Episode 1 : พระไตรปิฏกสำหรับฆราวาส

พระไตรปิฎกสำหรับฆราวาส

          ประเทศไทยผู้คนส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ มีวัดอยู่เกือบทุกหมู่บ้านแต่ในสถานการณ์ปัจจุบันโลกรวมทั้งประเทศไทยซึ่งอยู่บนโลกใบนี้ด้วยต่างมีปัญหาต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาสังคม การเมือง เศรษฐกิจ บางปัญหามีระดับขั้นวิกฤติ(วิกฤติแปลว่าอยู่ในขั้นล่อแหลมต่ออันตราย)  ซึ่งแนวทางแก้ไขคงจะใช้หลักคำสอนของศาสนามาดำเนินการแก้ไขปัญหานั้น  จะใช้หลักอื่นคงไม่ถูกต้องนัก หลักอื่นเป็นเพียงประกอบหรือวิธีการปฏิบัติเท่านั้น

          การที่จะรู้ศาสนาพุทธเพื่อนำไปใช้ปฏิบัตินั้นคงต้องศึกษาให้เข้าใจก่อน  การศึกษาธรรมะตามแนวคำสอนของพระพุทธเจ้า ตำราที่ดีที่สุดคือพระไตรปิฎก ซึ่งได้จารึกไว้หลายพันปีและได้มีการชำระหลายครั้ง ในปัจจุบันพระไตรปิฎกมีผู้ที่จัดทำรวบรวมไว้ในเว็บไซต์เป็นการสะดวกสำหรับผู้ที่ค้นคว้าศึกษา ทำไมต้องศึกษาจากพระไตรปิฎก เพราะว่าเป็นหลักฐานที่เชื่อถือมากที่สุด มีประวัติการรวบรวมและสังคายนาหลายครั้ง 

  พระไตรปิฎก เป็นคัมภีร์ที่บันทึกคำสอนของพระโคตมพุทธเจ้า  ไตรปิฎก แปลว่า ตะกร้า 3 ใบ เพราะเนื้อหาแบ่งเป็น 3 หมวดใหญ่ ๆ คือ

  1. พระวินัยปิฎก ว่าด้วยพระวินัยสิกขาบทต่าง ๆ ของภิกษุและภิกษุณี  เรียกย่อว่าพระวินัย แบ่งเป็น21,000 พระธรรมขันธ์
  2. พระสุตตันตปิฎก ว่าด้วยพระสูตรซึ่งเป็นพระธรรมเทศนาของพระพุทธเจ้าและพระอรหันตสาวก ที่แสดงแก่บุคคลต่างชั้นวรรณะและการศึกษา ต่างกรรมต่างวาระกัน ส่วนเรื่องราวอดีตชาติของพระพุทธเจ้า เรียกว่าชาดก เรียกย่อว่าพระสูตร  นับเป็นธรรมขันธ์ได้ 21,000 พระธรรมขันธ์
  3. พระอภิธรรมปิฎกว่าด้วยพระอภิธรรมหรือปรมัตถธรรมซึ่งเป็นธรรมะขั้นสูงอธิบายด้วยหลักวิชาล้วน ๆ โดยไม่อ้างอิงเหตุการณ์และบุคคลเรียกว่าพระอภิธรรม แบ่งเป็น 42,000 พระธรรมขันธ์

ผู้เขียนและเรียบเรียงนำพระสูตรมาเรียบเรียงบางพระธรรมขันธ์เท่านั้นไม่สามารถนำมาทั้งสองหมื่นหนึ่งพันพระธรรมขันธ์ได้เพราะมีจำนวนมากเกินไป ไม่สะดวกในการอ่าน ซึ่งพระสูตรที่นำมาเรียบเรียงในหนังสือเล่มนี้เป็นพระสูตรที่จำเป็นและเข้าใจง่ายต่อการศึกษาและปฏิบัติ แต่ไม่หมายความว่าพระสูตรไม่ได้นำมาเรียบเรียงในหนังสือเล่มนี้ไม่สำคัญเพียงว่าเนื้อหาในพระสูตรอื่นนั้นซ้ำซ้อนกัน

          หนังสือเล่มนี้จะเน้นการปฏิบัติของฆราวาสซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศเพื่อไม่ได้เห็นว่าการรู้หรือการปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธเจ้าเป็นเรื่องของพระ บรรพชิตหรือนักบวช เท่านั้น  คนธรรมดาที่เป็นฆราวาสหรือคฤหัสถ์คือคนผู้อยู่ครองเรือน, คนทั่ว ๆ ไปที่ไม่ใช่บรรพชิตหรือนักบวช  ส่วนฆราวาสหรือคฤหัสถ์ผู้ที่นับถือพระพุทธศาสนาอย่างมั่นคงผู้ครองเรือนที่เรียกว่า  อุบาสก  อุบาสิกา ก็สามารถที่จะปริยัติคือเรียนรู้ธรรมะเพื่อนำไปใช้ปฏิบัติให้เกิดผลคือปฏิเวธ  เป็นพระอริยะบุคคลได้ เริ่มตั้งแต่พระโสดาบันคือผู้บรรลุโสดาบัน ดังตัวอย่างบุคคลในสมัยพุทธกาล เช่นอุบาสก  ตปุสสะ ภัลลิกะเป็นพ่อค้าสองพี่น้องชาวอุกกละชนบท เป็นผู้ถึงสรณะก่อน  เป็นต้น  หรืออุบาสิกา นางกาติยานี ผู้เลื่อมใสมั่นคง  เป็นต้น  ผู้เขียนและเรียบเรียงหวังเป็นอย่างยิ่งว่าหนังสือเล่มนี้จะเป็นแนวทางให้ท่านได้ใช้ศึกษาและนำไปปฏิบัติเพื่อให้เกิดปัญญาซึ่งปัญญานั้นประเสริฐกว่าทรัพย์   ดังปรากฏมีข้อความบัญญัติไว้ใน  บาลีแห่งเอกธรรม  ปัญหา ญาติ โภคะ ยศ กับปัญญา อย่างไหนสำคัญกว่ากัน?
พุทธดำรัสตอบ “ ดูก่อนฯ ความเสื่อมแห่ง ญาติ.... ความเสื่อมแห่งโภคะ... ความเสื่อมแห่งยศเป็นเรื่องเล็กน้อย ความเสื่อมแห่งปัญญาเป็นเรื่องร้ายแรงกว่าความเสื่อมทั้งหลาย”
“ ดูก่อนฯ ความเจริญด้วย ญาติ.... ความเจริญด้วยโภคะ... ความเจริญด้วย ยศเป็นเรื่องเล็กน้อย ความเจริญด้วย ปัญญาเป็นเรื่องเลิศกว่าความเจริญทั้งหลาย เพราะเหตุนี้แล เธอทั้งหลายพึงศึกษาอย่างนี้ว่า เราทั้งหลายจักเจริญด้วยความเจริญแห่งปัญญา”  เมื่อมีปัญญาแล้วจะได้นำเป็นแนวทางดำเนินชีวิตก้าวเดินต่อไปอย่างมีความสุขทั้งภพชาตินี้และภพชาติหน้า เป็นเป้าหมายของชีวิตคือชีวิตประเสริฐ  ซึ่งปรากฏข้อความใน

วิตตสูตร ปัญหาอะไรหนอเป็นทรัพย์เครื่องปลื้มใจอย่างประเสริฐของคนในโลกนี้ อะไรหนอที่บุคคลประพฤติดีแล้วนำความสุขมาให้ อะไรหนอเป็นรสดีกว่าบรรดารสทั้งหลาย คนมีชีวิตเป็นอยู่อย่างไร นักปราชญ์ ทั้งหลายกล่าวว่ามีชีวิตประเสริฐ ?
พุทธดำรัสตอบ “ศรัทธาเป็นทรัพย์เครื่องปลื้มใจอย่างประเสริฐของคนในโลกนี้ ธรรมที่บุคคลประพฤติดีแล้ว นำความสุขมาให้ ความจริงเท่านั้นเป็นรสที่ดียิ่งกว่ารสทั้งหลาย คนที่เป็นอยู่ด้วยปัญญา นักปราชญ์ทั้งหลายกล่าวว่ามีชีวิตประเสริฐ” 

            ปัญหามีว่าประเสริฐนั้นอย่างไร 

ปรากฏข้อความในวุฏฐิสูตร

เทวดาทูลถามว่าบรรดาสิ่งที่งอกขึ้น สิ่งอะไรหนอประเสริฐ บรรดาสิ่งที่ตกไปอะไรหนอประเสริฐ บรรดาสัตว์ที่เดินด้วยเท้า ใครเป็นผู้ประเสริฐ บรรดาชนผู้แถลงคารม ใครเป็นผู้ประเสริฐ ฯ

             เทวดาผู้หนึ่งแก้ว่าบรรดาสิ่งที่งอกขึ้น ข้าวกล้าเป็นประเสริฐ บรรดาสิ่งที่ตกไปฝนเป็นประเสริฐ บรรดาสัตว์ที่เดินด้วยเท้า เหล่าโคเป็นประเสริฐ บรรดาชนผู้แถลงคารม บุตรเป็นประเสริฐ (เพราะ ไม่กล่าวร้ายให้มารดาบิดา) ฯ

            พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่าบรรดาสิ่งที่งอกขึ้น ความรู้เป็นประเสริฐ บรรดาสิ่งที่ตกไปอวิชชาเป็นประเสริฐ บรรดาสัตว์ที่เดินด้วยเท้า พระสงฆ์เป็นประเสริฐ บรรดาชนผู้แถลงคารมพระพุทธเจ้าเป็นประเสริฐ ฯ

          ผู้เขียนและเรียบเรียงได้มีคำเรียบเรียงคละปนเพื่อให้เป็นหนังสือส่งเสริมปฏิบัติธรรมเล่มนี้ที่ผู้อ่านแล้วมีความเข้าใจเพิ่มมากขึ้น  ไม่ใช่ผู้เรียบเรียงเป็นคนเก่งกล้า สามารถอะไร แต่เพื่อความสะดวกต่อผู้อ่านหากไม่อธิบายคำศัพท์ผู้อ่านจะเกิดความไม่เข้าใจจะค้นคว้าจากที่อื่นก็จะเสียเวลาและจะเบื่อหน่ายในการอ่านในที่สุด การอ่านหนังสือเล่มนี้จะง่ายยิ่งขึ้นจะได้นำเป็นแนวทางการปฏิบัติเพื่ออยู่เป็นสุขในปัจจุบันและภพชาติหน้าคือวัฎฎะซึ่งวัฎฎะแปลว่าวงกลม  การหมุนไป รอบแห่งการเวียนเกิดเวียนตาย ไม่ให้ตกไปในภพที่ต่ำนับแต่เดรัจฉานภูมิ อสูรกายภูมิ  เปรตภูมิ  นรกภูมิ อย่างน้อยก็ให้เป็นมนุษย์เช่นเดิม ดีขึ้นอีกก็เป็นเทวดา  พรหม หรือหากกำลังจิตเด็ดเดี่ยวก็ไปนิพพานได้  ซึ่งภพแปลว่าโลก แผ่นดิน ภูมิ (พื้น ชั้น พื้นเพ ความรู้) ในพระไตรปิฎกแสดงภพภูมิไว้  31  ภูมิ ดังนี้ นรกภูมิ  1 ภูมิ  เปรตภูมิ  1 ภูมิ   อสูรกายภูมิ  1 ภูมิ  เดรัจฉานภูมิ  1 ภูมิ โลกมนุษย์  1 ภูมิ  เทวภูมิ 6  ชั้น  พรหมโลก 20 ชั้น ผู้เขียนและเรียบเรียงได้ค้นคว้าแล้วว่า ไม่พบที่ใดแสดงรายชื่อภูมิทั้งหลายไว้ทั้งหมดในที่เดียว หรืออาจเบื่อหน่ายวัฎะสงสารก็ปฏิบัติจนจิตบรรลุสำเร็จเป็นอรหันต์ได้ดังปรากฏข้อความในเวฬุทวารสูตร ฆราวาสก็มีหวังได้ลิ้มรสนิพพาน  ปัญหา เท่าที่ได้ฟังมานั้น การที่จะได้บรรลุมรรคผลนิพพาน รู้สึกว่าเป็นกิจที่ทำได้ยากมาก จะต้องสละโลกออกบวช ไปอยู่ในป่าบำเพ็ญศีลสมาธิปัญญาอย่างเคร่งครัด ซึ่งน้อยคนจะกระทำได้ สำหรับฆราวาสที่ยังต้องอยู่ครองเรือนมีหน้าที่ในการเลี้ยงครอบครัว จะปฏิบัติอย่างไรจึงจะมีโอกาสได้ลิ้มรสแห่งนิพพานสุขบ้าง ?
พุทธดำรัสตอบ “.....สาวกของพระอริยเจ้าในศาสนานี้ย่อมพิจารณาเห็นว่าเราปรารถนาชีวิตไม่คิดอยากตาย ปรารถนาแต่ความสุขสบายเกลียดหน่ายต่อความทุกข์ บุคคลผู้ใดจะพึงปลงเราเสียจากชีวิต ข้อนั้นจะไม่พึงเป็นที่รักใคร่ชอบใจของเราเลย ก็แล ถ้าเราจะพึงปลงผู้อื่นเสียจากชีวิต ถึงข้อนั้นก็จะไม่เป็นที่รักใคร่ชอบใจของผู้นั้น ธรรมอันใดที่ไม่เป็นที่รักใคร่ชอบใจของเราธรรมอันนั้นก็ไม่เป็นที่รักใคร่ชอบใจของคนอื่น...พิจารณาเห็นอย่างนี้แล้วตนก็เว้นเสียจากปาณาติบาต แลชักชวนผู้อื่นให้เว้นเสียจากปาณาติบาต และกล่าวพรรณนาคุณของการเว้นจากปาณาติบาต...“บุคคลใดจะพึงถือเอาสิ่งของที่เราไม่ให้ซึ่งนับว่าเป็นขโมย ข้อนั้นก็ไม่พึงเป็นที่รักใคร่ชอบใจของเราเลย ก็แล เราจะถือเอาสิ่งของที่ผู้อื่นไม่ให้ ถึงขอนั้นก็ไม่เป็นที่รักใคร่ชอบใจของผู้อื่น..พิจารณาเห็นดังนี้แล้ว ตนก็เว้นเสียจากอทินนาทานและชักชวนผู้อื่นให้เว้นเสียจากอทินนาทาน และกล่าวพรรณนาคุณของการเว้นจากการอทินนาทาน...“บุคคลใดจะประพฤติละเมิดในภรยาของเรา ข้อนั้นไม่ถึงเป็นที่รักใคร่ชอบใจของเราเลย ก็แลเราจะถึงประพฤติละเมิดในภรรยาของผู้อื่น ถึงข้อนั้นก็ไม่พึงเป็นที่รักใคร่ชอบใจของผู้อื่น... พิจารณาเห็นดังนี้แล้ว ตนก็เว้นเสียจากกาเมสุมิจฉาจาร และชักชวนผู้อื่นให้เว้นเสียจากกาเมสุมิจฉาจาร และพรรณนาคุณของการเว้นจากกาเมสุมิจฉาจาร....“บุคคลใดจะพึงทำลายประโยชน์ของเราเสียด้วยการพูดปด ข้อนั้นก็ไม่เป็นที่รักใคร่ชอบใจของเราเลย ก็แลเราจะพึงทำลายประโยชน์ของผู้อื่นเสียด้วยการพูดปด ถึงข้อนั้นก็ไม่เป็นที่รักใคร่ชอบใจของผู้อื่น...พิจารณาเห็นดังนี้แล้ว ตนก็เว้นเสียจากการพูดปด แลชักชวนผู้อื่นให้เว้นเสียจากการพูดปดแลกล่าวพรรณนาคุณของการเว้นจากการพูดปด...“บุคคลใดจะพึงทำให้เราแตกจากมิตรด้วยการกล่าวส่อเสียด ข้อนั้นก็ไม่พึงเป็นที่รักใคร่ชอบใจของเราเลย ก็แลเราจะพึงทำผู้อื่นให้แตกจากมิตรด้วยการกล่าวส่อเสียด ถึงข้อนั้นก็จะไม่เป็นที่รักใคร่ชอบใจของผู้อื่น...พิจารณาเห็นอย่างนี้แล้ว ตนก็เว้นเสียจากกการกล่าวส่อเสียด และชักชวนผู้อื่นให้เว้นจากการกล่าวส่อเสียด และกล่าวพรรณนาคุณของการเว้นจากการกล่าวส่อเสียด“บุคคลใดจะพึงร้องเรียกเราด้วยคำหยาบ ข้อนั้นก็ไม่เป็นที่รักใคร่ชอบใจของเราเลย ก็แลเราจะพึงร้องเรียกคนอื่นด้วยคำหยาบเล่า พึงข้อนั้นก็จะไม่เป็นที่รักใคร่ชอบใจของผู้อื่น...พิจารณาเห็นอย่างนี้แล้วตนก็เว้นเสียจากการกล่าวว่าจากหยาบ และชักชวนผู้อื่นให้เว้นจากการกล่าววาจาหยาบ และกล่าวพรรณนาคุณของการเว้นจากการกล่าววาจาหยาบ..“บุคคลใดจะพึงร้องเรียกเราด้วยการกล่าววาจาปราศจากประโยชน์ ข้อนั้นก็จะไม่เป็นที่รักใคร่ชอบใจของเราเลย ก็แลจะพึงร้องเรียกผู้อื่นด้วยการกล่าววาจาปราศจากประโยชน์ ข้อนั้นก็จะไม่เป็นที่รักใคร่ชอบใจของผู้อื่น...แลชักชวนผู้อื่นให้เว้นจากการกล่าววาจาปราศจากประโยชน์ และพรรณนาคุณของการเว้นจากการกล่าววาจาปราศจากประโยชน์“สาวกของพระอริยเจ้านั้น ประกอบด้วยความเลื่อมใสในพระพุทธเจ้า ไม่หวั่นไหว..ประกอบด้วยความเลื่อมใสมั่นในพระธรรมไม่หวั่นไหว..ประกอบด้วยความเลื่อมใสมั่นในพระสงฆ์ ไม่หวั่นไหว...ประกอบด้วยศีล ทั้งหลายอันพระอริยเจ้ารักใคร่ไม่ให้ขาด ไม่ให้เป็นท่อน ไม่ให้ด่างพร้อย เป็นไทย (ไม่เป็นทาสแหงตัณหา) อันผู้รู้สรรเสริญอันตัณหาแลทิฐิไม่ครอบงำได้เป็นไปเพื่อสมาธิ“เมื่อใด สาวกของพระอริยเจ้า ประกอบด้วยสัทธรรมความชอบเหล่านี้แล้ว... ก็จะพึงพยากรณ์ได้ด้วยตนเองว่า เรามีนรกสิ้นแล้ว เรามีกำเนิดเดียรัจฉานเปรตวิสัย อบาย ทุคติ วินิบาตสิ้นแล้ว เราเป็นผู้ถึงต้นกระแสแห่งพระนิพพานแล้ว ไม่มีทางที่จะตกไปในอบายทั้งสี่อย่างแน่นอน เป็นผู้เที่ยงต่อพระนิพพาน เป็นผู้มีอันจะได้ตรัสรู้ในเบื้องหน้า” 

นาคา  รักษาธรรม   ........   ผู้เขียนและเรียบเรียง

ปริยัติธรรม หมายถึงธรรมที่พึงศึกษาเล่าเรียน

หลักในการนับถือศาสนา
ปรากฏข้อความใน  เกสปุตตสูตร (กาลามสูตร)  ปัญหา ในโลกนี้ มีคำสอนในศาสนา ในลัทธิ และในปรัชญา เป็นอันมาก แม้คำสอนทางพระพุทธศาสนาเองก็มีมากมาย จนทำให้เกิดความสงสัยลังเลว่า อะไรควรเชื่อถือ อะไรไม่ควรเชื่อถือ อะไรควรปฏิบัติตามอะไร ไม่ควรปฏิบัติตาม ขอได้โปรดแนะแนวในการเชื่อถือและในการปฏิบัติด้วย ?
พุทธดำรัสตอบ “.....ท่านอย่าได้ถือโดยได้ฟังตามกันมา
อย่าได้ถือโดยลำดับสืบๆ กันมา
อย่าได้ถือโดยความตื่นว่าได้ยินว่าอย่างนี้ๆ
อย่าได้ถือโดยอ้างตำรา
อย่าได้ถือโดยเหตุนึกเดาเอา
อย่าได้ถือโดยนัยคือคาดคะเน
อย่าได้ถือโดยความตรึกตามอาการ
อย่าได้ถือโดยชอบใจว่าต้องกันกับลัทธิของตน
อย่าได้ถือโดยเชื่อว่าผู้พูดสมควรจะเชื่อได้
อย่าได้ถือโดยความนับถือว่าสมณะผู้นี้เป็นครูของเรา
เมื่อใดท่านรู้ด้วยตนนั้นแล ว่าธรรมเหล่านี้ (ความโลภ ความโกรธ ความหลง) เป็นอกุศล ธรรมเหล่านี้มีโทษ ธรรมเหล่านี้ท่านผู้รู้ติเตียน ธรรมเหล่านี้ใครประพฤติให้เต็มทีแล้ว เป็นไปเพื่อสิ่งไม่เป็นประโยชน์ เป็นไปเพื่อทุกข์ ดังนี้ ท่านควรละธรรมเหล่านั้นเสียเมื่อนั้น..”

*ความเห็นของผู้เขียนและเรียบเรียง...พระสูตรนี้ถือว่าเป็นจุดแข็งของศาสนาพุทธซึ่งพระพุทธเจ้าตรัสตอบผู้ถามนั้นครอบคลุมทั้งหมด  ไม่อาจมีข้อโต้แย้งใดๆทั้งสิ้น  ลัทธิ ศาสนาอื่น หรือแม้กระทั่งวิทยาศาสตร์ก็ไม่มีประโยคเหล่านี้ ปัจจุบันมีคนจำนวนมากคิดว่าข้อมูล ความรู้ ความจริง มีอยู่ในโซเชียล อินเทอร์เนต หรือสื่ออื่นๆ เป็นจริงเชื่อถือได้โดยยึดถือเป็นสรณะ(สรณะแปลว่าที่พึ่ง,ที่ระลึก)

เรียนไม่เป็นก็มีโทษ
ปรากฏข้อความใน อลคัททูปมสูตร  ปัญหา คนทั่วไปเข้าใจว่า การเรียนธรรมเป็นของดี มีประโยชน์ แต่ถ่ายเดียว ใครจะทราบว่าการเรียนธรรมก่อให้เกิดทุกข์โทษ มีหรือไม่?
พุทธดำรัสตอบ “.....ดูก่อนฯ บุรุษเหล่าบางพวกในพระธรรม วินัยนี้ ย่อมเล่าเรียนธรรมคือ สุตตะ(พระสูตรต่างๆ และวินัย) เคยยะ(พระสูตรที่มีคาถาผสม) เวยยากรณะ(ข้อความร้อยแก้วล้วนๆ เช่นอภิธรรมปิฎก) คาถา(ข้อความร้อยกรองที่เป็นคาถาล้วนๆ เช่น ธรรมบท เถรคาถา) อุทาน(ข้อความที่เป็นพุทธอุทาน) อิติวุตตกะ(ข้อความที่ตรัสอุเทศแล้วแสดงนิเทศจบลงด้วยบทสรุป) ชาดก(ชาดกทั้งหมด) อัพภูตธรรม(พระสูตรว่าด้วยเรื่องอัศจรรย์ต่างๆ) เวทัลละ(ข้อความที่ถามตอบกันไปมา) บุรุษเหล่าเหล่านั้นเล่าเรียนธรรมนั้นแล้ว ย่อมไม่ไตร่ตรอง เนื้อความแห่งธรรมเหล่านั้น ด้วยปัญญา ธรรมเหล่านั้นย่อมไม่ควรซึ่งการเพ่งแก่บุรุษเปล่าเหล่านั้น ผู้ไม่ไตร่ตรองเนื้อความด้วยปัญญา บุรุษเปล่าเหล่านั้น เป็นผู้มีความข่มผู้อื่นเป็นอานิสงส์ (เรียนเพื่อข่มผู้อื่น) และมีการเปลื้องเสียซึ่งความนินทาเป็นอานิสงส์ (เรียนเพื่อให้คนตำหนิมิได้) ย่อมเล่าเรียนธรรม ก็กุลบุตรทั้งหลายย่อมเล่าเรียนธรรมเพื่อประโยชน์อันใด บุรุษเหล่าเหล่านั้นย่อมไม่ได้เสวยประโยชน์แห่งธรรมนั้น ธรรมเหล่านั้นอันบุรุษเหล่านั้นเรียนไม่ดีแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อความไม่เป็นประโยชน์ เพื่อทุกข์สิ้นกาลนาน ข้อนั้นเป็นเพราะอะไร เพราะธรรมทั้งหลายอันตนเรียนไม่ดีแล้ว
     “ดูก่อนฯ เปรียบเหมือนบุรุษผู้มีความต้องการด้วยงูพิษเสาะหางูพิษ เที่ยวแสวงหางูพิษ เขาพึงพบงูพิษตัวใหญ่ พึงจับงูพิษนั้นที่ขนดหรือที่หาง งูพิษนั้นพึงแว้งกัดเขาที่มือ ที่แขน หรือที่อวัยวะใหญ่น้อยแห่งใดแห่งหนึ่ง เขาพึงถึงความตาย หรือความทุกข์ปางตาย มีการกัดนั้นเป็นเหตุข้อนั้นเป็นเพราะเหตุไร เพราะงูพิษตนจับไม่ดีแล้ว”

เรียนให้เป็น     

ไตรสิกขา  ปรากฏข้อความใน คุหัฏฐกสูตร  “นรชนผู้ข้องอยู่ในถ้ำคือกาย ถูกกิเลสเป็นอันมากปกปิดไว้แล้ว ดำรงอยู่ด้วยอำนาจกิเลสมีราคะเป็นต้น หยั่งลงในกามคุณเครื่องทำจิตให้ลุ่มหลง นรชนผู้เห็นปานนั้นแล เป็นผู้ไกลจากวิเวก เพราะว่ากามคุณทั้งหลายในโลก ไม่ใช่ละได้ โดยง่ายเลย กามคุณทั้งหลายมีความปรารถนาเป็นเหตุ เนื่องด้วยความยินดีในภพ เปลื้องออกได้โดยยาก คนอื่นจะเปลื้องออกให้ไม่ได้เลย นรชนทั้งหลายมุ่งหวังกามในอนาคตบ้างในอดีตบ้าง คร่ำครวญถึงกามเหล่านี้ที่เคยมีแล้วบ้าง อันตนเปลื้องเองได้ยาก และคนอื่นก็เปลื้องให้ไม่ได้ สัตว์เหล่านั้นยินดี ขวนขวาย ลุ่มหลงอยู่ในกามทั้งหลาย ไม่เชื่อถือถ้อยคำของบัณฑิตมีพระพุทธเจ้าเป็นต้น ตั้งอยู่แล้วในธรรมอันไม่สงบ ถูกทุกข์ครอบงำแล้ว ย่อมรำพันอยู่ว่า เราจุติจากโลกนี้แล้ว จักเป็นอย่างไรหนอ เพราะเหตุนั้นแล สัตว์พึงศึกษาไตรสิกขาในศาสนานี้แหละ พึงรู้ว่าสิ่งอะไรๆ ในโลกไม่เป็นความสงบ ไม่พึงประพฤติความไม่สงบเพราะเหตุแห่งสิ่งนั้น นักปราชญ์ทั้งหลายกล่าวชีวิตนั้นว่าเป็นของน้อยนักเราเห็นหมู่สัตว์นี้ ผู้เป็นไปในอำนาจความอยากในภพทั้งหลาย กำลังดิ้นรนอยู่ในโลก นรชนทั้งหลายผู้เลวทรามย่อมบ่นเพ้ออยู่ในปากมัจจุราช นรชนเหล่านั้น ยังไม่ปราศจากความอยากในภพและมิใช่ภพทั้งหลายเลย ท่านทั้งหลายจงดูชนทั้งหลายผู้ถือว่าสิ่งนั้นๆ เป็นของเรา กำลังดิ้นรนอยู่ เหมือนปลาในแอ่งน้ำน้อยมีกระแสขาดสิ้นแล้วดิ้นรนอยู่ ฉะนั้น นรชนเห็นโทษแม้นั้นแล้ว ไม่พึงประพฤติเป็นคนถือว่าสิ่งนั้นๆ เป็นของเรา ไม่กระทำความติดข้องอยู่

ในภพทั้งหลาย พึงกำจัดความพอใจในที่สุดทั้ง ๒ (มีผัสสะและเหตุเกิดแห่งสัมผัสสะเป็นต้น) กำหนดรู้ผัสสะแล้วไม่กำหนัดตามในธรรมทั้งปวงมีรูปเป็นต้น ติเตียนตนเองเพราะข้อใด อย่าทำข้อนั้น เป็นนักปราชญ์ไม่ติดอยู่ในรูปที่ได้เห็นและเสียงที่ได้ฟังเป็นต้น กำหนดรู้สัญญาแล้วพึงข้ามโอฆะ เป็นมุนีไม่ติดอยู่ในอารมณ์ที่ควรหวงแหน ถอนลูกศรคือ กิเลสออกเสีย ไม่ประมาทเที่ยวไปอยู่ ย่อมไม่ปรารถนาโลกนี้และโลกหน้า ฉะนี้แล ฯ..”

*คำที่สมควรทราบ  ไตรสิกขาแปลว่าสิกขา ๓ คือ ศีล เรียกว่า สีลสิกขา สมาธิ เรียกว่า จิตสิกขา และปัญญา เรียกว่า ปัญญาสิกขา.

