ตอนที่ 2 : บันทึกการเดินทาง พิพิธภัณฑ์อันทรงคุณค่าย่านฝั่งธนฯ

บันทึกการเดินทาง 

พิพิธภัณฑ์อันทรงคุณค่าย่านฝั่งธนฯ

กุมภาพันธ์ 2568

By: รณยุทธ์ จิตรดอน

       ทางด้านทิศตะวันตกของกรุงเทพมหานคร ซึ่งอยู่ฝั่งซ้ายของแม่น้ำเจ้าพระยา ที่เรียกกันว่าย่านฝั่งธนฯ มีอีก 1 พิพิธภัณฑ์ที่ทรงคุณค่าแก่การเยี่ยมชม นั่นคือ อุทยานเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี หรือที่นิยมเรียกกันโดยทั่วไปว่า “อุทยานเฉลิมพระเกียรติสมเด็จย่า” หรือ “สวนสมเด็จย่า” ซึ่งนอกจากจะทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์แล้ว ภายในบริเวณอุทยานฯ ยังร่มรื่น น่าพักผ่อนหย่อนใจ  

      เว็บไซต์ Tripadvisor.com ซึ่งเป็นเว็บไซต์ของบริษัทสัญชาติอเมริกันที่ดำเนินธุรกิจตัวแทนท่องเที่ยวออนไลน์ ดำเนินการใน 40 ประเทศและ 20 ภาษา และมีรีวิวและความคิดเห็นประมาณ 1 พันล้านรายการ ได้จัดอันดับให้อุทยานฯ แห่งนี้ เป็นพิพิธภัณฑ์ทางประวัติศาสตร์ที่ดีที่สุดในกรุงเทพมหานคร จากการโหวตของนักท่องเที่ยวนานาชาติ ซึ่งน่าจะเป็นความจริง เพราะวันที่ผู้เขียนไปถึง ก็ได้พบกับกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติหลายกลุ่ม มีทั้งนักท่องเที่ยวกลุ่มใหญ่จากสหรัฐอเมริกาที่เดินทางมาอุทยานฯ โดยจักรยาน และนักท่องเที่ยวกลุ่มย่อย 3-4 คน อีก 2 กลุ่ม ซึ่งจากภาษาที่คุยกันทำให้ทราบว่ากลุ่มหนึ่งเป็นชาวเยอรมัน ส่วนอีกกลุ่มหนึ่ง เห็นอยู่ห่างๆ จึงไม่ทราบว่าเป็นนักท่องเที่ยวชาติใด ที่น่าทึ่งคือ ภายในเวลาเพียงชั่วโมงเศษ ผู้เขียนได้พบนักท่องเที่ยวถึง 3 กลุ่มด้วยกัน และยังทราบจากเจ้าหน้าที่ว่ามีนักท่องเที่ยวต่างชาติแวะเวียนมาเป็นประจำ 

     และแม้จะเป็นยามใกล้เที่ยงแล้ว แต่ก็ยังมีคนในชุมชนมาออกกำลังกายกัน มีทั้งพวกที่วิ่งรอบอุทยานฯ หรือพวกที่จับกลุ่มรำไท้เก็กกัน ซึ่งก็เพราะภายในอุทยานฯ นั้น ร่มรื่นมาก มีต้นไม้ใหญ่ๆ ให้ร่มเงา ลมพัดเย็นสบาย จึงสามารถมาออกกำลังกายได้ทั้งวัน และยังมาทำกิจกรรมต่างๆ ได้ด้วย โดยที่ริมรั้วด้านนอกทางทิศเหนือ ซึ่งเป็นด้านหลังชองอุทยานฯ มีกลุ่มวัยรุ่นมานั่งวาดรูปแข่งกัน ซึ่งเป็นการใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์อย่างมากทีเดียว

     อุทยานเฉลิมพระเกียรติสมเด็จย่า ได้สร้างขึ้นตามกระแสพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกา ธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่จะให้อนุรักษ์อาคารเก่า ซึ่งมีลักษณะและที่ตั้งใกล้เคียงกับบ้านที่สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีประสูติและดำรงพระชนม์ชีพในช่วงทรงพระเยาว์และทรงมีความผูกพันกับชุมชนแห่งนี้ จึงมีพระราชประสงค์ที่จะให้อนุรักษ์ไว้เป็นพิพิธภัณฑ์เทิดพระเกียรติสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี  และพัฒนาพื้นที่ให้เป็นสวนสาธารณะของชุมชนด้วย

