรัสตอบ “ ดูก่อนพราหมณ์และคฤหบดีทั้งหลาย เราอยากเป็นอยู่ไม่อยากตาย รักสุข เกลียดทุกข์ ผู้ใดจะปลงเรา...เสียจากชีวิต ข้อนั้นไม่เป็นที่รักที่ชอบใจของเรา ถ้าเราพึงปลงคนอื่นที่อยากเป็นอยู่ไม่อยากตาย รักสุขเกลียดทุกข์เสียจากชีวิต ข้อนั้นก็ไม่เป็นที่รักที่ชอบใจของคนอื่น อริยสาวกพิจารณาเห็นดังนี้ ตนเองย่อมงดเวนจากการฆ่าสัตว์ ย่อมชักชวนผู้อื่นให้งดเว้นย่อมสรรเสริญคุณแห่งการงดเว้น ความประพฤติทางกายของเขา ย่อมบริสุทธิ์โดยส่วนสามอย่างนี้
“....อีกประการหนึ่ง ผู้ใดพึงถือเอาสิ่งของที่เรามิได้ให้ด้วยการขโมย ข้อนั้นไม่เป็นที่รักที่ชอบใจของเรา ถ้าเราพึงถือเอาสิ่งของที่ผู้อื่นมิได้ให้ด้วยอาการขโมย ข้อนั้นก็ไม่เป็นที่รักที่ชอบใจของผู้อื่น...อริยสาวกพิจารณาเห็นดังนี้แล้วตนเองย่อมงดเว้นจากอทินนาทาน ย่อมชักชวนผู้อื่นให้งดเว้น... ย่อมสรรเสริญคุณแห่งการงดเว้น....
“....อีกประการหนึ่ง ผู้ใดพึงประพฤติผิดในภรรยาของเรา ข้อนั้นไม่เป็นที่รักที่ชอบใจของเรา ถ้าเราพึงประพฤติผิดในภรรยาของผู้อื่น ข้อนั้นก็ไม่เป็นที่รักที่ชอบใจของผู้อื่น...อริยสาวกพิจารณาเห็นดังนี้แล้วตนเองย่อมงดเว้นจากกาเมสุมิจฉาจาร...
“....อีกประการหนึ่ง ผู้ใดพึงทำลายประโยชน์ของเราด้วยการกล่าวเท็จ ข้อนั้นไม่เป็นที่รักที่ชอบใจของเรา ถ้าเราพึงทำลายประโยชน์ของคนอื่นด้วยการกล่าวเท็จ ข้อนั้นก็ไม่เป็นที่รักที่ชอบใจของผู้อื่น...อริยสาวกพิจารณาเห็นดังนี้แล้วตนเองย่อมงดเว้นจากมุสาวาท...
“....อีกประการหนึ่ง ผู้ใดพึงยุยงเราให้แตกจากมิตรด้วยคำส่อเสียด ข้อนั้นไม่เป็นที่รักที่ชอบใจของเรา ถ้าเราพึงยุยงเราให้แตกจากมิตรด้วยคำส่อเสียด ข้อนั้นก็ไม่เป็นที่รักที่ชอบใจของผู้อื่น...อริยสาวกพิจารณาเห็นดังนี้แล้วตนเองย่อมงดเว้นจากปิสุณาวาจา (คำส่อเสียด)...

“....อีกประการหนึ่ง ผู้ใดพึงพูดกับเราด้วยคำหยาบ ข้อนั้นไม่เป็นที่รักที่ชอบใจของเรา ถ้าเราพึงพูดกับเราด้วยคำหยาบ ข้อนั้นก็ไม่เป็นที่รักที่ชอบใจของผู้อื่น...อริยสาวกพิจารณาเห็นดังนี้แล้วตนเองย่อมงดเว้นจากผรุสวาจา (คำหยาบ)....
“....อีกประการหนึ่ง ผู้ใดพึงพูดกับเราด้วยคำเพ้อเจ้อเหลวไหล ข้อนั้นไม่เป็นที่รักที่ชอบใจของเรา ถ้าเราพึงพูดกับเราด้วยคำเพ้อเจ้อเหลวไหล ข้อนั้นก็ไม่เป็นที่รักที่ชอบใจของผู้อื่น...อริยสาวกพิจารณาเห็นดังนี้แล้วตนเองย่อมงดเว้นจากคำเพ้อเจ้อเหลวไหล....
“อริยสาวกนั้นประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหว ในพระพุทธเจ้า....ในพระธรรม....ในพระสงฆ์....ประกอบด้วยศีลอันเป็นที่รักของพระอริยเจ้า...
“ ดูก่อนคฤหบดีทั้งหลาย เมื่อใดอริยสาวกประกอบด้วยสัทธรรม ๗ ประการนี้ เมื่อนั้นพึงพยากรณ์ด้วยตนเองได้ว่า เราตัดขาด  จบ

แม้คนขี้เมาก็อาจเป็นพระโสดาบันได้  ปรากฏข้อความในสรกานิสูตร  ปัญหา เมื่อเจ้าสรกานิศากยะสิ้นพระชนม์ พระพุทธเจ้าทรงพยากรณ์ว่า ท่านเป็นพระโสดาบัน พ้นจากอบายภูมิอย่างเด็ดขาด มีอันจะตรัสรู้ในเบื้องหน้า เจ้าศากยะเป็นจำนวนมากประชุมกันแล้วพูดตำหนิว่า เจ้าสรกานิศากยะประพฤติย่อหย่อนในศีลธรรมและชอบดื่มน้ำเมา ถ้าท่านเป็นพระโสดาบันได้ ใครๆ ก็เป็นโสดาบันกันทั้งบ้างทั้งเมือง ในเรื่องนี้พระพุทธองค์ทรงชี้แจงอย่างไร?
พุทธดำรัสตอบ “ ดูก่อนมหาบพิตร อุบาสกผู้ถึงพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ ว่าเป็นสรณะตลอดกาลนานจะไปสู่วินิบาตได้อย่างไร ? เมื่อจะพูดให้ถูก ควรพูดถึงเจ้าสรกานิศากยะว่า เจ้าสรกานิศากยะเป็นอุบาสกถึงพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์เป็นสรณะมาเป็นเวลานานแล้ว จะพึงไปสู่วินิบาตได้อย่างไร ?
“ ดูก่อนมหาบพิตร บุคคลบางคนในโลกนี้ แม้ไม่ประกอบด้วยความเลื่อมใส อันไม่หวั่นไหวในพระพุทธเจ้า.... ในพระธรรม...ในพระสงฆ์ ไม่มีปัญญาร่าเริง ไม่เฉียบแหลมและไม่บรรลุถึงวิมุต แต่ว่าเขามีธรรมเหล่านี้ คือ สัทธินทรีย์ วิริยินทรีย์ สตินทรีย์ สมาธินทรีย์ ปัญญินทรีย์ และเขามีศรัทธา มีความรักในพระตถาคตพอประมาณ แม้บุคคลผู้นี้ก็ไม่ไปสู่นรก....ทุคติวินิบาต
“ ดูก่อนมหาบพิตร ถ้าต้นสาละใหญ่เหล่านี้พึงรู้ สุภาษิต และทุพภาสิต
อาตมภาพก็พึงพยากรณ์ต้นสาละใหญ่เหล่านี้ได้ว่า เป็นโสดาบัน จะตรัสรู้ในเบื้องหน้า จะช่วยกล่าวไปไยถึงเข้าสรกานิศากยะ
“ดูก่อนท้าวมหานาม เจ้าสารกานิศากยะสมาทานสิกขาได้ในเวลาสิ้นพระชนม์แล”  จบ