เริ่มจากทุกข์ 

ปรากฏข้อความใน  มหาสติปัฏฐานสูตร..สัจจบรรพ(แสดงเฉพาะทุกข์อริยสัจ)

            ดูก่อนฯ อีกข้อหนึ่ง ...พิจารณาเห็นธรรมในธรรมคืออริยสัจ ๔ อยู่ ....พิจารณาเห็นธรรมในธรรมคืออริยสัจ ๔ อยู่ อย่างไรเล่า....ในธรรมวินัยนี้ ย่อมรู้ชัดตามเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย นี้ทุกขนิโรธ  นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา ฯ

             ดูก่อนฯ ก็ทุกขอริยสัจเป็นไฉน แม้ชาติก็เป็นทุกข์ แม้ชราก็เป็นทุกข์ แม้มรณะก็เป็นทุกข์ แม้โสกะ ปริเทวะ  ทุกข์  โทมนัส อุปายาส ก็เป็นทุกข์ แม้ความประจวบกับสิ่งไม่เป็นที่รักก็เป็นทุกข์ แม้ความพลัดพรากจากสิ่งที่รักก็เป็นทุกข์ ปรารถนาสิ่งใดไม่ได้ แม้อันนั้นก็เป็นทุกข์ โดยย่อ อุปาทานขันธ์ ทั้ง ๕ เป็นทุกข์ ฯ

              ดูก่อนฯ ก็ชาติเป็นไฉน ความเกิด ความบังเกิดความหยั่งลงเกิด เกิดจำเพาะ ความปรากฏแห่งขันธ์ ความได้อายตนะครบ ในหมู่สัตว์นั้นๆ ของเหล่าสัตว์นั้นๆ อันนี้เรียกว่าชาติ ฯ 

            ก็ชราเป็นไฉน ความแก่ ภาวะของความแก่ ฟันหลุด ผมหงอก หนังเป็นเกลียว ความเสื่อมแห่งอายุ ความแก่หง่อมแห่งอินทรีย์ ในหมู่สัตว์นั้นๆของเหล่าสัตว์นั้นๆ อันนี้เรียกว่าชรา ฯ

             ก็มรณะเป็นไฉน ความเคลื่อน ภาวะของความเคลื่อน ความแตกทำลายความหายไป มฤตยู ความตาย ความทำกาละ ความทำลายแห่งขันธ์ ความทอดทิ้งซากศพไว้ ความขาดแห่งชีวิตินทรีย์ จากหมู่สัตว์นั้นๆ ของเหล่าสัตว์นั้นๆ อันนี้เรียกว่ามรณะ ฯ

             ก็โสกะเป็นไฉน ความแห้งใจ กิริยาที่แห้งใจ ภาวะแห่งบุคคลผู้แห้งใจความผาก ณ ภายใน ความแห้งผาก ณ ภายใน ของบุคคลผู้ประกอบด้วยความพิบัติอย่างใดอย่างหนึ่ง ผู้ถูกธรรมคือทุกข์อย่างใดอย่างหนึ่งกระทบแล้ว อันนี้เรียกว่าโสกะ ฯ

             ก็ปริเทวะเป็นไฉน ความคร่ำครวญ ความร่ำไรรำพัน กิริยาที่คร่ำครวญกิริยาที่ร่ำไรรำพัน ภาวะของบุคคลผู้คร่ำครวญ ภาวะของบุคคลผู้ร่ำไรรำพัน ของบุคคลผู้ประกอบด้วยความพิบัติอย่างใดอย่างหนึ่ง ผู้ถูกธรรมคือทุกข์อย่างใดอย่างหนึ่งกระทบแล้ว อันนี้เรียกว่าปริเทวะ ฯ

             ก็ทุกข์เป็นไฉน ความลำบากทางกาย ความไม่สำราญทางกาย ความเสวยอารมณ์อันไม่ดีที่เป็นทุกข์เกิดแต่กายสัมผัส อันนี้เรียกว่าทุกข์ ฯ

             ก็โทมนัสเป็นไฉน ความทุกข์ทางจิต ความไม่สำราญทางจิต ความเสวยอารมณ์อันไม่ดีที่เป็นทุกข์เกิดแต่มโนสัมผัส อันนี้เรียกว่าโทมนัส ฯ

             ก็อุปายาสเป็นไฉน ความแค้น ความคับแค้น ภาวะของบุคคลผู้แค้นภาวะของบุคคลผู้คับแค้น ของบุคคลผู้ประกอบด้วยความพิบัติอย่างใดอย่างหนึ่งผู้ถูกธรรมคือทุกข์อย่างใดอย่างหนึ่งกระทบแล้ว อันนี้เรียกว่าอุปายาส ฯ

             ก็ความประจวบกับสิ่งไม่เป็นที่รัก ก็เป็นทุกข์ เป็นไฉน ความประสบความพรั่งพร้อม ความร่วม ความระคน ด้วยรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะอันไม่น่าปรารถนา ไม่น่าใคร่ ไม่น่าพอใจ หรือด้วยบุคคลผู้ปรารถนาสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ ปรารถนาสิ่งที่ไม่เกื้อกูล ปรารถนาความไม่ผาสุก ปรารถนาความไม่เกษมจากโยคะ ซึ่งมีแก่ผู้นั้น อันนี้เรียกว่า ความประจวบกับสิ่งไม่เป็นที่รักก็เป็นทุกข์ ฯ

             ก็ความพลัดพรากจากสิ่งที่รัก ก็เป็นทุกข์ เป็นไฉน ความไม่ประสบความไม่พรั่งพร้อม ความไม่ร่วม ความไม่ระคน ด้วยรูป เสียง กลิ่น รสโผฏฐัพพะ อันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ หรือด้วยบุคคลผู้ปรารถนา

ประโยชน์ ปรารถนาสิ่งที่เกื้อกูล ปรารถนาความผาสุก ปรารถนาความเกษมจากโยคะ คือ มารดา บิดา พี่ชาย น้องชาย พี่หญิง น้องหญิง มิตร อมาตย์หรือ ญาติสาโลหิต ซึ่งมีแก่ผู้นั้น อันนี้เรียกว่า ความพลัดพรากจากสิ่งที่รักก็เป็นทุกข์ ฯ

             ก็ปรารถนาสิ่งใดไม่ได้ แม้อันนั้น ก็เป็นทุกข์ เป็นไฉน ความปรารถนาย่อมบังเกิดแก่สัตว์ผู้มีความเกิดเป็นธรรมดา อย่างนี้ว่า โอหนอ ขอเราไม่พึงมีความเกิดเป็นธรรมดา ขอความเกิดอย่ามีมาถึงเราเลย ข้อนั้นสัตว์ไม่พึงได้สมความปรารถนา แม้ข้อนี้ ก็ชื่อว่าปรารถนาสิ่งใดไม่ได้ แม้อันนั้นก็เป็นทุกข์ ความปรารถนาย่อมบังเกิดแก่สัตว์ผู้มีความแก่เป็นธรรมดา อย่างนี้ว่า โอหนอ ขอเราไม่พึงมีความแก่เป็นธรรมดา ขอความแก่อย่ามีมาถึงเราเลย ข้อนั้นสัตว์ไม่พึงได้สมความปรารถนา แม้ข้อนี้ ก็ชื่อว่าปรารถนาสิ่งใดไม่ได้ แม้อันนั้นก็เป็นทุกข์

ความปรารถนาย่อมบังเกิดแก่สัตว์ผู้มีความเจ็บเป็นธรรมดาอย่างนี้ว่า โอหนอ ขอเราไม่พึงมีความเจ็บเป็นธรรมดา ขอความเจ็บอย่ามีมาถึงเราเลย ข้อนั้นสัตว์ไม่พึงได้สมความปรารถนา แม้ข้อนี้ ก็ชื่อว่า ปรารถนาสิ่งใดไม่ได้ แม้อันนั้นก็เป็นทุกข์ ความปรารถนาย่อมบังเกิดแก่สัตว์ผู้มีความตายเป็นธรรมดาอย่างนี้ว่า โอหนอขอเราไม่พึงมีความตายเป็นธรรมดา ขอความตายอย่ามีมาถึงเราเลย ข้อนั้นสัตว์ไม่พึงได้สมความปรารถนา แม้ข้อนี้ ก็ชื่อว่าปรารถนาสิ่งใดไม่ได้ แม้อันนั้นก็เป็นทุกข์ ความปรารถนา ย่อมบังเกิดแก่สัตว์ผู้มีโสกปริเทวทุกขโทมนัสอุปายาสเป็นธรรมดาอย่างนี้ว่า โอหนอ ขอเราไม่พึงมีโสกปริเทวทุกขโทมนัสอุปายาสเป็นธรรมดา ขอโสกปริเทวทุกขโทมนัสอุปายาส อย่ามีมาถึงเราเลย ข้อนั้นสัตว์ไม่พึงได้สมความปรารถนา แม้ข้อนี้ ก็ชื่อว่าปรารถนาสิ่งใดไม่ได้ แม้อันนั้นก็เป็นทุกข์ ฯ

             ก็โดยย่อ อุปาทานขันธ์ ๕ เป็นทุกข์ เป็นไฉน อุปาทานขันธ์ คือรูปเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เหล่านี้เรียกว่า โดยย่อ อุปาทานขันธ์ทั้ง ๕ เป็นทุกข์ ฯ

             ดูก่อนฯ อันนี้เรียกว่า ทุกขอริยสัจ ฯ

ทุกข์เพราะอุปาทานขันธ์  อุปาทาน แปลว่าการยึดมั่นถือมั่น, การนึกเอาเองแล้วยึดมั่นถือมั่นว่าจะต้องเป็นอย่างนั้น ๆ  ขันธ์  แปลว่า ส่วนหนึ่ง ๆ ของรูปกับนามที่แยกออกเป็น ๕ กอง คือ รูป เวทนา สัญญาสังขาร วิญญาณ 

อุปาทานขันธ์ คืออะไร
ปรากฏข้อความใน  ปัญจักขันธสูตร  ปัญหา สิ่งที่เรียกว่า อุปาทานขันธ์ นั้น คืออะไร?
พุทธดำรัสตอบ “.....ดูก่อนฯ รูป.... เวทนา...สัญญา... สังขาร...วิญญาณ อย่างใดอย่างหนึ่ง เป็นอดีต อนาคต ปัจจุบัน เป็นภายในหรือภายนอก หยาบหรือละเอียด เลวหรือประณีตอยู่ในที่ไกลหรือใกล้ มีอาสวะ ในตัว เป็นปัจจัยแก่อุปาทาน นี้เรียกว่าอุปาทาน ขันธ์คือ รูป.... เวทนา...สัญญา... สังขาร...วิญญาณ...ดูก่อน....เหล่านี้เรียกว่าอุปาทานขันธ์ ๕”

อายตนะกับไตรลักษณ์
ปรากฏข้อความในอนิจจวรรค  ปัญหา อายตนะภายในและภายนอกเกี่ยวข้องกับไตรลักษณ์อย่างไร ?
พุทธดำรัสตอบ “ดูก่อนฯ ตา... หู... จมูก... ลิ้น... กาย... ใจ...เป็นของไม่เที่ยง สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์ สิ่งใดเป็นทุกข์ สิ่งนั้นเป็นอนัตตา....
“ตา... หู... จมูก... ลิ้น... กาย... ใจ...เป็นทุกข์ สิ่งใดเป็นทุกข์ สิ่งนั้นเป็นอนัตตา....
“ตา... หู... จมูก... ลิ้น... กาย... ใจ...เป็นอนัตตา สิ่งใดเป็นอนัตตา ท่านทั้งหลายพึงเห็นด้วยปัญญาอันชอบตามความเป็นจริงว่า นั่นไม่ใช่ของเรา นั่นไม่เป็นเรา นั่นไม่ใช่อัตตาของเรา....
“ดูก่อนฯ รูป... เสียง... กลิ่น... รส... โผฏฐัพพะ...ธรรมารมณ์ เป็นของไม่เที่ยง สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์ สิ่งใดเป็นทุกข์ สิ่งนั้นเป็นอนัตตา....
“รูป... เสียง... กลิ่น... รส... โผฏฐัพพะ...ธรรมารมณ์ เป็นทุกข์ สิ่งใดเป็นทุกข์ สิ่งนั้นเป็นอนัตตา....
“รูป... เสียง... กลิ่น... รส... โผฏฐัพพะ...ธรรมารมณ์ เป็นอนัตตา สิ่งใดเป็นอนัตตา สิ่งนั้นท่านทั้งหลายพึงเห็นด้วยปัญญาอันชอบตามความเป็นจริงว่า มันไม่ใช่ของเรา....
“ดูก่อนฯ. ตา... หู... จมูก... ลิ้น... กาย... ใจ...ที่เป็นอดีตและอนาคต เป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา จะกล่าวไปไยถึง ตา... หู... จมูก... ลิ้น... กาย... ใจ...ที่เป็นปัจจุบันเล่า อริยสาวกผู้ได้เรียนรู้แล้วเห็นอยู่อย่างนี้ย่อมไม่มีเยื่อใยในตา... หู... จมูก... ลิ้น... กาย... ใจ...ที่เป็นอดีตย่อมไม่เพลิดเพลินตา... หู... จมูก... ลิ้น... กาย... ใจ...ที่เป็นอนาคตย่อมปฏิบัติเพื่อดับตา... หู... จมูก... ลิ้น... กาย... ใจ... ที่เป็นปัจจุบัน
“ดูก่อนฯ รูป... เสียง... กลิ่น... รส... โผฏฐัพพะ...ธรรมารมณ์ 
ที่เป็นอดีตและอนาคต เป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา จะกล่าวไปไยถึง รูป... เสียง... กลิ่น... รส... โผฏฐัพพะ...ธรรมารมณ์ ที่เป็นปัจจุบัน อริยสาวกผู้ได้เรียนรู้แล้วเห็นอยู่อย่างนี้ย่อมไม่มีเยื่อใยในรูป... เสียง... กลิ่น... รส... โผฏฐัพพะ...ธรรมารมณ์ ที่เป็นอนาคตย่อมปฏิบัติเพื่อดับรูป... เสียง... กลิ่น... รส... โผฏฐัพพะ...ธรรมารมณ์ ที่เป็นปัจจุบัน...”

อายตนะกับทุกข์
ปรากฏข้อความในอุปปาทสูตร ปัญหา อายตนะกับทุกข์เกี่ยวข้องกันอย่างไร?
พุทธดำรัสตอบ “ดูก่อนฯ ความเกิดขึ้น ความตั้งอยู่ ความบังเกิด ความปรากฏแห่ง ตา... หู... จมูก... ลิ้น... กาย... ใจ...รูป... เสียง... กลิ่น... รส... โผฏฐัพพะ...ธรรมารมณ์ นี้เป็นความเกิดแห่งทุกข์ เป็นความตั้งอยู่แห่งโรค เป็นความปรากฏแห่งชราและมรณะ
“ส่วน ความดับ ความสงบ ความไม่มีแห่ง (อายตนะภายใน ๖ ภายนอก ๖) นี้เป็นความเกิดแห่งทุกข์ เป็นความสงบแห่งโรค เป็นความไม่มีแห่งชราและมรณะ....”

ใครเป็นผู้สร้าง 
ปรากฏข้อความใน  ปัจจัยสูตร นิ. สํ  ปัญหา ทุกข์ทั้งปวง ตั้งแต่อวิชชาเป็นต้นไปถึง ชาติ ชรา มรณะ มีใครเป็นผู้สร้างหรือไม่?
พุทธดำรัสตอบ “...ดูก่อนฯ เพราะชาติเป็นปัจจัย จึงมีชราและมรณะ..เพราะภพเป็นปัจจัย จึงมีชาติ..
เพราะอุปทานเป็นปัจจัย จึงมีภพ...เพราะตัณหาเป็นปัจจัย จึงมีอุปทาน...เพราะเวทนาเป็นปัจจัย จึงมีตัณหา....
เพราะผัสสะเป็นปัจจัย จึงมีเวทนา....เพราะสฬายตนะเป็นปัจจัย จึงมีผัสสะ....เพราะนามรูปเป็นปัจจัย จึงมีสฬายตนะ....เพราะวิญญาณเป็นปัจจัย จึงมีนามรูป....เพราะสังขารเป็นปัจจัย จึงมีวิญญาณ....เพราะอวิชชาเป็นปัจจัย จึงมีสังขาร....เพราะตถาคตทั้งหลายเสด็จอุบัติขึ้นก็ตาม ไม่เสด็จอุบัติขึ้นก็ตาม ธาตุอันนั้น คือ ธรรมฐิติ (เป็นสภาพตั้งอยู่ตามธรรมดา) ธรรมนิยาม (เป็นสภาพแน่นอนตามธรรมดา) อิทัปปัจจัย (เป็นมูลเหตุอันแน่นอน) ก็ยังดำรงอยู่ พระตถาคตย่อมตรัสรู้ ย่อมตรัสรู้ทั่วถึงซึ่งธาตุอันนั้น ครั้นแล้วย่อมตรัสบอก ทรงแสดงบัญญัติ แต่งตั้ง เปิดเผย จำแนก กระทำ ให้ตื้น และตรัสว่าท่านทั้งหลายจงดูดังนี้.....”

เหตุที่คนไม่รู้ทุกข์

อวิชชาคือไม่รู้อะไร
ปรากฏข้อความใน อวิชชาสูตร ปัญหา อวิชชา ความไม่รู้นั้น หมายถึงไม่รู้อะไร?
พุทธดำรัสตอบ “...ดูก่อนฯ ปุถุชนผู้มิได้เรียนรู้ในโลกนี้ ไม่รู้ชัดซึ่งรูป....เวทนา...สัญญา...สังขาร...วิญญาณ ไม่รู้ชัดซึ่งเหตุเกิดแห่งรูป....เวทนา...สัญญา...สังขาร...วิญญาณ ไม่รู้ชัดซึ่งความดับแห่งรูป....เวทนา...สัญญา... สังขาร...วิญญาณ ไม่รู้ชัดซึ่งหนทางให้ถึงความดับรูป...เวทนา...สัญญา...สังขาร...วิญญาณนี้เรียกว่าอวิชชา”

อวิชชาก็มีเหตุ
ปรากฏใน  อวิชชาสูตร  ปัญหา ตามหลักปฏิจจสมุปบาทนั้น ทุกข์ทั้งหลายเมื่อไล่เลียงไปถึงที่สุดแล้วก็ไปหยุดแค่อวิชชา อยากทราบว่าอวิชชาเองมีอะไรเป็นเหตุหรือไม่?
พุทธดำรัสตอบ “...ดูก่อนฯ เราย่อมกล่าวอวิชชาว่ามีอาหาร มิได้กล่าวว่าไม่มีอาหาร ก็อะไรเป็นอาหารของอวิชชา ควรจะกล่าวว่านิวรณ์ ๕ ก็อะไรเป็นอาหารของนิวรณ์ ๕ ควรจะกล่าวว่าทุจริต ๓ ก็อะไรเป็นอาหารของทุจริต ๓ ควรจะกล่าวว่าการไม่สำรวมอินทรีย์ ก็อะไรเป็นอาหารแห่งการไม่สำรวมอินทรีย์ ควรจะกล่าวว่าความไม่มีสติสัมปชัญญะ ก็อะไรเป็นอาหารของความไม่มีสติสัมปชัญญะ ควรกล่าวว่า การกระทำไว้ในใจโดยไม่แยบคาย อะไรเป็นอาหารของการกระทำไว้ในใจโดยไม่แยบคาย ควรจะกล่าวว่าความไม่มีศรัทธา ก็อะไรเป็นอาหารของความไม่มีศรัทธา ควรจะกล่าวว่าการไม่ฟังธรรม ก็อะไรเป็นอาหารของการไม่ฟังธรรม ควรกล่าวว่าการไม่คบสัตบุรุษ..ฯ”

อริยสัจจ์เป็นเรื่องด่วน
ปรากฏข้อความ  เจลสูตและสัตติสตสูตร มหา. สํ.  ปัญหา อริยสัจจ์ ๔ เป็นเรื่องเร่งรีบที่ควรจะตรัสรู้และเป็นเรื่องที่มีค่า ควรกระทำทุกสิ่งทุกอย่างเพื่อตรัสรู้ แม้จะลำบากแสนสาหัสก็ตามอย่างไร ?
พุทธดำรัสตอบ “ ดูก่อนฯ เมื่อผ้าโพกศีรษะหรือศีรษะถูกไฟไหม้ ควรจะทำอย่างไร....ควรกระทำความต้องการอย่างรุนแรง ความพยายาม ความอุตสาหะ....เพื่อจะดับผ้าโพกและศีรษะนั้น
“ ดูก่อนฯ  บุคคลควรเฉยเสีย ไม่เอาใจใส่ต่อผ้าโพกหรือศีรษะที่ถูกไฟไหม้อยู่ โดยที่แท้ควรสร้างความต้องการอย่างรุนแรง ความพยายาม ความอุตสาหะ...เพื่อจะตรัสรู้ อริยสัจจ์ ๔ ที่ยังมิได้ตรัสรู้....
“ ดูก่อนฯ เปรียบเหมือนบุรุษผู้มีอายุหนึ่งร้อยปี พึงกล่าวกับบุรุษผู้มีชีวิตร้อยปีอย่างนี้ว่า มาเถิดบุรุษผู้เจริญ คนทั้งหลายจักเอาหอกทิ่มแทงท่านในเวลาเช้า...เวลาเที่ยง....เวลาเย็น เวลาละร้อยเล่ม ท่านนั้นถูกเขาเอาหอกสามร้อยเล่มทิ่มแทงอยู่ทุก ๆ วัน จักมีชีวิตอยู่ร้อยปี และเมื่อเวลาล่วงไปครบหนึ่งร้อยปี จักได้ตรัสรู้อริยสัจจ์ ๔ ที่ยังไม่ได้ตรัสรู้
“ ดูก่อนฯ  กุลบุตรผู้มุ่งประโยชน์ควรจะรับเอาการลงทัณฑ์นั้นเพราะเหตุไร เพราะว่าการท่องเที่ยวไปในวัฏฏะนี้ ไม่มีใครรู้ที่สุดได้ การประหารด้วยหอก ดาบ หลาว และควาน ย่อมไม่ปรากฏมีเบื้องต้นหรือที่สุดถ้าแม้นว่า จะถูกประหารในวาระสุดท้ายเช่นนั้นจริง เราก็ไม่กล่าวว่าการตรัสรู้ อริยสัจจ์ ๔ นั้น เกิดขึ้นพร้อมด้วยความทุกข์ ความโทมนัส แต่เรากล่าวการอริยสัจจ์ ๔ นั้นว่าเกิดพร้อมด้วยความ สุขและโสมนัส...”

เหตุที่ได้ชื่อว่าอริยสัจ
ปรากฏข้อความใน  ตถสูตร มหา.สํ. ปัญหา เพราะเหตุไร ความจริง ๔ ประการ คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค จึงได้ชื่อว่า อริยสัจ?
พุทธดำรัสตอบ “ดูก่อนฯ อริยสัจ ๔ ประการนี้... คือ 
ทุกขอริยสัจ ทุกขสมุทัยอริยสัจ ทุกขนิโรธอริยสัจ ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ อริยสัจ ๔ ประการนี้แล เป็นของจริง เป็นของแท้ ไม่ผันแปร ไม่เปลี่ยนเป็นอย่างอื่น เพราะฉะนั้นจึงเรียกว่า อริยสัจ....เพราะฉะนั้นแหละเธอทั้งหลายพึงกระทำความเพียร เพื่อรู้ตามความเป็นจริง...”

ถ้ารู้อริยสัจก็ไม่ต้องตามล่าอาจารย์
ปรากฏข้อความใน อินทขีลสูตร มหา. สํ.  ปัญหา คนชนิดไหน ไม่มีความมั่นใจในพระสัทธรรมคอยแต่ละหาอาจารย์องค์นั้นองค์นี้ ? และคนชนิดไหนมีความมั่นใจในพระสัทธรรมอย่างแน่นอนมั่นคง ?
พุทธดำรัสตอบ “ ดูก่อนฯ สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่ง ย่อมไม่รู้ชัดตามความเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้นต้องคอยมองดูหน้าสมณะหรือพราหมณ์อื่น ด้วยหวังว่าท่านผู้นี้น่าจะรู้น่าจะเห็นอย่างแน่นอน เปรียบเหมือนปุยนุ่นหรือปุยฝายที่เบา ลมพัดเอาได้ง่าย ที่เขาวางไว้บนพื้นอันราบเสมอแล้ว ลมทิศตะวันออกพึงพัดเอาปุยนุ่นหรือปุยฝ้ายนั้นไปทางทิศตะวันตกได้ ลมทิศตะวันตกพึงพัดเอา...ไปทางทิศตะวันออกได้ ลมทิศเหนือพึงพัดเอา...ไปทางทิศใต้ได้ ลมทิศใต้พึงพัดเอา...ไปทางทิศเหนือได้ เพราะเหตุไร เพราะปุยนุ่นหรือปุยฝ้ายนั้นเป็นของเบา...
“ ดูก่อนฯ สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่ง ย่อมรู้ตามความเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ ฯลฯ นี้ทางปฏิบัติไปสู่ความดับทุกข์ สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้น ย่อมไม่ต้องคอยมองดูหน้าของสมณะหรือพราหมณ์อื่น.... เปรียบเหมือนเสาเหล็กหรือเสาหิน มีรากลึกฝังไว้ดีแล้ว ไม่หวั่นไหว ไม่เอนเอียง ถึงแม้ลมฝนจะอันแรงกล้าจะพัดมาจากทิศตะวันออก....ทิศตะวันตก....ทิศเหนือ...ทิศใต้ก็ไม่สะเทือน สะท้านหวั่นไหวเพราะเหตุไร เพราะรากลึกฝังไว้ดีแล้ว...”

ภาพอธิบาย  รูป นาม

 

กาย(รูป)กับจิต(นาม)อยู่ด้วยกัน  จะทราบว่ามีกายกับจิตแยกออจากกันได้ด้วยการปฏิบัติสมาธิภาวนาและวิปัสสนา จนเกิดฌาน 4  และเมื่อเกิดฌานจะเกิดญาณคือการหยั่งรู้  จะรู้ด้วยตนเอง 

วัฏฏะ คือความวน หรือความเวียน ตามหลักธรรมในพุทธศาสนา

คนตายแต่กาย
ปรากฏข้อความใน มหานามสูตร ปัญหา มีหลักฐานอะไรบ้าง ที่พระพุทธองค์ตรัสรับรองว่าคนเราตายแต่กายเท่านั้น ส่วนจิตยังสืบต่อไปเกิดในภพหน้าได้?
พุทธดำรัสตอบ “ ดูก่อนมหาบพิตร จิตของผู้ใดผู้หนึ่งที่อบรมแล้วด้วยศรัทธา  ศีล สุตะ จาคะ ปัญญามาเป็นเวลานาน กายนี้ของผู้นั้น มีรูปประกอบด้วยมหาภูตรูป ๔ เกิดแต่มารดาบิดาเติบโตขึ้นมาด้วยข้าวสุกและขนมสด มีความไม่เที่ยง ต้องขัดสีนวดฟั้น และจะต้องแตกกระจัดกระจายไปเป็นธรรมดา พวกกา แร้ง เหยี่ยว สุนัขบ้าน สุนัขจิ้งจอก หรือสัตว์นานาชนิด ย่อมกัดกินกายนี้แล ส่วนจิตของผู้นั้นที่อบรมแล้วด้วยศรัทธา ศีล สุตะ จาคะ ปัญญามาเป็นเวลานาน ย่อมเป็นสิ่งไปในเบื้องบน เป็นสิ่งถึงภูมิอันวิเศษ...เปรียบเหมือนบุรุษลงไปยังห้วงน้ำลึก แล้วพึงทุบหม้อเนยใส หรือหม้อน้ำมันสิ่งใดที่มีอยู่ในหม้อนั้น จะเป็นก้อนกรวดหรือกระเบื้องก็ตาม สิ่งนั้นจะจมลงสิ่งใดเป็นเนยใสหรือน้ำมัน สิ่งนั้นจะเป็นสิ่งลอยขึ้นบน เป็นสิ่งถึงวิเศษ....”