     อุทยานฯ แห่งนี้ ตั้งบนเนื้อที่ 4 ไร่ ในซอยสมเด็จเจ้าพระยา 3 ถนนสมเด็จเจ้าพระยา แขวงสมเด็จเจ้าพระยา เขตคลองสาน กรุงเทพฯ ซึ่งนายแดง นานา และนายเล็ก นานา ผู้ถือกรรมสิทธ์ที่ดิน ได้พร้อมใจน้อมเกล้าฯ ถวาย จึงได้มีการดำเนินการก่อสร้างมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2536 มีการปรับปรุงอาคารที่เคยเป็นสถาปัตยกรรมสมัยรัชกาลที่ 3 เป็นพิพิธภัณฑ์เทิดพระเกียรติสมเด็จย่า และจำลองบ้านที่เคยประทับขนาดเท่าของจริงเพื่อแสดงถึงสภาพชีวิตความเป็นอยู่ของบ้านช่างทอง คือ พระชนกชูและพระชนนีคำ ส่วนพื้นที่เหลือจัดเป็นสวนสาธารณะระดับชุมชน ให้ประชาชนได้พักผ่อนหย่อนใจ หรือจัดกิจกรรมต่างๆ  โดยมีพิธีเปิดอุทยานฯ อย่างเป็นทางการเมื่อปี พ.ศ. 2540  

     อาคารพิพิธภัณฑ์ (เปิดทำการตั้งแต่ 08.30-16.30 น. ยกเว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์) และสวนสาธารณะ (เปิดทำการตั้งแต่ 06.00-18.00 น. ยกเว้นหยุดนักขัตฤกษ์)  

     อาคารพิพิธภัณฑ์มี 2 ห้อง ห้องหนึ่งจัดแสดงนิทรรศการเพื่อการเรียนรู้ในแง่มุมประวัติศาสตร์ชุมชน พระราชประวัติ ส่วนอีกห้องแสดงถึงพระราชกรณียกิจต่างๆ เช่น การเสด็จเยี่ยมราษฎรในพื้นที่ห่างไกลความเจริญ, การดำเนินงานของมูลนิธิแพทย์อาสาสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี (พอ.สว.), การจัดตั้งโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน เป็นต้น มีการจำลองโต๊ะทรงงานที่ดอยตุง (ของจริงแสดงอยู่ที่พระตำหนักดอยตุง จ.เชียงราย) แสดงไว้ด้วย

     ในส่วนของสวนสาธารณะ มีพระราชานุสาวรีย์หล่อด้วยทองแดงในพระอิริยาบถประทับนั่งของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีตรงทางเข้า บ้านจำลองเมื่อครั้งทรงพระเยาว์ ศาลาทรงแปดเหลี่ยม เป็นต้น

     จากสวนสมเด็จย่าไปทางทิศเหนืออีกเพียง 100 เมตรเศษ จะเป็นที่ตั้งของ ศาลเจ้ากวนอู  เป็นศาลเจ้าที่เก่าแก่ที่สุดในกรุงเทพมหานคร สร้างขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2279 ซึ่งตรงกับรัชสมัยของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศแห่งกรุงศรีอยุธยา มีคนมากราบไหว้ขอพรอย่างต่อเนื่อง มีร้านอาหาร “บ้านอากงอาม่า” อยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ตกแต่งแบบเก่า บรรยากาศดีทีเดียว

     ในเดือนกุมภาพันธ์นี้ มีการประชุมของคณะกรรมาธิการการเศรษฐกิจ การเงินและการคลัง วุฒิสภา แทบทุกสัปดาห์  คือ วันที่ 4, 11 และ 18 และมีการประชุมของคณะทำงานพิจารณาศึกษาการเพิ่มน้ำหนักของรถบรรทุก ในคณะกรรมาธิการการมนาคม วุฒิสภา อีก 2 ครั้ง คือ วันที่ 5 และ 19    

