ราคารวม : ฿ 0.00
เดือนมีนาคมของทุกปี จะมีการจัดงานทำบุญเนื่องในโอกาสวันสถาปนาเมืองนครราชสีมา ซึ่งในปีนี้ครบ 557 ปีแล้ว แม้ว่าบริเวณนี้จะมีการตั้งถิ่นฐานมาตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ หรือเมื่อประมาณ 3,000 ปีมาแล้ว แต่การตั้งถิ่นฐานในช่วงนั้นยังเป็นชุมชนระดับหมู่บ้านกระจายอยู่บริเวณที่ราบสูงระหว่างลำตะคองกับลำเชียงไกร ยังมิได้มีสภาพเป็นเมือง
เมืองนครราชสีมา ปรากฏหลักฐานในกฎหมายตราสามดวง ในสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ เป็น 1 ใน 8 เมืองพระยามหานคร ซึ่งพระมหากษัตริย์จะทรงแต่งตั้งเจ้าเมืองไปปกครองดูแล โดย 1 ใน 8 เมือง ได้แก่ พิษณุโลก ศรีสัชนาลัย สุโขทัย กำแพงเพชร นครศรีธรรมราช นครราชสีมา ตะนาวศรี และทวาย รวมถึงมีการกล่าวถึงการที่เมืองนครราชสีมาได้รับการยกฐานะเมืองขึ้น เมื่อจุลศักราช 830 ซึ่งตรงกับวันที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2011 ซึ่งเมื่อนับถึงปัจจุบันก็ครบ 557 ปีพอดี
พิธีทำบุญเมืองฉลอง 557 ปี เมืองนครราชสีมา ตักบาตรพระ 10,000 รูป และจัดพิธีทักษิณานุปทาน เพื่อน้อมถวายเป็นพุทธบูชา ถวายเป็นพระราชกุศลแด่สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ สมเด็จพระนารายณ์มหาราช และอุทิศส่วนกุศลแด่ท่านท้าวสุรนารี และผู้มีอุปการคุณต่อประเทศชาติพระพุทธศาสนาและแผ่นดิน ในวันอาทิตย์ที่ 9 มีนาคม พ.ศ.2568 เวลา 06.00 - 08.30 น. ณ บริเวณอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี จังหวัดนครราชสีมา โดยมีนางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธานในพิธี และได้รับความเมตตาจาก พระเทพสีมาภรณ์ เจ้าคณะจังหวัดนครราชสีมา พร้อมด้วยพระราชวชิราลังการ เจ้าคณะจังหวัดนครราชสีมา (ธ) เป็นประธานสงฆ์ และได้รับเกียรติจาก นายชัยวัฒน์ ชื่นโกสุม ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เป็นผู้กล่าวต้อนรับ พร้อมด้วยข้าราชการ ตัวแทนจากภาครัฐ ภาคเอกชน ผู้นำชุมชนท้องถิ่น ตลอดจนพุทธศาสนิกชนหลายหมื่นคน เข้าร่วมในพิธี
ในการนี้จะได้นำข้าวสาร อาหารแห้งถวายแด่คณะสงฆ์และให้การช่วยเหลือประชาชนที่ยากไร้และประสบเหตุการณ์จากภัยพิบัติทั่วประเทศ
ผู้เขียนแม้จะต้องเข้าเฝือกอ่อนเนื่องจากกระดูกนิ้วเท้าแตก ทำแผลเรียบร้อยเมื่อศุกร์ที่ 7 มีนาคม ก็รีบเดินทางมาร่วมพิธีสำคัญของจังหวัดในครั้งนี้
ก่อนเริ่มพิธี ผู้เขียนได้เข้าไปกราบนมัสการ พระเทพสีมาภรณ์ เจ้าคณะจังหวัดนครราชสีมา และพระราชวชิราลังการ เจ้าคณะจังหวัดนครราชสีมาฝ่ายธรรมยุต และยังได้ใส่บาตรพระราชวชิรสีมาภรณ์ รองเจ้าคณะจังหวัดนครราชสีมา เจ้าอาวาสวัดพระนารายณ์มหาราช รวมทั้งได้ยื่นหนังสือความคืบหน้าการขออนุญาตก่อสร้างเจดีย์วัดเขาวันชัยนวรัตน์ ตำบลปากช่อง อำเภอปากช่อง ก่อนกลับได้ถ่ายรูปร่วมกับคุณจักพงษ์และคุณพักตร์นันท์ หน้าอนุสาวรีย์ท่านท้าวสุรนารี