ผู้เขียน อธิบายตามความเห็นส่วนตัว กายตั้งแต่เด็กจนเป็นผู้ใหญ่พ่อแม่เลี้ยงด้วยข้าวปลาอาหารแต่เมื่อแก่ ชรา และตาย ร่างกายก็สลายไปแต่จิตของบุคคลที่มีศรัทธา มีศีล มีการฟัง อ่าน ศึกษาธรรมะ มีการบริจาค และมีปัญญา จิตผู้นั้นจะไปเป็นเทวดา พรหม ภพภูมิที่สูง

วัฏสงสารที่ไม่มีเบื้องต้นเบื้องปลาย
ปรากฏข้อความใน  ติณกัฏฐสูตร นิ. สํ.   ปัญหา เราอาจจะทราบได้ไหมว่า เราเริ่มเกิดขึ้นในวัฏสงสารเมื่อใดและจะสิ้นสุดลงเมื่อใด ?
พุทธดำรัสตอบ “.....ดูก่อนฯ สงสารนี้กำหนดที่สุดเบื้องต้น เบื้องปลายไม่ได้ เมื่อเหล่าสัตว์ผู้มีอวิชชาเป็นเครื่องกางกั้น มีตัณหาเป็นเครื่องประกอบไว้ ท่องเที่ยวไปมาอยู่ ที่สุดเบื้องต้นย่อมไม่ปรากฏ
“.....ดูก่อนฯ  เหมือนอย่างว่า บุรุษตัวทอนหญ้าไม้ กิ่งไม้ใบไม้ ในชมพูทวีปนี้ แล้วจึงรวมกันไว้ ครั้นแล้ว พึงกระทำให้เป็นมัดมัดละ ๔ นิ้ว วางไว้ สมมติว่านี้เป็นมารดาของเรา นี้เป็นมารดาของมารดาของเราโดยลำดับ มารดาของมารดาแห่งบุรุษนั้น ไม่พึงสิ้นสุด ส่วนว่าหญ้าไม้ กิ่งไม้ ใบไม้ในชมพูทวีปนี้ พึงถึงการหมดสิ้นไปข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะว่าสงสารนี้กำหนดที่สุดเบื้องต้นเบื้องปลายไม่ได้ เมื่อเหล่าสัตว์ผู้มีอวิชชาเป็นเครื่องกางกั้น มีตัณหาเป็นเครื่องประกอบไว้ท่องเที่ยวไปมาอยู่ ที่สุดเบื้องต้นย่อมไม่ปรากฏ พวกเธอได้เสวยทุกข์ ความเผ็ดร้อน ความพินาศ ได้เพิ่มพูนปฏพีที่เป็นป่าช้าตลอดกาลนาน ฉะนั้น ดูก่อนฯ ก็เหตุเพียงเท่านี้พอทีเดียวเพื่อจะเบื่อหน่ายในสังขารทั้งปวง พอเพื่อจะคลายกำหนัด พอเพื่อจะหลุดพ้น ดังนี้”

ปฏิบัติธรรม

มรรค ๘ 

สัมมาทิฐิเป็นประธาน
ปรากฏข้อความใน มหาจัตตารีสกสูตร อุ. ม. ปัญหา ในบรรดาองค์ ๘ ประการของมรรค ๘ นั้น องค์ไหนจัดว่าสำคัญที่สุด ?
พุทธดำรัสตอบ “.....ดูก่อนฯ บรรดาองค์ทั้ง ๘ นั้น สัมมาทิฐิย่อมเป็นประธาน ก็สัมมาทิฐิย่อมเป็นประธานอย่างไร คือเมื่อมีสัมมาทิฐิ สัมมาสังกัปปะจึงพอเหมาะได้ เมื่อมีสัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจาจึงพอเหมาะได้เมื่อมีสัมมาวาจา สัมมากัมมันตะจึงพอเหมาะได้ เมื่อมีสัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะจึงพอเหมาะได้ เมื่อมีสัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะจึงพอเหมาะได้ เมื่อมีสัมมาวายามะ สัมมาสติจึงพอเหมาะได้ เมื่อมีสัมมาสติ สัมมาสมาธิจึงพอเหมาะได้ เมื่อมีสัมมาสมาธิ สัมมาญาณะจึงพอเหมาะได้ เมื่อสัมมาญาณะ สัมมาวิมุติจึงพอเหมาะได้ ดูก่อนฯ ด้วยประการฉะนี้แล พระเสขะผู้ประกอบด้วยองค์ ๘ จึงเป็นพระอรหันต์ประกอบด้วยองค์ ๑๐”

สัมมาทิฐิคืออะไร 
ปรากฏข้อความใน  กัจจานโคตตสูตร นิ. สํ.  ปัญหา (พระกัจจานโคตรทูลถาม ที่เรียกว่า สัมมาทิฐิ สัมมาทิฐิ ดังนี้ด้วยเหตุเพียงเท่าไรหนอจึงชื่อว่า สัมมาทิฐิ?
พุทธดำรัสตอบ “.....ดูก่อนกัจจานะ โลกนี้โดยมากอาศัยส่วนสุด ๒ อย่าง คือ ความมี (สัสสตทิฏฐิ-ความเห็นว่าสิ่งทั้งปวงเที่ยง - มีอยู่ตลอดไป) ๑ ความไม่มี (อุจเฉททิฏฐิ ความเป็นว่าสิ่งทั้งปวงขาดสูญไม่มี) ๑ ก็เมื่อบุคคลเห็นความเกิดแห่งโลกด้วยปัญญาอันชอบตามเป็นจริงแล้ว ความ (เห็นว่า) ไม่มีในโลก ย่อมไม่มี เมื่อบุคคลเห็นความดับแห่งโลกด้วยปัญญาอันชอบตามเป็นจริงแล้ว ความ (เห็นว่า) มีในโลกย่อมไม่มี
“โลกนี้โดยมาก ยังพัวพันด้วย อุบาย อุปาทาน และอภินิเวส(ธรรมทั้งปวงไม่ควรยึด) แต่พระอริยสาวกย่อมไม่เข้าถึง ไม่ถือมั่น ไม่ตั้งไว้ ซึ่งอุบายและอุปาทานนั้น อันเป็นอภินิเวสและอนุสัย(กิเลสที่สงบนิ่งอยู่ในสันดาน, กิเลสอย่างละเอียด มี ๗ อย่าง) อันเป็นที่ตั้งมั่นแห่งจิตว่า อัตตาของเราดังนี้ ย่อมไม่เคลือบแคลงสงสัยว่า ทุกข์นั้นแหละเมื่อบังเกิดขึ้นย่อมบังเกิดขึ้น ทุกข์เมื่อดับย่อมดับ พระอริยสาวกนั้นมีญาณหยั่งรู้ในเรื่องนี้ โดยไม่ต้องเชื่อผู้อื่นเลย ด้วยเหตุเพียงเท่านี้แล.... จึงชื่อว่าสัมมาทิฐิ
“ดูก่อนกัจจานะ ส่วนสุดข้อที่หนึ่งนี้มีว่า สิ่งทั้งปวงมีอยู่ ส่วนสุดข้อที่สองมีอยู่ว่า สิ่งทั้งปวงไม่มี ตถาคตแสดงธรรมโดยสายกลาง ไม่เข้าไปใกล้ส่วนสุดทั้ง ๒ นั้นว่า เพราะอวิชชาเป็นปัจจัยจึงมีสังขาร เพราะสังขารเป็นปัจจัยจึงมีวิญญาณ...นามรูป..สฬายตนะ...ผัสสะ...เวทนา...อุปาทาน...ภพ....ชาติ ชรา มรณะ โสกปริเทวทุกข์โทมนัส อุปายาส ความเกิดขึ้นแห่งกองทุกข์ทั้งมวลย่อมมีได้ด้วยประการฉะนี้.....”

วิธีละมิจฉาทิฏฐิ
มีข้อความบัญญัติไว้ใน มิจฉาทิฏฐิสูตร สฬา. สํ ปัญหาทำอย่างไรจึงจะละมิจฉาทิฏฐิ สักกายทิฏฐิ และอัตตานุทิฏฐิได้ ?
พุทธดำรัสตอบ “ดูก่อนฯ บุคคลผู้เห็นจักษุ... หู... จมูก... ลิ้น... กาย... ใจ... ว่าเป็นของไม่เที่ยง จึงจะละมิจฉาทิฏฐิ รู้เห็น รูป... เสียง... กลิ่น... รส... โผฏฐัพพะ... ธรรมารมณ์.... รู้เห็น จักขุวิญญาณ... โสตวิญญาณ... ฆานวิญญาณ.... ชิวหาวิญญาณ... กายวิญญาณ... มโนวิญญาณ... รู้เห็น จักขุสัมผัส... โสตสัมผัส...ฆานสัมผัส... ชิวหาสัมผัส... กายสัมผัส... มโนสัมผัส... รู้เห็นแม้สุขเวทนา ทุกขเวทนา หรืออทุกขมสุขเวทนาที่เกิดขึ้น เพราะผัสสะเหล่านี้เป็นปัจจัย ว่าเป็นของไม่เที่ยงจึงจะละมิจฉาทิฏฐิได้
“ดูก่อนฯ บุคคลผู้เห็นจักษุ (เป็นต้นนั้น) ว่าเป็นทุกข์ จึงจะละสักกายทิฏฐิได้
“ดูก่อนฯ บุคคลผู้เห็นจักษุ...เป็นต้นนั้น) ว่าเป็นอนัตตา จึงจะละสักกายทิฏฐิได้....”

ทางปฏิบัติสุดโต่ง ๒ อย่าง   ปรากฏข้อความในตถาคตสูตร  ปัญหา ทางปฏิบัติแบบปลายสุดสองอย่างที่นักบวชในอินเดียสมัยพุทธกาลนิยมปฏิบัติกันอยู่คืออะไร ?
พุทธดำรัสตอบ “ ดูก่อนฯ ทางสุดโต่งสองอย่างนี้บรรพชิตไม่ควรเข้าใกล้ ทางสุดโต่งสองอย่างนั้นคืออะไร? คือการประกอบมัวเมาในกามสุข ในสิ่งที่น่าใคร่ทั้งหลายอันต่ำทราม เป็นของชาวบ้าน เป็นของปุถุชน ไม่ประเสริฐ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ๑ การประกอบมัวเมาในการทรมานตนให้ลำยาก เป็นทุกข์ ไม่ประเสริฐ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ๑ ข้อปฏิบัติอันเป็นทางสายกลาง ไม่เข้าไปใกล้ทางสุดโต่งทั้งสองนั้น ตถาคตได้ตรัสรู้แล้วที่สร้างดวงตา สร้างฌาณ เป็นไปเพื่อความสงบ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อการตรัสรู้ เพื่อนิพพาน ข้อปฏิบัติอันเป็นทางสายกลางนั้น...คืออริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ ประการนี้แล.....”

การปฏิบัติธรรมที่ได้รับอานิสงน์ผลบุญมากพุทธเจ้าตรัสไว้ ตามพระไตรปิฏก  เวลามสูตร  ไล่ไปจากน้อยไปมากดังนี้

ทาน   หมายถึง   การให้  ใช้เงินหรือทรัพย์  ได้บุญน้อยกว่าการรักษาศีล

ยอดของทาน  ปรากฏข้อความในกินททสูตรที่ ๒

เทวดาทูลถามว่าบุคคลให้สิ่งอะไรชื่อว่าให้กำลัง ให้สิ่งอะไรชื่อว่าให้วรรณะให้สิ่งอะไรชื่อว่าให้ความสุข ให้สิ่งอะไรชื่อว่าให้จักษุและบุคคลเช่นไรชื่อว่าให้ทุกสิ่งทุกอย่าง ข้าพระองค์ทูลถามพระองค์ ขอพระองค์ตรัสบอกแก่ข้าพระองค์ด้วยเถิด ฯ

พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่าบุคคลให้อาหารชื่อว่าให้กำลัง ให้ผ้าชื่อว่าให้วรรณะ ให้ยานพาหนะชื่อว่าให้ความสุข ให้ประทีปโคมไฟชื่อว่าให้จักษุและผู้ที่ให้ที่พักพาอาศัยชื่อว่าให้ทุกสิ่งทุกอย่าง ส่วนผู้ที่พร่ำสอนธรรมชื่อว่าให้อมฤตธรรม ฯ(อมฤตธรรมแปลว่าธรรมที่เป็นน้ำทิพย์,เครื่องทิพย์)

ศีล หมายถึง  ข้อบัญญัติทางพระพุทธศาสนาที่กําหนดการปฏิบัติกายและวาจา เช่น ศีล ๕  การรักษาศีลได้บุญโดยที่ไม่ใช้เงิน  การรักษาศีลได้บุญน้อยกว่าการปฏิบัติเจริญภาวนาหรือสมาธิ  ศีลส่งเสริมอริยมรรค
ปรากฏข้อความในพลกรณียสูตร ปัญหาธรรมอะไรเป็นรากฐานแห่งความเจริญงอกงามแห่งอริยมรรคมีองค์ ๘  
พุทธดำรัสตอบ “ดูก่อนฯ การงานที่พึงทำด้วยกำลังที่บุคคลทำอยู่ใด ๆ งานทั้งหมดนั้น คนอาศัยแผ่นดิน ยืนอยู่บนแผ่นดินจึงทำได้... แม้ฉันใด...
“พืชคามและภูตคามชนิดใดชนิดหนึ่ง ที่เจริญงอกงามใหญ่โต...ทั้งหมดนั้นอาศัยแผ่นดิน ตั้งอยู่บนแผ่นดิน จึงถึงความเจริญงอกงามใหญ่โต...แม้ฉันใด
“......อาศัยศีล ตั้งอยู่ในศีลแล้ว จึงเจริญ....เพิ่มพูนอริยมรรคมีองค์ ๘ ฉันนั้นเหมือนกัน..”

สมาธิ หมายถึง  ความตั้งมั่นแห่งจิต; ความสํารวมใจให้แน่วแน่เพื่อให้จิตใจสงบหรือเพื่อให้เกิดปัญญาเห็นแจ้ง.การปฏิบัติสมาธิ  ที่เจริญภาวนาจนจิตเห็นความไม่เที่ยงได้บุญมากที่สุด ปรากฏข้อความในสัญญาสูตร

สมาธิเกื้อหนุนปัญญา  ปรากฏในสมาธิสูตร  ปัญหา สมาธิเป็นปัจจัยเกื้อหนุนแก่ปัญญาอย่างไร?
พุทธดำรัสตอบ “ ดูก่อนฯ เธอทั้งหลายจงเจริญสมาธิ ......ผู้มีใจตั้งมั่นแล้ว ย่อมรู้ตามความเป็นจริง รู้อะไรตามความเป็นจริง ? ย่อมรู้ตามความเป็นจริง มีทุกข์ นี้เหตุให้เกิดทุกข์ นี้ความดับทุกข์ นี้ทางปฏิบัติเพื่อไปสู่ความดับทุกข์...”
 ควรเจริญอนิจจสัญญา การเจริญอนิจสัญญา (ความหมายรู้ว่าสิ่งทั้งปวงเป็นอนิจจัง) ก่อให้เกิดผลประโยชน์อย่างไร? มีอุปมาด้วยอะไรบ้าง?
พุทธดำรัสตอบ “...ดูก่อนฯ อนิจจสัญญาอันบุคคลเจริญแล้วกระทำให้มากแล้ว ย่อมครอบงำกามราคะทั้งปวง... รูปราคะทั้งปวง...ภวราคะทั้งปวง...อวิชชาทั้งปวงได้ ย่อมถอนอัสมิมานะทั้งปวงได้ เปรียบเหมือนในถูดูใบไม้ร่วง ชาวนาไถนาด้วยไถคันใหญ่ ย่อมไถทำลายความสืบต่อแห่งราก....เหมือนคนเกี่ยวหญ้ามุงกระต่าย เกี่ยวแล้วจับปลายเขย่า ฟาดสลัดออก เหมือนเมื่อพวงมะม่วงหลุดจากขั้ว มะม่วงทั้งหมดที่ติดอยู่กับขั้ว ย่อมหยุดไปตามขั้วนั้น เหมือนไม้กลอนแห่งเรือนยอดทุกอันชี้ไปสู่ยอด ทอดไปสู่ยอดประชุมลงที่ยอด เหมือนไม้กระลำพัก ชนทั้งหลายกล่าวว่าเลิศกว่าไม้มีกลิ่นที่รากใดๆ เหมือนไม้จันทน์แดง ชนทั้งหลายกล่าวว่าเลิศกว่าไม้มีกลิ่นมีกลิ่นที่แก่นใคร ๆ เหมือนมะลิ ชนทั้งหลายกล่าวว่าเลิศกว่าไม้มีกลิ่นที่ดอกใดๆ เหมือนพระเจ้าจักรพรรดิ เลิศกว่าแสงดาวทั้งปวง เหมือนแสงพระจันทร์ เลิศกว่าแสงดาวทั้งปวง เหมือนในฤดูใบไม้ร่วงท้องฝ้าบริสุทธิ์ปราศจากเมฆ พระอาทิตย์ขึ้นสู่ท้องฟ้าย่อมส่องแสงและเปล่งแสงไพโรจน์กำจัดความมืดในอากาศทั่วไป..”

สรุปความหมายการปฏิบัติธรรมคือการให้ทาน  ถือศีล สมาธิภาวนาและวิปัสสนา  ณ  ที่นี้จะกล่าวเน้นถึงการปฏิบัติสมาธิภาวนาและวิปัสสนา    ดังที่พระพุทธพจน์ของสมเด็จสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้

ก้าวแรกในการปฏิบัติธรรม  ปรากฏข้อความใน สติสูตร  ปัญหา ธรรมข้อไหนจำเป็นในการปฏิบัติธรรมเบื้องต้น?
พุทธดำรัสตอบ “.....ดูก่อนฯ เมื่อสติสัมปชัญญะมีอยู่ หิริและโอตตัปปะชื่อว่ามีเหตุสมบูรณ์.. เมื่อหิริและโอตตัปปะมีอยู่ อินทรีย์สังวรชื่อว่ามีเหตุสมบูรณ์ เมื่ออินทรีย์สังวรมีอยู่ ศีลชื่อว่ามีเหตุอันสมบูรณ์... เมื่อศีลมีอยู่ สัมมาสมาธิชื่อว่ามีเหตุอันสมบูรณ์ .... เมื่อสัมมาสมาธิมีอยู่ ยถาภูตญาณทัสสนะชื่อวามีเหตุสมบูรณ์.... เมื่อยถาภูตญาณทัสสนะมีอยู่ นิพพิทาวิราคะชื่อว่ามีเหตุสมบูรณ์.... เมื่อนิพพิทาวิราคะมีอยู่ วิมุติญาณทัสสนะชื่อว่ามีเหตุอันสมบูรณ์ เปรียบเหมือนต้นไม้ที่มีกิ่งและใบสมบูรณ์ แม้กะเทาะของต้นไม้นั้นก็ย่อมบริบูรณ์ แม้เปลือก แม้กระพี้ แม้แก่นของต้นไม้นั้นก็ย่อมบริบูรณ์ฉะนั้น ฯ”

บำเพ็ญสมาธิทำไม 
ปรากฏข้อความใน  สมาธิสูตร  ปัญหา การบำเพ็ญสมาธินั้น มีจุดมุ่งหมายเพื่อจะทำลายกิเลส แล้วบรรลุมรรคผลเป็นพระอรหันต์เท่านั้นหรือ? หรือว่ามีจุดมุ่งหมายอย่างอื่นด้วย ? 
พุทธดำรัสตอบ “.....ดูก่อนฯ  สมาธิภาวนามีอยู่ ๔ ประการ คือ สมาธิภาวนาที่บุคคลเจริญแล้วเพิ่มพูนแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่ออยู่เป็นสุขในปัจจุบัน ๑.... ย่อมเป็นไปเพื่อให้เกิดจากเป็นแจ้งด้วยญาณ ๑.... ย่อมเป็นไปเพื่อ (ความสมบูรณ์แห่ง) สติสัมปชัญญะ ๑.... ย่อมเป็นไปเพื่อความหมดสิ้นแห่งอาสวะ ๑.....”

คุณค่าของสมถะและวิปัสสนา
ปรากฏข้อความใน พาลวรรคปฐมปัณณาสก์ร  ปัญหา การเจริญสมถวิปัสสนามีประโยชน์อย่างไรบ้าง?
พุทธดำรัสตอบ “...ดูก่อนฯ  ธรรม ๒ อย่างเป็นไปในส่วนแห่งวิชชา ธรรม ๒ อย่างเป็นไฉน คือ สมถะ ๑ วิปัสสนา ๑ ดูก่อนฯสมถะที่...เจริญแล้ว ย่อมเสวยประโยชน์อะไร ย่อมอบรมจิต จิตที่อบรมแล้วย่อมเสวยประโยชน์อะไร ย่อมละราคะได้ วิปัสสนาที่อบรมแล้ว ย่อมเสวยประโยชน์อะไร ย่อมอบรมปัญญา ปัญญาที่อบรมแล้วย่อมเสวยประโยชน์อะไร ย่อมละอวิชชาได้ปัญญาที่เศร้าหมองด้วยอวิชชา ย่อมไม่เจริญด้วยประการฉะนี้แล ดูก่อนฯเพราะสำรอกราคะได้ จึงชื่อว่าเจโตวิมุติเพราะสำรอกอวิชชาได้จึงชื่อว่าปัญญาวิมุต ฯ”

คำศัพท์ที่ควรรู้  อนุปัสสนา  แปลว่า  ตามเห็น ตามดูให้แจ้งหรือดูบ่อยๆ

วิปัสสนา ความเห็นแจ้ง, การฝึกอบรมปัญญาให้เกิดความเห็นแจ้งในสังขารทั้งหลายว่าเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา.

เจโตวิมุติ  แปลว่า  ความหลุดพ้นด้วยอํานาจแห่งจิต 

เครื่องประกอบสนับสนุนสัมมาสมาธิ  ปรากฏข้อความใน  สมาธิสูตร
พุทธดำรัสตอบ “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็สัมมาทิฏฐิอันประเสริฐ ที่มีที่อาศัย มีเครื่องประกอบคืออย่างไร? คือ สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะฯ สัมมาสติ
“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ความที่จิตมีอารมณ์เดียว ความที่จิตประกอบด้วยอุปกรณ์ ๗ อย่าง เหล่านี้เรียกว่า สัมมาสมาธิอันประเสริฐ มีทั้งที่อาศัย มีทั้งเครื่องประกอบ....”

วิธีเจริญอานาปานสติ 

ปรากฏข้อความในเอกธัมมสูตร อานาปานสังยุต   ปัญหา จะเจริญอานาปานสติอย่างไร จึงจะมีผลมาก มีอานิสงส์มาก ?
พุทธดำรัสตอบ “ ดูก่อนฯ  ในธรรมวินัยนี้อยู่ในป่าก็ดีอยู่โคนต้นไม้ก็ดี อยู่ที่เรือนว่างก็ดี นั่งคู้บัลลังก์ ตั้งกายตรง ดำรงสติไว้เฉพาะหน้า เธอมีสติหายใจออก หายใจเข้า เมื่อหายใจออกยาวก็รู้ชัดว่าหายใจออกยาว เมื่อหายใจออกสั้นก็รู้ชัดว่าหายใจออกสั้น ย่อมตัดสินใจว่าเราจักหายใจเข้า..ออก ให้รู้สึกว่าลมผ่านไปทั่วกาย...เราจักเสวยปีติหายใจเข้า-ออก....เราจักเสวยสุขภายใจเข้า-ออก... เราจักรู้ชัดองค์ประกอบทางจิตทั้งปวงหายใจเข้า-ออก...เราจักระงับจิตสังขารหายใจเข้า-ออก...เราจักรู้แจ้งจิตหายใจเข้า-ออก...เราจักทำจิตให้บันเทิงหายใจเข้า-ออก...เราจักตั้งจิตมั่นหายใจเข้า-ออก...เราจักปลดปล่อยจิตหายใจเข้า-ออก...เราจักพิจารณาความไม่เที่ยงหายใจเข้า-ออก... เราจักพิจารณาวิราคะธรรมหายใจเข้า-ออก...เราจักพิจารณานิโรธธรรมหายใจเข้า-ออก...เราจักพิจารณาความสลัดออกหายใจเข้า-ออก... ดูก่อนฯ อานาปานสติอัน....เจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว อย่างนี้แล ย่อมมีผลมาก มีอานิสงส์มาก”

                                        มหาสติปัฏฐานสูตร

            ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้-

            สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ในกุรุชนบท มีนิคมของชาวกุรุ ชื่อว่ากัมมาสทัมมะ ณ ที่นั้น พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเหล่านั้นทูลรับพระผู้มีพระภาคว่า พระพุทธเจ้าข้า พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระพุทธภาษิตนี้ว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย หนทางนี้เป็นที่ไปอันเอก เพื่อ

ความบริสุทธิ์ของเหล่าสัตว์ เพื่อล่วงความโศกและปริเทวะ เพื่อความดับสูญแห่งทุกข์และโทมนัส เพื่อบรรลุธรรมที่ถูกต้อง เพื่อทำให้แจ้งซึ่งพระนิพพานหนทางนี้ คือ สติปัฏฐาน ๔ ประการ ๔ ประการ เป็นไฉน ดูกรภิกษุทั้งหลายภิกษุในธรรมวินัยนี้ พิจารณาเห็นกายในกายอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะมีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้ ๑ พิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาอยู่มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้ ๑พิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและ

โทมนัสในโลกเสียได้ ๑ พิจารณาเห็นธรรมในธรรมอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะมีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้ ๑ ฯ

จบอุทเทสวารกถา 

 

             ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุพิจารณาเห็นกายในกายอยู่อย่างไรเล่าภิกษุในธรรมวินัยนี้ ไปสู่ป่าก็ดี ไปสู่โคนไม้ก็ดี ไปสู่เรือนว่างก็ดี นั่งคู้บัลลังก์ตั้งกายตรง ดำรงสติไว้เฉพาะหน้า เธอมีสติหายใจออก มีสติหายใจเข้า เมื่อหายใจออกยาว ก็รู้ชัดว่า เราหายใจออกยาว เมื่อหายใจเข้ายาว ก็รู้ชัดว่า เราหายใจเข้ายาว เมื่อหายใจออกสั้น ก็รู้ชัดว่า เราหายใจออกสั้น เมื่อหายใจเข้าสั้น ก็รู้ชัดว่า เราหายใจเข้าสั้น ย่อมสำเหนียกว่า เราจักเป็นผู้กำหนดรู้ตลอดกองลมหายใจทั้งปวงหายใจออก ย่อมสำเหนียกว่า เราจักเป็นผู้กำหนดรู้ตลอดกองลมหายใจทั้งปวงหายใจเข้า ย่อมสำเหนียกว่า เราจักระงับกายสังขารหายใจออกย่อมสำเหนียกว่า เราจักระงับกายสังขารหายใจเข้า ดูกรภิกษุทั้งหลาย นายช่างกลึงหรือลูกมือของนายช่างกลึงผู้ขยัน เมื่อชักเชือกกลึงยาว ก็รู้ชัดว่า เราชักยาวเมื่อชักเชือกกลึงสั้น ก็รู้ชัดว่า เราชักสั้น แม้ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้นเหมือนกันเมื่อหายใจออกยาว ก็รู้ชัดว่า เราหายใจออกยาว เมื่อหายใจเข้ายาว ก็รู้ชัดว่าเราหายใจเข้ายาว เมื่อหายใจออกสั้น ก็รู้ชัดว่า เราหายใจออกสั้น เมื่อหายใจเข้าสั้น ก็รู้ชัดว่า เราหายใจเข้าสั้น ย่อมสำเหนียกว่า เราจักเป็นผู้กำหนดรู้กองลมทั้งปวงหายใจออก ย่อมสำเหนียกว่า เราจักเป็นผู้กำหนดรู้กองลมทั้งปวงหายใจเข้าย่อมสำเหนียกว่า เราจักระงับกายสังขารหายใจออก ย่อมสำเหนียกว่า เราจักระงับกายสังขารหายใจเข้า ดังพรรณนามาฉะนี้ ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นกายในกายภายในบ้าง พิจารณาเห็นกายในกายภายนอกบ้าง พิจารณาเห็นกายในกายทั้งภายในทั้งภายนอกบ้าง พิจารณาเห็นธรรมคือความเกิดขึ้นในกายบ้าง พิจารณาเห็นธรรมคือความเสื่อมในกายบ้าง พิจารณาเห็นธรรมคือทั้งความเกิดขึ้นทั้งความเสื่อมในกายบ้าง ย่อมอยู่ อีกอย่างหนึ่ง สติของเธอที่ตั้งมั่นอยู่ว่า กายมีอยู่ ก็เพียงสักว่าความรู้ เพียงสักว่าอาศัยระลึกเท่านั้น เธอเป็นผู้อันตัณหาและทิฐิไม่อาศัยอยู่แล้ว และไม่ถือมั่นอะไรๆ ในโลก ดูกรภิกษุทั้งหลาย อย่างนี้แล ภิกษุชื่อว่าพิจารณาเห็นกายในกายอยู่ ฯ

จบอานาปานบรรพ

            ดูกรภิกษุทั้งหลาย อีกข้อหนึ่ง ภิกษุเมื่อเดิน ก็รู้ชัดว่าเราเดินเมื่อยืน ก็รู้ชัดว่าเรายืน เมื่อนั่ง ก็รู้ชัดว่าเรานั่ง เมื่อนอนก็รู้ชัดว่าเรานอน หรือเธอตั้งกายไว้ด้วยอาการอย่างใดๆ ก็รู้ชัดอาการอย่างนั้นๆ ดังพรรณนามาฉะนี้ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นกายในกายภายในบ้าง พิจารณาเห็นกายในกายภายนอกบ้างพิจารณาเห็นกายในกายทั้งภายในทั้งภายนอกบ้าง พิจารณาเห็นธรรม คือความเกิดขึ้นในกายบ้าง พิจารณาเห็นธรรมคือความเสื่อมในกายบ้าง พิจารณาเห็นธรรมคือทั้งความเกิดขึ้นทั้งความเสื่อมในกายบ้าง ย่อมอยู่ อีกอย่างหนึ่ง สติของเธอที่ตั้งมั่นอยู่ว่า กายมีอยู่ ก็เพียงสักว่าความรู้ เพียงสักว่าอาศัยระลึกเท่านั้น เธอเป็นผู้อันตัณหาและทิฐิไม่อาศัยอยู่แล้ว และไม่ถือมั่นอะไรๆ ในโลก ดูกรภิกษุทั้งหลายอย่างนี้แล ภิกษุชื่อว่าพิจารณาเห็นกายในกายอยู่ ฯ

จบอิริยาปถบรรพ

            ดูกรภิกษุทั้งหลาย อีกข้อหนึ่ง ภิกษุย่อมทำความรู้สึกตัวในการก้าว ในการถอย ในการแล ในการเหลียว ในการคู้เข้า ในการเหยียดออกในการทรงผ้าสังฆาฏิบาตรและจีวร ในการฉัน การดื่ม การเคี้ยว การลิ้ม ในการถ่ายอุจจาระและปัสสาวะ ย่อมทำความรู้สึกตัว ในการเดิน การยืน การนั่งการหลับ การตื่น การพูด การนิ่ง ดังพรรณนามาฉะนี้ ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นกายในกายภายในบ้าง พิจารณาเห็นกายในกายภายนอกบ้าง พิจารณาเห็นกายในกายทั้งภายในทั้งภายนอกบ้าง พิจารณาเห็นธรรมคือความเกิดขึ้นในกายบ้างพิจารณาเห็นธรรมคือความเสื่อมในกายบ้าง พิจารณาเห็นธรรมคือทั้งความเกิดขึ้นทั้งความเสื่อมในกายบ้าง ย่อมอยู่ อีกอย่างหนึ่ง สติของเธอที่ตั้งมั่นอยู่ว่า กายมีอยู่ ก็เพียงสักว่าความรู้ เพียงสักว่าอาศัยระลึกเท่านั้น เธอเป็นผู้อันตัณหาและทิฐิไม่อาศัยอยู่แล้ว และไม่ถือมั่นอะไรๆ ในโลก ดูกรภิกษุทั้งหลาย อย่างนี้แลภิกษุชื่อว่าพิจารณาเห็นกายในกายอยู่ ฯ