สำหรับพระสูตรนี้  ทำไมคำสอนพระพุทธเจ้าขัดกันเองกับศีลห้าข้อสุราเมรัย  ข้อสังเกตของผู้เขียนและเรียบเรียงมีดังนี้ ปกติคนที่ไม่ดื่มสุรายังไม่สามารถควบคุมจิตใจร่างกายตนเองไม่ให้กระทำความผิดศีลสี่ข้อได้  พระองค์จึงตรัสห้ามศีลข้อนี้  แต่เมื่อบุคคลใดที่ไม่มีความเห็นว่าร่างกายนี้เป็นของเรา ไม่มีความยึดมั่นถือมั่นในระดับหนึ่ง(สักกายทิฏฐิ) ไม่มีความสงสัยในคุณของพระรัตนตรัย คือพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ (วิจิกิจฉา)และความถือมั่นศีลพรต(สีลัพพตปรามาส) ซึ่งเป็นคุณสมบัติของพระโสดาบัน จึงพ้นจากนรก  เปรต อสูรกาย  สัตว์เดรัจฉาน
พ่อค้าที่เจริญก้าวหน้า  ปรากฏข้อความในปาปณิกสูตร  ปัญหา พ่อค้าที่ประสบความเจริญก้าวหน้า มีคุณสมบัติอย่างไรบ้าง ?
พุทธดำรัสตอบ “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พ่อค้าผู้ประกอบด้วยองค์ ๓ ประการ ย่อมถึงความมีโภคทรัพย์มากมายเหลือเฟือโดยไม่นานเลย องค์ ๓ ประการคืออะไร? พ่อค้าในโลกนี้เป็นผู้มีจักษุ ๑ จัดธุรการงานดี ๑ ถึงพร้อมด้วยคนที่พึ่งพาอาศัยได้ ๑
“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พ่อค้าชื่อว่าเป็นคนมีจักษุอย่างไร....พ่อค้าในโลกนี้ย่อมรู้สิ่งที่จะพึงซื้อขาย สิ่งที่พึงขายนี้ซื้อมาเท่านี้ ขายไปเท่านั้น จักเป็นทุนเท่านี้ เป็นกำไรเท่านี้....
“พ่อค้าชื่อว่าจัดธุระการงานดีอย่างไร... พ่อค้าในโลกนี้เป็นคนฉลาดที่จะซื้อและขายสิ่งที่ตนจะพึงซื้อขาย...
“พ่อค้าชื่อว่าถึงพร้อมด้วยคนที่จะพึ่งพาอาศัยได้อย่างไร... พ่อค้าในโลกนี้อันคฤหบดีหรือบุตรคฤหบดีผู้มั่งคั่งที่ได้ทราบว่าพ่อค้าผู้นี้เป็นคนมีจักษุ จัดธุระดีสามารถเลี้ยงบุตรภริยา และใช้เงินคืนเราได้ตามเวลา ต่างก็เชิญชวนพ่อค้านั้นด้วยทรัพย์ว่า ท่านพ่อค้าผู้สหาย แต่นี้ไปท่านจงนำเอาทรัพย์ไปเลี้ยงบุตรภริยาและใช้คืนให้แก่เราตามเวลา....“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พ่อค้าผู้ประกอบด้วยองค์ ๓ ประการนี้แล ย่อมถึงความมีโภคะมากมายเหลือเฟือโดยไม่นานเลย...”  จบ
ทำอย่างไรจึงจะมีรูปงาม  ปัญหา เพราะเหตุไรบางคนจึงมีรูปร่างขี้ริ้วขี้เหร่ ทั้ง ๆ ที่มารดาบิดามีรูปงาม เพราะเหตุไรคนบางคนจึงมีรูปร่างสวย มีผิวพรรณงาม ทั้งๆ ที่มารดาบิดามีรูปร่างไม่สวย?
พุทธดำรัสตอบ “..... บุคคลบางคนย่อมเป็นผู้มักโกรธแค้นมาก ถูกว่าแม้น้อยย่อมขัดใจโกรธ พยาบาทคิดแก้แค้น ทำความโกรธ ความดุร้ายแลความขึ้งเคียดให้ปรากฏ ครั้นตายไปย่อมเกิดในอบายทุคตินรกด้วยกรรมนั้น.... ถ้าตายไปไม่เกิดในอบายทุคตินรก มาเกิดเป็นมนุษย์ในที่ใด ๆ จะเป็นผู้มีผิวพรรณน่าชัง
“.... บุคคลบางคนย่อมเป็นผู้ไม่มักโกรธแค้นมาก ถูกว่าแม้มากย่อมทำความโกรธ ความดุร้ายและความขึ้งเคียดให้ปรากฏ ครั้นตายไปย่อมเกิดในสุคติโลกสวรรค์ด้วยกรรมนั้น.... ถ้าภายไปไม่เกิดในสุคติโลกสวรรค์ มาเกิดเป็นมนุษย์ ในที่ใด ๆ จะเป็นผู้มีผิวพรรณน่าชม" จบ

ทำอย่างไรจึงจะฉลาด ปรากฏข้อความในจุฬกัมมวิภังคสูตร ปัญหา เพราะเหตุไร คนบางคนเกิดมาจึงมีสติปัญญาเฉลียวฉลาด เพราะเหตุไร คนบางคน เกิดมาจึงโง่ทึบ?
พุทธดำรัสตอบ “บุคคลบางคนย่อมไม่เข้าไปหาสมณพราหมณ์ไต่ถามว่าสิ่งไรเป็นกุศล สิ่งไรเป็นอกุศล สิ่งไรมีโทษ สิ่งไรไม่มีโทษ สิ่งไรควรเสพ สิ่งไรไม่ควรเสพ สิ่งใดที่ข้าพเจ้าทำจะไม่เกื้อกูล จะเป็นทุกข์แก่ข้าพเจ้าสิ้นกาลนาน ก็หรือสิ่งไรที่ข้าพเจ้าทำจะเกื้อกูล จะเป็นสุขแก่ข้าพเจ้าชั่วกาลนาน ดังนี้ครั้นตายไป ย่อมเกิดในอบายทุคตินรกด้วยกรรมนั้น.... ถ้าตายไปไม่เกิดในอบายทุคตินรก มาเกิดเป็นมนุษย์ในที่ใด ๆ จะเป็นผู้โง่เขลา
“บุคคลบางคนย่อมเข้าไปหาสมณพราหมณ์ ไต่ถามว่าสิ่งไรเป็นกุศล สิ่งไรเป็นอกุศล สิ่งไรมีโทษ สิ่งไรไม่มีโทษ..... ดังนี้ครั้นตายไป ย่อมเกิดในสุคติโลกสวรรค์ด้วยกรรมนั้น.... ถ้าตายไปไม่เกิดในสุคติโลกสวรรค์ มาเกิดเป็นมนุษย์ในที่ใดๆ จะเป็นผู้เฉลียวฉลาด
“สัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็นของตน เป็นทายาท (คือผู้รับผล) แห่งกรรมมีกรรมเป็นกำเนิด มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ มีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย กรรมย่อมจำแนกสัตว์ทั้งหลาย เพื่อความเป็นผู้ต่ำช้าแลประณีตฉะนี้แล”  จบ

เหตุที่ทำให้เป็นเทพี  ปรากฏข้อความในมหาวรรค ปัญหา ทำไมสตรีบางคนเกิดมาจึงมีรูปร่างขี้ริ้วขี้เหร่ ทั้งยังยากจนและต่ำศักดิ์อีกด้วย ?
พุทธดำรัสตอบ “.....ดูก่อนพระนางมัลลิกา....มาตุคาม (สตรี) บางคนในโลกนี้ เป็นผู้มักโกรธ มากไปด้วยความแค้นใจ ถูกว่าแม้เล็กน้อยก็ขัดเคืองและความไม่พอใจให้ปรากฏ ไม่เป็นผู้ให้ทานคือข้าว น้ำ ยวดยาน ระเบียบ ของหอมเครื่องลูบไล้ ที่นอน ที่อยู่อาศัย และประทีปโคมไฟแก่สมณะหรือพราหมณ์ และเป็นผู้มีใจริษยาในลาภ สักการะ ความเคารพ ความนับถือการไหว้ การบูชาของผู้อื่น กีดกันตัดรอนผูกความริษยา ถ้ามาตุคามนั้นจุติจากอัตตภาพนันมาสู่ความเป็นอย่างนี้ กลับมาเกิดในชาติใดๆ ย่อมเป็นผู้มีผิวพรรณทราม รูปชั่ว ไม่น่าดู ทั้งเป็นคนยากจนขัดสนทรัพย์สมบัติและต่ำศักดิ์”  จบ