     วันที่ 4 กุมภาพันธ์ ประชุมของคณะกรรมาธิการการเศรษฐกิจ การเงินและการคลัง วุฒิสภา ครั้งที่ 4 ที่ห้องประชุมกรรมาธิการ CA 330 ชั้น 3 อาคารรัฐสภา เพื่อพิจารณาข้อมูลรายละเอียดดัชนีเศรษฐกิจการค้า ณ สิ้นปี 2567 และแนวโน้มในปี 2568 โดยเชิญผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า เข้าร่วมประชุม  

     หลังจากที่ได้มีการเดินทางของคณะทำงานพิจารณาศึกษาการเพิ่มน้ำหนักของรถบรรทุก ในคณะกรรมาธิการ การคมนาคม วุฒิสภา เมื่อ 31 มกราคม ณ แขวงทางหลวงราชบุรี เกี่ยวกับระบบชั่งน้ำหนักได้ในขณะรถวิ่ง (Weigh in Motion System:WIM) ที่นำมาใช้ในการแก้ปัญหารถบรรทุกน้ำหนักเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดในปัจจุบัน ณ ด่านชั่งน้ำหนัก โพธาราม จังหวัดราชบุรี ในวันนี้ที่ 5 กุมภาพันธ์ ได้มีการประชุมของคณะทำงาน ครั้งที่ 4 เพื่อพิจารณาปัญหาอุปสรรคจากข้อกำหนดและกฎหมายที่เกี่ยวข้องจากการกำหนดน้ำหนักการขนส่งโดยรถบรรทุก โดยเชิญ สมาพันธ์ และผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องกับขนส่งโดยรถบรรทุก เพื่อแสดงความคิดเห็นในประเด็นดังกล่าว

     การประชุมของคณะกรรมาธิการการเศรษฐกิจ การเงินและการคลัง วุฒิสภา ครั้งที่ 5/2568 ในวันอังคารที่ 11 กุมภาพันธ์ 2568 ที่ห้องประชุมกรรมาธิการ CA 330 ชั้น 3 อาคารรัฐสภา เป็นการรายงานความคืบหน้าของคณะอนุกรรมาธิการชุดต่างๆ และพิจารณานโยบาย การดำเนินการและผลกระทบจากแนวคิดโครงการเอนเตอร์เทนเมนท์คอมเพล็กซ์ (Entertainment Complex) ตลอดจนรายละเอียด หลักการและเหตุผลของร่างพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร พ.ศ. .... ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้อนุมัติหลักการของร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว โดยเชิญเจ้าหน้าที่สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กรมสรรพากรและกรมสรรพสามิต มาเป็นผู้ชี้แจง

     วันที่ 18 กุมภาพันธ์ เข้าร่วมประชุมคณะกรรมาธิการการเศรษฐกิจ การเงินและการคลัง วุฒิสภา ครั้งที่6/2568 ณ ห้องประชุมกรรมาธิการ CA 330 ชั้น 3 อาคารรัฐสภา (ด้วยความใหญ่โตอาคารรัฐสภา เวลามาประชุมคณะกรรมาธิการฯ จะต้องถ่ายรูปที่จอดไว้ทุกครั้ง เพื่อแน่ใจว่าเลิกประชุมแล้วจะหาที่จอดรถได้)  

     วันที่ 19 กุมภาพันธ์ มีประชุมคณะทำงานพิจารณาศึกษาการเพิ่มน้ำหนักของรถบรรทุกในคณะกรรมาธิการการคมนาคม วุฒิสภา เพื่อพิจารณาเพิ่มน้ำหนักรถบรรทุก และสมรรถนะของถนนในปัจจุบันในการรองรับน้ำหนักรถบรรทุก รวมถึงจำนวนด่านชั่งน้ำหนักรถบรรทุกสินค้า และจุดพักรถสำหรับรถบรรทุกทั่วประเทศ โดยเชิญผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม ได้แก่ กรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบท และกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น เข้าร่วมประชุมด้วย