จบสัมปชัญญบรรพ

             ดูกรภิกษุทั้งหลาย อีกข้อหนึ่ง ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นกายนี้แหละ แต่พื้นเท้าขึ้นไป แต่ปลายผมลงมา มีหนังเป็นที่สุดรอบ เต็มด้วยของไม่สะอาดมีประการต่างๆ ว่า มีอยู่ในกายนี้ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ

เอ็น กระดูก เยื่อในกระดูก ม้าม หัวใจ ตับ พังผืด ไต ปอด ไส้ใหญ่ไส้ทบ อาหารใหม่ อาหารเก่า ดี เสลด หนอง เลือด เหงื่อ มันข้น น้ำตามันเหลว น้ำลาย น้ำมูก ไขข้อ มูตร ดูกรภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนไถ้มีปากสองข้าง เต็มด้วยธัญชาติต่างชนิดคือ ข้าวสาลี ข้าวเปลือก ถั่วเขียว ถั่วเหลืองงา ข้าวสาร บุรุษผู้มีนัยน์ตาดีแก้ไถ้นั้นแล้ว พึงเห็นได้ว่า นี้ข้าวสาลี นี้ข้าวเปลือก นี้ถั่วเขียว นี้ถั่วเหลือง นี้งา นี้ข้าวสาร ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้นเหมือนกัน ย่อมพิจารณาเห็นกายนี้แหละ แต่พื้นเท้าขึ้นไป แต่ปลายผมลงมา มีหนังเป็นที่สุดรอบ เต็มด้วยของไม่สะอาดมีประการต่างๆ ว่า มีอยู่ในกายนี้ ผม ขนเล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก เยื่อในกระดูก ม้าม หัวใจ ตับ พังผืด

ไต ปอด ไส้ใหญ่ ไส้ทบ อาหารใหม่ อาหารเก่า ดี เสลด หนอง เลือดเหงื่อ มันข้น น้ำตา มันเหลว น้ำลาย น้ำมูก ไขข้อ มูตร ดังพรรณนามาฉะนี้ ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นกายในกายภายในบ้าง พิจารณาเห็นกายในกายภายนอบ้าง พิจารณาเห็นกายในกายทั้งภายในทั้งภายนอกบ้าง พิจารณาเห็นธรรมคือความเกิดขึ้นในกายบ้าง พิจารณาเห็นธรรมคือความเสื่อมในกายบ้าง พิจารณาเห็นธรรมคือทั้งความเกิดขึ้นทั้งความเสื่อมในกายบ้าง ย่อมอยู่ อีกอย่างหนึ่ง สติของเธอที่ตั้งมั่นอยู่ว่า กายมีอยู่ ก็เพียงสักว่าความรู้ เพียงสักว่าอาศัยระลึกเท่านั้น

เธอเป็นผู้อันตัณหาและทิฐิไม่อาศัยอยู่แล้ว และไม่ถือมั่นอะไรๆ ในโลก ดูกรภิกษุทั้งหลาย อย่างนี้แล ภิกษุชื่อว่าพิจารณาเห็นกายในกายอยู่ ฯ

จบปฏิกูลมนสิการบรรพ

             ดูกรภิกษุทั้งหลาย อีกข้อหนึ่ง ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นกายนี้แหละ ซึ่งตั้งอยู่ตามที่ ตั้งอยู่ตามปรกติ โดยความเป็นธาตุว่า มีอยู่ในกายนี้ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม คนฆ่าโคหรือลูกมือของคนฆ่าโคผู้ขยัน ฆ่าโค

แล้ว แบ่งออกเป็นส่วน นั่งอยู่ที่หนทางใหญ่สี่แพร่ง ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้นเหมือนกัน ย่อมพิจารณาเห็นกายนี้แหละ ซึ่งตั้งอยู่ตามที่ ตั้งอยู่ตามปรกติ โดยความเป็นธาตุว่า มีอยู่ในกายนี้ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม ดังพรรณนามาฉะนี้ ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นกายในกายภายในบ้าง ฯลฯ อย่างนี้แล ภิกษุชื่อว่าพิจารณาเห็นกายในกายอยู่ ฯ

จบธาตุมนสิการบรรพ

            ดูกรภิกษุทั้งหลาย อีกข้อหนึ่ง ภิกษุเหมือนกะว่าพึงเห็นสรีระที่เขาทิ้งไว้ในป่าช้า ตายแล้ววันหนึ่งบ้าง สองวันบ้าง สามวันบ้าง ที่ขึ้นพอง มีสีเขียวน่าเกลียด มีน้ำเหลืองไหลน่าเกลียด เธอย่อมน้อมเข้ามาสู่กายนี้แหละว่าถึงร่างกายอันนี้เล่า ก็มีอย่างนี้เป็นธรรมดา คงเป็นอย่างนี้ ไม่ล่วงความเป็นอย่างนี้ไปได้ ดังพรรณนามาฉะนี้ ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นกายในกายภายในบ้าง ฯลฯอย่างนี้แล ภิกษุชื่อว่าพิจารณาเห็นกายในกายอยู่ ฯ

            ดูกรภิกษุทั้งหลาย อีกข้อหนึ่ง ภิกษุเหมือนกะว่าพึงเห็นสรีระที่เขาทิ้งไว้ในป่าช้า อันฝูงกาจิกกินอยู่บ้าง ฝูงนกตะกรุมจิกกินอยู่บ้าง ฝูงแร้งจิกกินอยู่บ้าง หมู่สุนัขกัดกินอยู่บ้าง หมู่สุนัขจิ้งจอกกัดกินอยู่บ้าง หมู่สัตว์ตัวเล็กๆต่างๆ กัดกินอยู่บ้าง เธอย่อมน้อมเข้ามาสู่กายนี้แหละว่า ถึงร่างกายอันนี้เล่าก็มีอย่างนี้เป็นธรรมดา คงเป็นอย่างนี้ ไม่ล่วงความเป็นอย่างนี้ไปได้ ดังพรรณนามาฉะนี้ ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นกายในกายภายในบ้าง พิจารณาเห็นกายในกายภายนอกบ้าง พิจารณาเห็นกายในกายทั้งภายในทั้งภายนอกบ้าง พิจารณาเห็นธรรมคือความเกิดขึ้นในกายบ้าง พิจารณาเห็นธรรมคือความเสื่อมในกายบ้าง พิจารณาเห็นธรรมคือทั้งความเกิดขึ้นทั้งความเสื่อมในกายบ้าง ย่อมอยู่ อีกอย่างหนึ่ง สติของเธอที่ตั้งมั่นอยู่ว่า กายมีอยู่ ก็เพียงสักว่าความรู้ เพียงสักว่าอาศัยระลึกเท่านั้นเธอเป็นผู้อันตัณหาและทิฐิไม่อาศัยอยู่แล้ว และไม่ถือมั่นอะไรๆ ในโลกดูกรภิกษุทั้งหลาย อย่างนี้แล ภิกษุชื่อว่าพิจารณาเห็นกายในกายอยู่ ฯ

             ดูกรภิกษุทั้งหลาย อีกข้อหนึ่ง ภิกษุเหมือนกะว่าพึงเห็นสรีระที่เขาทิ้งไว้ในป่าช้า เป็นร่างกระดูก ยังมีเนื้อและเลือด ยังมีเส้นเอ็นผูกรัดอยู่ ฯลฯ

            ดูกรภิกษุทั้งหลาย อีกข้อหนึ่ง ภิกษุเหมือนกะว่าพึงเห็นสรีระที่เขาทิ้งไว้ในป่าช้า เป็นร่างกระดูก ปราศจากเนื้อ แต่ยังเปื้อนเลือด ยังมีเส้นเอ็นผูกรัดอยู่ ฯลฯ

            ดูกรภิกษุทั้งหลาย อีกข้อหนึ่ง ภิกษุเหมือนกะว่าพึงเห็นสรีระที่เขาทิ้งไว้ในป่าช้า เป็นร่างกระดูก ปราศจากเนื้อและเลือดแล้ว ยังมีเส้นเอ็นผูกรัดอยู่ ฯลฯ

            ดูกรภิกษุทั้งหลาย อีกข้อหนึ่ง ภิกษุเหมือนกะว่าพึงเห็นสรีระที่เขาทิ้งไว้ในป่าช้า คือ เป็นกระดูก ปราศจากเส้นเอ็นผูกรัดแล้ว เรี่ยรายไปในทิศใหญ่ทิศน้อย คือ กระดูกมือไปทางหนึ่ง กระดูกเท้าไปทางหนึ่ง กระดูกแข้งไปทางหนึ่ง กระดูกขาไปทางหนึ่ง กระดูกสะเอวไปทางหนึ่ง กระดูกหลังไปทางหนึ่ง กระดูกสันหลังไปทางหนึ่ง กระดูกสีข้างไปทางหนึ่ง กระดูกหน้าอกไปทางหนึ่ง กระดูกไหล่ไปทางหนึ่ง กระดูกแขนไปทางหนึ่ง กระดูกคอไปทางหนึ่งกระดูกคางไปทางหนึ่ง กระดูกฟันไปทางหนึ่ง กะโหลกศีรษะไปทางหนึ่ง เธอย่อมน้อมเข้ามาสู่กายนี้แหละว่า ถึงร่างกายอันนี้เล่า ก็มีอย่างนี้เป็นธรรมดา คงเป็นอย่างนี้ ไม่ล่วงความเป็นอย่างนี้ไปได้ ดังพรรณนามาฉะนี้ ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นกายในกายภายในบ้าง พิจารณาเห็นกายในกายภายนอกบ้าง พิจารณาเห็นกายในกายทั้งภายในทั้งภายนอกบ้าง พิจารณาเห็นธรรมคือความเกิดขึ้นในกายบ้างพิจารณาเห็นธรรมคือความเสื่อมในกายบ้าง พิจารณาเห็นธรรมคือทั้งความเกิดขึ้นทั้งความเสื่อมในกายบ้าง ย่อมอยู่ อีกอย่างหนึ่ง สติของเธอที่ตั้งมั่นอยู่ว่า กายมีอยู่ ก็เพียงสักว่าความรู้ เพียงสักว่าอาศัยระลึกเท่านั้น เธอเป็นผู้อันตัณหาและ

ทิฐิไม่อาศัยอยู่แล้ว และไม่ถือมั่นอะไรๆ ในโลก ดูกรภิกษุทั้งหลาย อย่างนี้แล ภิกษุชื่อว่าพิจารณาเห็นกายในกายอยู่ ฯ

             ดูกรภิกษุทั้งหลาย อีกข้อหนึ่ง ภิกษุเหมือนกะว่าพึงเห็นสรีระที่เขาทิ้งไว้ในป่าช้า คือ เป็นกระดูกมีสีขาว เปรียบด้วยสีสังข์ ฯลฯ

            ดูกรภิกษุทั้งหลาย อีกข้อหนึ่ง ภิกษุเหมือนกะว่าพึงเห็นสรีระที่เขาทิ้งไว้ในป่าช้า คือ เป็นกระดูกกองเรียงรายอยู่แล้วเกินปีหนึ่งขึ้นไป ฯลฯ

            ดูกรภิกษุทั้งหลาย อีกข้อหนึ่ง ภิกษุเหมือนกะว่าพึงเห็นสรีระที่เขาทิ้งไว้ในป่าช้า คือ เป็นกระดูกผุ เป็นจุณแล้ว เธอย่อมน้อมเข้ามาสู่กายนี้แหละว่า ถึงร่างกายอันนี้เล่า ก็มีอย่างนี้เป็นธรรมดา คงเป็นอย่างนี้ ไม่ล่วงความเป็นอย่างนี้ไปได้ ดังพรรณนามาฉะนี้ ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นกายในกายภายในบ้างพิจารณาเห็นกายในกายภายนอกบ้าง พิจารณาเห็นกายในกายทั้งภายในภายนอกบ้าง พิจารณาเห็นธรรมคือความเกิดขึ้นในกายบ้าง พิจารณาเห็นธรรมคือความเสื่อมในกายบ้าง พิจารณาเห็นธรรมคือทั้งความเกิดขึ้นทั้งความเสื่อมในกายบ้างย่อมอยู่ อีกอย่างหนึ่ง สติของเธอที่ตั้งมั่นอยู่ว่า กายมีอยู่ ก็เพียงสักว่าความรู้เพียงสักว่าอาศัยระลึกเท่านั้น เธอเป็นผู้อันตัณหาและทิฐิไม่อาศัยอยู่แล้ว และไม่ถือมั่นอะไรๆ ในโลก ดูกรภิกษุทั้งหลาย อย่างนี้แล ภิกษุชื่อว่าพิจารณาเห็นกายในกายอยู่ ฯ

จบนวสีวถิกาบรรพ

จบกายานุปัสสนา

เวทนานุปัสสนา  ฯลฯ

จิตตานุปัสสนา    ฯลฯ

             ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุพิจารณาเห็นธรรมในธรรมอยู่ อย่างไรเล่า ภิกษุในธรรมวินัยนี้ พิจารณาเห็นธรรมในธรรม คือนิวรณ์ ๕ ภิกษุพิจารณาเห็นธรรมในธรรมคือนิวรณ์ ๕ อย่างไรเล่า ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เมื่อกามฉันท์มีอยู่ ณ ภายในจิต ย่อมรู้ชัดว่า กามฉันท์มีอยู่ ณ ภายในจิตของเรา หรือเมื่อกามฉันท์ไม่มีอยู่ ณ ภายในจิต ย่อมรู้ชัดว่า กามฉันท์ไม่มีอยู่ ณ ภายในจิตของเรา อนึ่ง กามฉันท์ที่ยังไม่เกิดจะเกิดขึ้นด้วยประการใด ย่อมรู้ชัดประการนั้นด้วย กามฉันท์ที่เกิดขึ้นแล้วจะละเสียได้ด้วยประการใด ย่อมรู้ชัดประการนั้นด้วย

กามฉันท์ที่ละได้แล้วจะไม่เกิดขึ้นต่อไปด้วยประการใด ย่อมรู้ชัดประการนั้นด้วยอีกอย่างหนึ่ง เมื่อพยาบาทมีอยู่ ณ ภายในจิต ย่อมรู้ชัดว่า พยาบาทมีอยู่ ณ ภายในจิตของเรา หรือเมื่อพยาบาทไม่มีอยู่ ณ ภายในจิต ย่อมรู้ชัดว่า พยาบาทไม่มีอยู่ ณ ภายในจิตของเรา อนึ่ง พยาบาทที่ยังไม่เกิดจะเกิดขึ้นด้วยประการใดย่อมรู้ชัดประการนั้นด้วย พยาบาทที่เกิดขึ้นแล้วจะละเสียได้ด้วยประการใด ย่อมรู้ชัดประการนั้นด้วย พยาบาทที่ละได้แล้วจะไม่เกิดขึ้นต่อไปด้วยประการใด ย่อมรู้ชัดประการนั้นด้วย อีกอย่างหนึ่ง เมื่อถีนมิทธะมีอยู่ ณ ภายในจิต ย่อมรู้ชัดว่าถีนมิทธะมีอยู่ ณ ภายในจิตของเรา หรือเมื่อถีนมิทธะไม่มีอยู่ ณ ภายในจิตย่อมรู้ชัดว่า ถีนมิทธะไม่มีอยู่ ณ ภายในจิตของเรา อนึ่ง ถีนมิทธะที่ยังไม่เกิดจะเกิดขึ้นด้วยประการใด ย่อมรู้ชัดประการนั้นด้วย ถีนมิทธะที่เกิดขึ้นแล้ว จะละเสียได้ด้วยประการใด ย่อมรู้ชัดประการนั้นด้วย ถีนมิทธะที่ละได้แล้ว จะไม่เกิดขึ้นต่อไปด้วยประการใด ย่อมรู้ชัดประการนั้นด้วย อีกอย่างหนึ่ง เมื่ออุทธัจจกุกกุจจะมีอยู่ ณ ภายในจิต ย่อมรู้ชัดว่า อุทธัจจกุกกุจจะมีอยู่ ณ ภายในจิตของเรา หรือเมื่ออุทธัจจกุกกุจจะไม่มีอยู่ ณ ภายในจิต ย่อมรู้ชัดว่า อุทธัจจ-กุกกุจจะไม่มีอยู่ ณ ภายในจิตของเรา อนึ่ง อุทธัจจกุกกุจจะที่ยังไม่เกิดจะเกิดขึ้นด้วยประการใด ย่อมรู้ชัดประการนั้นด้วย อุทธัจจกุกกุจจะที่เกิดขึ้นแล้ว จะละเสียได้ด้วยประการใด ย่อมรู้ชัดประการนั้นด้วย อุทธัจจกุกกุจจะที่ละได้แล้วจะไม่เกิดขึ้นต่อไปด้วยประการใด ย่อมรู้ชัดประการนั้นด้วย อีกอย่างหนึ่ง เมื่อวิจิกิจฉามีอยู่ ณ ภายในจิต ย่อมรู้ชัดว่า วิจิกิจฉามีอยู่ ณ ภายในจิตของเราหรือเมื่อวิจิกิจฉาไม่มีอยู่ ณ ภายในจิต ย่อมรู้ชัดว่า วิจิกิจฉาไม่มีอยู่ ณ ภายในจิตของเรา อนึ่ง วิจิกิจฉาที่ยังไม่เกิดจะเกิดขึ้นด้วยประการใด ย่อมรู้ชัดประการนั้นด้วย วิจิกิจฉาที่เกิดขึ้นแล้ว จะละเสียได้ด้วยประการใด ย่อมรู้ชัดประการนั้นด้วยวิจิกิจฉาที่ละได้แล้ว จะไม่เกิดขึ้นต่อไปด้วยประการใด ย่อมรู้ชัดประการนั้นด้วยดังพรรณนามาฉะนี้ ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นธรรมในธรรมภายในบ้าง พิจารณาเห็นธรรมในธรรมภายนอกบ้าง พิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งภายในทั้งภายนอกบ้างพิจารณาเห็นธรรมคือความเกิดขึ้นในธรรมบ้าง พิจารณาเห็นธรรมคือความเสื่อมในธรรมบ้าง พิจารณาเห็นธรรมคือทั้งความเกิดขึ้นทั้งความเสื่อมในธรรมบ้าง ย่อมอยู่อีกอย่างหนึ่ง สติของเธอที่ตั้งมั่นอยู่ว่า ธรรมมีอยู่ ก็เพียงสักว่าความรู้ เพียงสักว่าอาศัยระลึกเท่านั้น เธอเป็นผู้อันตัณหาและทิฐิไม่อาศัยอยู่แล้ว และไม่ถือมั่นอะไรๆในโลก ดูกรภิกษุทั้งหลาย อย่างนี้แล ภิกษุชื่อว่าพิจารณาเห็นธรรมในธรรมคือนิวรณ์ ๕ อยู่ ฯ

จบนีวรณบรรพ

ขันธบรรพ  ฯลฯ

อายตนบรรพ  ฯลฯ

โพชฌงคบรรพ  ฯลฯ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย อีกข้อหนึ่ง ภิกษุพิจารณาเห็นธรรมในธรรมคืออริยสัจ ๔ อยู่ ภิกษุพิจารณาเห็นธรรมในธรรมคืออริยสัจ ๔ อยู่ อย่างไรเล่าภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมรู้ชัดตามเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย นี้ทุกขนิโรธ

นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา ฯ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ทุกขอริยสัจเป็นไฉน แม้ชาติก็เป็นทุกข์ แม้ชราก็เป็นทุกข์ แม้มรณะก็เป็นทุกข์ แม้โสกะ ปริเทวะทุกข์โทมนัสอุปายาส ก็เป็นทุกข์ แม้ความประจวบกับสิ่งไม่เป็นที่รักก็เป็นทุกข์ แม้ความพลัดพรากจากสิ่งที่รักก็เป็นทุกข์ ปรารถนาสิ่งใดไม่ได้ แม้อันนั้นก็เป็นทุกข์ โดยย่อ อุปาทานขันธ์ทั้ง ๕ เป็นทุกข์ ฯ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ชาติเป็นไฉน ความเกิด ความบังเกิดความหยั่งลงเกิด เกิดจำเพาะ ความปรากฏแห่งขันธ์ ความได้อายตนะครบ ในหมู่สัตว์นั้นๆ ของเหล่าสัตว์นั้นๆ อันนี้เรียกว่าชาติ ฯก็ชราเป็นไฉน ความแก่ ภาวะของความแก่ ฟันหลุด ผมหงอก หนังเป็นเกลียว ความเสื่อมแห่งอายุ ความแก่หง่อมแห่งอินทรีย์ ในหมู่สัตว์นั้นๆ

ของเหล่าสัตว์นั้นๆ อันนี้เรียกว่าชรา ฯก็มรณะเป็นไฉน ความเคลื่อน ภาวะของความเคลื่อน ความแตกทำลาย

ความหายไป มฤตยู ความตาย ความทำกาละ ความทำลายแห่งขันธ์ ความทอดทิ้งซากศพไว้ ความขาดแห่งชีวิตินทรีย์ จากหมู่สัตว์นั้นๆ ของเหล่าสัตว์นั้นๆ อันนี้เรียกว่ามรณะ ฯก็โสกะเป็นไฉน ความแห้งใจ กิริยาที่แห้งใจ ภาวะแห่งบุคคลผู้แห้งใจความผาก ณ ภายใน ความแห้งผาก ณ ภายใน ของบุคคลผู้ประกอบด้วยความ

พิบัติอย่างใดอย่างหนึ่ง ผู้ถูกธรรมคือทุกข์อย่างใดอย่างหนึ่งกระทบแล้ว อันนี้เรียกว่าโสกะ ฯก็ปริเทวะเป็นไฉน ความคร่ำครวญ ความร่ำไรรำพัน กิริยาที่คร่ำครวญกิริยาที่ร่ำไรรำพัน ภาวะของบุคคลผู้คร่ำครวญ ภาวะของบุคคลผู้ร่ำไรรำพัน ของบุคคลผู้ประกอบด้วยความพิบัติอย่างใดอย่างหนึ่ง ผู้ถูกธรรมคือทุกข์อย่างใดอย่างหนึ่งกระทบแล้ว อันนี้เรียกว่าปริเทวะ ฯก็ทุกข์เป็นไฉน ความลำบากทางกาย ความไม่สำราญทางกาย ความเสวยอารมณ์อันไม่ดีที่เป็นทุกข์เกิดแต่กายสัมผัส อันนี้เรียกว่าทุกข์ ฯก็โทมนัสเป็นไฉน ความทุกข์ทางจิต ความไม่สำราญทางจิต ความเสวยอารมณ์อันไม่ดีที่เป็นทุกข์เกิดแต่มโนสัมผัส อันนี้เรียกว่าโทมนัส ฯก็อุปายาสเป็นไฉน ความแค้น ความคับแค้น ภาวะของบุคคลผู้แค้นภาวะของบุคคลผู้คับแค้น ของบุคคลผู้ประกอบด้วยความพิบัติอย่างใดอย่างหนึ่งผู้ถูกธรรมคือทุกข์อย่างใดอย่างหนึ่งกระทบแล้ว อันนี้เรียกว่าอุปายาส ฯก็ความประจวบกับสิ่งไม่เป็นที่รัก ก็เป็นทุกข์ เป็นไฉน ความประสบความพรั่งพร้อม ความร่วม ความระคน ด้วยรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะอันไม่น่าปรารถนา ไม่น่าใคร่ ไม่น่าพอใจ หรือด้วยบุคคลผู้ปรารถนาสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ ปรารถนาสิ่งที่ไม่เกื้อกูล ปรารถนาความไม่ผาสุก ปรารถนาความไม่เกษมจากโยคะ ซึ่งมีแก่ผู้นั้น อันนี้เรียกว่า ความประจวบกับสิ่งไม่เป็นที่รักก็เป็นทุกข์ ฯก็ความพลัดพรากจากสิ่งที่รัก ก็เป็นทุกข์ เป็นไฉน ความไม่ประสบความไม่พรั่งพร้อม ความไม่ร่วม ความไม่ระคน ด้วยรูป เสียง กลิ่น รสโผฏฐัพพะ อันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ หรือด้วยบุคคลผู้ปรารถนาประโยชน์ ปรารถนาสิ่งที่เกื้อกูล ปรารถนาความผาสุก ปรารถนาความเกษมจาก

โยคะ คือ มารดา บิดา พี่ชาย น้องชาย พี่หญิง น้องหญิง มิตร อมาตย์หรือ ญาติสาโลหิต ซึ่งมีแก่ผู้นั้น อันนี้เรียกว่า ความพลัดพรากจากสิ่งที่รักก็เป็นทุกข์ ฯก็ปรารถนาสิ่งใดไม่ได้ แม้อันนั้น ก็เป็นทุกข์ เป็นไฉน ความปรารถนาย่อมบังเกิดแก่สัตว์ผู้มีความเกิดเป็นธรรมดา อย่างนี้ว่า โอหนอ ขอเราไม่พึงมีความเกิดเป็นธรรมดา ขอความเกิดอย่ามีมาถึงเราเลย ข้อนั้นสัตว์ไม่พึงได้สมความปรารถนา แม้ข้อนี้ ก็ชื่อว่าปรารถนาสิ่งใดไม่ได้ แม้อันนั้นก็เป็นทุกข์ ความปรารถนาย่อมบังเกิดแก่สัตว์ผู้มีความแก่เป็นธรรมดา อย่างนี้ว่า โอหนอ ขอเราไม่พึงมีความแก่เป็นธรรมดา ขอความแก่อย่ามีมาถึงเราเลย ข้อนั้นสัตว์ไม่พึงได้สมความปรารถนา แม้ข้อนี้ ก็ชื่อว่าปรารถนาสิ่งใดไม่ได้ แม้อันนั้นก็เป็นทุกข์ความปรารถนาย่อมบังเกิดแก่สัตว์ผู้มีความเจ็บเป็นธรรมดาอย่างนี้ว่า โอหนอ ขอเราไม่พึงมีความเจ็บเป็นธรรมดา ขอความเจ็บอย่ามีมาถึงเราเลย ข้อนั้นสัตว์ไม่พึงได้สมความปรารถนา แม้ข้อนี้ ก็ชื่อว่า ปรารถนาสิ่งใดไม่ได้ แม้อันนั้นก็เป็นทุกข์ ความปรารถนาย่อมบังเกิดแก่สัตว์ผู้มีความตายเป็นธรรมดาอย่างนี้ว่า โอหนอขอเราไม่พึงมีความตายเป็นธรรมดา ขอความตายอย่ามีมาถึงเราเลย ข้อนั้นสัตว์ไม่พึงได้สมความปรารถนา แม้ข้อนี้ ก็ชื่อว่าปรารถนาสิ่งใดไม่ได้ แม้อันนั้นก็เป็นทุกข์ ความปรารถนา ย่อมบังเกิดแก่สัตว์ผู้มีโสกปริเทวทุกขโทมนัสอุปายาสเป็นธรรมดาอย่างนี้ว่า โอหนอ ขอเราไม่พึงมีโสกปริเทวทุกขโทมนัสอุปายาสเป็นธรรมดา ขอโสกปริเทวทุกขโทมนัสอุปายาส อย่ามีมาถึงเราเลย ข้อนั้นสัตว์ไม่พึงได้สมความปรารถนา แม้ข้อนี้ ก็ชื่อว่าปรารถนาสิ่งใดไม่ได้ แม้อันนั้นก็เป็นทุกข์ ฯก็โดยย่อ อุปาทานขันธ์ ๕ เป็นทุกข์ เป็นไฉน อุปาทานขันธ์ คือรูปเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เหล่านี้เรียกว่า โดยย่อ อุปาทานขันธ์ทั้ง ๕

เป็นทุกข์ ฯ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย อันนี้เรียกว่า ทุกขอริยสัจ ฯ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ทุกขสมุทัยอริยสัจ เป็นไฉน ตัณหานี้ใดอันมีความเกิดอีก ประกอบด้วยความกำหนัดด้วยอำนาจความเพลิดเพลิน เพลิดเพลินยิ่งนักในอารมณ์นั้นๆ คือ กามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา ฯ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ตัณหานี้นั้น เมื่อจะเกิด ย่อมเกิดในที่ไหน เมื่อจะตั้งอยู่ ย่อมตั้งอยู่ในที่ไหน ที่ใดเป็นที่รักที่เจริญใจในโลก ตัณหานั้น เมื่อจะเกิด ย่อมเกิดในที่นี้ เมื่อจะตั้งอยู่ ย่อมตั้งอยู่ในที่นี้ อะไรเป็นที่รักที่เจริญใจในโลก ฯตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เป็นที่รักที่เจริญใจในโลก ตัณหา เมื่อจะเกิดย่อมเกิดที่นี้ เมื่อจะตั้งอยู่ ย่อมตั้งอยู่ ณ ที่นี้ ฯรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ เป็นที่รักที่เจริญใจในโลก ตัณหาเมื่อจะเกิด ย่อมเกิดในที่นี้ เมื่อจะตั้งอยู่ ย่อมตั้งอยู่ในที่นี้ ฯจักขุวิญญาณ โสตวิญญาณ ฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ กายวิญญาณมโนวิญญาณ เป็นที่รักที่เจริญใจในโลก ตัณหา เมื่อจะเกิด ย่อมเกิดขึ้นในที่นี้เมื่อจะตั้งอยู่ ย่อมตั้งอยู่ในที่นี้ ฯ

จักขุสัมผัส โสตสัมผัส ฆานสัมผัส ชิวหาสัมผัส กายสัมผัส มโนสัมผัส เป็นที่รักที่เจริญใจในโลก ตัณหาเมื่อจะเกิด ย่อมเกิดในที่นี้ เมื่อจะตั้งอยู่ ย่อมตั้งอยู่ในที่นี้ ฯจักขุสัมผัสสชาเวทนา โสตสัมผัสสชาเวทนา ฆานสัมผัสสชาเวทนาชิวหาสัมผัสสชาเวทนา กายสัมผัสสชาเวทนา มโนสัมผัสสชาเวทนา เป็นที่รักที่เจริญใจในโลก ตัณหาเมื่อจะเกิด ย่อมเกิดในที่นี้ เมื่อจะตั้งอยู่ ย่อมตั้งอยู่ในที่นี้รูปสัญญาสัททสัญญาคันธสัญญารสสัญญาโผฏฐัพพสัญญา ธัมมสัญญา เป็นที่รักที่เจริญใจในโลก ตัณหาเมื่อจะเกิด ย่อมเกิดในที่นี้ เมื่อจะตั้งอยู่ ย่อมตั้งอยู่ในที่นี้ ฯ