วิธีเรียนหนังสือเก่ง  ปรากฏข้อความในสังคารวสูตร  ปัญหา ในการเรียนวิชาต่างๆ ทำไม บางที่จึงเข้าใจง่ายจำได้ดี ทำไมบางทีจึงเข้าใจยาก จำได้ยาก ทั้งๆ ที่เรื่องที่เรียนนั้นมีความยากง่ายพอๆ กัน?
พุทธดำรัสตอบ “....เมื่อใด บุคคลมีจิตอันกามราคะครอบงำแล้ว และไม่รู้ธรรมเป็นเครื่องสลัดกามราคะที่บังเกิดขึ้นแล้ว เมื่อนั้น.... มนต์ทั้งหลายแม้ที่เขาได้ท่องสาธยายไว้แล้วตลอดกาลนาน ก็ไม่แจ่มแจ้งอยู่ได้...เหมือนพื้นน้ำที่ระคนด้วยครั่งก็ดี ด้วยขมิ้นก็ดี ด้วยครามก็ดี ด้วยฝางก็ดี บุรุษผู้มีจักษุพิจารณาดูเงาหน้าของตนในน้ำนั้น ก็ไม่พึงรู้ไม่พึงเห็นเงาหน้าของตนตามความเป็นจริงได้
“เมื่อใดบุคคลมีจิตอันพยาบาท (ความมุ่งร้าย) รุมครอบงำอยู่ แลไม่รู้ธรรมเป็นเครื่องสลัดพยาบาทที่เกิดขึ้นแล้ว เมื่อนั้น .... มนต์ทั้งหลายแม้ที่เขาได้ท่องสาธยายไว้แล้วตลอดกาลนาน ก็ไม่แจ่มแจ้งอยู่ได้เหมือนพื้นน้ำที่ร้อนจัดด้วยไฟเดือดพล่านแล้ว บุรุษผู้มีจักษุพิจารณาดูเงาหน้าของตนในน้ำนั้น ก็ไม่พึงรู้ไม่พึงเห็นเงาหน้าของตนตามความเป็นจริงได้
“เมื่อใดบุคคลมีจิตอันถีนมิทธะ (ความง่วงเหงาเคลิบเคลิ้ม) รุมครอบงำอยู่ แลไม่รู้ธรรมเป็นเครื่องสลัดถีนมิทธะที่เกิดขึ้นแล้ว เมื่อนั้น .... มนต์ทั้งหลายแม้ที่เขาได้ท่องสาธยายไว้แล้วตลอดกาลนาน ก็ไม่แจ่มแจ้งอยู่ได้เหมือนพื้นน้ำสาหร่ายแลแหนปกคลุม แล้วบุรุษผู้มีจักษุพิจารณาดูเงาหน้าของตนในน้ำนั้น ก็ไม่พึงรู้ไม่พึงเห็นเงาหน้าของตนตามความเป็นจริงได้
“เมื่อใดบุคคลมีจิตอันอุทธัจจกุกกุจจะ (ความฟุ้งซ่านรำคาญ) รุมครอบงำอยู่ แลไม่รู้ธรรมเป็นเครื่องสลัดอุทธัจจกุกกุจจะ ที่เกิดขึ้นแล้ว เมื่อนั้น .... มนต์ทั้งหลายแม้ที่เขาได้ท่องสาธยายไว้แล้วตลอดกาลนาน ก็ไม่แจ่มแจ้งอยู่ได้เหมือนพื้นน้ำที่ลมพัดไหวกระเพื่อมเป็นระลอกแล้ว บุรุษผู้มีจักษุพิจารณาดูเงาหน้าของตนในน้ำนั้น ก็ไม่พึงรู้ไม่พึงเห็นเงาหน้าของตนตามความเป็นจริงได้
“เมื่อใดบุคคลมีจิตอันวิจิกิจฉา (ความเคลือบแคลงสงสัย) รุมครอบงำอยู่ แลไม่รู้ธรรมเป็นเครื่องสลัดวิจิกิจฉาที่เกิดขึ้นแล้ว เมื่อนั้น .... มนต์ทั้งหลายแม้ที่เขาได้ท่องสาธยายไว้แล้วตลอดกาลนาน ก็ไม่แจ่มแจ้งอยู่ได้เหมือนพื้นน้ำที่ขุ่นมัวเป็นตม อันเขาตั้งไว้แล้วในที่มืด บุรุษผู้มีจักษุพิจารณาดูเงาหน้าของตนในน้ำนั้น ก็ไม่พึงรู้ไม่พึงเห็นเงาหน้าของตนตามความเป็นจริงได้
“เมื่อใดบุคคลมีจิตอันกามราคะไม่รุมครอบงำแล้ว แลรู้ธรรมเป็นเครื่องสลัดกามราคะที่เกิดขึ้นแล้ว มีจิตอันพยาบาทไม่รุมครอบงำแล้ว แลย่อมรู้ธรรมเป็นเครื่องสลัดพยาบาทที่เกิดขึ้นแล้ว มีจิตอันถีนมิทธะไม่รุมครอบงำ รู้ธรรมเป็นเครื่องสลัดถีนมิทธะที่เกิดขึ้นแล้ว มีจิตอันอุทธัจจกุกกุจจะไม่รุมครอบงำแล้ว แลรู้ธรรมเป็นเครื่องสลัดอุทธัจจกุกกุจจะ ที่เกิดขึ้นแล้ว มีจิตอันวิจิกิจฉาไม่รุมครอบงำแล้ว แลรู้ธรรมเป็นเครื่องสลัดวิจิกิจฉาที่เกิดขึ้นแล้ว เมื่อนั้น มนต์ทั้งหลายแม้ที่เขาไม่ได้ท่องสาธยายไว้ตลอดกาลนาน ก็แจ่มแจ้งอยู่ได้ จะกล่าวอะไรถึงมนต์ทั้งหลายที่เขาได้ท่องสาธยายไว้เล่า... เหมือนพื้นน้ำที่ไม่ระคนด้วยครั้งก็ดี ด้วยขมิ้นก็ดี ด้วยครามก็ดี ด้วยฝางก็ดี เหมือนพื้นน้ำที่ไม่ร้อนจัดด้วยไฟ ไม่เดือนพล่านแล้ว....เหมือนพื้นน้ำที่ไม่มีสาหร่ายและแหนปกคลุมแล้ว.... เหมือนพื้นน้ำที่ลมพัดไหวกระเพื่อมไม่เป็นระลอกแล้ว..... เหมือนพื้นน้ำที่ใสสะอาดไม่ขุ่นมัว อันเขาตั้งไว้ในที่ส่งว่า บุรุษผู้มีจักษุพิจารณาดูเงาหน้าของตนในน้ำนั้น ก็พึงรู้พึงเห็นเงาหน้าของตนตามความเป็นจริงได้  จบ
เหตุให้อายุสั้น  ปรากฏข้อความในอนายุสสสูตร  ปัญหา ในจูฬกัมมวิภังคสูตร พระพุทธองค์ตรัสว่า คนเกิดมามีอายุสั้น เพราะในชาติก่อนเป็นผู้ฆ่าสัตว์ตัดชีวิต สำหรับในชาติปัจจุบันนี้เล่ามีปฏิปทาใดบ้างที่เป็นเหตุให้บุคคลมีอายุสั้น หรือตายเร็ว?
พุทธดำรัสตอบ “ดูก่อนฯ ธรรม (เหล่า) นี้เป็นเหตุให้อายุสั้น... คือ บุคคลไม่เป็นผู้ทำความสบายแก่ตนเอง ๑ ไม่รู้จักประมาณในสิ่งที่สบาย ๑ บริโภคสิ่งที่ย่อยยาก ๑ เป็นผู้เที่ยวไปในกาลไม่สมควร ๑ ไม่ประพฤติเพียงดังพรหม ๑... เป็นคนทุศีล ๑ มีมิตรเลวทราม ๑”  จบ

เหตุให้คนใจดี-ใจร้าย  ปรากฏข้อความในจัณฑสูตร ปัญหา อะไรเป็นเหตุให้คนบางคนดุ ใจร้าย อะไรเป็นเหตุให้คนบางคนเป็นคนใจดี ?
พุทธดำรัสตอบ “ดูก่อนนายคามณี คนบางคนในโลกนี้ยังละราคะไม่ได้ ยังละโทสะไม่ได้ ยังละโมหะไม่ได้ เพราะเป็นผู้ยังละราคา โทสะ โมหะ ไม่ได้ คนอื่นจึงทำให้โกรธได้ เมื่อถูกคนอื่นยั่วให้โกรธอยู่จึงแสดงความโกรธให้ปรากฏ ผู้นั้นจึงนับได้ว่าเป็นคนดุ
“ดูก่อนนายคามณี ส่วนคนบางคนในโลกนี้ละราคะได้แล้ว ละโทสะ ได้ ละโมหะได้ เพราะละราคา โทสะ โมหะ ได้ คนอื่นจึงทำให้โกรธไม่ได้ คนที่ละราคา โทสะ โมหะ ได้แล้ว ถูกคนอื่นยั่วให้โกรธก็ไม่แสดงความโกรธให้ปรากฏ”  จบ

เมื่อถูกด่าควรทำอย่างไร  ปรากฏข้อความในอักโกสกสูตร  ปัญหา เมื่อเราถูกโกรธก็ดี ถูกด่าก็ดี เราควรทำอย่างไร ควรจะโกรธตอบ ด่าตอบ หรือควรจะเฉยเสีย?
พุทธดำรัสตอบ “ ดูก่อนพราหมณ์..... ท่านด่าเราผู้ไม่ด่าอยู่ ท่านโกรธเราผู้ไม่โกรธอยู่ ท่านหมายมั่นเราผู้ไม่หมายมั่นอยู่ เราไม่รับรู้เรื่องมีการด่าเป็นต้นของท่านนั้น ดูก่อนพราหมณ์ เรื่องมีการด่าของท่านผู้เดียว ดูก่อนพราหมณ์.... ผู้ใดด่าตอบบุคคลผู้ด่าอยู่ โกรธตอบบุคคลผู้โกรธอยู่ หมายมั่นตอบบุคคลผู้หมายมั่นอยู่.... ผู้นี้ เรากล่าวว่า ย่อมบริโภคร่วมกัน ย่อมกระทำตอบกัน เรานั้นไม่บริโภคร่วม ไม่กระทำตอบด้วยท่านเป็นอันขาด ดูก่อนพราหมณ์ เรื่องมีการด่าเป็นต้นนั้น เป็นของท่านผู้เดียว”  จบ

สำหรับพระสูตรนี้จะต้องเอาใจใส่เป็นพิเศษ เพราะว่าจะพบเจอบ่อยที่สุดซึ่งตัวเราจะต้องอยู่ในสังคมจะต้องถูกกระทบทั่งด้วยวาจาจากบุคคลที่เกี่ยวข้อง  สรุปเนื้อความพระสูตรนี้คือเมื่อวันถูกด่า เราไปด่าตอบตัวเราก็เป็นเหมือนเขา  ฉะนั้นเราจะต้องเฉยหรือเดินหลีกหนีไป  ให้คนที่ด่าเจ็บปวดใจคนเดียว

ความทุกข์ของผู้เป็นหนี้เขา  ปรากฏข้อความในอิณสูตร  ปัญหา ความทุกข์ของฆราวาสผู้อยู่ครองเรือนมีอะไรบ้าง?
พุทธดำรัสตอบ “.....ดูก่อนฯ คนจนเข็ญใจยากไร้ ย่อมกู้ยืมแม้การกู้ยืมก็เป็นทุกข์ของบุคคลผู้บริโภคกามในโลก.... กู้ยืมแล้ว ย่อมรับใช้ดอกเบี้ย แม้การรับใช้ดอกเบี้ยก็เป็นทุกข์.... รับใช้ดอกเบี้ยแล้วไม่ใช้ดอกเบี้ยตามกำหนดเวลา เจ้าหนี้ทั้งหลายย่อมทวงเขา แม้การทวงก็เป็นทุกข์.... (เมื่อ) ถูกเจ้าหนี้ทวงไม่ได้ เจ้าหนี้ทั้งหลายย่อมติดตามเขา มีการติดตามก็เป็นทุกข์.... (เมื่อ) ถูกจ้าหนี้ติดตามทันไม่ให้ทรัพย์ เจ้าหนี้ทั้งหลายย่อมจองจำเขา แม้การจองจำก็เป็นทุกข์ฯ”  จบ

