ตอนที่ 1 : สมาน

ในงานหนังสือปีนี้ยังคงคึกคักเหมือนกับทุกปีที่ผ่านมา คลื่นมหาชนจำนวนมากหลั่งไหลเข้าร่วมงานตั้งแต่ในวันแรก บรรดานักอ่านทั้งหลายไม่ว่าจะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ต่างก็ให้ความสนใจมาเลือกหาซื้อหนังสือกันอย่างหนาแน่น  นอกจากจะเป็นงานมหกรรมหนังสือที่รวบรวมเอาหนังสือหลากหลายประเภทมาจัดรายการขายลดราคาแล้ว  ในงานนี้ยังถือว่าเป็นจุดนัดพบของนักเขียนรุ่นต่าง ๆ ทั่วทั้งบรรณภพของเมืองไทยอีกด้วย

 

สมานก็เป็นหนึ่งในคนเรือนหมื่นที่ได้ไปร่วมงานหนังสือในวันแรกนี้ด้วย  ในปีที่ผ่านมาสมานยังเป็นแค่นักอ่านอยู่  เขาจึงไปเดินในงานเพื่อที่จะเลือกหาซื้อหนังสือที่เขาคิดว่าอ่านแล้วจะช่วยพัฒนาการเขียนของเขาให้ดีขึ้น แต่ว่าในปีนี้ตัวเขาได้เปลี่ยนสถานะภาพจากนักอ่านธรรมดากลายมาเป็นนักเขียนหน้าใหม่แล้ว  สมานเพิ่งจะมีผลงานนวนิยายจัดพิมพ์เป็นเรื่องแรก  หลังจากที่เขาได้พยายามเขียนเรื่องเพื่อส่งผลงานไปให้สำนักพิมพ์ต่าง ๆ มานานกว่า 7 ปี จนกระทั่งเขาประสบผลสำเร็จเมื่อสำนักพิมพ์ดักแด้วรรณกรรมได้เลือกเอาเรื่อง “ปีกอนงค์” ของเขามาจัดพิมพ์พร้อมกับเรื่องของนักเขียนหน้าใหม่อีก 3 ท่าน

นวนิยายเรื่อง “ปีกอนงค์” ซึ่งแต่งโดยเจ้าของนามปากกา “สามาญวงศ์” ที่จัดพิมพ์เป็นครั้งแรกได้ถูกวางขายอยู่ในบูธของสำนักพิมพ์ดักแด้วรรณกรรมร่วมกับนวนิยายเรื่องใหม่อีก 3 เรื่องของนักเขียนหน้าใหม่ที่นามปากกายังไม่เป็นที่คุ้นหูเช่นกัน  โดยทางสำนักพิมพ์ได้ขึ้นป้ายโฆษณาแขวนติดไว้เหนือบูธว่า “พบกับจตุเทพแห่งวงการวรรณกรรมที่พร้อมเปิดโลกใหม่ให้แก่ท่านได้ที่นี่”  ซึ่งแน่นอนว่านามปากกา “สามาญวงศ์” นี้ก็เป็นหนึ่งในจตุเทพที่ทางสำนักพิมพ์ได้ยกย่องเอาไว้ด้วย

สมานรู้สึกภาคภูมิใจเป็นอย่างมากที่ตัวเขามีผลงานเรื่องแรกออกมาตีพิมพ์ได้สำเร็จ และเขาต้องภูมิใจมากขึ้นอีกเมื่อทางสำนักพิมพ์ที่เขาแจ้งเกิดได้ยกย่องให้เขาเป็นนักเขียนหน้าใหม่คนหนึ่งที่น่าจับตามอง  ถึงแม้ว่าบูธของสำนักพิมพ์ดักแด้วรรณกรรมจะเป็นเพียงบูธเล็ก ๆ ที่อยู่ตรงมุมด้านในสุดของชั้นล่างซึ่งคนเดินผ่านไม่มากนักก็ตาม  สมานก็ยังอดไม่ได้ที่จะแอบไปอยู่ที่หน้าบูธทำเป็นยืนอ่านหนังสือเรื่อง “ปีกอนงค์” เพื่อเรียกร้องความสนใจแก่ผู้ที่เดินผ่านไปมาให้เดินเข้ามาหยิบหนังสือเรื่องนี้ขึ้นมาลองอ่านดูบ้าง

แล้วก็เหมือนจะมีเหยื่อหลงเข้ามาติดกับดักที่เขาได้ขุดล่อเอาไว้  เมื่อมีหญิงสูงวัยคนหนึ่งเดินลากกระเป๋าล้อเลื่อนสำหรับใส่หนังสือมาหยุดหน้าบูธ   สมานหันหน้าไปเหลือบมองผู้หญิงคนนี้เล็กน้อยพร้อมทั้งยิ้มให้ โดยที่เขาได้พยายามพลิกด้านหน้าของหนังสือนวนิยายเรื่อง “ปีกอนงค์” ให้เธอดู  เพื่อให้เธอผู้มาใหม่รู้ว่าเขากำลังสนใจอ่านหนังสือเล่มไหนอยู่