รูปสัญเจตนา สัททสัญเจตนา คันธสัญเจตนา รสสัญเจตนา โผฏฐัพพสัญเจตนา ธัมมสัญเจตนา เป็นที่รักที่เจริญใจในโลก ตัณหา เมื่อจะเกิด ย่อมเกิดในที่นี้ เมื่อจะตั้งอยู่ ย่อมตั้งอยู่ในที่นี้ ฯรูปตัณหา สัททตัณหา คันธตัณหา รสตัณหา โผฏฐัพพตัณหา ธัมมตัณหา เป็นที่รักที่เจริญใจในโลก ตัณหา เมื่อจะเกิด ย่อมเกิดในที่นี้ เมื่อจะ

ตั้งอยู่ ย่อมตั้งอยู่ในที่นี้ ฯรูปวิตก สัททวิตก คันธวิตก รสวิตก โผฏฐัพพวิตก ธัมมวิตกเป็นที่รักที่เจริญใจในโลก ตัณหา เมื่อจะเกิด ย่อมเกิดในที่นี้ เมื่อจะตั้งอยู่ย่อมตั้งอยู่ในที่นี้ ฯรูปวิจาร สัททวิจาร คันธวิจาร รสวิจาร โผฏฐัพพวิจาร ธัมมวิจารเป็นที่รักที่เจริญใจในโลก ตัณหา เมื่อจะเกิด ย่อมเกิดในที่นี้ เมื่อจะตั้งอยู่

ย่อมตั้งอยู่ในที่นี้ ฯ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย อันนี้เรียกว่า ทุกขสมุทัยอริยสัจ ฯ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ทุกขนิโรธอริยสัจเป็นไฉน ความสำรอกและความดับโดยไม่เหลือ ความสละ ความส่งคืน ความปล่อยวาง ความไม่มีอาลัย ในตัณหานั้น ก็ตัณหานั้น เมื่อบุคคลจะละ ย่อมละเสียได้ในที่ไหนเมื่อจะดับ ย่อมดับในที่ไหน ที่ใดเป็นที่รักที่เจริญใจในโลก ตัณหานั้น เมื่อบุคคลจะละ ย่อมละเสียได้ในที่นี้ เมื่อจะดับย่อมดับในที่นี้ อะไรเป็นที่รักที่เจริญใจในโลก ฯตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เป็นที่รักที่เจริญใจในโลก ตัณหา เมื่อบุคคล

จะละ ย่อมละเสียได้ในที่นี้ เมื่อจะดับย่อมดับในที่นี้ รูปเสียง กลิ่น รสโผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ เป็นที่รักที่เจริญใจในโลก ตัณหา เมื่อบุคคลจะละย่อมละเสียได้ในที่นี้ เมื่อจะดับย่อมดับในที่นี้ ฯจักขุวิญญาณ โสตวิญญาณ ฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ กายวิญญาณมโนวิญญาณ เป็นที่รักที่เจริญใจในโลก ตัณหา เมื่อบุคคลจะละ ย่อมละเสียได้ในที่นี้ เมื่อจะดับ ย่อมดับในที่นี้ ฯจักขุสัมผัส โสตสัมผัส ฆานสัมผัส ชิวหาสัมผัส กายสัมผัส มโนสัมผัส เป็นที่รักที่เจริญใจในโลก ตัณหา เมื่อบุคคลจะละ ย่อมละเสียได้ในที่นี้เมื่อจะดับ ย่อมดับในที่นี้ ฯจักขุสัมผัสสชาเวทนา โสตสัมผัสสชาเวทนา ฆานสัมผัสสชาเวทนาชิวหาสัมผัสสชาเวทนา กายสัมผัสสชาเวทนา มโนสัมผัสสชาเวทนา เป็นที่รักที่เจริญใจในโลก ตัณหา เมื่อบุคคลจะละ ย่อมละเสียได้ในที่นี้ เมื่อจะดับย่อมดับในที่นี้ ฯรูปสัญญา สัททสัญญา คันธสัญญา รสสัญญา โผฏฐัพพสัญญาธัมมสัญญา เป็นที่รักที่เจริญใจในโลก ตัณหา เมื่อบุคคลจะละ ย่อมละเสียได้ในที่นี้ เมื่อจะดับ ย่อมดับในที่นี้ ฯรูปสัญเจตนา สัททสัญเจตนา คันธสัญเจตนา รสสัญเจตนาโผฏฐัพพสัญเจตนา ธัมมสัญเจตนา เป็นที่รักที่เจริญใจในโลก ตัณหา เมื่อบุคคลจะละ ย่อมละเสียได้ในที่นี้ เมื่อจะดับ ย่อมดับในที่นี้ ฯรูปตัณหา สัททตัณหา คันธตัณหา รสตัณหา โผฏฐัพพตัณหา ธัมมตัณหา เป็นที่รักที่เจริญใจในโลก ตัณหา เมื่อบุคคลจะละ ย่อมละเสียได้ในที่นี้เมื่อจะดับ ย่อมดับในที่นี้ ฯ

รูปวิตก สัททวิตก คันธวิตก รสวิตก โผฏฐัพพวิตก ธัมมวิตก เป็นที่รักที่เจริญใจในโลก ตัณหา เมื่อบุคคลจะละ ย่อมละเสียได้ในที่นี้ เมื่อจะดับย่อมดับในที่นี้ ฯรูปวิจาร สัททวิจาร คันธวิจาร รสวิจาร โผฏฐัพพวิจาร ธัมมวิจารเป็นที่รักที่เจริญใจในโลก ตัณหา เมื่อบุคคลจะละ ย่อมละเสียได้ในที่นี้ เมื่อจะดับ ย่อมดับในที่นี้ ฯ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย อันนี้เรียกว่า ทุกขนิโรธอริยสัจ ฯ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจเป็นไฉนนี้คือมรรคมีองค์ ๘ อันประเสริฐ คือ สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจาสัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิก็สัมมาทิฏฐิเป็นไฉน ความรู้ในทุกข์ ความรู้ในทุกขสมุทัย ความรู้ในทุกขนิโรธ ความรู้ในทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา อันนี้เรียกว่า สัมมาทิฏฐิ ฯสัมมาสังกัปปะ เป็นไฉน ความดำริในการออกจากกาม ความดำริในความไม่พยาบาท ความดำริในอันไม่เบียดเบียน อันนี้เรียกว่า สัมมาสังกัปปะ ฯสัมมาวาจา เป็นไฉน การงดเว้นจากการพูดเท็จ งดเว้นจากการพูดส่อเสียด งดเว้นจากการพูดคำหยาบ งดเว้นจากการพูดเพ้อเจ้อ อันนี้เรียกว่าสัมมาวาจา ฯสัมมากัมมันตะ เป็นไฉน การงดเว้นจากการฆ่าสัตว์ งดเว้นจากการถือเอาสิ่งของที่เขามิได้ให้ งดเว้นจากการประพฤติผิดในกาม อันนี้เรียกว่า สัมมากัมมันตะ ฯสัมมาอาชีวะ เป็นไฉน อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ ละการเลี้ยงชีพที่ผิดเสีย สำเร็จการเลี้ยงชีพด้วยการเลี้ยงชีพที่ชอบ อันนี้เรียกว่า สัมมาอาชีวะ ฯสัมมาวายามะ เป็นไฉน ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เกิดฉันทะพยายามปรารภความเพียร ประคองจิตไว้ ตั้งจิตไว้ เพื่อมิให้อกุศลธรรมอันลามกที่ยังไม่เกิดบังเกิดขึ้น เพื่อละอกุศลธรรมอันลามกที่บังเกิดขึ้นแล้ว เพื่อให้กุศลธรรมที่ยังไม่เกิดบังเกิดขึ้น เพื่อความตั้งอยู่ไม่เลือนหาย เจริญยิ่ง ไพบูลย์ มีขึ้น เต็มเปี่ยมแห่งกุศลธรรมที่บังเกิดขึ้นแล้ว อันนี้เรียกว่า สัมมาวายามะ ฯ

สัมมาสติ เป็นไฉน ภิกษุในธรรมวินัยนี้ พิจารณาเห็นกายในกายอยู่มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌา และโทมนัสในโลกเสียได้พิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาอยู่ ฯลฯ พิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่ ฯลฯ พิจารณาเห็นธรรมในธรรมอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้ อันนี้เรียกว่า สัมมาสติ ฯสัมมาสมาธิ เป็นไฉน ภิกษุในธรรมวินัยนี้ สงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรม บรรลุปฐมฌาน มีวิตก มีวิจาร มีปีติและสุขเกิดแต่วิเวกอยู่เธอบรรลุทุติยฌาน มีความผ่องใสแห่งจิตในภายใน เป็นธรรมเอกผุดขึ้น เพราะวิตกวิจารสงบไป ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร มีปีติและสุขอันเกิดแต่สมาธิอยู่ เธอมีอุเบกขา มีสติ มีสัมปชัญญะ เสวยสุขด้วยกาย เพราะปีติสิ้นไป บรรลุตติยฌานที่พระอริยทั้งหลาย สรรเสริญว่า ผู้ได้ฌานนี้ เป็นผู้มีอุเบกขา มีสติอยู่เป็นสุขเธอบรรลุจตุตถฌาน ไม่มีทุกข์ไม่มีสุข เพราะละสุขละทุกข์ และดับโสมนัสโทมนัสก่อนๆ ได้ มีอุเบกขาเป็นเหตุให้สติบริสุทธิ์อยู่ อันนี้เรียกว่า สัมมาสมาธิ ฯ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย อันนี้เรียกว่า ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ ฯดังพรรณนามาฉะนี้ ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นธรรมในธรรมภายในบ้างพิจารณาเห็นธรรมในธรรมภายนอกบ้าง พิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งภายในภาย

นอกบ้าง พิจารณาเห็นธรรมคือความเกิดขึ้นในธรรมบ้าง พิจารณาเห็นธรรมคือเสื่อมในธรรมบ้าง พิจารณาเห็นธรรมคือทั้งความเกิดขึ้นทั้งความเสื่อมในธรรมบ้างย่อมอยู่ อีกอย่างหนึ่ง สติของเธอที่ตั้งมั่นอยู่ว่า ธรรมมีอยู่ ก็เพียงสักว่าความรู้เพียงสักว่าอาศัยระลึกเท่านั้น เธอเป็นผู้อันตัณหาและทิฐิไม่อาศัยอยู่แล้ว และไม่ถือมั่นอะไรๆ ในโลก ดูกรภิกษุทั้งหลาย อย่างนี้แล ภิกษุชื่อว่าพิจารณาเห็นธรรมในธรรมอยู่ ฯ

อานิสงส์มหาสติปัฏฐานสูตร

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ผู้ใดผู้หนึ่ง พึงเจริญสติปัฏฐานทั้ง ๔ นี้อย่างนี้ ตลอด ๗ ปี เขาพึงหวังผล ๒ ประการอย่างใดอย่างหนึ่ง คือพระอรหัตผลในปัจจุบัน ๑ หรือเมื่อยังมีอุปาทิเหลืออยู่ เป็นพระอนาคามี ๑ ๗ ปียกไว้ ผู้ใดผู้หนึ่งพึงเจริญสติปัฏฐาน ๔ นี้ อย่างนี้ตลอด ๖ ปี ... ๕ ปี ... ๔ ปี ... ๓ ปี ...๒ ปี ... ๑ ปี เขาพึงหวังผล ๒ ประการอย่างใดอย่างหนึ่ง คือ พระอรหัตผลในปัจจุบัน ๑ หรือเมื่อยังมีอุปาทิเหลืออยู่ เป็นพระอนาคามี ๑ ๑ ปียกไว้ ผู้ใดผู้หนึ่ง พึงเจริญสติปัฏฐาน ๔ นี้ อย่างนี้ตลอด ๗ เดือน เขาพึงหวังผล ๒ ประการอย่างใดอย่างหนึ่ง คือ พระอรหัตผลในปัจจุบัน ๑ หรือเมื่อยังมีอุปาทิเหลืออยู่เป็นพระอนาคามี ๑ ๗ เดือนยกไว้ ผู้ใดผู้หนึ่งเจริญสติปัฏฐานทั้ง ๔ นี้ อย่างนี้ตลอด ๖ เดือน ... ๕ เดือน ... ๔ เดือน ... ๓ เดือน ... ๒ เดือน ... ๑ เดือน ... กึ่งเดือน เขาพึงหวังผล ๒ ประการอย่างใดอย่างหนึ่ง คือ พระอรหัตผลในปัจจุบัน๑ หรือเมื่อยังมีอุปาทิเหลืออยู่ เป็นพระอนาคามี ๑ กึ่งเดือนยกไว้ ผู้ใดผู้หนึ่งพึงเจริญสติปัฏฐาน ๔ นี้ อย่างนี้ตลอด ๗ วัน เขาพึงหวังผล ๒ ประการอย่างใดอย่างหนึ่ง คือ พระอรหัตผลในปัจจุบัน ๑ หรือเมื่อยังมีอุปาทิเหลืออยู่ เป็นพระอนาคามี ๑ ฯ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย หนทางนี้เป็นที่ไปอันเอก เพื่อความบริสุทธิ์ของเหล่าสัตว์ เพื่อล่วงความโศกและปริเทวะ เพื่อความดับสูญแห่งทุกข์โทมนัส เพื่อบรรลุธรรมที่ถูกต้อง เพื่อทำให้แจ้งซึ่งพระนิพพาน หนทางนี้ คือ สติปัฏฐาน ๔ประการ ฉะนี้แล คำที่เรากล่าว ดังพรรณนามาฉะนี้ เราอาศัยเอกายนมรรคกล่าวแล้ว พระผู้มีพระภาคตรัสพระพุทธพจน์นี้แล้ว ภิกษุเหล่านั้น ยินดี ชื่นชมภาษิตของพระผู้มีพระภาคแล้ว ฉะนี้แล ฯ

จบมหาสติปัฏฐานสูตร

อานิสงส์กายคตาสติ
ปัญหา การเจริญกายคตาสติมีอานิสงส์อย่างไร? ปรากฏข้อความในปสาทกรธัมมาธิบาลี
พุทธดำรัสตอบ “ ดูก่อนฯ เมื่อธรรมข้อหนึ่งบุคคลเจริญแล้วกระทำให้เพิ่มพูนแล้ว แม้กายก็สงบ แม้จิตก็สงบ แม้วิตกวิจารก็สงบ ธรรมที่เป็นฝักฝ่ายแห่งวิชชาแม้ทั้งหมดก็ถึงความเจริญบริบูรณ์ ธรรมข้อหนึ่งคืออะไร คือกายคตาสติ....”

กายคตาสติสูตร

“……เธอย่อมมีสติหายใจออกมีสติหายใจเข้า เมื่อหายใจออกยาว ก็รู้ชัดว่า หายใจออกยาว หรือเมื่อหายใจ

เข้ายาว ก็รู้ชัดว่า หายใจเข้ายาว เมื่อหายใจออกสั้น ก็รู้ชัดว่า หายใจออกสั้น...เดินอยู่ ก็รู้ชัดว่ากำลังเดิน หรือยืนอยู่ ก็รู้ชัดว่ากำลังยืน หรือนั่งอยู่ ก็รู้ชัดว่ากำลังนั่ง หรือนอนอยู่ ก็รู้ชัดว่ากำลังนอน...เป็นผู้ทำความ

รู้สึกตัวในเวลาก้าวไปและถอยกลับ ในเวลาแลดู และเหลียวดู ในเวลางอแขนและเหยียดแขน ในเวลาทรงผ้าสังฆาฏิ บาตร และจีวร ในเวลา ฉัน ดื่มเคี้ยว และลิ้ม ในเวลาถ่ายอุจจาระและปัสสาวะ ในเวลา เดิน ยืน นั่ง

นอนหลับ ตื่น พูด และนิ่ง.....พิจารณากายนี้แล ข้างบนแต่พื้นเท้าขึ้นไป ข้างล่างแต่ปลายผมลงมา มีหนังหุ้มอยู่โดยรอบเต็มด้วยของไม่สะอาดมีประการต่างๆ ว่ามีอยู่ในกายนี้ ผม ขน เล็บ ฟัน หนังเนื้อ เอ็น กระดูก เยื่อในกระดูก ม้าม หัวใจ ตับ พังผืด ไต ปอดไส้ใหญ่ ไส้น้อย อาหารใหม่ อาหารเก่า ดี เสลด น้ำเหลือง เลือด เหงื่อ

มันข้น น้ำตา เปลวมัน น้ำลาย น้ำมูก ไขข้อ มูตร...พิจารณากายนี้แล ตามที่ตั้งอยู่ ตามที่ดำรงอยู่ โดยธาตุว่า มีอยู่ในกายนี้ ธาตุดิน ธาตุน้ำธาตุไฟ ธาตุลม..เห็นศพที่เขาทิ้งในป่าช้า อันตายได้วันหนึ่ง หรือสองวัน หรือสามวัน ที่ขึ้นพอง เขียวช้ำ มีน้ำเหลืองเยิ้ม จึงนำเข้ามาเปรียบเทียบกายนี้ว่า แม้กายนี้แล ก็เหมือนอย่างนี้เป็น

ธรรมดา มีความเป็นอย่างนี้ ไม่ล่วงอย่างนี้ไปได้....”

สมาธิกับฌาน  ปรากฏข้อความในฌานสูตร  ปัญหา การบำเพ็ญสมาธิจนได้ฌาน จะเป็นเหตุละอาสวะได้หรือไม่ ?
พุทธดำรัสตอบ “.....ดูก่อนฯ เรากล่าวความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลาย เพราะอาศัยปฐมฌานบ้าง ทุติยฌานบ้าง ตติยฌานบ้าง จตุตถฌานบ้าง ฯลฯ เพราะอาศัยแนวสัญญานาสัญญายตนะบ้าง....
“.....ดูก่อนฯ ภิกษุในธรรมวินัยนี้สงัดจากกาม ฯลฯ บรรลุปฐมฌาน ฯลฯ เธอย่อมพิจารณาเห็นธรรมทั้งหลาย คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ อันมีอยู่ในขณะแห่งปฐมฌานนั้น โดยความเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นโรค เป็นดังหัวฝี เป็นดังลูกศร ไม่มีสุข เป็นอาหร เป็นของผู้อื่น เป็นของชำรุด ว่างเปล่า เป็นอนัตตา เธอย่อมยังจิตให้ตั้งอยู่ด้วยธรรมเหล่านั้น ครั้นแล้วเธอย่อมโน้มจิตไปเพื่ออมตธาตุ นั้นสงบ นั่นประณีต คือ ธรรมเป็นที่สงบแห่งสังขารทั้งปวง ความสละ คือ อุปธิทั้งปวง ความสิ้นตัณหา ความคลายกำหนัด ความดับ นิพพาน เธอตั้งอยู่ในปฐมฌานนั้นย่อมถึงความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลาย....”

วิธีละอาสวะ(กิเลส) ๗ ประการ 
ปัญหา เท่าที่ได้สดับมานั้น เราจะละอาสวะได้โดยอาศัยการปฏิบัติตามหลักศีล สมาธิ ปัญญาอย่างเคร่งครัดเท่านั้น มีวิธีใดอีกบ้างหรือไม่ที่เราจะละอาสวะได้? 
พุทธดำรัสตอบ “....ดูก่อนฯ  อาสวะที่จะพึงละได้เพราะการเห็นมีอยู่ ที่จะพึงละได้เพราะการสังวรก็มี ที่จะพึงละได้เพราะการเว้นรอบก็มี ที่จะพึงละได้เพราะความอดกลั้นก็มี ที่จะพึงละได้เพราะการบรรเทาก็มี ที่จะพึงละได้เพราะการอบรมก็มี”
ปัญหา ข้อที่ว่าอาสวะที่จะพึงละได้เพราะการเห็นนั้นหมายถึงอาสวะประเภทไหน และการเห็นนั้นเห็นอย่างไร?
พุทธดำรัสตอบ “...ดูก่อนฯ เมื่อ..มนสิการโดยไม่แยบคาย อาสวะทั้งหลายที่ยังไม่เกิดย่อมเกิดขึ้น และที่เกิดขึ้นแล้วย่อมเจริญขึ้น..... ปุถุชนมนสิการโดยไม่แยบคายอย่างนี้ว่า 

อาสวะไม่สิ้นไปเป็นรายวัน 
ปรากฏข้อความใน  นาวาสูตร ขันธ์  ปัญหา ในขณะบำเพ็ญเพียร ผู้บำเพ็ญจะมีทางรู้ได้หรือไม่ว่าในแต่ละวัน 

อาสวะ(กิเลสคือเครื่องทำใจให้เศร้าหมอง ได้แก่ โลภ โกรธ หลง)สิ้นไปวันละเท่าใด?
พุทธดำรัสตอบ “...ดูก่อนฯ  รอยนิ้วมือย่อมปรากฏ หรือรอยนิ้วหัวแม่มือย่อมปรากฏที่ด้ามมีดของนายช่างไม้ หรือลูกมือของนายช่างไม้แต่นายช่างไม้ หารู้ไม่ว่า วันนี้ด้ามมีดของเขาสึกหรอไปประมาณเท่านี้ วานนี้สึกไปประมาณเท่านี้ วันก่อนๆ สึกไปประมาณเท่านี้ นายช่างไม้... มีความรู้แต่ว่ามันสึกไปแล้วๆ แม้ฉันใด
“...ดูก่อนฯ เมื่อ...ประกอบความเพียรในภาวนาอยู่ หารู้ไม่ว่า วันนี้อาสวะทั้งหลายของเราสิ้นไปแล้วประมาณเท่านี้ วานนี้สิ้นไปประมาณเท่านี้ วันก่อนๆ สิ้นไปประมาณเท่านี้ ถึงอย่างนั้นเมื่ออาสวะสิ้นไปแล้ว เธอก็มีความรู้แต่ว่าสิ้นไปแล้ว ๆ ฉันนั้นเหมือนกันแล”

ธรรมที่ส่งเสริมกันและกัน  ปรากฏข้อความใน อานันทสูตร  ปัญหา พระอานนท์ทูลถามว่า ธรรมอย่างหนึ่งทำให้ธรรม ๔ อย่างบริบูรณ์ ธรรม ๔ อย่างทำให้ ธรรม ๖ อย่างบริบูรณ์ ธรรม ๗ อย่าง ทำให้ธรรม ๒ อย่างบริบูรณ์ คืออะไร?
พุทธดำรัสตอบ “ดูก่อนอานนท์ ธรรมอย่างหนึ่ง คือสมาธิ อันประกอบด้วยอานาปานสติอัน.....เจริญแล้ว เพิ่มพูนแล้ว ย่อมทำให้สติปัฏฐาน ๔ ให้บริบูรณ์ สติปัฏฐาน ๔ อัน....เจริญแล้ว เพิ่มพูนแล้ว ย่อมทำโพชฌงค์ ๗ ให้บริบูรณ์ โพชฌงค์ ๗ อัน.....เจริญแล้ว เพิ่มพูนแล้ว ย่อมทำอวิชชาและวิมุติให้บริบูรณ์”

อิทธิปาฏิหาริย์ พระพุทธเจ้าพระองค์ทรงไม่ส่งเสริม 

อิทธิปาฏิหาริย์ พึงคิดเตือนตนว่าอย่าหลงทางแม้แต่พระพุทธเจ้าพระองค์ทรงไม่ส่งเสริม  แต่กลับ อึดอัด ระอา เกลียดอิทธิปาฏิหาริย์ ดังกล่าว รายละเอียดตามเกวัฏฏสูตร  เรื่องนายเกวัฏฏ (ชาวประมง)

             ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้-

             สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาค ประทับอยู่ ณ สวนมะม่วงของปาวาริกเศรษฐี เขตเมือง

นาลันทา. ครั้งนั้น เกวัฏฏ์ คฤหบดีบุตร เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาท

แล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง. ครั้นนั่งเรียบร้อยแล้ว ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่

พระองค์ผู้เจริญ เมืองนาลันทานี้ เป็นเมืองมั่งคั่งสมบูรณ์ มีผู้คนมาก คับคั่งไปด้วยมนุษย์

ล้วนแต่เลื่อมใสในพระผู้มีพระภาคเป็นอย่างยิ่ง ขอประทานโอกาสเถิดพระเจ้าข้า ขอพระผู้มี-

*พระภาคทรงชี้ภิกษุสักรูปหนึ่งที่จักกระทำอิทธิปาฏิหาริย์อันเป็นธรรมที่ยิ่งยวดของมนุษย์ได้ เมื่อ

เป็นเช่นนี้ ชาวเมืองนาลันทานี้จักเลื่อมใสในพระผู้มีพระภาคเป็นอย่างยิ่ง สุดที่จะประมาณ เมื่อ

เกวัฏฏ์ คฤหบดีบุตรกราบทูลดังนี้แล้ว พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า ดูกรเกวัฏฏ์ เรามิได้แสดง

ธรรมแก่ภิกษุทั้งหลายอย่างนี้ว่า มาเถิดภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงกระทำอิทธิปาฏิหาริย์อันเป็น

ธรรมที่ยิ่งยวดของมนุษย์ แก่คฤหัสถ์ ผู้นุ่งขาวห่มขาวดังนี้. เกวัฏฏ์ คฤหบดีบุตร ได้กราบทูล

เป็นคำรบสองว่า พระพุทธเจ้าข้า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์มิได้จำกัด พระผู้มีพระภาค

เพียงแต่กราบทูลอย่างนี้ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมืองนาลันทานี้ เป็นเมืองมั่งคั่งสมบูรณ์ มีผู้

คนมาก คับคั่งไปด้วยมนุษย์ ล้วนแต่เลื่อมใสในพระผู้มีพระภาคเป็นอย่างยิ่ง ขอประทานโอกาส

เถิดพระเจ้าข้า ขอพระผู้มีพระภาคทรงชี้ภิกษุสักรูปหนึ่ง ที่จักกระทำอิทธิปาฏิหาริย์อันเป็นธรรมที่

ยิ่งยวดของมนุษย์ได้ เมื่อเป็นเช่นนี้ ชาวเมืองนาลันทานี้จักเลื่อมใสในพระผู้มีพระภาคเป็นอย่างยิ่ง

สุดที่จะประมาณ แม้ครั้งที่ ๓ เกวัฏฏ์ คฤหบดีบุตรก็ได้กราบทูลอย่างนั้น.

ปาฏิหาริย์ ๓ ประการ-อิทธิปฏิหาริย์

             พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรเกวัฏฏ์ ปาฏิหาริย์ ๓ อย่างนี้ เราทำให้แจ้งด้วยปัญญา

อันยิ่งด้วยตนเองแล้ว จึงได้ประกาศให้รู้ ปาฏิหาริย์ ๓ อย่างเป็นไฉน? คือ อิทธิปาฏิหาริย์ ๑

อาเทสนาปาฏิหาริย์ ๑ อนุสาสนีปาฏิหาริย์ ๑ ก็อิทธิปาฏิหาริย์เป็นไฉน? ดูกรเกวัฏฏ์ ภิกษุใน

ธรรมวินัยนี้ ย่อมแสดงฤทธิ์ได้หลายอย่าง คือคนเดียวเป็นหลายคนก็ได้ หลายคนเป็นคนเดียว

ก็ได้ ทำให้ปรากฏก็ได้ ทำให้หายไปก็ได้ ทะลุฝา กำแพง ภูเขาไปได้ไม่ติดขัดเหมือนไปในที่

ว่างก็ได้ ผุดขึ้นดำลงแม้ในแผ่นดินเหมือนในน้ำก็ได้ เดินบนน้ำไม่แตกเหมือนเดินบนแผ่นดิน

ก็ได้ เหาะไปในอากาศเหมือนนกก็ได้ ลูบคลำพระจันทร์พระอาทิตย์ซึ่งมีฤทธิ์มีอานุภาพมากด้วย

ฝ่ามือก็ได้ ใช้อำนาจด้วยกายไปตลอดพรหมโลกก็ได้ เพราะเหตุดังนี้นั้น บุคคลผู้ใดผู้หนึ่งที่มี

ศรัทธาเลื่อมใส เห็นภิกษุนั้นแสดงฤทธิ์ได้หลายอย่าง ... ครั้นแล้วเขาจะบอกแก่คนผู้ไม่มีศรัทธา

ไม่เลื่อมใส คนใดคนหนึ่งว่า อัศจรรย์จริงหนอ ท่านไม่เคยมีมาเลย ท่าน ความที่สมณะมีฤทธิ์

มาก ความที่สมณะมีอานุภาพมาก ข้าพเจ้าได้เห็นภิกษุรูปนี้แสดงฤทธิ์ได้หลายอย่าง ... เมื่อเป็น

เช่นนี้ คนผู้ไม่มีศรัทธา ไม่เลื่อมใสนั้น จะพึงกล่าวกะคนผู้มีศรัทธาเลื่อมใสอย่างนี้ว่า ท่าน มี

วิชาอยู่อย่างหนึ่งชื่อว่า คันธารี ภิกษุรูปนั้นแสดงฤทธิ์ได้หลายอย่าง ... ได้ด้วยวิชาชื่อว่า คันธารี

นั้น ดูกรเกวัฏฏ์ ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน? คนผู้ไม่มีศรัทธา ไม่เลื่อมใสนั้น จะพึง

กล่าวอย่างนั้นกะคนผู้มีศรัทธาเลื่อมใสนั้นบ้างไหม พึงกล่าวพระเจ้าข้า ดูกรเกวัฏฏ์ เราเล็งเห็น

โทษในอิทธิปาฏิหาริย์อย่างนี้แล จึงอึดอัด ระอา เกลียดอิทธิปาฏิหาริย์.