นอกจากพิธีทำบุญเมืองฉลอง 557 ปี เมืองนครราชสีมา ยังมีการจัด “งานฉลองวันแห่งชัยชนะของท้าวสุรนารี” เพื่อน้อมรำลึกถึงวีรกรรมอันกล้าหาญที่ได้กอบกู้เมืองนครราชสีมาจากกองทัพของเจ้าอนุวงศ์แห่งเวียงจันทน์ เมื่อวันที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2369 โดยกำหนดให้จัดงานขึ้นในระหว่างวันที่ 23 มีนาคม - 3 เมษายนของทุกปี
โดยในปีนี้จัดขึ้นระหว่างวันที่ 23 มีนาคม - 3 เมษายน พ.ศ. 2568 รวม 12 วัน 12 คืน ภายในงานจะมีกิจกรรมที่จัดขึ้นเพื่อเป็นการสักการะท่านท้าวสุรนารี โดยมีขบวนสักการะและรำบวงสรวง การวิ่งคบไฟ โดรนโชว์แปรอักษร และการแสดงพลุดอกไม้ไฟ เป็นสัญญาณเริ่มงานบริเวณประตูเมืองทั้ง 4 ด้าน คือ ประตูพลล้าน ประตูชุมพล ประตูพลแสน และประตูไชยณรงค์ ตามด้วยขบวนแห่ฟ้อนรำจากชุมชน และอำเภอต่างๆ ของจังหวัดนครราชสีมา
มีการจัดนิทรรศการของหน่วยงานภาครัฐและเอกชน การแสดงและจำหน่ายสินค้าผลิตภัณฑ์ชุมชน อาหารพื้นเมือง ของดีเมืองโคราช การออกร้านของส่วนราชการ หน่วยงานรัฐวิสาหกิจ สถานศึกษา และองค์กรเอกชน การแสดงประกอบ แสง สี เสียง กำเนิดคุณหญิงโม และประวัติศาสตร์ของเมืองโคราช การแสดงศิลปวัฒนธรรม จัดกิจกรรมถนนสายวัฒนธรรม วิถีย้อนยุควัฒนธรรมทางเมืองย่า ตลาดน้ำคูเมือง กิจกรรมรำวงย้อนยุค และการแสดงลิเก ของดีเมืองโคราชย้อนยุค จำหน่ายสินค้า การออกร้านกาชาด และการแสดงคอนเสิร์ตจากนักร้องชั้นนำ และกิจกรรมการประกวดต่างๆ เช่น ประกวดนางสาวนครราชสีมา ประกวดร้องเพลง ประกวดสุขภาพเด็ก ประกวดวาดภาพโดยเด็กและเยาวชน ประกวดผลผลิตทางการเกษตร เป้นต้น
กลับมากรุงเทพมหานคร มีเทศกาลต้อนรับฤดูร้อนที่น่าสนใจสำหรับผู้ที่ชื่นชอบเมนูไทยๆ คือ เทศกาลข้าวแช่ชาววัง ซึ่งมีจัดขึ้นมากมายหลายแห่ง เช่น เทศกาลข้าวแช่ปทุมสรัสของมูลนิธิสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า เทศกาลข้าวแช่ @ PAfé ของมูลนิธิเพื่อนพึ่งภาฯ เทศกาลข้าวแช่ชาววังของครัวศิลปาชีพ ตลอดจนโรงแรมและร้านอาหารชั้นนำต่างๆ ในกรุงเทพมหานคร
ผู้เขียนได้ไปทานบุฟเฟต์ข้าวแช่ที่โรงแรมรอยัลริเวอร์ ในซอยจรัลสนิทวงศ์ 66/1 ติดริมน้ำเจ้าพระยา เชิงสะพานกรุงธน (ซังฮี้) แขวงบางพลัด เขตบางพลัด กรุงเทพฯ โดยทางโรงแรมจะจัดเทศกาลข้าวแช่ปีละหนึ่งครั้งในช่วงเดือนประมาณกลางเดือนมีนาคมถึงกลางเดือนพฤษภาคม ซึ่งจัดต่อเนื่องมายาวนานมาถึง 36 ปีแล้ว
ข้าวแช่ของที่นี่สืบทอดมาจากตำรับชาววังของหม่อมหลวงเติบ ชุมสาย และได้รับป้าย “เชลล์ชวนชิม” นับตั้งแต่เปิดขายครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2531 แล้ว
ในปีนี้เทศกาลข้าวแช่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 14 มีนาคม – 18 พฤษภาคม 2568 ซึ่งผู้เขียนได้ไปประเดิมตั้งแต่วันแรก คือ วันที่ 14 มีนาคมเลยทีเดียว
นอกจากข้าวแช่ยังมีเมนูอาหารไทยทั้งคาวหวานให้ทานอย่างจุใจ ขนมจีนที่มีให้เลือกทั้งขนมจีนซาวน้ำ น้ำพริก น้ำยาและแกงไก่ ข้าวมันส้มตำ ลาบหมู ยำต่างๆ ข้าวคลุกกะปิ ก๋วยเตี๋ยวสุโขทัย ขนมเบื้องญวน สาคูไส้หมู ข้าวเกรียบปากหม้อ ข้าวเหนียวมะม่วง มะม่วงน้ำปลาหวาน ไอศกรีมกะทิ บัวลอย ขนมเปียกปูน ช่อม่วง เป็นต้น