หญิงวัยใกล้กับแม่ของสมานได้ยิ้มตอบให้แก่เขา  พร้อมทั้งเอ่ยถามขึ้น

“อ่านเรื่องอะไรล่ะ? ไหนให้ป้าดูอีกทีสิ เมื่อกี้ยังมองไม่ชัดเลย”

เข้าทางของสมานพอดีนอกจากเหยื่อรายนี้จะติดกับดักแล้ว  ดูเหมือนเธอจะหลงกลเขามากขึ้นไปอีก  เมื่อสมานเห็นช่องที่เปิดโอกาสให้เขาได้เชียร์หนังสือของตัวเองด้วยแล้วเขาจึงไม่รอช้า

“เรื่องปีกอนงค์ครับ  นวนิยายเรื่องนี้สนุกมากเลยครับ” สมานพูดพร้อมทั้งชี้ไปยังหนังสือนวนิยายเรื่อง “ปีกอนงค์” ที่วางเรียงรายโชว์อยู่บนแผงเป็นจำนวนมาก

แล้วก็เหมือนกับว่าจะได้ผล  เมื่อหญิงคราวป้าหยิบหนังสือเรื่อง “ปีกอนงค์” ขึ้นมาดู เธอพลิกดูที่ปกหลังเพื่ออ่านคำโปรยของเรื่อง แล้วเธอก็อ่านออกเสียงค่อนข้างดังเพื่อให้สมานได้ยินด้วย

“ ... ท่ามกลางบรรยากาศที่กำลังดื่มด่ำนั้น  อนงค์อดไม่ได้ที่จะเผลอใจคล้อยตามสิ่งเร้าที่เข้ามากระแทกอารมณ์  เธอหลับตาพริ้มอย่างเคลิบเคลิ้มพร้อมกัดริมฝีปากแน่น  เธอรู้สึกเหมือนว่าร่างของเธอกำลังลอยขึ้น  และตัวเธอกำลังล่องลอยสู่สรวงสวรรค์อันงดงาม ...”

สมานอดยิ้มไม่ได้เมื่อเขาได้ยินบทบรรยายในฉากหนึ่งจากเรื่องที่เขาแต่ง  ซึ่งบรรณาธิการของสำนักพิมพ์ได้บรรจงคัดสรรเพื่อเลือกมาเป็นบทโปรยสำหรับดึงดูดผู้อ่าน

“อีโรติคแน่ ๆ เลย” คุณป้าพูดขึ้นเมื่อหันไปเห็นสมานยิ้ม

“ไม่ใช่ครับ เป็นเรื่องชีวิตดราม่าครับ” สมานรีบหุบยิ้มและพูดแก้ในทันที

“เธออ่านจบแล้วเหรอ?  ถึงได้รู้” 

“โอ้ย .. ผมอ่านจบหลายรอบแล้วครับ” สมานเผลอพูดออกไป  ถึงแม้ว่ามันจะเป็นเรื่องจริงก็ตาม เพราะกว่าที่เรื่องของเขาจะถูกจัดพิมพ์ออกมาได้นั้น  ตัวเขาในฐานะที่เป็นผู้แต่งต้องทั้งอ่านและทั้งแก้ไขไม่ต่ำกว่า 10 รอบ แต่เขาก็รู้ตัวว่าเขาไม่ควรพูดอะไรที่มากจนเกินไป  เดี๋ยวจะเป็นการทำให้ไก่ตื่นเสียก่อน เขาจึงต้องรีบโกหกพูดแก้ต่างแทน “ผมอ่านหลายรอบแล้วชอบมาก  ผมเลยจะมาซื้ออีกสักเล่มเอาไปฝากเพื่อนครับ”

“ดีขนาดนั้นเลยเหรอ?” คุณป้ายังคงสงสัยต่อ

“ใช่ครับ  เรื่องนี้สุดยอดเลย ในเรื่องนางเอกชื่ออนงค์  นางเอกต้องต่อสู้กับชีวิตอันโหดร้าย  นางเอกมีรักที่ไม่สมหวังเพราะว่าไปรักพระเอกที่แต่งงานแล้ว  นางเอกต้องการการยอมรับจากสังคม  จึงต้องต่อสู้และฝ่าฟันอุปสรรคอย่างมากเลยครับ”  สมานอดไม่ได้ที่จะเล่าเรื่องย่อไปด้วย

“อ๋อ ... เรื่องเมียน้อย ไม่เห็นจะดีตรงไหนเลย”  หญิงคราวป้าพูดขึ้น “เรื่องชิงรักหักสวาท เมียน้อยตบตีกับเมียหลวงเพื่อแย่งผู้ชาย พล็อตน้ำเน่ามาก ๆ เลย”

สมานถึงกับหน้าชาในทันทีเมื่อได้ยินคู่สนทนาพูดวิจารณ์หนังสือของเขา  แล้วคุณป้าที่กำลังทำตัวเป็นนักวิจารณ์หนังสือก็ได้พูดขึ้นต่อ