ปฏิเวธธรรม  ผลของการปฏิบัติธรรมอานิสงส์ผลบุญที่จะได้รับแก่ชีวิตตนเองและครอบครัว สังคม พอสรุปได้ดังนี้

ทำเองรู้เอง
ปรากฏข้อความใน ปริยายสูตร ปัญหา พระพุทธองค์ตรัสถามว่า “ทางที่จะให้..ได้อาศัยแล้ว ประกาศความรู้อันสูงว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำได้ทำแล้ว....” โดยไม่ต้องอิงอาศัยศรัทธา ความพอใจในการฟังต่อ ๆ กันมา การตรึกตรองตามอาการ หรือความทนต่อการพิสูจน์ด้วยความเห็นใจ มีอยู่หรือไม่?
พุทธดำรัสตอบ “ดูก่อนฯ  เห็นรูปด้วยจักษุ... ฟังเสียงด้วยหู... ดมกลิ่นด้วยจมูก... ลิ้มรสด้วยลิ้น... ถูกต้องโผฏฐัพพะด้วยกาย... รู้ธรรมารมณ์ด้วยใจแล้ว ย่อมรู้ชัดซึ่งราคะ โทสะ โมหะ อันมีอยู่ภายในว่า.... มีอยู่ในภายในของเรา หรือรู้ชัดซึ่งราคะ โทสะ โมหะ อันไม่มีอยู่ในภายในว่า... ไม่มีอยู่ในภายในของเรา.... ดูก่อน..ธรรมเหล่านี้พึงเชื่อด้วยศรัทธา ด้วยความชอบใจของตน ด้วยการได้ฟังต่อๆ กันมากระนั้นหรือ.... ธรรมเหล่านี้พึงทราบได้ด้วยการเห็นด้วยปัญญามิใช่หรือ...
“ดูก่อนฯ  นี้เป็นทางให้..ได้อาศัยประกาศความรู้อันยิ่งโดยไม่ต้องอาศัยศรัทธา โดยไม่ต้องอาศัยความชอบใจของตน โดยไม่ต้องอาศัยการฟังต่อ ๆ กันมา”

สันทิฏฐิโก  หมายความว่าอย่างไร  ปรากฏข้อความใน อุปวาณสูตร  ปัญหา พระธรรมคุณบทว่า สันทิฏฐิโก ที่แปลว่า เป็นธรรมที่ผู้ศึกษารู้ด้วยตนเองนั้น หมายความว่าอย่างไร?
พุทธดำรัสตอบ “ดูก่อนฯ ธรรมวินัยนี้ เห็นด้วยรูปจักษุแล้ว ฟังเสียงด้วยหูแล้ว.... ดมกลิ่นด้วยจมูกแล้ว.... ลิ้มรสด้วยลิ้นแล้ว... ถูกต้องโผฏฐัพพะด้วยกายแล้ว.... รู้ธรรมารมณ์ด้วยใจแล้ว.... เป็นผู้เสวยรูป... เสียง... กลิ่น... รส... โผฏฐัพพะ...ธรรมารมณ์ เสวยความกำหนัดใน (อายตนะภายนอก ๖) และรู้ชัดซึ่งความกำหนัด รูป... เสียง... กลิ่น... รส... โผฏฐัพพะ...ธรรมารมณ์ อันมีอยู่ภายในว่า เรายังมีความกำหนัดในรูป... เสียง... กลิ่น... รส... โผฏฐัพพะ...ธรรมารมณ์ ในภายใน...
“......เห็นรูปด้วยจักษุ ฟังเสียงด้วยหู.... ดมกลิ่นด้วยจมูก.... ลิ้มรสด้วยลิ้น... ถูกต้องโผฏฐัพพะด้วยกาย.... รู้ธรรมารมณ์ด้วยใจแล้ว.... เป็นผู้เสวยรูปเป็นต้นนั้น แต่ไม่เสวยความกำหนัดในรูปเป็นต้นนั้น และรู้ชัดซึ่งความกำหนัด รูปเป็นต้น อันมีอยู่ภายในว่า เรายังมีความกำหนัดในรูปเป็นต้นในภายใน อาการที่ภิกษุ.... รู้ชัดซึ่งความกำหนัดในรูปเป็นต้น อันมีในภายในว่าเรามีความกำหนัดในรูปเป็นต้นในภายใน... และรู้ชัดซึ่งความกำหนัดในรูปเป็นต้นอันไม่มีในภายใน ว่าเราไม่มีความกำหนัด ในภายใน อย่างนี้แลชื่อว่าเป็นธรรมที่ผู้ศึกษาจะถึงรู้ด้วยตนเอง....”

ทำจริงถึงจริง
ปรากฏข้อความใน  ป. ทุก. อํ.  ปัญหา ถ้าเราพากเพียรพยายาม แบบวางชีวิตเป็นเดิมพัน เช่นเดียวกับพระพุทธเจ้า เราจะบรรลุมรรคผลหรือไม่?
พุทธดำรัสตอบ “ ดูก่อนฯ เราเห็นคุณค่าของธรรม ๒ อย่าง คือ ความไม่ยินดีพอใจในกุศลธรรมทั้งหลาย ๑ (ในเรื่องความนี้ ไม่ควรมีสันโดษ) ความไม่ท้อถอยในความพากเพียร ๑ ดูก่อนฯ เราเคยตั้งความเพียรไม่ท้อถอยไว้ว่า หนัง เอ็น และกระดูกเท่านั้นจงเหลืออยู่ก็ตามที เนื่องและเลือดในสรีระจงเหือดแห้งไปเถิด ผลใดที่พึงบรรลุถึงด้วยกำลังของบุรุษด้วยเรี่ยวแรงของบุรุษ เมื่อยังไม่บรรลุถึงผลนั้น จักไม่หยุดยั้งความเพียรเสียดังนี้
“ ดูก่อนฯ  โพธิฌานของเรานั้นเราบรรลุได้ด้วยความไม่ประมาท ธรรมอันเกษมจากโยคะอันยอดเยี่ยม เราบรรลุถึงได้ด้วยความไม่ประมาท ถ้าแม้นว่าท่านทั้งหลายพึงตั้งความเพียรไม่ท้อถอย.... แม้เธอทั้งหลายก็จักทำให้แจ้งซึ่งที่สุดแห่งพรหมจรรย์อันยอดเยี่ยมที่กุลบุตรทั้งหลายออกจากเรือน บวชเป็นบรรพชิตต้องการปรารถนานั้น ด้วยความรู้ยิ่งเอง ในปัจจุบันชาตินี้ต่อเวลาไม่นานนัก....”

ไม่กลัวตาย(กลัวบ้างแต่ไม่มาก) ทำไมคนจึงกลัวความตาย  ปรากฏข้อความในโยธาชีวรรค  ปัญหา คนเราทุกคนย่อมรู้ว่าความตายเป็นของธรรมดาที่จะหลักเลี่ยงไม่พ้น ถึงกระนั้น ก็ไม่วายที่จะหวาดกลัวความตาย อะไรเป็นเหตุทำให้คนหวาดกลัวความตาย ?
พุทธดำรัสตอบ “.....บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้มีความกำหนัดยินดี... ชอบใจ.... รักใคร่.... กระหาย.... เร่าร้อน มีตัณหาในกามทั้งหลายยังไม่หมดสิ้น ครั้นโรคาพาธเจ็บไข้หนักอย่างใดอย่างหนึ่งถูกต้องผู้นั้นเข้า ผู้นั้นก็มีความวิตกอย่างนี้ว่า กายทั้งหลายซึ่งเป็นของรักจักละเราไปเสีย แลเราก็จักละกาย ทั้งหลายซึ่งเป็นที่รักไปหนอ ดังนี้.... เขาย่อมเศร้าโศกลำบากพิไรตรีอกคร่ำครวญ... บุคคลนี้แล.. ย่อมกลัวต่อความตาย ถึงความสะดุ้งต่อความตาย
“.....บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้มีความกำหนัดยินดี... พอใจรักใคร่....ในกาย ครั้นโรคาพาธหนักอย่างใดอย่างหนึ่งถูกต้องผู้นั้นเข้า ผู้นั้นก็มีความวิตกอย่างนี้ว่า กายทั้งหลายซึ่งเป็นของรักจักละเราไปเสีย แลเราก็จักละกาย ทั้งหลายซึ่งเป็นที่รักไปหนอ ดังนี้.... เขาย่อมเศร้าโศกลำบากพิไรตรีอกคร่ำครวญ... บุคคลนี้แล.. ย่อมกลัวต่อความตาย ถึงความสะดุ้งต่อความตาย
“.....บุคคลบางคนในโลกนี้ มีกรรมงามดีไม่ได้ทำไว้แล้ว มีกุศลไม่ได้ทำไว้แล้ว มีกรรมซึ่งจะเป็นที่พึ่งของคนขลาดไม่ได้ทำไว้แล้ว มีบาปได้ทำไว้แล้วมีกรรมของคนละโมบได้ทำไว้แล้ว มีกรรมหยาบได้ทำไว้แล้ว ครั้นโรคาพาธหนักอย่างใดอย่างหนึ่งถูกต้องผู้นั้นเข้า ผู้นั้นก็มีความวิตกอย่างนี้ว่า
กรรมงามดีไม่ได้ทำไว้แล้ว..... ผู้มีกุศลไม่ได้ทำไว้แล้ว มีกรรมเป็นบาปอันได้ทำไว้แล้ว มีประมาณเพียงใด ตัวเราจะละโลกนี้ไปสู่คติมีประมาณเท่านั้น ดังนี้.... เขาย่อมเศร้าโศกลำบากพิไรตรีอกคร่ำครวญ... ถึงความสะดุ้งต่อความตาย
“.....บุคคลบางคนในโลกนี้ มีความเคลือบแคลง... สงสัย ถึงความแน่ใจในพระสัทธรรม ครั้นโรคาพาธหนักอย่างใดอย่างหนึ่งถูกต้องผู้นั้นเข้า ผู้นั้นก็มีความวิตกอย่างนี้ว่า เราเป็นผู้มีความเคลือบแคลง... สงสัย ถึงความแน่ใจในพระสัทธรรมแล้ว ดังนี้.... เขาย่อมเศร้าโศกลำบากพิไรตรีอกคร่ำครวญ... บุคคลนี้แล.. กลัวต่อความตาย สะดุ้งต่อความตาย

ยาอายุวัฒนะ  ปรากฏข้อความในโทณปากสูตร  ปัญหา จะมีวิธีบริหารกายอย่างไร จึงจะทำให้อายุยืน?
พุทธดำรัสตอบ “มนุษย์ผู้มีสติอยู่ทุกเมื่อ รู้จักประมาณในโภชนะที่ได้มา ย่อมมีเวทนาเบาบาง เขาย่อมแก่ช้า ครองอายุได้ยืนนาน”

ชีวิตประเสริฐ  ปรากฏข้อความในวิตตสูตร  ปัญหา (เทวดาทูลถาม) อะไรหนอเป็นทรัพย์เครื่องปลื้มใจอย่างประเสริฐของคนในโลกนี้ อะไรหนอที่บุคคลประพฤติดีแล้วนำความสุขมาให้ อะไรหนอเป็นรสดีกว่าบรรดารสทั้งหลาย คนมีชีวิตเป็นอยู่อย่างไร นักปราชญ์ ทั้งหลายกล่าวว่ามีชีวิตประเสริฐ ?
พุทธดำรัสตอบ “ศรัทธาเป็นทรัพย์เครื่องปลื้มใจอย่างประเสริฐของคนในโลกนี้ ธรรมที่บุคคลประพฤติดีแล้ว นำความสุขมาให้ ความจริงเท่านั้นเป็นรสที่ดียิ่งกว่ารสทั้งหลาย คนที่เป็นอยู่ด้วยปัญญา นักปราชญ์ทั้งหลายกล่าวว่ามีชีวิตประเสริฐ”
รักตนให้ถูกทาง  ปรากฏข้อความในปิยสูตร  ปัญหา คนทุกคนย่อมรักตนยิ่งกว่าคนอื่นสิ่งอื่น แต่ส่วนมากรักตนแล้วไม่รู้ว่าจะปฏิบัติต่อตนอย่างไร พระผู้มีพระภาคทรงแนะวิธีปฏิบัติอย่างไรในเรื่องนี้?
พุทธดำรัสตอบ “.....ถูกแล้วๆ มหาบพิตร เพราะว่าชนบางพวกย่อมประพฤติทุจริตด้วยกาย วาจา ใจ ชนเหล่านั้นไม่ชื่อว่ารักตน ถึงแม้พวกเขาจะกล่าวอย่างนี้ว่า เราทั้งหลายมีความรักตน ถึงเช่นนั้นพวกเขาก็ชื่อว่าไม่มีความรักตน ข้อนั้นเป็นเพราะเหตุอะไร ก็เพราะเหตุว่า ชนผู้ไม่รักใคร่กันย่อมทำความเสียหายให้แก่ผู้ไม่รักใคร่กันได้โดยประการใด พวกเขาเหล่านั้นย่อมทำความเสียหายแก่ตนด้วยตนเองได้โดยประการนั้น พวกเขาเหล่านั้นจึงชื่อว่าไม่รักตน
“ส่วนว่าชนบางพวกย่อมประพฤติสุจริต ด้วยกาย วาจา ใจ พวกเหล่านั้นชื่อว่ารักตน ถึงแม้พวกเขาจะกล่าวอย่างนี้วา เราไม่รักตน ถึงเช่นนั้นพวกเหล่านั้นก็ชื่อว่ารักตน ข้อนั้นเป็นเหตุอะไร ก็เพราะเหตุว่าชนผู้ที่รักใคร่กันย่อมทำความดีความเจริญให้แก่ชนผู้ที่รักใคร่กันได้โดยประการใด พวกเหล่านั้นย่อมทำความดีความเจริญแก่ตนด้วยตนเองได้โดยประการนั้น ฉะนั้นพวกเหล่านั้นจึงชื่อว่ารักตน”
รู้จักวิธีตอบแทนคุณบิดามารดาที่ถูกต้อง
ปัญหา การที่จะตอบสนองบุญคุณมารดาบิดาได้อย่างถูกต้องและเต็มที่นั้น บุตรธิดาควรจะทำอย่างไรบ้าง?
พุทธดำรัสตอบ “ดูก่อนฯ การที่จะตอบแทนคุณแก่บุคคลทั้ง ๒ คือ มารดา ๑ บิดา ๑ เรากล่าวว่ากระทำไม่ได้ง่ายเลย
“ดูก่อนฯ บุตรพึงแบกมารดาด้วยบ่าข้างหนึ่ง แบกบิดาด้วยบ่าข้างหนึ่ง เขามีอายุมีชีวิตอยู่ตลอดร้อยปี และพึงปฏิบัติบำรุงทั้ง ๒ ด้วยการอบกลิ่น การนวด การให้อาบน้ำ และการบีบนวดอวัยวะต่าง ๆ แก่ท่านทั้งสอง แม้ท่านทั้ง ๒ ก็พึงถ่ายอุจจาระบนบ่านั่นเอง ถึงกระนั้นเขาก็ยังไม่ชื่อว่าตอบแทนบุญคุณแก่มารดาบิดา
“ดูก่อนฯ อนึ่ง บุตรพึงตั้งมารดาไว้ในราชสมบัติ มีอำนาจยิ่งใหญ่ในแผ่นดินใหญ่ อันมีรัตนะ ๗ ประการมากหลายนี้ แม้กระนั้นก็ยังไม่ชื่อว่าตอบแทนคุณมารดาบิดา ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะมารดาบิดามีอุปการะมาก เป็นผู้บำรุงเลี้ยง เป็นผู้สอนให้ลูกรู้จักโลก
“ส่วนบุตรคนใด ทำให้มารดาบิดาผู้ไม่มีศรัทธาให้สมาทานตั้งมั่นในสัทธาสัมปทา ให้มารดาบิดาผู้มีทุศีลสมาทานตั้งมั่นในสีลสัมปทา ให้บิดามารดาผู้มีความตระหนี่สมาทานตั้งมั่นในจาคสัมปทา ให้มารดาบิดาผู้ทรามปัญญา สมาทานตั้งมั่นในปัญญาสัมปทา ดูก่อนฯ ด้วยเหตุมีประมาณเท่านั้น และบุตรย่อมชื่อว่าเป็นผู้อันกระทำตอบแทนบุญคุณแก่มารดาบิดาแล้ว”

ฆราวาสกับการดำเนินชีวิตชอบ  ปรากกฏข้อความในราสิยสูตร  ปัญหา คฤหัสถ์ที่ยังบริโภคกาม ควรจะดำเนินชีวิตอย่างไรบ้าง จึงจะเป็นการถูกต้อง?
พุทธดำรัสตอบ “ดูก่อนนายคามณี ในบุคคลผู้บริโภคกาม ๓ จำพวกนั้น ผู้บริโภคตามที่แสวงหาโภคทรัพย์โดยชอบธรรม โดยไม่ใช้วิธีรุนแรง ครั้นแสวงหาโภคทรัพย์โดยชอบธรรมแล้ว ย่อมเลี้ยงจนให้เป็นสุขโดยไม่เบียดเบียนใคร จำแนกทาน ทำบุญไม่ละโมบ ไม่หลงใหล ไม่ยึดมั่นพัวพันในโภคทรัพย์ มีปกติเห็นโทษ มีปัญญาในการสลัดทรัพย์ออก ใช้สอยทรัพย์อยู่
“ดูก่อนนายคามณี ผู้บริโภคตามนี้ควรสรรเสริญโดย ๔ สถาน คือ สถานที่ ๑ แสวงหาโภคทรัพย์โดยชอบธรรม ไม่รุนแรง สถานที่ ๒ เลี้ยงตนให้เป็นสุขสบาย สถานที่ ๓ จำแนกแจกจ่ายและกระทำบุญ สถานที่ ๔ ไม่ละโมบ ไม่หลงใหล ไม่ยึดมั่นพัวพันในโภคทรัพย์ มีปกติเห็นโทษ มีปัญญาในการสลัดทรัพย์ออกใช้สอยทรัพย์อยู่ ดูก่อนนายคามณี บุคคลผู้บริโภคตามเช่นนี้ ควรสรรเสริญโดย ๔ สถานเหล่านี้แล....”

ฆราวาสก็มีหวังได้ลิ้มรสนิพพาน  ปรากฏข้อความใน  เวฬุทวารสูตร  ปัญหา เท่าที่ได้ฟังมานั้น การที่จะได้บรรลุมรรคผลนิพพาน รู้สึกว่าเป็นกิจที่ทำได้ยากมาก จะต้องสละโลกออกบวช ไปอยู่ในป่าบำเพ็ญศีลสมาธิปัญญาอย่างเคร่งครัด ซึ่งน้อยคนจะกระทำได้ สำหรับฆราวาสที่ยังต้องอยู่ครองเรือนมีหน้าที่ในการเลี้ยงครอบครัว จะปฏิบัติอย่างไรจึงจะมีโอกาสได้ลิ้มรสแห่งนิพพานสุขบ้าง ?
พุทธดำรัสตอบ “.....สาวกของพระอริยเจ้าในศาสนานี้ย่อมพิจารณาเห็นว่า
เราปรารถนาชีวิตไม่คิดอยากตาย ปรารถนาแต่ความสุขสบายเกลียดหน่ายต่อความทุกข์ บุคคลผู้ใดจะพึงปลงเราเสียจากชีวิต ข้อนั้นจะไม่พึงเป็นที่รักใคร่ชอบใจของเราเลย ก็แล ถ้าเราจะพึงปลงผู้อื่นเสียจากชีวิต ถึงข้อนั้นก็จะไม่เป็นที่รักใคร่ชอบใจของผู้นั้น ธรรมอันใดที่ไม่เป็นที่รักใคร่ชอบใจของเราธรรมอันนั้นก็ไม่เป็นที่รักใคร่ชอบใจของคนอื่น....... พิจารณาเห็นอย่างนี้แล้วตนก็เว้นเสียจากปาณาติบาต แลชักชวนผู้อื่นให้เว้นเสียจากปาณาติบาต และกล่าวพรรณนาคุณของการเว้นจากปาณาติบาต......
“บุคคลใดจะพึงถือเอาสิ่งของที่เราไม่ให้ซึ่งนับว่าเป็นขโมย ข้อนั้นก็ไม่พึงเป็นที่รักใคร่ชอบใจของเราเลย ก็แล เราจะถือเอาสิ่งของที่ผู้อื่นไม่ให้ ถึงขอนั้นก็ไม่เป็นที่รักใคร่ชอบใจของผู้อื่น.... พิจารณาเห็นดังนี้แล้ว ตนก็เว้นเสียจากอทินนาทานและชักชวนผู้อื่นให้เว้นเสียจากอทินนาทาน และกล่าวพรรณนาคุณของการเว้นจากการอทินนาทาน...
“บุคคลใดจะประพฤติละเมิดในภรยาของเรา ข้อนั้นไม่ถึงเป็นที่รักใคร่ชอบใจของเราเลย ก็แลเราจะถึงประพฤติละเมิดในภรรยาของผู้อื่น ถึงข้อนั้นก็ไม่พึงเป็นที่รักใคร่ชอบใจของผู้อื่น... พิจารณาเห็นดังนี้แล้ว ตนก็เว้นเสียจากกาเมสุมิจฉาจาร และชักชวนผู้อื่นให้เว้นเสียจากกาเมสุมิจฉาจาร และพรรณนาคุณของการเว้นจากกาเมสุมิจฉาจาร....
“บุคคลใดจะพึงทำลายประโยชน์ของเราเสียด้วยการพูดปด ข้อนั้นก็ไม่เป็นที่รักใคร่ชอบใจของเราเลย ก็แลเราจะพึงทำลายประโยชน์ของผู้อื่นเสียด้วยการพูดปด ถึงข้อนั้นก็ไม่เป็นที่รักใคร่ชอบใจของผู้อื่น.... พิจารณาเห็นดังนี้แล้ว ตนก็เว้นเสียจากการพูดปด แลชักชวนผู้อื่นให้เว้นเสียจากการพูดปดแลกล่าวพรรณนาคุณของการเว้นจากการพูดปด....
“บุคคลใดจะพึงทำให้เราแตกจากมิตรด้วยการกล่าวส่อเสียด ข้อนั้นก็ไม่พึงเป็นที่รักใคร่ชอบใจของเราเลย ก็แลเราจะพึงทำผู้อื่นให้แตกจากมิตรด้วยการกล่าวส่อเสียด ถึงข้อนั้นก็จะไม่เป็นที่รักใคร่ชอบใจของผู้อื่น.... พิจารณาเห็นอย่างนี้แล้ว ตนก็เว้นเสียจากกการกล่าวส่อเสียด และชักชวนผู้อื่นให้เว้นจากการกล่าวส่อเสียด และกล่าวพรรณนาคุณของการเว้นจากการกล่าวส่อเสียด
“บุคคลใดจะพึงร้องเรียกเราด้วยคำหยาบ ข้อนั้นก็ไม่เป็นที่รักใคร่ชอบใจของเราเลย ก็แลเราจะพึงร้องเรียกคนอื่นด้วยคำหยาบเล่า พึงข้อนั้นก็จะไม่เป็นที่รักใคร่ชอบใจของผู้อื่น.... พิจารณาเห็นอย่างนี้แล้วตนก็เว้นเสียจากการกล่าวว่าจากหยาบ และชักชวนผู้อื่นให้เว้นจากการกล่าววาจาหยาบ และกล่าวพรรณนาคุณของการเว้นจากการกล่าววาจาหยาบ....
“บุคคลใดจะพึงร้องเรียกเราด้วยการกล่าววาจาปราศจากประโยชน์ ข้อนั้นก็จะไม่เป็นที่รักใคร่ชอบใจของเราเลย ก็แลจะพึงร้องเรียกผู้อื่นด้วยการกล่าววาจาปราศจากประโยชน์ ข้อนั้นก็จะไม่เป็นที่รักใคร่ชอบใจของผู้อื่น.... แลชักชวนผู้อื่นให้เว้นจากการกล่าววาจาปราศจากประโยชน์ และพรรณนาคุณของการเว้นจากการกล่าววาจาปราศจากประโยชน์
“สาวกของพระอริยเจ้านั้น ประกอบด้วยความเลื่อมใสในพระพุทธเจ้า ไม่หวั่นไหว... ประกอบด้วยความเลื่อมใสมั่นในพระธรรมไม่หวั่นไหว... ประกอบด้วยความเลื่อมใสมั่นในพระสงฆ์ ไม่หวั่นไหว... ประกอบด้วยศีล ทั้งหลายอันพระอริยเจ้ารักใคร่ไม่ให้ขาด ไม่ให้เป็นท่อน ไม่ให้ด่างพร้อย เป็นไทย (ไม่เป็นทาสแหงตัณหา) อันผู้รู้สรรเสริญอันตัณหาแลทิฐิไม่ครอบงำได้เป็นไปเพื่อสมาธิ
“เมื่อใด สาวกของพระอริยเจ้า ประกอบด้วยสัทธรรมความชอบเหล่านี้แล้ว... ก็จะพึงพยากรณ์ได้ด้วยตนเองว่า เรามีนรกสิ้นแล้ว เรามีกำเนิดเดียรัจฉานเปรตวิสัย อบาย ทุคติ วินิบาตสิ้นแล้ว เราเป็นผู้ถึงต้นกระแสแห่งพระนิพพานแล้ว ไม่มีทางที่จะตกไปในอบายทั้งสี่อย่างแน่นอน เป็นผู้เที่ยงต่อพระนิพพาน เป็นผู้มีอันจะได้ตรัสรู้ในเบื้องหน้า” ดังนี้

เห็นอริยสัจทุกข์เหลือน้อย  ปรากฏใน สิเนรุสูตร  ปัญหา ความทุกข์ของอริยสาวกผู้เห็นอริยสัจ ๔ ยังเหลืออยู่มากน้อยเพียงใด ?
พุทธดำรัสตอบ “ ดูก่อนฯ เปรียบเหมือนขุนเขาสิเนรุราช พึงหมดสิ้นไป นอกจากก้อนหินขนาดเท่าเมล็ดถั่วเขียวเจ็ดก้อน เธอทั้งหลายจะเห็นอย่างไร ขุนเขาสิเนรุราชที่สิ้นไป หมดไปกับก้อนหิน...เจ็ดก้อนที่ยังเหลืออยู่ อย่างไหนจะมากกว่ากัน”
ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขุนเขาสิเนรุราชที่หมดสิ้นไปนี้แหละมากกว่า....”
“ ดูก่อนฯ ทุกข์ของบุคคลผู้เป็นอริยสาวก ผู้สมบูรณ์ด้วยความเห็น ผู้มีความเข้าใจแจ่มแจ้งที่สิ้นไปแล้ว หมดไปแล้วนั่นแหละมากกว่าที่ยังเหลืออยู่มีประมาณน้อย...เมื่อเทียบกับกองทุกข์ที่มีอยู่เมื่อก่อน ..จะมีการเกิดเสวยทุกข์อีกเพียงเจ็ดครั้งเท่านั้น.....”

ที่พึ่งของชาวพุทธ  ปรากฏข้อความใน อัตตทีปสูตร  ปัญหา อะไรคือที่พึ่งอันแท้จริงของชาวพุทธ และจะพึ่งได้อย่างไร ?
พุทธดำรัสตอบ “.....ดูก่อนฯ เธอจงมีตนเป็นที่พึ่ง มีตนเป็นสรณะ ไม่มีสิ่งอื่นเป็นสรณะ มีธรรมเป็นที่พึ่ง มีธรรมเป็นสรณะ ไม่มีสิ่งอื่นเป็นสรณะ
“.....ดูก่อนฯ เมื่อเธอจะมีจนเป็นที่พึ่ง.... มีธรรมเป็นที่พึ่ง....จะต้องพิจารณาโดยรอบคอบว่า ความโศก ความคร่ำครวญ ความระทม ความแค้นใจ ความแห่งใจ มีกำเนิดมาอย่างไร เกิดมาจากอะไร
“.....ดูก่อนฯ ปุถุชนผู้มิได้เรียนรู้ ไม่ได้เห็นพระอริยเจ้า ไม่ฉลาดในธรรมของพระอริยเจ้า ย่อมพิจารณาเห็น รูป.... เวทนา...สัญญา... สังขาร...วิญญาณ ว่าเป็นต้น เห็นตนว่ามีรูป (เป็นต้น) เห็นรูป (เป็นต้น) ในตน ย่อมเห็นตนในรูป (เป็นต้น) รูป.... เวทนา...สัญญา... สังขาร...วิญญาณ นั้นของเขาย่อมแปรไป.....ความโศก ความคร่ำครวญ ย่อมเกิดขึ้นแก่เขา
“.....ดูก่อนฯ เมื่อภิกษุรู้ว่า รูป.... เวทนา...สัญญา... สังขาร...วิญญาณ ไม่เที่ยง แปรปรวนไป.... ดับไป เห็นตามเป็นจริงด้วยปัญญาอันชอบดังนี้ว่ารูป.... เวทนา...สัญญา... สังขาร...วิญญาณ ในกาลก่อนและในบัดนี้ ล้วนไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวน เป็นธรรมดาดังนี้ ย่อมละความโศก ความคร่ำครวญ ความทุกข์ได้ เพราะละความโศกได้จึงไม่เดือดร้อน เพราะไม่เดือดร้อนจึงอยู่เป็นสุข ........ผู้มีปกติอยู่เป็นสุข เรากล่าวว่า เป็นผู้ดับเย็นแล้วอย่างครบถ้วน”

ใช้ธรรมรู้หลีกไม่เกิดเป็นสัตว์ในอบายภูมิ
สัตว์ในอบายภูมิ (วินิบาต) จะมีโอกาสกระทำความดีแล้วกลับมาเกิดในภูมิมนุษย์ได้หรือไม่ ? ปรากฏข้อความในฉิคคฬสูตร 
พุทธดำรัสตอบ “ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนบุรุษโยนแอกซึ่งมีช่องเดียวลงไปในมหาสมุทร เต่าตาบอดตัวหนึ่งมีอยู่ในมหาสมุทรนั้น เต่าตัวนั้นจะโผล่ขึ้นมาครั้งเดียวทุก ๆ ระยะเวลาผ่านไปร้อยปี เธอทั้งหลายจะเป็นอย่างไร เต่าตอบอดนั้นจะมีโอกาสสอดคอเข้าไปในแอกช่องเดียวนั้นได้บ้างหรือไม่”
ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า “ถ้าล่วงกาลนานไปบางครั้งบางคราว เต่าจะมีโอกาสสอดคอเข้าไปในแอกนั้นได้บ้าง”
“ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย การที่เต่าตาบอดโผล่ขึ้นมาร้อยปีต่อครั้ง จะพึงสอดคอเข้าไปในแอกช่องเดียวได้ยังเร็วกว่า เราไม่ยืนยันว่า คนพาลที่เข้าถึงวินิบาตคราวหนึ่งแล้วจะกลับได้ความเป็นมนุษย์โดยเร็ว เพราะเหตุใด เพราะในวินิบาตนั้นไม่มีการประพฤติธรรม การประพฤติชอบ การกระทำกุศลการกระทำบุญ มีแต่การเคี้ยวกินกันกินและกัน ในวินิบาตนั้น มีแต่การเคี้ยวกินผู้มีกำลังน้อย....”