ความไม่ประมาทและวิธีเจริญ
ปรากฏข้อความใน  ปติฏฐิตสูตร ปัญหา ความไม่ประมาทคืออะไร? และจะเจริญได้อย่างไร?
พุทธดำรัสตอบ “ ดูก่อนฯ ความไม่ประมาทคืออย่างไร..ในธรรมวินัยนี้ ย่อมรักษาจิตในท่ามกลางอาสวะและธรรมที่มีอาวะทั้งหลายเมื่อเธอรักษาจิตไว้ได้ในท่ามกลางอาสวะและธรรมที่มีอาสวะทั้งหลาย สัทธินทรีย์(ความมีใจเชื่อ, ความเลื่อมใส) วิริยินทรีย์(ความเพียร) สตินทรีย์(ความระลึกได้) สมาธินทรีย์(ความตั้งมั่น) และแม้ปัญญินทรีย์(ความเข้าใจ) ก็ย่อมถึงความเจริญบริบูรณ์
“ ดูก่อนฯ อินทรีย์ ๕ ...ตั้งอยู่ในธรรมอันแรก คือ ความไม่ประมาท เจริญแล้ว เจริญด้วยดีแล้วด้วยประการฉะนี้แล ฯ”

หากไปนิพพานไม่ได้  การปฏิบัติธรรมเพื่อให้หลุดพ้นเป็นพระอรหันต์ละสังโยชน์ ๑๐  ถึงนิพพานนั้นไปใช่เรื่องง่ายเปลี่ยนเป็นลดลงในระดับทุกข์ไม่มากเพียงเห็นอริยสัจทุกข์เหลือน้อยตามพระสูตรสิเนรุสูตรก็ดีแล้ว 

ช่วง...ทำให้รอด COVID - 19

การดำเนินชีวิตเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันป้องกันโรค  พอจะสรุปได้ดังนี้

ในแต่ละวันวงจรการใช้ชีวิตเราตั้งแต่ตื่นขึ้นมาเช้าทำภารกิจส่วนตัวรับประทานอาหารเช้าไปทำงานรับประทานอาหารเที่ยงไปทำงานกลับบ้านมีเวลาออกกำลังกายบ้างหรือทำงานเล็กๆน้อยๆอาบน้ำทำภารกิจส่วนตัวรับประทานอาหารเย็นพักผ่อนแล้วก่อนเข้านอนปฏิบัติธรรมนั่งสมาธิ  รายละเอียด

เริ่มตอนเช้าอาหารเช้าจะเป็นอาหารมื้อที่สำคัญเพราะร่างกายต้องนำพลังงานไปใช้ทั้งวัน  การรับประทานไม่ว่าจะซื้อสำเร็จหรือซื้อวัตถุดิบมาปรุงให้เน้นผักถ้าเป็นไปได้ให้หลีกเลี่ยงอาหารที่ใช้น้ำมันและเนื้อสัตว์

ช่วงสายเป็นช่วงทำงานทำจิตใจให้สบายจนถึงเที่ยงอาหารเที่ยงก็เช่นกันเน้นอาหารที่เป็นผักผลไม้  จากนั้นก็เป็นช่วงบ่ายเลิกงานหากเป็นไปได้ให้ออกกำลังกายจะหนักหรือเบาหรือทำงานเล็กๆน้อยก็ได้เพื่อให้ร่างกายเคลื่อนไหวมีการความอบอุ่นเกิดขึ้น หลังจากนั้นก็รับประทานอาหารเย็นหรือจะดื่มนม  อาหารที่เบาๆ เนื่องจากในตอนเย็นนั้นร่างกายจะไม่ใช้พลังงานมากหากกินอาหารมากก็จะทำให้พลังงานสะสม แปลงเป็นไขมันทำให้อ้วนรวมทั้งมีผลในการปฏิบัติธรรมเจริญภาวนาหรือทำสมาธิ  คือเกิดความเกียจคร้าน  หลังจากนั้นปลีกตัวออกจากคนในครอบครัวหาห้องที่สงบหรือมุมบ้านจะนอกบ้านหรือในบ้านก็ได้

ภูมิต้านทานธรรมชาติของร่างกาย NK Cell มาจากผักสมุนไพรคือเซลล์และค่าตามธรรมชาติหรือเรียกว่า Major Killer Cell เป็นเซลล์เม็ดเลือดขาวที่มีอยู่ในร่างกายประมาณ ๕ – ๑0 เปอร์เซ็นต์มีประสิทธิภาพในการฆ่าเชื้อโรคเชื้อไวรัสได้ดีกว่าเซลล์เม็ดเลือดทั่วไป NK Cell ได้จากอาหารกลุ่มอาหารวิตามินพืชผักสมุนไพรเห็ดและกลุ่มที่ไม่ใช่สารอาหารให้แก่จุลินทรีย์  เช่น นมเปรี้ยว, ข้าวหมาก, กิมจิ

การทำงานของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายเมื่อมีสิ่งแปลกปลอม  เช่น เชื้อโรคต่างๆ เข้าสู่ร่างกายทางจมูกจะมีอาการไอแต่หากเข้าไปในร่างกายได้เม็ดเลือดขาวทั่วไปและ NK Cell  (Natural Killer Cell)  มีหน้าที่สำคัญในการทำลายเซลล์ที่ติดเชื้อไวรัสและเซลล์มะเร็ง โดยไม่ต้องผ่านกระบวนการกระตุ้นและการเรียนรู้ต่อเซลล์ที่ผิดปกตินั้น

กลไกป้องกันเชื้อโรคมีทั้งหมด ๔  ข้อ 

๑  ปราการด่านนอก  เช่น ขนจมูก ลำคอมีเสมหะ เป็นต้น เมื่อสิ่งแปลกปลอมเข้าสู่ร่างกาย จะมีอาการไอ จาม

๒  กลไกการอักเสบ  จะมีการเพิ่มอุณภูมิ  อุณภูมิเพิ่มขึ้นจากปกติ

๓  ปราการระดับเซลล์  เม็ดเลือดขาวจะทำงานกำจัดเชื้อโรค

๔  ระบบช่วยฆ่า  ตับผลิตโปรตีนขึ้นมาอยู่ในกระแสเลือด  สิ่งที่ช่วยให้ระบบการป้องกันคือภูมิคุ้มกันป้องกันโรคได้ดีมีดังนี้ 

(๑) สมองทางวิทยาศาสตร์ตะวันตกเชื่อว่าเป็นสมองแต่ทางตะวันออกเช่นประเทศไทยเชื่อว่าจิต  จะสร้างโมเลกุลไปยังเซลล์เม็ดเลือดขาวหากความคิดลบหรือจิตเศร้าหมองทำให้ไปกดเม็ดเลือดขาวไม่ให้ทำงาน   แต่ถ้าจิตใจเบิกบานคิดบวกจะส่งให้เม็ดเลือดขาวทำงาน

 

ทำความดีละเว้นความชั่วทำจิตใจให้บริสุทธิ์
ให้ทาน

ถือศีล หรือ อกุศลกรรม  ๑0

 

ปฏิบัติสมาธิภาวนา  หรือ วิปัสสนา

ผลการปฏิบัติธรรม จะเกิดปฏิเวธคือจิตที่บริสุทธิ์ความคิดเป็นบวก ไม่เกิดความเครียดหรือหากเกิดก็จะน้อยเปรียบเหมือนเป็นวัคซีนทางใจ ร่างกายจะสนองตอบต่อภาวะคุกคามข้างนอกได้ดี ความเครียดเรื้อรังที่มาจากข้างนอก เช่น รถติด เงินไม่พอใช้ คนในครอบครัวหรือในที่ทำงานทะเลาะกัน วิตกกังวลจะติดโควิด  เป็นต้น ผลของความเครียดทำให้ร่างกายเกิดโรค  การรักษาจะต้องทำด้วยตนเอง

วิธีอุทิศส่วนกุศล  ตั้งนะโม ๓ จบ  "นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ" “ขออุทิศบุญกุศลของข้าพเจ้าที่ปฏิบัติ  ทาน ศีล สมาธิภาวนา วิปัสสนา ให้กับพรหม เทวดา ญาติ ครอบครัว เจ้ากรรม  นายเวร  ของข้าพเจ้า ขอให้ท่านทั้งหลายมีความสุขหากมีสุขขอให้ท่านสุขๆยิ่งขึ้นไป  หากมีทุกข์ขอให้ท่านทั้งหลายหมดทุกข์ ให้ท่านทั้งหลายช่วยปกปักรักษาคุ้มครองอย่าให้ข้าพเจ้ามีภัยต่างๆ ได้แก่ ภัยจากมนุษย์ ภัยจากสัตว์ ภัยจากเชื้อโรค”

(๒)  การออกกำลังกายจะหนักหรือเบาหรือการทำงานจะช่วยให้ร่างกายเคลื่อนไหวเกิดความร้อนเป็นผลดี

(๓) การนอนหลับ

(๔)  ฮอร์โมน

(๕)  วิตามินดีได้จากแสงแดด ควรตากแดดบ้าง

(๖) อาหารที่เป็นโทษต่อร่างกายไม่ควรกินเพราะจะไปทำลายภูมิคุ้มกันโดยเฉพาะอาหารที่ได้จากเนื้อสัตว์  และน้ำมัน  ส่วนอาหารที่สร้างภูมิคุ้มกันได้แก่วิตามินอีมีในถั่วพืชผักผลไม้,วิตามินซีได้จากพืชผักผลไม้รสเปรี้ยว เช่นส้ม มะขามป้อม,สังกะสีมีในเมล็ดพืช เป็นต้น

 