ในเดือนมีนาคม มีการประชุมของคณะกรรมาธิการการเศรษฐกิจ การเงิน และการคลัง วุฒิสภา 2 ครั้ง คือ ครั้งที่ 8/2568 ในวันอังคารที่ 11 มีนาคม 2568 เวลา 14.00 นาฬิกา ณ ห้องประชุมกรรมาธิการ CA 330 ชั้น 3 อาคารรัฐสภา เพื่อพิจารณาข้อมูลข้อเท็จจริงและแสดงความเห็นเกี่ยวกับการเสนอร่างพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร เช่น ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการเสนอกฎหมายการเปรียบเทียบรูปแบบกาสิโนในอาเซียน ข้อเสนอแนะการบังคับใช้กฎหมาย โดยเชิญ รองศาสตราจารย์นวลน้อย ตรีรัตน์ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมเพื่อให้ข้อมูลข้อเท็จจริงและแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว
และครั้งที่ 9/2568 ในวันอังคารที่ 18 มีนาคม 2568 เวลา 14.00 นาฬิกา ณ ห้องประชุมกรรมาธิการ CA 428 ชั้น 4 อาคารรัฐสภา โดยเป็นการประชุมร่วมของคณะกรรมาธิการการเศรษฐกิจ การเงิน และการคลัง วุฒิสภา กับคณะอนุกรรมาธิการคณะอนุกรรมาธิการด้านตลาดทุนและธุรกิจประกันภัย เพื่อพิจารณา (ร่าง) รายงานการพิจารณาศึกษาของคณะอนุกรรมาธิการด้านตลาดทุนและธุรกิจประกันภัย จำนวน 3 เรื่อง พิจารณา (ร่าง) รายงานการพิจารณาศึกษาของคณะอนุกรรมาธิการด้านการคลัง จำนวน 1 เรื่อง และพิจารณาความคืบหน้าการดำเนินงานของคณะอนุกรรมาธิการ
การพิจารณาวันนี้เพื่อรับรอง (ร่าง) รายงานการพิจารณาศึกษาของคณะอนุกรรมาธิการ เพื่อเสนอต่อวุฒิสภาให้ทันการประชุมครั้งหน้าในวันที่ 1 เมษายน 2568
วันที่ 22 มีนาคม ได้เดินทางไปวัดเขาวันชัยนวรัตน์ ที่ตำบลปากช่อง อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา เพื่อมอบรายการคำนวณสร้าง “รัตนเจดีย์” แก่พระครูภาวนาอุดมคุณ (หลวงพ่อโสภา) เจ้าอาวาสวัด
“รัตนเจดีย์” นี้ จะเป็นเจดีย์ที่สร้างด้วยหินลายไม้สูง 4 ชั้น บนพื้นที่ขนาด 113 ไร่ ด้านทิศใต้ของวัด ซึ่งคาดว่าจะเริ่มก่อสร้างได้ในเร็วๆ นี้
วันที่ 29 มีนาคม ได้กลับไปที่อำเภอปากช่องอีกครั้ง เพื่อนำผู้รับเหมาก่อสร้างศาสนสถานในพื้นที่เชียงใหม่ เชียงราย ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีรอยเลื่อนแผ่นดินไหว เข้าไปกราบนมัสการพระครูภาวนาอุดมคุณ (หลวงพ่อโสภา) เจ้าอาวาสวัดเขาวันชัยนวรัตน์ เพื่อดูหน้างานสร้าง “รัตนเจดีย์”
แม้พื้นที่อื่นของประเทศไทยจะได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหว ที่มีศูนย์กลางแผ่นดินไหวจากประเทศเมียนมาร์ เมื่อวันที่ 28 มีนาคมที่ผ่านมา แต่พื้นที่อำเภอปากช่องกลับไม่ได้รับผลกระทบ แต่เพื่อความมั่นใจว่าการสร้างเจดีย์จะไม่ได้รับผลกระทบแม้จะเกิดภัยพิบัติแผ่นดินไหวในอนาคต หลวงพ่อจึงต้องการให้การก่อสร้างมีฐานรากที่มั่นคงแข็งแรง โดยใช้วัสดุตามลักษณะพื้นที่
ก่อนกลับได้แวะกราบขอพรกับพระโพธิญาณเถระ (หลวงปู่ชา) ณ.อุโบสถหินลายไม้ ตั้งจิตอธิษฐานขอให้การก่อสร้างเพระมหารัตนเจดีย์เป็นไปอย่างราบรื่น และสำเร็จในเร็ววัน ซึ่งจะโดดเด่นเป็นสง่า เป็นแลนด์มาร์คแห่งใหม่ของอำเภอปากช่องเลยทีเดียว
แชร์ :
เขียนความคิดเห็น