ปิดประตูนรก  ปรากฏข้อความใน ปัจจเวรภยสูตร  ปัญหา ทำอย่างไร จึงจะเชื่อแน่ได้ว่า คนจะไม่ตกนรก และจะไม่เกิดในอบายภูมิอื่น ๆ อย่างเด็ดขาด?
พุทธดำรัสตอบ “ดูก่อนคฤหบดี เมื่อใดแล ภัยเวร ๕ ประการของอริยสาวกสงบแล้ว เมื่อนั้นอริยสาวสกย่อมประกอบด้วยธรรมอันเป็นองค์แห่งโสดาปัตติ ๔ อย่าง และญายธรรมอย่างประเสริฐ อริยสาวกเห็นดีแล้วแทงตลอดด้วยปัญญา อริยสาวกนั้นหวังอยู่ พึงพยากรณ์ตนด้วยตนเอง ได้ว่าเราเป็นผู้มีนรกสิ้นแล้ว มีกำหนดสัตว์เดียรัจฉานสิ้นแล้ว มีปิตติวิสัยสิ้นแล้ว มีอบาย ทุคติ วินิบาตสิ้นแล้ว เราเป็นโสดาบัน มีอันไม่ตกต่ำเป็นธรรมดา เป็นผู้เที่ยงจะตรัสรู้ในภายหน้า
“ภัยเวร ๕ ประการสงบแล้วเป็นไฉน ดูก่อนคฤหบดี บุคคลผู้ฆ่าสัตว์.... บุคคลผู้ลักทรัพย์.... บุคคลผู้ประพฤติผิดในกาม..... บุคคลผู้พูดเท็จ.... บุคคลผู้ตั้งอยู่ในความประมาท เพื่อดื่มน้ำเมาคือสุราและเมรัย ย่อมประสบภัยเวรใดอันมีในชาตินี้บ้าง อันมีชาติหน้าบ้าง ย่อมเสวยทุกข์ทางใจคือโทมนัสบ้างเพราะปาณาติบาต.... เพราะอทินนาทาน.... เพราะกาเมสุมิจฉาจาร.... เพราะมุสาวาท.... เพราะการดื่มน้ำเมาคือสุราและเมรัยเป็นเหตุ.... กาเมสุมิจฉาจาร.... มุสาวาท.... การดื่มน้ำเมาคือสุราและเมรัย อันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาทสงบแล้วด้วยอาการอย่างนี้ ภัยเวร ๕ ประการนี้สงบแล้ว
“อริยสาวกย่อมประกอบด้วยธรรม อันเป็นองค์แห่งโสดาปัตติ ๔ อย่างเป็นไฉน ดูก่อนคฤหบดี อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ ย่อมประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระพุทธเจ้า.... ในพระธรรม.... ในพระสงฆ์.... ย่อมประกอบด้วยศีล ที่พระอริยเจ้าปรารถนา ไม่ขาด ไม่ทะลุ ไม่ด่าง ไม่พร้อมเป็นไทย อันวิญญูชนสรรเสริญ อันตัณหาและทิฐิไม่ครอบงำได้ เป็นไปเพื่อสมาธิ อริยสาวกย่อมประกอบด้วยธรรมอันเป็นองค์แห่งโสดาปัตติ ๔ อย่างนี้.....
“ก็ญายธรรมอันประเสริฐ อันอริยสาวกเห็นดีแล้ว แทงตลอดดีแล้วด้วยปัญญาเป็นไฉน ดูก่อนคฤหบดี อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ กระทำไว้ในใจโดยแยบคาย ถึงปฏิจจสมุปบาทเป็นอย่างดีว่า เมื่อสิ่งนี้มีสิ่งนี้จึงมี เพราะสิ่งนี้เกิดขึ้น สิ่งนี้จึงเกิดขึ้น เมื่อสิ่งนี้ไม่มี สิ่งนี้จึงไม่มี เพราะสิ่งนี้ดับ สิ่งนี้จึงดับด้วย ประการดังนี้ คือ เพราะอวิชชาเป็นปัจจัย จึงมีสังขาร ฯลฯ ความเกิดแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ จึงมีด้วยประการฉะนี้ ก็เพราะอวิชชาดับ.... สังขารจึงดับ ฯลฯ ความดับแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ย่อมีด้วยประการอย่างนี้
“ดูก่อนคฤหบดี เมื่อใดแล ภัยเวร ๕ ประการนี้ของอริยสาวกสงบแล้วเมื่อนั้นอริยสาวกย่อมประกอบด้วยธรรมเป็นองค์แห่งโสดาปัตติ ๔ อย่าง และญายธรรมย่อมประเสริฐนี้... อริยสาวกนั้น หวังอยู่พึงพยากรณ์ตนด้วยตนเองได้ว่า เราเป็นผู้มีนรกสิ้นแล้ว....”

ธนสูตร

             ดูก่อนฯ ทรัพย์ ๕ ประการนี้ ๕ ประการเป็นไฉน คือทรัพย์ คือ ศรัทธา ๑ ทรัพย์ คือ ศีล ๑ ทรัพย์ คือ สุตะ ๑ ทรัพย์ คือจาคะ ๑ ทรัพย์ คือ ปัญญา ๑ ดูก่อนฯ  ก็ทรัพย์ คือ ศรัทธาเป็นไฉนอริยสาวกในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้มีศรัทธา ย่อมเชื่อพระปัญญาเครื่องตรัสรู้ของตถาคตว่า แม้เพราะเหตุนี้ๆ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ฯลฯ เป็นผู้เบิกบานแล้วเป็นผู้จำแนกธรรม นี้เรียกว่าทรัพย์ คือ ศรัทธา ก็ทรัพย์ คือ ศีลเป็นไฉน

ดูก่อนฯ  อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้เว้นขาดจากปาณาติบาต ฯลฯเว้นขาดจากการดื่มสุราและเมรัย อันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท นี้เรียกว่าทรัพย์คือ ศีล ก็ทรัพย์ คือ สุตะเป็นไฉน ดูก่อนฯ  อริยสาวกในธรรมวินัยนี้

เป็นพหูสูต ฯลฯ แทงตลอดด้วยดีด้วยทิฐิ นี้เรียกว่าทรัพย์ คือ สุตะ ก็ทรัพย์คือ จาคะเป็นไฉน ดูก่อนฯ  อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ มีใจปราศจากมลทิน คือ ความตระหนี่อยู่ครองเรือน มีจาคะอันปล่อยแล้ว มีฝ่ามืออันชุ่ม

ยินดีในการเสียสละ ควรแก่การขอ ยินดีในทานและการจำแนกทาน นี้เรียกว่าทรัพย์ คือ จาคะ ก็ทรัพย์ คือ ปัญญาเป็นไฉน ดูก่อนฯ  อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้มีปัญญา ประกอบด้วยปัญญาอันหยั่งถึงความตั้งขึ้นและความเสื่อมไป เป็นอริยะ ชำแรกกิเลส ให้ถึงความสิ้นทุกข์โดยชอบ นี้เรียกว่าทรัพย์คือ ปัญญา ดูก่อนฯ  ทรัพย์ ๕ ประการนี้แล ฯผู้ใดมีความเชื่อในตถาคต ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหว มีศีลอันงามอันพระอริยะชอบใจ สรรเสริญ มีความเลื่อมใสในพระสงฆ์และมีความเห็นตรง บัณฑิตทั้งหลายกล่าวผู้นั้นว่า ไม่เป็นคน

ขัดสน ชีวิตของผู้นั้นไม่เปล่าประโยชน์ เพราะเหตุนั้น ผู้มีปัญญา เมื่อนึกถึงคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย พึงประกอบศรัทธา ศีล ปสาทะ และความเห็นธรรมเนืองๆ เถิด ฯ

ปิดท้าย

เทวทูตสูตร

              ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้-

             สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่พระวิหารเชตวัน อารามของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี สมัยนั้นแล พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเหล่านั้นทูลรับพระดำรัสแล้ว ฯ

             พระผู้มีพระภาคได้ตรัสดังนี้ว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนเรือน ๒ หลังมีประตูตรงกัน บุรุษผู้มีตาดียืนอยู่ระหว่างกลางเรือน ๒ หลังนั้น พึงเห็นมนุษย์กำลังเข้าเรือนบ้าง กำลังออกจากเรือนบ้าง กำลังเดินมาบ้างกำลังเดินไปบ้าง ฉันใด ดูกรภิกษุทั้งหลาย ฉันนั้นเหมือนกันแล เราย่อมมองเห็นหมู่สัตว์กำลังจุติ กำลังอุบัติ เลว ประณีต มีผิวพรรณดี มีผิวพรรณทราม ได้ดีตกยาก ด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ ล่วงจักษุของมนุษย์ ย่อมทราบชัดซึ่งหมู่สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรมได้ว่า สัตว์ผู้กำลังเป็นอยู่เหล่านี้ประกอบด้วยกายสุจริต วจีสุจริต

มโนสุจริต ไม่ติเตียนพระอริยะ เป็นสัมมาทิฐิ เชื่อมั่นกรรมด้วยอำนาจสัมมาทิฐิเมื่อตายไปแล้ว เข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ก็มี สัตว์ผู้กำลังเป็นอยู่เหล่านี้ประกอบด้วยกายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต ไม่ติเตียนพระอริยะ เป็นสัมมาทิฐิ เชื่อมั่นกรรมด้วยอำนาจสัมมาทิฐิ เมื่อตายไปแล้ว บังเกิดในหมู่มนุษย์ก็มี สัตว์ผู้กำลังเป็นอยู่เหล่านี้ ประกอบด้วยกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต ติเตียนพระอริยะ เป็นมิจฉาทิฐิ เชื่อมั่นกรรมด้วยอำนาจมิจฉาทิฐิ เมื่อตายไปแล้วเข้าถึงปิตติวิสัยก็มี สัตว์ผู้กำลังเป็นอยู่เหล่านี้ ประกอบด้วย กายทุจริตวจีทุจริต มโนทุจริต ติเตียนพระอริยะ เป็นมิจฉาทิฐิ เชื่อมั่นกรรมด้วยอำนาจมิจฉาทิฐิ เมื่อตายไปแล้ว เข้าถึงกำเนิดสัตว์เดียรัจฉานก็มี สัตว์ผู้กำลังเป็นอยู่เหล่านี้ ประกอบด้วยกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต ติเตียนพระอริยะ เป็นมิจฉาทิฐิ เชื่อมั่นกรรมด้วยอำนาจมิจฉาทิฐิ เมื่อตายไปแล้วเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรกก็มี ฯ

             ดูกรภิกษุทั้งหลาย เหล่านายนิรยบาลจะจับสัตว์นั้นที่ส่วนต่างๆของแขนไปแสดงแก่พระยายมว่า ข้าแต่พระองค์ บุรุษนี้ไม่ปฏิบัติชอบในมารดาไม่ปฏิบัติชอบในสมณะ ไม่ปฏิบัติชอบในพราหมณ์ ไม่อ่อนน้อมต่อผู้ใหญ่ในสกุลขอพระองค์จงลงอาชญาแก่บุรุษนี้เถิด ฯ

              ดูกรภิกษุทั้งหลาย พระยายมจะปลอบโยน เอาอกเอาใจ ไต่ถามถึงเทวทูตที่ ๑ กะสัตว์นั้นว่า ดูกรพ่อมหาจำเริญ ท่านไม่ได้เห็นเทวทูตที่ ๑  ปรากฏในหมู่มนุษย์หรือ ฯ

             สัตว์นั้นทูลอย่างนี้ว่า ข้าพเจ้าไม่เห็นเลยเจ้าข้า ฯ

             พระยายมถามอย่างนี้ว่า ดูกรพ่อมหาจำเริญ ท่านไม่ได้เห็นเด็กแดงๆ

ยังอ่อนนอนแบ เปื้อนมูตรคูถของตนอยู่ในหมู่มนุษย์หรือ ฯ

             สัตว์นั้นทูลอย่างนี้ว่า เห็น เจ้าข้า ฯ

             พระยายมถามอย่างนี้ว่า ดูกรพ่อมหาจำเริญ ท่านนั้นรู้ความ มีสติ เป็นผู้ใหญ่แล้ว ได้มีความดำริดังนี้บ้างไหมว่า แม้ตัวเราแล ก็มีความเกิดเป็นธรรมดาไม่ล่วงพ้นความเกิดไปได้ ควรที่เราจะทำความดีทางกาย ทางวาจา และทางใจ ฯ

             สัตว์นั้นทูลอย่างนี้ว่า ข้าพเจ้าไม่อาจ เจ้าข้า มัวประมาทเสียเจ้าข้า ฯ

             พระยายมกล่าวอย่างนี้ว่า ดูกรพ่อมหาจำเริญ ท่านไม่ได้ทำความดีทางกายทางวาจา และทางใจไว้ เพราะมัวประมาทเสีย ดังนั้น เหล่านายนิรยบาลจักลงโทษโดยอาการที่ท่านประมาทแล้ว ก็บาปกรรมนี้นั่นแล ไม่ใช่มารดาทำให้ท่านไม่ใช่บิดาทำให้ท่าน ไม่ใช่พี่น้องชายทำให้ท่าน ไม่ใช่พี่น้องหญิงทำให้ท่าน ไม่ใช่มิตรอำมาตย์ทำให้ท่าน ไม่ใช่ญาติสาโลหิตทำให้ท่าน ไม่ใช่สมณะและพราหมณ์ทำให้ท่าน ไม่ใช่เทวดาทำให้ท่าน ตัวท่านเองทำเข้าไว้ ท่านเท่านั้นจักเสวยวิบากของบาปกรรมนี้ ฯ

              ดูกรภิกษุทั้งหลาย พระยายมครั้นปลอบโยน เอาอกเอาใจไต่ถามถึงเทวทูตที่ ๑ กะสัตว์นั้นแล้ว จึงปลอบโยน เอาอกเอาใจ ไต่ถามเทวทูตที่ ๒ ว่า ดูกรพ่อมหาจำเริญ ท่านไม่ได้เห็นเทวทูตที่ ๒ ปรากฏในหมู่มนุษย์หรือ ฯ

             สัตว์นั้นทูลอย่างนี้ว่า ข้าพเจ้าไม่เห็นเลย เจ้าข้า ฯ

             พระยายมถามอย่างนี้ว่า ดูกรพ่อมหาจำเริญ ท่านไม่ได้เห็นหญิงหรือชายมีอายุ ๘๐ ปี ๙๐ ปี หรือ ๑๐๐ ปี นับแต่เกิดมา ผู้แก่ ซี่โครงคด หลังงอ ถือไม้เท้า งกเงิ่น เดินไป กระสับกระส่าย ล่วงวัยหนุ่มสาว ฟันหักผมหงอก หนังย่น ศีรษะล้าน เหี่ยว ตัวตกกระ ในหมู่มนุษย์หรือ ฯ

             สัตว์นั้นทูลอย่างนี้ว่า เห็น เจ้าข้า ฯ

             พระยายมถามอย่างนี้ว่า ดูกรพ่อมหาจำเริญ ท่านนั้นรู้ความ มีสติ เป็นผู้ใหญ่แล้ว ได้มีความดำริดังนี้บ้างไหมว่า แม้ตัวเราแล ก็มีความแก่เป็นธรรมดาไม่ล่วงพ้นความแก่ไปได้ ควรที่เราจะทำความดีทางกาย ทางวาจา และทางใจ ฯ

             สัตว์นั้นทูลอย่างนี้ว่า ข้าพเจ้าไม่อาจ เจ้าข้า มัวประมาทเสีย เจ้าข้า ฯ

             พระยายมกล่าวอย่างนี้ว่า ดูกรพ่อมหาจำเริญ ท่านไม่ได้ทำดีทางกายทางวาจา และทางใจไว้ เพราะมัวประมาทเสีย ดังนั้น เหล่านายนิรยบาลจักลงโทษโดยอาการที่ท่านประมาทแล้ว ก็บาปกรรมนี้นั่นแล ไม่ใช่มารดาทำให้ท่านไม่ใช่บิดาทำให้ท่าน ไม่ใช่พี่น้องชายทำให้ท่าน ไม่ใช่พี่น้องหญิงทำให้ท่าน ไม่ใช่มิตรอำมาตย์ทำให้ท่าน ไม่ใช่ญาติสาโลหิตทำให้ท่าน ไม่ใช่สมณะและพราหมณ์ทำให้ท่าน ไม่ใช่เทวดาทำให้ท่าน ตัวท่านเองทำเข้าไว้ ท่านเท่านั้นจักเสวยวิบากของบาปกรรมนี้ ฯ

              ดูกรภิกษุทั้งหลาย พระยายมครั้นปลอบโยน เอาอกเอาใจไต่ถามถึงเทวทูตที่ ๒ กะสัตว์นั้นแล้ว จึงปลอบโยน เอาอกเอาใจ ไต่ถามถึงเทวทูตที่ ๓ ว่า ดูกรพ่อมหาจำเริญ ท่านไม่ได้เห็นเทวทูตที่ ๓ ปรากฏในหมู่

มนุษย์หรือ ฯ

             สัตว์นั้นทูลอย่างนี้ว่า ข้าพเจ้าไม่เห็นเลย เจ้าข้า ฯ

             พระยายมถามอย่างนี้ว่า ดูกรพ่อมหาจำเริญ ท่านไม่ได้เห็นหญิงหรือชายผู้ป่วย ทนทุกข์ เป็นไข้หนัก นอนเปื้อนมูตรคูถของตน มีคนอื่นคอยพยุงลุกพยุงเดิน ในหมู่มนุษย์หรือ ฯ

             สัตว์นั้นทูลอย่างนี้ว่า เห็น เจ้าข้า ฯ

             พระยายมถามอย่างนี้ว่า ดูกรพ่อมหาจำเริญ ท่านนั้นรู้ความมีสติ เป็นผู้ใหญ่แล้ว ได้มีความดำริดังนี้บ้างไหมว่า แม้ตัวเราแล ก็มีความเจ็บป่วยเป็นธรรมดาไม่ล่วงพ้นความเจ็บป่วยไปได้ ควรที่เราจะทำความดีทางกาย ทางวาจา และทางใจ ฯ

             สัตว์นั้นทูลอย่างนี้ว่า ข้าพเจ้าไม่อาจ เจ้าข้า มัวประมาทเสีย เจ้าข้า ฯ

             พระยายมกล่าวอย่างนี้ว่า ดูกรพ่อมหาจำเริญ ท่านไม่ได้ทำความดีทางกายทางวาจา และทางใจไว้ เพราะมัวประมาทเสีย ดังนั้น เหล่านายนิรยบาลจักลงโทษโดยอาการที่ท่านประมาทแล้ว ก็บาปกรรมนี้นั่นแล ไม่ใช่มารดาทำให้ท่านไม่ใช่บิดาทำให้ท่าน ไม่ใช่พี่น้องชายทำให้ท่าน ไม่ใช่พี่น้องหญิงทำให้ท่าน ไม่ใช่มิตรอำมาตย์ทำให้ท่าน ไม่ใช่ญาติสาโลหิตทำให้ท่าน ไม่ใช่สมณะและพราหมณ์ทำให้ท่าน ไม่ใช่เทวดาทำให้ท่าน ตัวท่านเองทำเข้าไว้ ท่านเท่านั้นจักเสวยวิบากของบาปกรรมนี้ ฯ

              ดูกรภิกษุทั้งหลาย พระยายมครั้นปลอบโยน เอาอกเอาใจไต่ถามถึงเทวทูตที่ ๓ กะสัตว์นั้นแล้ว จึงปลอบโยน เอาอกเอาใจ ไต่ถามถึงเทวทูตที่ ๔ ว่า ดูกรพ่อมหาจำเริญ ท่านไม่ได้เห็นเทวทูตที่ ๔ ปรากฏในหมู่

มนุษย์หรือ ฯ

             สัตว์นั้นทูลอย่างนี้ว่า ข้าพเจ้าไม่เห็นเลย เจ้าข้า ฯ

             พระยายมถามอย่างนี้ว่า ดูกรพ่อมหาจำเริญ ท่านไม่ได้เห็นราชาทั้งหลายในหมู่มนุษย์จับโจรผู้ประพฤติผิดมาแล้ว สั่งลงกรรมกรณ์ต่างชนิดบ้างหรือ คือ ฯ โบยด้วยแส้บ้างโบยด้วยหวายบ้างตีด้วยตะบองสั้นบ้างตัดมือบ้าง ตัดเท้าบ้าง  ตัดทั้งมือทั้งเท้าบ้าง ตัดหูบ้างตัดจมูกบ้าง  ตัดทั้งหูทั้งจมูกบ้าง  ลงกรรมกรณ์วิธี หม้อเคี่ยวน้ำส้มบ้าง  ลงกรรมกรณ์วิธีขอดสังข์บ้าง  ลงกรรมกรณ์วิธีปากราหูบ้าง ลงกรรมกรณ์วิธีมาลัยไฟบ้าง

ลงกรรมกรณ์วิธีขบมือบ้าง  ลงกรรมกรณ์วิธีริ้วส่ายบ้าง  ลงกรรมกรณ์วิธีนุ่งเปลือกไม้บ้าง  ลงกรรมกรณ์วิธียืนกว้างบ้าง ลงกรรมกรณ์วิธีเกี่ยวเหยื่อเบ็ดบ้างลงกรรมกรณ์วิธีเหรียญกษาปณ์บ้างลงกรรมกรณ์วิธีแปรงแสบบ้าง

ลงกรรมกรณ์วิธีกางเวียนบ้าง  ลงกรรมกรณ์วิธีตั่งฟางบ้าง ราดด้วยน้ำมันเดือดๆ บ้าง ให้สุนัขทึ้งบ้าง

ให้นอนหงายบนหลาวทั้งเป็นๆ บ้าง  ตัดศีรษะด้วยดาบบ้าง ฯ

            สัตว์นั้นทูลอย่างนี้ว่าเห็น เจ้าข้า ฯ

             พระยายมถามอย่างนี้ว่า ดูกรพ่อมหาจำเริญ ท่านนั้นรู้ความมีสติ เป็นผู้ใหญ่แล้ว ได้มีความดำริดังนี้บ้างไหมว่า จำเริญละ เป็นอันว่า สัตว์ที่ทำกรรมลามกไว้นั้นๆ ย่อมถูกลงกรรมกรณ์ต่างชนิดเห็นปานนี้ในปัจจุบัน จะป่วยกล่าวไปไยถึงชาติหน้า ควรที่เราจะทำความดีทางกาย ทางวาจา และทางใจ ฯ

             สัตว์นั้นทูลอย่างนี้ว่า ข้าพเจ้าไม่อาจ เจ้าข้า มัวประมาทเสีย เจ้าข้า ฯ

             พระยายมกล่าวอย่างนี้ว่า ดูกรพ่อมหาจำเริญ ท่านไม่ได้ทำความดีทางกาย ทางวาจา และทางใจไว้ เพราะมัวประมาทเสีย ดังนั้น เหล่านายนิรยบาลจักลงโทษโดยอาการที่ท่านประมาทแล้ว ก็บาปกรรมนี้นั่นแล ไม่ใช่มารดาทำให้ท่านไม่ใช่บิดาทำให้ท่าน ไม่ใช่พี่น้องชายทำให้ท่าน ไม่ใช่พี่น้องหญิงทำให้ท่าน ไม่ใช่มิตรอำมาตย์ทำให้ท่าน ไม่ใช่ญาติสาโลหิตทำให้ท่าน ไม่ใช่สมณะและพราหมณ์ทำให้ท่าน ไม่ใช่เทวดาทำให้ท่าน ตัวท่านเองทำเข้าไว้ ท่านเท่านั้นจักเสวยวิบากของบาปกรรมนี้ ฯ

              ดูกรภิกษุทั้งหลาย พระยายมครั้นปลอบโยน เอาอกเอาใจไต่ถามถึงเทวทูตที่ ๔ กะสัตว์นั้นแล้ว จึงปลอบโยน เอาอกเอาใจ ไต่ถามถึงเทวทูตที่ ๕ ว่า ดูกรพ่อมหาจำเริญ ท่านไม่ได้เห็นเทวทูตที่ ๕ ปรากฏในหมู่

มนุษย์หรือ ฯ

             สัตว์นั้นทูลอย่างนี้ว่า ข้าพเจ้าไม่เห็นเลย เจ้าข้า ฯ

             พระยายมถามอย่างนี้ว่า ดูกรพ่อมหาจำเริญ ท่านไม่ได้เห็นหญิงหรือชายที่ตายแล้ววันหนึ่ง หรือสองวัน หรือสามวัน ขึ้นพอง เขียวช้ำ มีน้ำเหลืองเยิ้มในหมู่มนุษย์หรือ ฯ

             สัตว์นั้นทูลอย่างนี้ว่า เห็น เจ้าข้า ฯ

             พระยายมถามอย่างนี้ว่า ดูกรพ่อมหาจำเริญ ท่านนั้นรู้ความมีสติ เป็นผู้ใหญ่แล้ว ได้มีความดำริดังนี้บ้างไหมว่า แม้ตัวเราแล ก็มีความตายเป็นธรรมดาไม่ล่วงพ้นความตายไปได้ ควรที่เราจะทำความดีทางกาย ทางวาจา และทางใจ ฯ

             สัตว์นั้นทูลอย่างนี้ว่า ข้าพเจ้าไม่อาจ เจ้าข้า มัวประมาทเสีย เจ้าข้า ฯ

             พระยายมกล่าวอย่างนี้ว่า ดูกรพ่อมหาจำเริญ ท่านไม่ได้ทำความดีทางกายทางวาจา และทางใจไว้ เพราะมัวประมาทเสีย ดังนั้น เหล่านายนิรยบาลจักลงโทษโดยอาการที่ท่านประมาทแล้ว ก็บาปกรรมนี้นั่นแล ไม่ใช่มารดาทำให้ท่านไม่ใช่บิดาทำให้ท่าน ไม่ใช่พี่น้องชายทำให้ท่าน ไม่ใช่พี่น้องหญิงทำให้ท่าน ไม่ใช่มิตรอำมาตย์ทำให้ท่าน ไม่ใช่ญาติสาโลหิตทำให้ ไม่ใช่สมณะและพราหมณ์ทำให้ท่าน ไม่ใช่เทวดาทำให้ท่าน ตัวท่านเองทำเข้าไว้ ท่านเท่านั้นจักเสวยวิบากของบาปกรรมนี้ ฯ

             ดูกรภิกษุทั้งหลาย พระยายมครั้นปลอบโยน เอาอกเอาใจ ไต่ถามถึงเทวทูตที่ ๕ กะสัตว์นั้นแล้ว ก็ทรงดุษณีอยู่ ฯ

              ดูกรภิกษุทั้งหลาย เหล่านิรยบาลจะให้สัตว์นั้นกระทำเหตุชื่อการจำ ๕ ประการ คือ ตรึงตะปูเหล็กแดงที่มือข้างที่ ๑ ข้างที่ ๒ ที่เท้าข้างที่ ๑ข้างที่ ๒ และที่ทรวงอกตรงกลางสัตว์นั้นจะเสวยเวทนาอันเป็นทุกข์กล้า เจ็บแสบอยู่ในนรกนั้น และยังไม่ตายตราบเท่าบาปกรรมยังไม่สิ้นสุด ฯ

              ดูกรภิกษุทั้งหลาย เหล่านิรยบาลจะจับสัตว์นั้นขึงพืดแล้วเอาผึ่งถาก...จะจับสัตว์นั้นเอาเท้าขึ้นข้างบน เอาหัวลงข้างล่างแล้วถากด้วยพร้า ... จะเอาสัตว์นั้นเทียมรถแล้วให้วิ่งกลับไปกลับมาบนแผ่นดินที่มีไฟติดทั่ว ลุกโพลงโชติช่วง ... จะให้สัตว์นั้นปีนขึ้นปีนลงซึ่งภูเขาถ่านเพลิงลูกใหญ่ที่มีไฟติดทั่ว ลุกโพลง โชติช่วง ... จะจับสัตว์นั้นเอาเท้าขึ้นข้างบนเอาหัวลงข้างล่าง แล้วพุ่งลงไปในหม้อทองแดง ที่มีไฟติดทั่ว ลุกโพลง โชติช่วง สัตว์นั้นจะเดือดพล่านเป็นฟองอยู่ในหม้อทองแดงนั้น เขาเมื่อเดือดเป็นฟองอยู่ จะพล่านขึ้นข้างบนครั้งหนึ่งบ้าง พล่านลงข้างล่างครั้งหนึ่งบ้าง พล่านไปด้านขวางครั้งหนึ่งบ้าง จะเสวยเวทนาอันเป็นทุกข์กล้า เจ็บแสบ อยู่ในหม้อทองแดงนั้น และยังไม่ตายตราบเท่าบาปกรรมยังไม่สิ้นสุด ฯ

             ดูกรภิกษุทั้งหลาย เหล่านายนิรยบาลจะโยนสัตว์นั้นเข้าไปในมหานรก ก็มหานรกนั้นแล มีสี่มุม สี่ประตู แบ่งไว้โดยส่วนเท่ากัน มีกำแพงเหล็กล้อมรอบ ครอบไว้ด้วยแผ่นเหล็ก พื้นของนรกใหญ่นั้นล้วนแล้วด้วยเหล็ก ลุกโพลง แผ่ไปตลอดร้อยโยชน์รอบด้านประดิษฐานอยู่ทุกเมื่อ ฯ