ปากท้อง  ป้องกันโรค

อาหารควรรับประทานให้ครบ  ๕  หมู่ และอาหารเสริม 

รักษา     กลุ่มที่ควรกินสมุนไพรรักษาโควิด ดังนี้

๑.ผู้ที่ไปสัมผัสใกล้ชิดผู้ติดเชื้อมาแม้ว่ายังไม่มีอาการอะไร

๒.ผู้ที่มีอาการเป็นหวัดหรือเป็นไข้แบบทั่วๆไปแม้จะไม่ได้สัมผัสผู้ติดเชื้อโควิดมา

๓.ผู้ที่ได้รับการตรวจพิสูจน์แล้วว่าติดเชื้อโรคโควิดไม่ว่าระดับเบาหรือหนัก

พืช ผัก สมุนไพร  ที่มีสารหรือฤทธิ์กำจัดเชื้อโควิด  เรียงจากมากไปหาน้อย

ฟ้าทะลายโจร    เป็นสมุนไพร แคปซูล ให้ใช้ตามข้อ (๑),(๒),(๓) กินติดต่อ ๕  วัน แล้วหยุด

กระชายขาว      เป็นอาหารใช้ป้องกัน และใช้รักษาทำเป็นน้ำสมุนไพรดื่มเมื่อติดโควิดช่วงเริ่มต้น

ขมิ้น              เป็นอาหารใช้ป้องกัน 

ขิง                เป็นอาหารใช้ป้องกัน  และใช้รักษาทำเป็นน้ำสมุนไพรดื่มเมื่อติดโควิดช่วงเริ่มต้น

มะขามป้อม      เป็นสมุนไพร  ใช้อมหรือกิน

กระเทียม         เป็นอาหารใช้ป้องกัน  หรือใช้รักษาเป็นสมุนไพรแบบแคปซูลกินเมื่อติดโควิดช่วงเริ่มต้น

การใช้สมุนไพรเมื่อมีอาการเริ่มเป็นจะช่วยให้การป่วยไม่มีอาการหนักมากหรืออาจจะหายโดยไม่ต้องนอนโรงพยาบาล  เมื่อแพทย์ให้ยาวิทยาศาสตร์ รักษาแผนปัจจุบัน  ให้หยุดใช้ยาสมุนไพร

ปัจจุบัน  อนาคต

ฆราวาสกับการการดำเนินชีวิตด้วยชอบ

ช่วงชีวิต

อายุ

(ปี)

รายละเอียดการดำเนินชีวิตกรอบความประพฤติและจริยธรรม

วัยเรียน 

ช่วงศึกษา

หาความรู้

๗-๑๕วัยเรียนเป็นช่วงชีวิตแห่งการศึกษา เพื่อรับความรู้ แนวคิด ปรัชญา สัจธรรม และตรรกะ, ปฏิบัติตนตามครรลอง,   เรียนรู้ที่จะมีชีวิตด้วยธรรมกิจกรรมดำเนินชีวิตแต่ละวัน   อ่านหนังสือ ฟังธรรมทางสื่อต่างๆ ทำสวน   ปลูกต้นไม้ ออกกำลังกาย   พบปะผู้คน เพื่อน  พักผ่อนท่องเที่ยวบางโอกาส   

ให้ทาน/ถือศีล หรือ

อกุศลกรรม ๑0

ปฏิบัติสมาธิภาวนาและเจริญวิปัสสนา

คฤหัสถ์

หรือ

ฆราวาส
(ผู้ครองเรือน)

๒๕–๖๐หมายถึงช่วงชีวิตซึ่งได้สมรส, ดูแลเรือน, สร้างครอบครัว, เลี้ยงดูให้การศึกษาแก่ลูก มีชีวิตทางสังคมและทางธรรมโดยมีครอบครัวเป็นหลักกลางของชีวิต ในทางสังคมวิทยา ระยะนี้เป็นช่วงที่สำคัญที่สุดเพราะเป็นช่วงแห่งการสร้างอาหารและความมั่งคั่ง ที่จะช่วยจุนเจือผู้ที่อยู่ในระยะอื่น ๆ   กิจกรรมดำเนินชีวิตแต่ละวัน   อ่านหนังสือ ฟังธรรมทางสื่อต่างๆ ทำสวน   ปลูกต้นไม้  เดินออกกำลังกาย  พบปะผู้คนญาติ  บุตร หลาน   พักผ่อนท่องเที่ยวบางโอกาส  

ให้ทาน/ถือศีล หรือ

อกุศลกรรม ๑0

ปฏิบัติสมาธิภาวนาและเจริญวิปัสสนา

วัยเกษียณ๖๑–๗๒ช่วงชีวิตหลังเกษียณ ส่งต่อภาระทางเรือนให้แก่ผู้คนในรุ่นถัดไป ละค่อย ๆ ถอนตัวออกจากชีวิตทางโลก  (การหลุดพ้น)กิจกรรมดำเนินชีวิตแต่ละวัน  อ่านหนังสือ ฟังธรรมทางสื่อต่างๆ ทำสวน  ปลูกต้นไม้   เดินออกกำลังกาย   พบปะผู้คนญาติ  บุตร หลาน  พักผ่อนท่องเที่ยวบางโอกาส  

ให้ทาน/ถือศีล หรือ

อกุศลกรรม ๑0

ปฏิบัติสมาธิภาวนาและเจริญวิปัสสนา

วัยละทิ้ง

ทางโลก

๗๒+
(หรือเมื่อใดก็ได้)

เป็นช่วงชีวิตแห่งการละทิ้งความปรารถนาทางวัตถุและทางโลก

กิจกรรมดำเนินชีวิตแต่ละวัน  อ่านหนังสือ ฟังธรรมทางสื่อต่างๆ ทำสวน  ปลูกต้นไม้   เดินออกกำลังกาย  พบปะผู้คนญาติ  บุตร หลาน   พักผ่อนท่องเที่ยวบางโอกาส  

ให้ทาน/ถือศีล หรือ

อกุศลกรรม ๑0

ปฏิบัติสมาธิภาวนาและเจริญวิปัสสนา

หากดำเนินชีวิตตามนี้  อนาคตจะพ้นทุกข์หรือทุกข์เหลือน้อย

ความเสื่อมทางจริยธรรมในสังคมไทยสาเหตุ พอสรุปได้  ๓  ประการ

๑. ถูกครอบงำจากวัตถุนิยมและอำนาจนิยม เนื่องจากการขยายตัวของทุนนิยมตามที่ไหลเข้าสู่สังคมไทยอย่างไม่จำกัด ทำให้เงินเข้ามามีบทบาทในชีวิตคน และความร่ำรวยกลายเป็นเป้าหมายของชีวิต แม้แต่การวัดคุณค่าความรักความสัมพันธ์ระหว่างกันยังต้องอาศัยเงินและวัตถุ ดังนั้นทุกคนจิตใจจึงมุ่งหาแต่เงินโดยไม่คำนึงถึง

จริธรรมกระทำทุจริตทั้งทางกาย วาจา ใจ

๒. ความล้มเหลวของสถาบันทางศีลธรรม เมื่อเงินเข้ามามีบทบาทมากขึ้นทำให้สถาบันทางสังคม ได้แก่ ครอบครัว ชุมชน วัดและโรงเรียน ซึ่งเคยมีบทบาทในการกล่อมเกลาสำนึกทางศีลธรรมแก่ผู้คนอ่อนแอลงและไม่สามารถทำหน้าที่ได้อย่างเข้มแข็งอีกต่อไป ดังจะเห็นจากสถิติของการหย่าร้าง การแตกแยกของครอบครัวเพิ่มสูงขึ้น ทำให้เกิดความห่างเหิน พ่อแม่ไม่สามารถเป็นแบบอย่างในการให้การศึกษาแก่ลูก ขณะที่โรงเรียนและสื่อมวลชนที่เข้ามามีบทบาทแทนก็ไม่มีความเข้มแข็งทางศีลธรรม แม้แต่ชุมชนที่เคยมีบทบาทในการควบคุมและเสริมสร้างจริยธรรมของสมาชิกก็มีบทบาทลดลงเพราะวิถีชีวิตที่ต้องอยู่แบบตัวใครตัวมันมากขึ้นต่างหันไปพึ่งพาหน่วยงานรัฐมากขึ้นแทนการพึ่งพากันเอง ทำให้ขาดพลังทางสังคม ส่วนวัดซึ่งเป็นอีกหนึ่งสถาบันที่ถูกอิทธิพลของเงินทำให้อ่อนแอและย่อหย่อนในวัตรปฏิบัติไม่สามารถเป็นแบบอย่างทางศีลธรรม แต่กลายเป็นตลาดค้าบุญ หรือไสยพาณิชย์

๓. การเมืองที่ไม่โปร่งใส กลายเป็นระบบการเมืองที่เปิดช่องโหว่ให้เกิดปัญหาจริยธรรมเช่น เปิดโอกาสให้มีการคอรัปชั่น เปิดโอกาสให้ผู้มีอิทธิพลใช้เงินสร้างฐานอำนาจจนสามารถเข้ามาเป็นรัฐบาลได้ แล้วใช้อำนาจแสวงหาประโยชน์ส่วนตัว ผลประโยชน์พวกพ้องดังที่มีให้เห็นเกี่ยวกับการตัดไม้ทำลายป่า การให้สัมปทานแก่พวกพ้อง การอนุมัติโครงการใหญ่ๆที่ให้ผลประโยชน์ตอบแทนหรือค่าคอมมิชชั่น ไปจนกระทั่งการลอบสังหารคนที่ขัดผลประโยชน์ของตน ยิ่งถ้าฝ่ายบริหารมีอำนาจมากและสามารถผูกขาดอำนาจได้ ก็ทำให้การตรวจสอบถ่วงดุลจากฝ่ายค้านทำได้ยาก ทำการทุจิตในเชิงนโยบาย จึงเกิดความลำพองไม่กลัวที่จะทำผิดจนกลายเป็นค่านิยมที่เลียนแบบกันในสังคม