     ระหว่างปี พ.ศ.2563 - 2564 ศูนย์หนังสือจุฬา ยังมีหนังสือจำหน่ายอีก 5 ฉบับ ได้ขอเขียนบทความ“ลุงกับป้าพาเที่ยว” ชุดท่องเที่ยวประเทศไทยรวมการท่องเที่ยว 14 เส้นทาง 50 เมืองรอง ซึ่งลงใน Chulabook blog เป็นรายเดือน กระทั่งปี พ.ศ.2564-2567 ยังคงเป็น blogger ของ Chulabook blog อยู่ทุกๆเดือน เป็นบทความการท่องเที่ยวเชิงศิลปวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม จาริกบุญ และปัจจุบันจะให้ความสำคัญ เมืองรองที่นักท่องเที่ยวค้นหาข้อมูลระดับต้นๆ และท่องเที่ยว unseen ด้วยประสบการณ์การเป็นนักเขียนที่ยาวนานกว่า 15 ปี จึงครอบคลุมเนื้อหาต่างๆ หลายสาขา ผู้ที่ใฝ่รู้จึงติดตามจากหนังสือ 14 ฉบับ และบทความ 62 บทความ สำหรับปี 2568 นี้ บันทึกการเดินทางครอบคลุมการท่องเที่ยวเมืองที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ เพื่อพัฒนาชุมชนและท้องถิ่นอย่างต่อเนื่อง  

     วันที่ 21 กุมภาพันธ์จึงได้โอกาสที่แวะเวียนไปวัดที่เคยเข้าไปทำเนื้อหาเมื่อครั้งเขียนหนังสือสถานที่ปฏิบัติธรรมใหม่ๆ เมื่อปี 2551 “วัดพุทธบูชา” เขตทุ่งครุ กรุงเทพมหานคร มีทั้งอาคารพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต  วิหารธรรม 100 ปี และวิหารพระเทพมงคลญาณ กำลังก่อสร้าง (พระเทพมงคลญาณเป็นเจ้าอาวาสรูปปัจจุบัน)จะมีอาคารสถาบันพลังจิตตานุภาพ 2 เท่านั้น ที่เป็นอาคารอบรมผู้เข้าอบรมปฏิบัติธรรม เป็นอาคารที่ยังคงอยู่ตั้งแต่คราวมาเยือนครั้งก่อน

     สำหรับวัดโพธิ์ทอง เขตจอมทอง เป็นวัดที่มีผู้คนแวะเวียนมากราบไหว้องค์เทพครุฑ วันละจำนวนมากๆ ทั้งนี้เพราะเลื่อมใสในจริยาวัตรของพระเทพวชิรวิทยานุสิฐ (หลวงพ่อวราห์)  

บันทึกการเดินทาง พิษณุโลก ราชบุรี  https://www.chulabook.com/blog/222/1177

     วันที่ 28 กุมภาพันธ์ เดินทางไปธุระส่วนตัวเรื่องบ้านพักที่นครราชสีมาอีกครั้ง เมื่อถึงแล้วได้เข้ากราบนมัสการพระเดชพระคุณพระเทพสีมาภรณ์ เจ้าคณะจังหวัดนครราชสีมา เจ้าอาวาสวัดบึง  ซึ่งเป็นวัดสำคัญ 1 ใน 6 วัด ที่สร้างขึ้นสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ได้แก่ วัดสมเด็จพระนารายณ์มหาราช วัดบึง วัดพายัพ วัดอิสาน วัดบูรพ์ และวัดสระแก้ว ซึ่งผู้เขียนได้เคยกล่าวถึงเมื่อครั้งไปท่องเที่ยวพิมายและเมืองนครราชสีมา เมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ.2566

จาริกบุญและท่องเที่ยวพิมาย/นครราชสีมา แก่งกระจาน/เพชรบุรี และท่าม่วง/กาญจนบุรี

https://www.chulabook.com/blog/127/727

     วัดทั้ง 6 นี้สร้างโดยข้าราชการ พ่อค้าและประชาชนในเขตตัวเมืองชั้นในนครราชสีมา สำหรับวัดบึงได้รับงบประมาณจากกรมศิลปากร 30 ล้านบาท มาบูรณะพระอุโบสถและโรงเรียนพระปริยัติธรรม

     เดินทางไปโคราชครั้งนี้ใช้เวลาขาไป-กลับ 3 ชั่วโมงครึ่งเท่านั้น เพราะมอเตอร์เวย์ M 6 เปิดให้ใช้ช่วง ปากช่อง- นครราชสีมา ถ้าเปิดให้ใช้ตลอดเส้นทางจะทำเวลาได้ดีกว่านี้อีก

https://vt.tiktok.com/ZS6ohmUrr/

 

 

 


อ่าน : 0

แชร์ :


เขียนความคิดเห็น