             ดูกรภิกษุทั้งหลาย และมหานรกนั้น มีเปลวไฟพลุ่งจากฝาด้านหน้าจดฝาด้านหลัง พลุ่งจากฝาด้านหลังจดฝาด้านหน้า พลุ่งจากฝาด้านเหนือจดฝาด้านใต้พลุ่งจากฝาด้านใต้จดฝาด้านเหนือ พลุ่งขึ้นจากข้างล่างจดข้างบน พลุ่งจากข้างบนจดข้างล่าง สัตว์นั้นจะเสวยเวทนาอันเป็นทุกข์กล้า เจ็บแสบ อยู่ในมหานรกนั้นและยังไม่ตายตราบเท่าบาปกรรมยังไม่สิ้นสุด ฯ

              ดูกรภิกษุทั้งหลาย ย่อมมีสมัยที่ในบางครั้งบางคราว โดยล่วงระยะกาลนาน ประตูด้านหน้าของมหานรกเปิด สัตว์นั้นจะรีบวิ่งไปยังประตูนั้นโดยเร็ว ย่อมถูกไฟไหม้ผิว ไหม้หนัง ไหม้เนื้อ ไหม้เอ็น แม้กระดูกทั้งหลายก็เป็นควันตลบ แต่อวัยวะที่สัตว์นั้นยกขึ้นแล้ว จะกลับคงรูปเดิมทันที และในขณะที่สัตว์นั้น ใกล้จะถึงประตู ประตูนั้นจะปิด สัตว์นั้นย่อมเสวยเวทนาอันเป็นทุกข์กล้า เจ็บแสบ อยู่ในมหานรกนั้น และยังไม่ตายตราบเท่าบาปกรรมนั้นยังไม่สิ้นสุด ฯ

              ดูกรภิกษุทั้งหลาย ย่อมมีสมัยที่ในบางครั้งบางคราว โดยล่วงระยะกาลนาน ประตูด้านหลังของมหานรกนั้นเปิด ฯลฯ ประตูด้านเหนือเปิด ฯลฯประตูด้านใต้เปิด สัตว์นั้นจะรีบวิ่งไปยังประตูนั้นโดยเร็ว ย่อมถูกไฟไหม้ผิว ไหม้หนัง ไหม้เนื้อ ไหม้เอ็น แม้กระดูกทั้งหลายก็เป็นควันตลบ แต่อวัยวะที่สัตว์นั้นยกขึ้นแล้วจะกลับคงรูปเดิมทันที และในขณะที่สัตว์นั้นใกล้จะถึงประตู ประตูนั้นจะปิด สัตว์นั่นย่อมเสวยเวทนาอันเป็นทุกข์กล้า เจ็บแสบ อยู่ในมหานรกนั้นและยังไม่ตายตราบเท่าบาปกรรมนั้นยังไม่สิ้นสุด ฯ

             ดูกรภิกษุทั้งหลาย ย่อมมีสมัยที่ในบางครั้งบางคราว โดยล่วงระยะกาลนาน ประตูด้านหน้าของมหานรกนั้นเปิด สัตว์นั้นจะรีบวิ่งไปยังประตูนั้นโดยเร็ว ย่อมถูกไฟไหม้ผิว ไหม้หนัง ไหม้เนื้อ ไหม้เอ็น แม้กระดูกทั้งหลายก็เป็นควันตลบ แต่อวัยวะที่สัตว์นั้นยกขึ้นแล้ว จะกลับคงรูปเดิมทันทีสัตว์นั้นจะออกทางประตูนั้นได้ แต่ว่ามหานรกนั้นแล มีนรกเต็มด้วยคูถใหญ่ประกอบอยู่รอบด้าน สัตว์นั้นจะตกลงในนรกคูถนั้น และในนรกคูถนั้นแล มีหมู่สัตว์ปากดังเข็มคอยเฉือดเฉือนผิว แล้วเฉือดเฉือนหนัง แล้วเฉือดเฉือนเนื้อ แล้วเฉือดเฉือนเอ็น แล้วเฉือดเฉือนกระดูก แล้วกินเยื่อในกระดูก สัตว์นั้นย่อมเสวยเวทนาอันเป็นทุกข์กล้า เจ็บแสบ อยู่ในนรกคูถนั้น และยังไม่ตายตราบเท่าบาปกรรมนั้นยังไม่สิ้นสุด ฯ

              ดูกรภิกษุทั้งหลาย และนรกคูถนั้น มีนรกเต็มด้วยเถ้ารึง  ใหญ่ประกอบอยู่รอบด้าน สัตว์นั้นจะตกลงไปในนรกเถ้ารึงนั้น สัตว์นั้นย่อมเสวยเวทนาอันเป็นทุกข์กล้า เจ็บแสบ อยู่ในนรกเถ้ารึงนั้น และยังไม่ตายตราบเท่าบาปกรรมนั้นยังไม่สิ้นสุด ฯ

              ดูกรภิกษุทั้งหลาย และนรกเถ้ารึงนั้น มีป่างิ้วใหญ่ประกอบอยู่รอบด้าน ต้นสูงชลูดขึ้นไปโยชน์หนึ่ง มีหนามยาว ๑๖ องคุลี มีไฟติดทั่วลุกโพลง โชติช่วง เหล่านายนิรยบาลจะบังคับให้สัตว์นั้นขึ้นๆ ลงๆ ที่ต้นงิ้วนั้น

สัตว์นั้นย่อมเสวยเวทนาอันเป็นทุกข์กล้า เจ็บแสบ อยู่ที่ต้นงิ้วนั้น และยังไม่ตายตราบเท่าบาปกรรมนั้นยังไม่สิ้นสุด ฯ

              ดูกรภิกษุทั้งหลาย และป่างิ้วนั้น มีป่าต้นไม้ใบเป็นดาบใหญ่ประกอบอยู่รอบด้าน สัตว์นั้นจะเข้าไปในป่านั้น จะถูกใบไม้ที่ลมพัด ตัดมือบ้างตัดเท้าบ้าง ตัดทั้งมือและเท้าบ้าง และตัดใบหูบ้าง ตัดจมูกบ้าง ตัดทั้งใบหูและจมูกบ้าง สัตว์นั้นย่อมเสวยเวทนาอันเป็นทุกข์กล้า เจ็บแสบ อยู่ที่ป่าต้นไม้มีใบเป็นดาบนั้น และยังไม่ตายตราบเท่าบาปกรรมนั้นยังไม่สิ้นสุด ฯ

              ดูกรภิกษุทั้งหลาย และป่าต้นไม้มีใบเป็นดาบนั้น มีแม่น้ำใหญ่น้ำเป็นด่าง ประกอบอยู่รอบด้าน สัตว์นั้นจะตกลงไปในแม่น้ำนั้น จะลอยอยู่ในเถ้ารึง คือ ถ่านที่ติดไฟคุมีขี้เถ้าปิดข้างนอกอยู่รอบด้าน

แม่น้ำนั้น ตามกระแสบ้าง ทวนกระแสบ้าง ทั้งตามและทวนกระแสบ้าง สัตว์นั้นย่อมเสวยเวทนาอันเป็นทุกข์กล้า เจ็บแสบ อยู่ในแม่น้ำนั้น และยังไม่ตายตราบเท่าบาปกรรมนั้นยังไม่สิ้นสุด ฯ

             ดูกรภิกษุทั้งหลาย เหล่านายนิรยบาลพากันเอาเบ็ดเกี่ยวสัตว์นั้นขึ้นวางบนบก แล้วกล่าวอย่างนี้ว่า ดูกรพ่อมหาจำเริญ เจ้าต้องการอะไรสัตว์นั้นบอกอย่างนี้ว่า ข้าพเจ้าหิว เจ้าข้า เหล่านายนิรยบาลจึงเอาขอเหล็กร้อนมีไฟติดทั่ว ลุกโพลง โชติช่วง เปิดปากออก แล้วใส่ก้อนโลหะร้อนมีไฟติดทั่วลุกโพลง โชติช่วง เข้าในปาก ก้อนโลหะนั้นจะไหม้ริมฝีปากบ้าง ปากบ้างคอบ้าง ท้องบ้าง ของสัตว์นั้น พาเอาไส้ใหญ่บ้าง ไส้น้อยบ้าง ออกมาทางส่วนเบื้องล่าง สัตว์นั้นย่อมเสวยเวทนาอันเป็นทุกข์กล้า เจ็บแสบ อยู่ ณ ที่นั้น และยังไม่ตายตราบเท่าบาปกรรมนั้นยังไม่สิ้นสุด ฯ

              ดูกรภิกษุทั้งหลาย เหล่านายนิรยบาลกล่าวกะสัตว์นั้นอย่างนี้ว่าดูกรพ่อมหาจำเริญ เจ้าต้องการอะไร สัตว์นั้นบอกอย่างนี้ว่า ข้าพเจ้าระหาย เจ้าข้าเหล่านายนิรยบาลจึงเอาขอเหล็กร้อนมีไฟติดทั่ว ลุกโพลง โชติช่วง เปิดปากออกแล้วเอาน้ำทองแดงร้อนมีไฟติดทั่ว ลุกโพลง โชติช่วง กรอกเข้าไปในปาก น้ำทองแดงนั้นจะไหม้ริมฝีปากบ้าง ปากบ้าง คอบ้าง ท้องบ้าง ของสัตว์นั้น พาเอาไส้ใหญ่บ้าง ไส้น้อยบ้าง ออกมาทางส่วนเบื้องล่าง สัตว์นั้นย่อมเสวยเวทนาอันเป็นทุกข์กล้า เจ็บแสบ อยู่ ณ ที่นั้น และยังไม่ตายตราบเท่าบาปกรรมนั้นยังไม่สิ้นสุด ดูกรภิกษุทั้งหลาย เหล่านายนิรยบาลจะโยนสัตว์นั้นเข้าไปในมหานรกอีก ฯ

            ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรื่องเคยมีมาแล้ว พระยายมได้มีความดำริอย่างนี้ว่า พ่อเจ้าประคุณเอ๋ย เป็นอันว่า เหล่าสัตว์ที่ทำกรรมลามกไว้ในโลกย่อมถูกนายนิรยบาลลงกรรมกรณ์ ต่างชนิดเห็นปานนี้ โอหนอ ขอเราพึงได้ความเป็นมนุษย์ ขอพระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธพึงเสด็จอุบัติในโลก ขอเราพึงได้นั่งใกล้พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ขอพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นพึงทรงแสดงธรรมแก่เรา และขอเราพึงรู้ทั่วถึงธรรมของพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นเถิด ฯ

             ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็เรื่องนั้น เรามิได้ฟังต่อสมณะหรือพราหมณ์อื่นๆแล้วจึงบอก ก็แล เราบอกเรื่องที่รู้เอง เห็นเอง ปรากฏเองทั้งนั้น ฯ

             พระผู้มีพระภาคได้ตรัสไวยากรณภาษิตดังนี้ ครั้นแล้วพระสุคตผู้ศาสดา ก็ได้ตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปอีกดังนี้ว่า นรชนเหล่าใดยังเป็นมาณพ อันเทวทูตตักเตือน แล้วประมาทอยู่  นรชนเหล่านั้นจะเข้าถึงหมู่สัตว์เลว เศร้าโศกสิ้นกาลนาน  ส่วนนรชนเหล่าใด เป็นสัตบุรุษผู้สงบระงับในโลกนี้ อันเทวทูตตักเตือนแล้ว ย่อมไม่ประมาทในธรรมของพระอริยะในกาลไหนๆ เห็นภัยในความถือมั่นอันเป็นเหตุแห่งชาติและมรณะแล้ว ไม่ถือมั่น หลุดพ้นในธรรมเป็นที่สิ้นชาติและมรณะได้ นรชนเหล่านั้นเป็นผู้ถึงความเกษม มีสุข ดับสนิทใน

ปัจจุบัน ล่วงเวรและภัยทั้งปวงและเข้าไปล่วงทุกข์ทั้งปวงได้ ฯ

-------------

พระโอษฐ์  ที่กล่าวถึงวัฏฏะ  สัตว์ทั้งหลายจะต้องไปเกิด 31   ภพ  ดังนี้

พรหมโลกมีจริง
ปรากฏข้อความในสุภสูตร ปัญหา พรหมโลกมีจริงหรือ? พระพุทธองค์ตรัสยืนยันไว้ที่ไหนว่าพรหมโลกมีจริง?
พุทธดำรัสตอบ “...ดูก่อนมาณพ บุรุษผู้เกิดแล้วทั้งเจริญแล้วในบ้านนฬการคามนั้น ถูกถามถึงหนทางของบ้านนฬการคามนั้น ไม่พึงชักช้าหรือตกประหม่าและ ตถาคตถูกถามถึงพรหมโลกหรือปฏิปทาเครื่องให้ถึงพรหมโลก ก็ไม่ชักช้าหรือประหม่าเช่นเดียวกัน”
“...ดูก่อนมาณพ เราย่อมรู้จักทั้งพรหม ทั้งพรหมโลก และปฏิปทาเครื่องให้ถึงพรหมโลก อนึ่ง ผู้ปฏิบัติด้วยประการใด จึงเข้าถึงพรหมโลกเราย่อมรู้ชัดซึ่งประการนั้นด้วย...”

เทวตาสูตร

             ดูก่อนฯ ก็ในราตรีนี้ เมื่อปฐมยามล่วงไปแล้ว เทวดาเป็นอันมาก มีผิวพรรณงดงาม ยังวิหารเชตวันทั้งสิ้น ให้สว่างไสว เข้ามาหาเราถึงที่อยู่ ไหว้เราแล้วยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้กล่าวกะเราว่า

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ บรรพชิตทั้งหลายเข้ามายังเรือนของข้าพระองค์ทั้งหลายเมื่อเป็นมนุษย์อยู่ในกาลก่อน ข้าพระองค์เหล่านั้นลุกรับ แต่ไม่กราบไหว้ ข้าพระองค์เหล่านั้นมีการงานยังไม่บริบูรณ์ มีความกินแหนงใจ มีความเดือดร้อนตามในภายหลัง เข้าถึงหมู่เทวดาชั้นเลว ฯ

ฯลฯ

             ดูก่อนฯ เทวดาอีกพวกหนึ่งเป็นอันมาก เข้ามาหาเราแล้วได้กล่าวว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ บรรพชิตทั้งหลายเข้ามายังเรือนของข้าพระองค์ทั้งหลายเมื่อยังเป็นมนุษย์ในกาลก่อน ข้าพระองค์เหล่านั้นลุกรับ กราบไหว้ ให้อาสนะ แบ่งปันสิ่งของให้ตามสามารถ ตามกำลัง เข้าไปนั่งใกล้เพื่อฟังธรรมเงี่ยโสตลงสดับธรรม ฟังแล้วทรงจำธรรมไว้ พิจารณาเนื้อความแห่งธรรมที่ทรงจำไว้ และรู้อรรถรู้ธรรมแล้วปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ข้าพระองค์เหล่านั้นมีการงานบริบูรณ์ ไม่มีความกินแหนงใจ ไม่มีความเดือดร้อนตามในภายหลัง เข้าถึงหมู่เทวดาชั้นประณีต ดูก่อนฯ นั่นโคนไม้ นั่นเรือนว่าง เธอทั้งหลายจงเพ่ง อย่าประมาทเลย อย่ามีความเดือดร้อนใจในภายหลัง เหมือนเทวดาพวกต้นๆ เหล่านั้น ฯ

นุษย์ไปเกิดเป็นสัตว์ได้
ปรากฏข้อความในมหาสีนหนาทสูตร  ปัญหา ตามหลักวิวัฒนาการ มนุษย์เจริญมาจากสัตว์ และจะกลับไปเห็นสัตว์ไม่ได้อีก ทางพระพุทธศาสนามีทรรศนะในเรื่องนี้อย่างไร?
พุทธดำรัสตอบ “ดูก่อนสารีบุตร เราย่อมกำหนดรู้ใจบุคคลบางคนในโลกนี้ด้วยใจว่า บุคคลนี้ปฏิบัติอย่างนั้น ดำเนินอย่างนั้น และชั้นสู่หนทางนั้นจักเข้าถึงกำเนิดดิรัจฉาน โดยสมัยต่อมา เราเห็นบุคคลนั้นเบื้องหน้า แต่ตายเพราะกายแตก เข้าถึงแล้วซึ่งกำเนิดดิรัจฉาน เสวยทุกขเวทนาอันแรงกล้า เผ็ดร้อนด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ล่วงจักษุของมนุษย์.... เปรียบเหมือนหลุมคูถลึกยิ่งกว่าชั่วบุรุษ เต็มไปด้วยคูถ ลำดับนั้น บุรุษผู้มีตัวอันความร้อนแผดเผาครอบงำเหน็ดเหนื่อย.... มุ่งมาสู่หลุมคูถนั้นแหละ โดยหนทางสายเดียว บุรุษผู้มีจักษุเห็นเขาแล้ว พึงกล่าวอย่างนี้ว่า บุรุษผู้มีจักษุนั้น พึงเห็นเขาตกลงในหลุมคูถนั้น เสวยทุกขเวทนาอันแรงกล้าฉันใด ดูก่อนสารีบุตร เราย่อมกำหนดรู้ใจบุคคลบางคนในโลกนี้ด้วยใจ ฉันนั้นเหมือนกันแลฯ ”

และปรากฏข้อความในพาลปัณฑิตสูตร อุ. ม.  ปัญหา มีพระพุทธพจน์ที่ไหนบ้าง ที่ยืนยันไว้อย่างแน่นอนว่าคนเราอาจจะไปเกิดเป็นสัตว์เดียรัจฉานแม้ชั้นต่ำ ๆ เช่นไส้เดือนได้?
พุทธดำรัสตอบ “...ดูก่อนฯ มีเหล่าสัตว์เดียรัจฉานจำพวกมีหญ้าเป็นภักษา..... คือ ม้า โค ลา แพะ เนื้อ หรือแม้จำพวกอื่นๆ ไม่ว่าชนิดไร ๆ ..... คนพาลนั่นแล ผู้กินอาหารด้วยความติดใจรสเบื้องต้นในโลกนี้ทำกรรมลามกไว้ในโลกนี้ เมื่อตายไปแล้ว ย่อมเข้าถึงความเป็นสหายของสัตว์จำพวกที่มีหญ้าเป็นภักษาเหล่านั้น
“...ดูก่อนฯ มีเหล่าสัตว์เดียรัจฉานจำพวกมีคูถเป็นภักษา สัตว์เดียรัจฉานเหล่านั้นได้กลิ่นคูถแต่ไกร แล้วย่อมวิ่งไปด้วยหวังว่า จักกินตรงนี้ จักกินตรงนั้น คือ ไก่ สุกร สุนัขบ้าน สุนัขป่า หรือแม้จำพวกอื่นๆ ไม่ว่าชนิดไรๆ ที่มีคูถเป็นภักษา คนพาลนั่นแล..... ทำกรรมลามกไว้ในโลกนี้ เมื่อตายไปแล้ว ย่อมเข้าถึงความเป็นสหายของสัตว์จำพวกที่มีมีคูถเป็นภักษา เหล่านั้น
“...ดูก่อนฯ มีเหล่าสัตว์เดียรัจฉานจำพวกเกิด แก่ ตาย ในที่มืด คือ ตั๊กแตน มอด ไส้เดือน หรือแม้จำพวกอื่น ๆ ไม่ว่าชนิดไรๆ คนพาลนั้นนั่นแล... ทำกรรมลามกไว้ในโลกนี้ เมื่อตายไปแล้วย่อมเข้าถึงความเป็นสหายของสัตว์จำพวกเกิด แก่ ตายในที่มืด
“...ดูก่อนฯ  มีเหล่าสัตว์เดียรัจฉานจำพวกเกิด แก่ ตายในน้ำ... คือ ปลา เต่า จระเข้ หรือแม้จำพวกอื่นๆ ไม่ว่าชนิดไรๆ ..... คนพาลนั้นแล เมื่อตายไปแล้ว ย่อมเข้าถึงความเป็นสหายของสัตว์จำพวกที่ เกิด แก่ ตายในน้ำ
“...ดูก่อนฯ มีเหล่าสัตว์เดียรัจฉานจำพวกเกิด แก่ ตายในของโสโครก คือ เกิด แก่ ตายในปลาเน่าก็มี ในศพเน่าก็มี ในขนมกุมมาสเน่าก็มี ในน้ำครำก็มี ในหลุมโสโครกก็มี หรือแม้จำพวกอื่น ๆ ไม่ว่าชนิดไรๆ....คนพาลนั้นแล..เมื่อตายไปแล้ว ย่อมเข้าพึงความเป็นสหายของสัตว์จำพวกเกิด แก่ ตายในของโสโครก...”

อสุรสูตร

             ดูก่อนฯ  บุคคล ๔ จำพวกนี้ มีปรากฏอยู่ในโลก๔ จำพวกเป็นไฉน คือ บุคคลเป็นเช่นกับอสูร มีคนเช่นกับอสูรเป็นบริวารจำพวก ๑ เป็นเช่นกับอสูร แต่มีคนเช่นกับเทวดาเป็นบริวารจำพวก ๑ เป็นเช่น

กับเทวดา มีคนเช่นกับอสูรเป็นบริวารจำพวก ๑ เป็นเช่นกับเทวดา มีคนเช่นกับเทวดาเป็นบริวารจำพวก ๑ ดูก่อนฯ ก็บุคคลเป็นเช่นกับอสูร มีคนเช่นกับอสูรเป็นบริวารอย่างไร บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นคนทุศีล มีบาปธรรมแม้บริษัทของเขาก็เป็นคนทุศีลมีบาปธรรม บุคคลเป็นเช่นกับอสูร มีคนเช่นกับอสูรเป็นบริวารอย่างนี้แลฯ

             ดูก่อนฯ ก็บุคคลเป็นเช่นกับอสูร แต่มีคนเช่นกับเทวดาเป็นบริวารอย่างไร บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นคนทุศีล มีบาปธรรม แต่บริษัทของเขาเป็นคนมีศีล มีกัลยาณธรรม บุคคลเป็นเช่นกับอสูร แต่มีคนเช่นกับ

เทวดาเป็นบริวารอย่างนี้แล ฯ

             ดูก่อนฯ บุคคลเป็นเช่นกับเทวดา มีคนเช่นกับอสูรเป็นบริวารอย่างไร บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นคนมีศีล มีกัลยาณธรรม แต่บริษัทของเขาเป็นคนทุศีล มีบาปธรรม บุคคลเป็นคนเช่นกับเทวดา มีคนเช่นกับอสูรเป็นบริวาร อย่างนี้แล ฯ

             ดูก่อนฯ   บุคคลเป็นเช่นกับเทวดา มีคนเช่นกับเทวดาเป็นบริวารอย่างไร บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นคนมีศีล มีกัลยาณธรรม แม้บริษัทของเขาก็เป็นคนมีศีล มีกัลยาณธรรม บุคคลเป็นคนเช่นกับเทวดา มีคนเช่นกับเทวดาเป็นบริวารอย่างนี้แล ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๔ จำพวกนี้แล มีปรากฏอยู่ในโลก ฯ

*ความเห็นของผู้เรียบเรียงในสูตรนี้แสดงไว้สองภพคืออสูรและเทวดา

นรกมีจริงหรือ  ปรากฏข้อความในพาลปัณฑิตสูตร ปัญหา มีบางคนยืนยันว่า นรกสวรรค์ไม่มี พระพุทธเจ้าไม่ได้ตรัสไว้ในพระไตรปิฎก ดังนี้ ข้อนี้เป็นความจริงเพียงใด?
พุทธดำรัสตอบ “...ดูก่อนฯ คนพาลนั้นนั่นแลประพฤติทุจริต ทางกาย ทางวาจา ทางใจแล้ว เมื่อตายไป ย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก......
“.....ดูก่อนฯ ทุกข์โทมนัสที่บุรุษถูกแทงด้วยหอกสามร้อยเล่มเป็นเหตุ กำลังเสวยอยู่นั้นเปรียบเทียบทุกข์ของนรก ยังไม่ถึงแม้ความคณนา ยังไม่ถึงแม้ส่วนแห่งเสี้ยว ยังไม่ถึงแม้การเทียบกันได้
“.....ดูก่อนฯ เหล่านายนิรยบาลจะให้คนพาลนั้นกระทำเหตุชื่อการจำ ๕ ประการคือ ตรึงตะปูเหล็กแดงที่มือข้างที่ ๑ ข้างที่ ๒ ที่เท้าข้างที่ ๑ ข้างที่ ๒ และที่ทรวงอกตรงกลาง คนพาลนั้นจะเสวยเวทนาอันเป็นทุกข์กล้า....... และยังไม่ตายตราบเท่าบาปกรรมยังไม่สิ้นสุด
“.....เหล่านายนิรยบาล จะจับคนพาลนั้นขึงพืดแล้วเอาผึ่งถาก คนพาลนั้นจะเสวยเวทนาอันเป็นทุกข์กล้า...... 
“.....เหล่านายนิรยบาล จะจับคนพาลนั้น เอาเท้าขึ้นข้างบน เอาหัวลงข้างล่าง แล้วถากด้วยพร้า คนพาลนั้นจะเสวยเทวทนาอันเป็นทุกข์กล้า...... 
“.....เหล่านายนิรยบาล จะเอาพาลนั้นเทียมรถ แล้วให้วิ่งกลับไปกลับมาบนแผ่นดินที่มีไฟติดทั่ว ลุกโพลง โชติช่วง คนพาลนั้นจะเสวยเทวทนาอันเป็นทุกข์กล้า...... 
“.....เหล่านายนิรยบาล จะให้คนพาลนั้นปีนขึ้นปีนลง ซึ่งภูเขาถ่านเพลิงลูกใหญ่ ที่มีไฟติดทั่วลุกโพลง โชติช่วง คนพาลนั้นจะเสวยเทวทนาอันเป็นทุกข์กล้า...... 
“.....เหล่านายนิรยบาล จะจับคนพาลนั้น เอาเท้าขึ้นข้างบน เอาหัวลงข้างล่าง แล้วพุ่งลงไปในหม้อทองแดงที่ร้อน มีไฟติดทั่ง ลุกโพลง โชติช่วง คนพาลนั้นจะเดือนเป็นฟองอยู่ในหม้อทองแดงนั้น เมื่อเขาเดือดเป็นฟองอยู่ จะพล่านขึ้นข้างบนครั้งหนึ่งบ้าง พล่านลงข้างล่างครั้งหนึ่งบ้าง พล่านไปด้านขวาครั้งหนึ่งบ้าง พล่านลงข้างล่างครั้งหนึ่งบ้าง จะเสวยเวทนาอันเป็นทุกข์กล้า เจ็บแสบอยู่ในหม้อทองแดงนั้น และยังไม่ตายตราบเท่าบาปกรรมยังไม่สิ้นสุด 
“.....ดูก่อนฯ เหล่านายนิรยบาล จะจับโยนคนพาลนั้นเข้าไปในมหานรก ก็มหานรกนั่นแล มีสี่มุมสี่ประตู แบ่งไว้โดยส่วนเท่ากัน มีกำแพงเหล็กล้อมรอบ ครอบไว้ด้วยแผ่นเหล็ก พื้นของนรกใหญ่นั้น ล้วนแล้วด้วยเหล็ก ลุกโพลง ประกอบด้วยไฟแผ่ไปตลอดร้อยโยชน์รอบด้น ประดิษฐานอยู่ทุกเมื่อ”

นิรยสูตร

             ดูก่อนฯ  บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการ ย่อมเกิดในนรก เหมือนถูกนำมาโยนลง ธรรม ๔ ประการเป็นไฉน คือ เป็นผู้มักฆ่าสัตว์ ๑ ลักทรัพย์ ๑ ประพฤติผิดในกาม ๑ พูดเท็จ ๑ ดูกร.....บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการนี้แล ย่อมเกิดในนรก เหมือนถูกนำมาโยนลง ฯ การฆ่าสัตว์ การลักทรัพย์ การคบหาภรรยาของผู้อื่น การพูดเท็จ เรากล่าวว่า เป็นกรรมกิเลส บัณฑิตทั้งหลายย่อมไม่สรรเสริญเลย ฯ

สัตว์ในอบายภูมิทำความดีได้หรือไม่  ปรากฏข้อความในฉิคคฬสูตร  ปัญหา สัตว์ในอบายภูมิ (วินิบาต) จะมีโอกาสกระทำความดีแล้วกลับมาเกิดในภูมิมนุษย์ได้หรือไม่ ?

พุทธดำรัสตอบ “ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนบุรุษโยนแอกซึ่งมีช่องเดียวลงไปในมหาสมุทร เต่าตาบอดตัวหนึ่งมีอยู่ในมหาสมุทรนั้น เต่าตัวนั้นจะโผล่ขึ้นมาครั้งเดียวทุก ๆ ระยะเวลาผ่านไปร้อยปี เธอทั้งหลายจะเป็นอย่างไร เต่าตอบอดนั้นจะมีโอกาสสอดคอเข้าไปในแอกช่องเดียวนั้นได้บ้างหรือไม่”
ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า “ถ้าล่วงกาลนานไปบางครั้งบางคราว เต่าจะมีโอกาสสอดคอเข้าไปในแอกนั้นได้บ้าง”
“ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย การที่เต่าตาบอดโผล่ขึ้นมาร้อยปีต่อครั้ง จะพึงสอดคอเข้าไปในแอกช่องเดียวได้ยังเร็วกว่า เราไม่ยืนยันว่า คนพาลที่เข้าถึงวินิบาตคราวหนึ่งแล้วจะกลับได้ความเป็นมนุษย์โดยเร็ว เพราะเหตุใด เพราะในวินิบาตนั้นไม่มีการประพฤติธรรม การประพฤติชอบ การกระทำกุศลการกระทำบุญ มีแต่การเคี้ยวกินกันกินและกัน ในวินิบาตนั้น มีแต่การเคี้ยวกินผู้มีกำลังน้อย....”

                                                         จบ

 

 


View : 0

Share :


Write comment