๔. ระเบียบสังคมที่ให้รางวัล ส่งเสริมหรือบีบคั้นให้คนเห็นแก่ตัว อันเกิดจากสังคมไม่เคร่งครัดในการบังคับใช้กฎระเบียบจึงเกิดพฤติกรรมที่คนทำผิดไม่ถูกลงโทษ แต่กลับได้รับผลดีเช่น ระบบยุติธรรมที่ไม่โปร่งใสและอยู่ใต้อำนาจเงิน ทำให้คนมีเงินสามารถเอาเงินอุดได้ จึงไม่สนใจที่จะทำตามกฎหมาย หรือคนที่แซงคิวสามารถได้ตั๋วรถหรือตั๋วหนังก่อนใคร ๆ หรือคนที่ทุจริตซื้อตำแหน่งสามารถเลื่อนชั้นก่อนใคร ๆ หรือคนที่ขายยาบ้าค้าผู้หญิง นอกจากจะไม่ถูกจับเพราะมีเส้นสายหรือให้สินบนเจ้าหน้าที่แล้ว ยังร่ำรวยขึ้นอย่างรวดเร็ว ระบบเหล่านี้จึงมีแต่ทำให้คนเห็นแก่ตัวและเอาเปรียบกันมากขึ้น

วาระสุดท้ายของโลก  ปรากฏข้อความใน  สุริยสูตร  ปัญหา นักวิทยาศาสตร์คำนวณว่า โลกของเราจะมีอายุประมาณ ๕,๐๐๐ ล้านปีแล้วก็จะแตกดับ ทางพระพุทธศาสนาแสดงเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้อย่างไรบ้าง ?
พุทธดำรัสตอบ “.....ดูก่อนฯ สังขารทั้งหลายไม่เที่ยง ไม่ยั่งยืน ไม่น่าชื่นชม.... ควรเบื่อหน่าย.... ควรคลายกำหนัด.... ควรหลุดพ้น
“ขุนเขาสิเนรุโดยยาว ๘๔,๐๐๐ โยชน์ โดยกว้าง ๘๔,๐๐๐ โยชน์ หยั่งลงในมหาสมุทร ๘๔,๐๐๐ โยชน์ สูงจากมหาสมุทรขึ้นไป ๘๔,๐๐๐ โยชน์ มีกาลบางคราวที่ฝนไม่ตกหลายปี หลายร้อยปี หลายพันปี หลายแสนปี เมื่อฝนไม่ตก พืชคาม ภูตคามและติณชาติป่าไม้ใหญ่ย่อมเฉา เหี่ยวแห้ง เป็นอยู่ไม่ได้
“.....โดยล่วงไปแห่งกาลนาน พระอาทิตย์ดวงที่สองปรากฏ...แม่น้ำลำคลองทั้งหมดย่อมงวดแห้ง.... ไม่มีน้ำ
“.....โดยล่วงไปแห่งกาลนาน พระอาทิตย์ดวงที่ ๓ ปรากฏ...แม่น้ำสายใหญ่ ๆ คือ คงคา ยมุนา อจิรวดี 

สรพู มหี ทั้งหมดย่อมงวดแห้ง.... ไม่มีน้ำ
“.....โดยล่วงไปแห่งกาลนาน พระอาทิตย์ดวงที่ ๔ ปรากฏ...แม่น้ำสายใหญ่ ๆ ที่ไหลมารวมกันเป็นแม่น้ำใหญ่ คือ คงคา ยมุนา อจิรวดี สรพู มหี ทั้งหมดย่อมงวดแห้ง.... ไม่มีน้ำ
“.....โดยล่วงไปแห่งกาลนาน พระอาทิตย์ดวงที่ ๕ ปรากฏ...น้ำในมหาสมุทรลึก ๑๐๐ โยชน์ก็ดี.... ๗๐๐ โยชน์ก็ดี ย่อมงวดลงเหลืออยู่เพียง ๗ ชั่วต้นตาลก็มี ๖ ชั่วต้นตาลก็มี.... ชั่วต้นตาลเดียวก็มี แล้วยังจะเหลืออยู่ ๗ ชั่วคน ๖ ชั่วคน.... เพียงเขา... เพียงรอยเท้าโค 
“.....โดยล่วงไปแห่งกาลนาน พระอาทิตย์ดวงที่ ๖ ปรากฏ...แผ่นดินใหญ่นี้และเขาสินเนรุ ย่อมมีกลุ่มควันพลุ่งขึ้น เปรียบเหมือนนายช่างหม้อเผาหม้อที่ปั้นดีแล้ว ย่อมมีกลุ่มควันพลุ่งขึ้น ฉะนั้น 
“.....โดยล่วงไปแห่งกาลนาน พระอาทิตย์ดวงที่ ๗ ปรากฏ...แผ่นดินใหญ่นี้และเขาสินเนรุ ไฟจะติดทั่วลุกโชติช่วง มีแสงเพลิงเป็นอันเดียวกัน.เมื่อแผ่นดินใหญ่และเขาสิเนรุ ถูกไฟเผาผลาญอยู่ ย่อมไม่ปรากฏขี้เถ้าและเขม่า
“ดูก่อนฯ สังขารทั้งหลาย.... เป็นสภาพไม่เที่ยง ไม่ยั่งยืน ไม่น่าชื่นชม ควรจะเบื่อหน่าย.... ควรคลายกำหนัด.... ควรหลุดพ้นในสังขารทั้งปวง”

จบตอน  ธรรมทำให้รอด COVID – ๑๙

ศาสตร์สาขาต่าง ๆ มีประโยชน์ต่อชีวิต ใช้ศาสตร์นั้นค้นหาความจริง เลือกเอาความรู้สิ่งที่มีประโยชน์มาใช้สร้างความดี  ความงาม นำมาประยุกต์ใช้ดำเนินชีวิต เพราะทุกสิ่งทุกอย่างเป็นเรื่อง”ชีวิตของตัวเราเอง”   โลกไม่ได้ไปไหน จิตไป ๓๑ ภพ

ชีวิตต้องเดินต่อไป  เราอยู่ในโลกนี้  ธรรม ๘ อย่าง ที่ควรกำหนดรู้เข้าใจ  อยู่ในโลกนี้ให้ได้ คือ

โลกธรรม ๘ หมายถึง ธรรมดาของโลก เรื่องของโลก ธรรมชาติของโลกที่ครอบงำสัตว์โลกและสัตว์โลกต้องเป็นไปตามธรรมดานี้ ๘ ประการอันประกอบด้วย

โลกธรรมฝ่ายอิฏฐารมณ์ คือ พอใจของมนุษย์ เป็นที่รักเป็นที่ปรารถนา

ลาภ หมายความว่า ได้ผลประโยชน์ ได้มาซึ่งทรัพย์

ยศ หมายความว่า ได้รับฐานันดรสูงขึ้น ได้อำนาจเป็นใหญ่เป็นโต

สรรเสริญ คือ ได้ยิน ได้ฟัง คำสรรเสริญคำชมเชย คำยกย่อง เป็นที่น่าพอใจ

สุข คือ ได้ความสบายกาย สบายใจ ความเบิกบาน บันเทิงใจเริงใจ

โลกธรรมฝ่ายอนิฏฐารมณ์ คือ ความไม่พอใจของมนุษย์ ไม่เป็นที่ปรารถนา

เสื่อมลาภ หมายความว่า เสียลาภไป ไม่อาจดำรงอยู่ได้

เสื่อมยศ หมายถึง ถูกลดอำนาจความเป็นใหญ่

นินทาว่าร้าย หมายถึง ถูกตำหนิติเตียนว่าไม่ดี ถูกติฉินนินทา หรือถูกกล่าวร้ายให้เสียหาย

ทุกข์ คือ ได้รับความทุกขเวทนา ทรมานกาย ทรมานใจ

สรุปย่อ  อริยสัจ

ความรู้ในโลกนี้มีมากมาย พระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ นำความรู้ 1 กำมือ มาเผยแผ่พระศาสนาให้มนุษย์โลกรู้

 

 

เปิดใจ(ผู้เขียน)ท้ายเล่ม

คนอาจเคยสงสัยถามตนเองว่าเกิดมาทำไม  เกิดมาหาอะไร ซึ่งผู้คนส่วนมากจะไม่รู้ปฏิจจสมุปบาทแปลว่าสิ่งที่เกิดเกี่ยวเนื่องกัน  จึงเป็นเหตุให้เรามาอยู่ในโลกใบนี้  โดยที่ชีวิตนี้จะต้องดำเนินต่อไป  ไปไปไปและไปข้างหน้าไม่รู้จุดหมายปลายทางชีวิตอย่างไร ดิ้นรน ต่อสู้  เหน็ดเหนื่อย อ่อนหล้าทั้งกายและใจ คนทั้งหลายจะหาความมั่นคงคือมั่นคงทางการเงิน มีทรัพย์สมบัติเพื่อจะมีครอบครัวที่สมบูรณ์
ผู้เขียนและเรียบเรียงชอบศึกษาพุทธศาสนาเหตุผลเพราะไม่บังคับและไม่ให้เชื่อ ซึ่งประสบการณ์ของชีวิตได้จับพลัดจับผลูมาศึกษาธรรมะด้วยความบังเอิญและได้ปฏิบัติธรรมะ(ด้วยภาพบังคับเพราะหาวิธีอื่นแก้ปัญหางานและปัญหาชีวิตไม่ได้)และได้รับผลจากการปฏิบัติธรรมะ(ทำเองรู้เอง) จึงได้ข้อมูลที่พอจะเผยแผ่ให้ผู้ที่สนใจได้รับทราบเพื่อประกอบการดำเนินชีวิตให้ถูกต้องได้ ท่านผู้อ่านคงจะได้ยินคำว่าทางสายกลาง ผู้เขียนและเรียบเรียงเองก็ได้ยินคำนี้ตั้งแต่เด็กแต่สิ่งไหนที่ว่าสายกลางยังสงสัยจนตนเองได้ค้นคว้าศึกษาโดยเฉพาะพระไตรปิฎกและฝึกปฏิบัติทำให้เกิดผลพอจะทราบความหมายทางสายกลางที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสไว้

การเขียนหรือเรียบเรียงขึ้นมาเป็นตัวหนังสือ  หากไม่ถูกต้อง ไม่มั่นใจ ก็เหมือนเอายาพิษให้กับผู้อ่าน บางครั้งผู้เขียนและเรียบเรียงเข้าวัดเพื่อหาคำตอบในสิ่งที่ตนสงสัยก็ไม่ได้คำตอบตามที่เราต้องการ คงจะไม่หมายถึงกล่าวหาพระหรือผู้ใดทั้งสิ้น เพียงแต่บอกเล่าถึงตนเองที่ประสบมา ซึ่งการเขียนหนังสือนั้นจะใช้ตัวหนังสือทำร้ายคนอื่นนั้นไม่ใช่ผู้เขียนที่ดี พระไตรปิฎกเป็นขุมทรัพย์ที่มีค่ามหาศาล ถ้าหากอ่านแต่ไม่ปฏิบัติตามก็ไม่มีประโยชน์อะไร ชีวิตจะก้าวไปข้างหน้าจำเป็นหรือไม่จะต้องดู(ศึกษา)ปัจจุบัน อดีต ด้วยหรือไม่  ซึ่งคัมภีร์พระไตรปิฎกได้รวบรวมมาหลายพันปีถือว่าเป็นตำราในอดีตแต่เมื่อศึกษาค้นคว้าแล้วธรรมะในคัมภีร์พระไตรปิฎกไม่ได้ล้าสมัยเลย  เป็นธรรมที่ไม่อยู่ในกาลเวลาจริงๆ ในอนาคตจะเป็นเวลาล้านๆปี  ธรรมะก็คงเป็นอยู่อย่างนี้  ฉะนั้นจะเป็นการวางเฉย  ละเลย ไม่สนใจ ศึกษาและปฏิบัติ เพื่อนำมาใช้ดำเนินชีวิต จะไม่เป็นการประมาทเกินไปหรือไม่ ซึ่งสภาพในโลกปัจจุบันที่มีการปกครอง(การปกครอง แปลว่า การดูแล,คุ้มครอง,ระวัง,บริหาร)และการเมือง(การเมือง แปลว่า งานที่เกี่ยวกับรัฐหรือแผ่นดิน) ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันคงไม่แตกต่างตามคำทำนายที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสไว้เมื่อสองพันกว่าปี  พระศาสดาทรงทำนาย”เมื่อโลกถึงจุดเสื่อม”  พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๗  พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๙  ขุททกนิกาย ชาดก ภาค ๑  อรรถกถา เอกกนิบาตชาดก วรุณวรรค  มหาสุบินชาดก ว่าด้วยมหาสุบิน

วัตถุประสงค์ของหนังสือเล่มนี้มีจุดประสงค์จะบอกกล่าวเพื่อให้ผู้อ่านทั่วไปและผู้ที่เคยช่วยเหลืออุ้มชู  ไม่ว่าจะเป็นพระสงฆ์  พ่อแม่ ครูอาจารย์  ผู้บังคับบัญชา  ผู้ใต้บังคับบัญชา  ลูกและสามีภรรยา  รวมทั้งผู้มีบุญคุณทั้งหลาย  จะได้พึงรู้ไว้ว่าไม่ทิ้งใคร การจะเปลี่ยนผู้อ่านได้นั้นท่านจะต้องปฏิบัติด้วยตัวของท่านเองส่วนผลของการปฏิบัติคือปฏิเวธจะเกิดผลปุบปรับโดยทันที่นั้นคงจะเป็นไปไม่ได้ จะต้องรอผลอาศัยระยะเวลาและจะต้องปฏิบัติต่อเนื่องโดยใช้ความอดทนและอิทธิบาทสี่เป็นพื้นฐาน  เพื่อทุกท่านจะได้เอาชีวิตรอดในโลกใบนี้ให้ได้ดังข้อความบัญญัติไว้ในวานรชาดกผู้รู้เท่าถึงเหตุการณ์เอาตัวรอดได้ ข้อความดังนี้ “ดูกรจระเข้ เราสามารถยกตนขึ้นจากน้ำสู่บกได้แล้ว บัดนี้ เราจะไม่ตกอยู่ในอำนาจของท่านอีกต่อไป.เราไม่ต้องการด้วยผลมะม่วง ผลหว้า และผลขนุนทั้งหลาย เราจะต้องข้ามฝั่งแม่น้ำไปบริโภคผลมะเดื่อของเราดีกว่าผู้ใด ไม่รู้เท่าถึงเหตุการณ์ อันบังเกิดขึ้นแล้วโดยฉับพลัน ผู้นั้น จะต้องตกอยู่ในอำนาจของศัตรู และต้องเดือดร้อนใจในภายหลัง  ส่วนผู้ใดรู้เท่าถึงเหตุการณ์  ที่บังเกิดขึ้นโดยฉับพลัน ผู้นั้นย่อมพ้นจากความคับขันอันเกิดแต่ศัตรู และไม่ต้องเดือดร้อนใจในภายหลัง.” ความหมายคือจระเข้คือกิเลสที่อยู่ในแม่น้ำรอกัดกินเมื่อตัวเราตกลงในแม่น้ำเปรียบเทียบกับตกเป็นทาสกิเลส ความสุขเล็กๆน้อยๆ เมื่อเราเรียนรู้วิธีและปฏิบัติเพื่อความสุข(ที่แท้จริง)คือผลมะเดื่อ เมื่อรู้เท่าถึงเหตุการณ์ ย่อมเอาตัวรอดจากศัตรู(มารทั้ง 5)ได้

จะรู้ได้อย่างไรว่าอาสวะสิ้นแล้ว (ถือว่าเป็นตัวชี้วัดการปฏิบัติ..ความเห็นของผู้เขียนและเรียบเรียง)
ปัญหา สมมติว่าบุคคลปฏิบัติธรรมจนถึงขั้นที่เรียกได้ว่าเป็นพระขีฌาสพ หมดสิ้นกิเลสอาสวะทั้งปวง ท่านจะรู้ได้อย่างไรว่าท่านสิ้นอาสวะ มีอะไรเป็นนิมิตเป็นเครื่องหมายให้ทราบบ้าง?
ผู้เจริญ  ๘ ประการ ที่เป็นเหตุให้ท่านผู้ประกอบแล้วปฏิญาณความสิ้นไปแห่งอาสวะ ทั้งหลายได้ว่า อาสวะทั้งหลายของเราสิ้นแล้ว (มีดังต่อไปนี้) เห็นสังขารทั้งปวงแจ่มแจ้ง โดยความเป็นของไม่เที่ยง ด้วยปัญญาอันชอบตามความเป็นจริง.... เห็นกามทั้งหลายว่าเปรียบด้วยหลุมถ่านเพลิง แจ่มแจ้งด้วยปัญญา อันชอบตามความเป็นจริง....มีจิตน้อมไป โน้มไปโอนไปในวิเวก ตั้งอยู่ในวิเวกยินดีแล้วในเนกขัมมะ ปราศจากธรรมอันจะเป็นที่ตั้งแห่งอาสวะโดยประการทั้งปวง.....สติปัฏฐาน ๔ อบรมบริบูรณ์  เจริญอิทธิบาท ๔  เจริญอินทรีย์ ๕   เจริญโพชฌงค์ ๗   เจริญอริยมรรคประกอบด้วยองค์ ๘ อบรมดีแล้ว..

ในโลกนี้ไม่ใช่ว่าจะไม่มีผู้ปฏิบัติที่เป็นมรรคผล(หมายถึงเป็นพระอรหันต์)ที่มีปฏิปทา(แปลว่าทาง, ทางดำเนิน, ความประพฤติ)เป็นพระอริยสงฆ์ร่วมสมัยที่พอจะสืบค้นประวัติและปฏิปทาของท่านได้คือพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ซึ่งท่านได้มีคติธรรมคำสอนคัดจากหนังสือ ขันธะวิมุติสะมังคีธรรมะ ดังนี้

ผู้สนใจศึกษาปฏิบัติธรรม คือผู้สนใจหาความรู้ความฉลาดเพื่อคุณงามความดีทั้งหลาย ที่โลกเขาปรารถนากันเพราะคนเราจะอยู่และไปโดยไม่มีเครื่องป้องกันตัวย่อมไม่ปลอดภัย ต่ออันตรายทั้งภายนอกภายใน เครื่องป้องกันตัวคือหลักธรรมมีสติปัญญาเป็นอาวุธสำคัญ จะเป็นเครื่องมั่นคงไม่สะทกสะท้านมีสติปัญญาแฝงอยู่กับตัวทุกอิริยาบท จะคิด-พูด-ทำอะไรไม่มีการยกเว้น มีสติปัญญาสอดแทรกอยู่ด้วยทั้งภายในและภายนอก มีความเข้มแข็งอดทน มีความเพียรที่จะประกอบคุณงามความดี คนอ่อนแอโง่เง่าเต่าตุ่นวุ่นวายอยู่กับอารมณ์เครื่องผูกพันด้วยความนอนใจ และเกียจคร้านในกิจการที่จะยกตัวให้พ้นภัย….

คนหิว อยู่เป็นปกติสุขไม่ได้จึงวิ่งหาโน่นหานี่เจออะไรก็คว้าติดมือมาโดยไม่สำนึกว่าผิดหรือถูก
ครั้นแล้วสิ่งที่คว้ามาก็เผาตัวเองให้ร้อนยิ่งกว่าไฟ
คนที่หลงจึงต้องแสวงหาถ้าไม่หลงก็ไม่ต้องหาจะหาไปให้ลำบากทำไมอะไรๆ ก็มีอยู่กับตัวเองอย่างสมบูรณ์อยู่แล้ว จะตื่นเงา ตะครุบเงาไปทำไมเพราะรู้แล้วว่า เงาไม่ใช่ตัวจริงตัวจริง คือ สัจจะทั้งสี่ที่มีอยู่ในกายในใจอย่างสมบูรณ์แล้ว…อานิสงส์ของศีล ๕ เมื่อรักษาได้
๑. ทำให้อายุยืน ปราศจากโรคภัยเบียดเบียน
๒. ทรัพย์สมบัติที่อยู่ในความปกครอง มีความปลอดภัยจากโจรผู้ร้ายมาราวี เบียดเบียนทำลาย
๓. ระหว่าง ลูก หลาน สามี ภริยา อยู่ด้วยกันเป็นผาสุก ไม่มีผู้คอยล่วงล้ำ กล่ำกราย ต่างครองกันอยู่ด้วยความผาสุก
๔. พูดอะไรมีผู้เคารพเชื่อถือ คำพูดมีเสน่ห์เป็นที่จับใจไพเราะ ด้วยสัตย์ ด้วยศีล
๕. เป็นผู้มีสติปัญญาดีและเฉลียวฉลาด ไม่หลงหน้าหลงหลัง จับโน่นชนนี่ เหมือนคนบ้าคนบอหาสติไม่ได้ ผู้มีศีล เป็นผู้ปลูกและส่งเสริมสุขบนหัวใจคนและสัตว์ทั่วโลก ให้มีแต่ความอบอุ่นใจ ไม่เป็นที่ระแวงสงสัย ผู้ไม่มีศีลเป็นผู้ทำลายหัวใจคนและสัตว์ ให้ได้รับความทุกข์เดือดร้อนทุกหย่อมหญ้า…

เราเกิดมาเป็นมนุษย์มีความสูงศักดิ์มากอย่านำเรื่องของสัตว์มาประพฤติมนุษย์เราจะต่ำลงกว่าสัตว์และจะเลวกว่าสัตว์อีกมากมายอย่าพากันทำให้พากันละบาป บำเพ็ญบุญทำแต่คุณความดีอย่าให้เสียชีวิตเปล่าที่มีวาสนาเกิดมาเป็นมนุษย์.....กรรม จำแนกสัตว์ให้ทราม และประณีตต่างกันผู้สงสัยกรรม หรือไม่เชื่อกรรมว่ามีผล
คือ ลืมตนจนกลายเป็นผู้มืดบอดอย่างช่วยไม่ได้แม้เขาจะเกิดและได้รับการเลี้ยงดูจากพ่อ-แม่มาเป็นอย่างดีเหมือนโลกทั้งหลายก็ตามเขาก็มองไม่เห็นคุณของพ่อ-แม่ว่าได้ให้กำเนิดและเลี้ยงดูตนมาอย่างไรบ้างแต่เขาจะมองเห็นเฉพาะร่างกายเขาที่เป็นคนหนึ่งกำลังรกโลกอยู่โดยเจ้าตัวไม่รู้เท่านั้น…คนฉลาดปกครองตนให้มีความสุขและปลอดภัยไม่จำเป็นต้องเที่ยวแสวงหาทรัพย์มากมายหรือเที่ยวกอบโกยเงินเป็นล้านๆ มาเป็นเครื่องบำรุง จึงมีความสุข  ผู้มีสมบัติพอประมาณในทางที่ชอบมีความสุขมากกว่าผู้ได้มาในทางมิชอบเสียอีก
เพราะนั่นไม่ใช่สมบัติของตนอย่างแท้จริงทั้งๆ ที่อยู่ในกรรมสิทธิ์แต่กฏความจริง คือกรรมสาปแช่งไม่เห็นด้วยและให้ผลเป็นทุกข์ไม่สิ้นสุดนักปราชญ์ ท่านจึงกลัวกันหนักหนาแต่คนโง่อย่างพวกเรา ผู้ชอบสุกเอาเผากิน และชอบเห็นแก่ตัวไม่มีวันอิ่มพอ ไม่ประสบผล คือ ความสุขดังใจหมาย...อะไรๆ ที่เป็นสมบัติของโลกมิใช่สมบัติอันแท้จริงของเราตัวจริงไม่มีใครเหลียวแลสมบัติในโลกเราแสวงหามาหามาทุจริตก็เป็นไฟเผาเผาตัวทำให้ฉิบหายได้จริงๆ..หาคนดีมีศีลธรรมในใจหายากยิ่งกว่าเพชรนิลจินดาได้คนเป็นคนดีเพียงคนเดียวย่อมมีคุณค่ามากกว่าเงินเป็นล้านๆเพราะเงินเป็นล้านๆ ไม่สามารถทำความร่มเย็นให้แก่โลกได้อย่างถึงใจเหมือนได้คนดีทำประโยชน์..ธรรม เป็นเครื่องปกครองสมบัติและปกครองใจถ้าขาดธรรมเพียงอย่างเดียว  ความอยากของใจจะพยายามหาทรัพย์ได้กองเท่าภูเขาก็ยังหาความสุขไม่เจอไม่มีธรรมในใจเพียงอย่างเดียว
จะอยู่ในโลกใด กองสมบัติใด ก็เป็นเพียงโลกเศษเดนและกองสมบัติเดนเท่านั้นไม่มีประโยชน์อะไรแก่จิตใจแม้แต่นิดความทุกข์ทรมาน ความอดทนทนทาน ต่อสิ่งกระทบกระทั่งต่างๆ ไม่มีอะไรจะแข็งแกร่งเท่าใจ
ถ้าได้รับความช่วยเหลือที่ถูกทางใจจะกลายเป็นของประเสริฐให้เจ้าของได้ชมอย่างภูมิใจต่อเรื่องทั้งหลายทันที..

ผู้เขียนและเรียบเรียง  ซึ่งเป็นฆราวาส ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของโลก จะมองแต่โลกสวยคือเพลิดเพลินกับสิ่งที่เรียกว่าสุขได้แก่ความสุขสบาย แต่งตัวสวยๆ หล่อๆ กินอาหารอร่อยๆ ขับรถหรูๆ ดูแต่หนัง กีฬา เล่นไลน์ เฟสบุ๊ค อินเทอร์เนตหรือเที่ยวเตร่ หมกมุ่นอยู่กับอบายมุขอย่างเดียวไม่ได้ในกาลข้างหน้าจะนำแต่ความทุกข์มาสู่เรา ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า”ผู้มีทุกข์นั่นแหละจึงมีความเพลิดเพลิน ผู้มีความเพลิดเพลินนั่นแหละจึงมีทุกข์ ..ผู้ไม่มีความเพลิดเพลิน ไม่มีทุกข์...” ถ้าหากเราจะลด บรรเทา สิ่งที่ก่อเกิดทุกข์ลงจะต้องลงมือปฏิบัติทำทันทีส่วนผลจะก่อเกิดขึ้นมาทีหลังส่วนจะมากน้อยเพียงใดขึ้นอยู่กับกำลังกายใจของแต่ละคน ซึ่งตั้งใจทำสิ่งใดแล้วไม่มีหวังคงไม่มีกำลังใจเมื่ออ่านพระไตรปิฎกแล้วว่าฆราวาสก็มีหวังได้ลิ้มรสนิพพาน  แต่จะไปนิพพานนั้นก็ไม่ใช่เรื่องง่ายในโลกของความเป็นจริงเรายังต้องกิน ใช้ อยู่ ดังนั้นคงจะต้องหาทั้งทรัพย์ที่เป็นทางโลก(บ้าน รถยนต์ อาหาร เสื้อผ้า)ด้วยและหาทรัพย์ที่เป็นทางธรรม(อริยทรัพย์)ด้วย  จิตใจนั้นก็มีความหวัง  คงจะเหมือนท่านทั้งหลายที่ตั้งความหวังไว้เช่นกันและหวังผู้อ่านจะได้รับทรัพย์ซึ่งมีค่ามากคืออริยทรัพย์  (ทรัพย์อันประเสริฐ, ทรัพย์คือคุณธรรมประจำใจอย่างประเสริฐ ) ประกอบด้วย
       ๑. ศรัทธา (ความเชื่อที่มีเหตุผล มั่นใจในหลักที่ถือและในการดีที่ทำ )
       ๒. หิริ (ความละอายใจต่อการทำความชั่ว)         
       ๓. โอตตัปปะ (ความเกรงกลัวต่อความชั่ว)
       ๔. พาหุสัจจะ (ความเป็นผู้ได้ศึกษาเล่าเรียนมาก)
       ๕. วิริยะ (ความเพียร ความพยายาม)
       ๖. สติ ( ความระลึกได้, ความนึกขึ้นได้, ความไม่เผลอ)
       ๗. ปัญญา (ความรู้ความเข้าใจถ่องแท้ในเหตุผล ดีชั่ว ถูกผิด คุณโทษ ประโยชน์ มิใช่ประโยชน์ ฯลฯ)

 

ขอขอบคุณทุกท่านด้วยความปรารถนาดีจาก นาคา  รักษาธรรม

 



 

 

 

 

 


View : 0

Share :


Write comment