“ไหนดูสิใครแต่ง?” คุณป้าผู้พูดพลิกหนังสือกลับมาดูที่ปกด้านหน้าอีกครั้ง “สามาญวงศ์  นักเขียนใหม่เหรอ?  ชื่อโบราณมาก ชื่อยังกะคณะลิเกวิกหลังตลาดเลย”

หน้าของสมานยังไม่หายชาแต่เขากลับต้องมึนมากขึ้นไปอีกเมื่อได้ยินคนวิจารณ์ชื่อซึ่งเป็นนามปากกาของเขา  เขาเริ่มรู้สึกผิดหวังขึ้นมาทันทีที่เขาเลือกหญิงสูงวัยคนนี้มาเป็นเหยื่อ  เขามีความรู้สึกเหมือนชาวประมงที่ตกปลาแล้วเบ็ดเกี่ยวได้ร้องเท้าแตะเก่า ๆ ขึ้นมาจากน้ำ   นอกจากจะเสียเวลาแล้วยังไม่สามารถจะหาประโยชน์อันใดได้อีกเลย  ในตอนนี้เขาเริ่มอยากจะเปลี่ยนเหยื่อตัวใหม่แล้ว เพราะว่าเหยื่อตัวนี้ดูท่าทางว่าจะมีพิษแก่เขามาก

แล้วคุณป้าฝีปากคมก็พลิกหนังสือกลับไปอ่านคำโปรยที่ปกหลังต่ออีกครั้ง ซึ่งเธอยังคงอ่านออกเสียงดังให้สมานได้ยินอยู่เช่นเดิม

“ ... แล้วเธอจึงได้รู้ความจริงว่า สิ่งที่เธอคิดว่าเป็นสวรรค์ในตอนแรกนั้นได้กลับกลายเป็นนรกที่มีไฟร้อนแรงเผาสุ่มทรวงเธอตลอดมา เธอเริ่มคิดขึ้นว่าถ้าไม่มีเหตุการณ์ในวันนั้น  และไม่มีเขาคนนั้นเดินผ่านเขามา  ชีวิตของเธอคงจะสุขสบายมากกว่านี้ ...”

ในครั้งนี้สมานไม่กล้ายิ้มเมื่อเขาได้ยินอีกหนึ่งบทบรรยายบทจากเรื่องที่เขาแต่ง  เขากลัวว่าบทบรรยายที่เขาคิดว่าน่าประทับใจนี้จะโดนตำหนิให้สะเทือนใจอะไรอีก

“ในตอนจบนางเอกคิดได้แล้วกลับมามีความสุขใช่ไหม?”  คุณป้าหันมาถามสมานเมื่อเธออ่านบทบรรยายนั้นจบ

“ใช่ครับ” สมานรีบตอบพร้อมทั้งนึกในใจว่าคุณป้าเคยอ่านเรื่องนี้แล้วแน่ ๆ เลยจึงได้รู้ตอนจบของเรื่อง เขาจึงต้องถามต่อเพื่อให้รู้ความ “คุณป้าเคยอ่านแล้วหรือครับ?”

“ป้าเคยอ่านแล้ว แต่ไม่ใช่เรื่องนี้หรอก นิยายนางเอกเป็นเมียน้อยแบบนี้มีเยอะแยะไป มีเป็นร้อย ๆ เรื่อง  ส่วนใหญ่ก็จบแบบให้นางเอกคิดได้  เลิกตามล่าตามร้างหารักที่ไม่สมหวังอีกแล้ว  ทุกเรื่องต้องจบให้นางเอกกลับมาดีในตอนท้ายอย่างนี้ล่ะ  ไม่อย่างงั้นคนอ่านก็ด่าเละเลย” คุณป้าผู้เคยอ่านแล้วพูดอธิบายบอก

 

 

สมานเหมือนกับโดนหมัดฮุคเข้าที่ขมับ เขาเริ่มมึนขึ้นอีกครั้งเมื่อคิดว่าคุณป้าคนนี้นอกจากจะเคยอ่านเรื่องของเขาแล้ว  คุณป้าคนนี้ต้องเคยเป็นบรรณาธิการมาก่อนแน่ ๆ เพราะว่าเรื่อง “ปีกอนงค์” ของเขาเรื่องนี้  ก่อนหน้านั้นเขาตั้งชื่อเรื่องว่า “สิ้นอนงค์” ซึ่งนางเอกของเขาผูกคอตายในตอนจบของเรื่อง แต่ว่าเรื่องที่เขาแต่งในครั้งแรกนั้นยังไม่สามารถที่จะจัดพิมพ์ออกมาได้  บรรณาธิการทุกคนในสำนักพิมพ์ดักแด้วรรณกรรมต่างก็บอกให้เขาไปแก้เนื้อเรื่องมาใหม่  จะให้นางเอกตายไม่ได้  เพราะว่าคนอ่านจะต้องเอาใจช่วยนางเอกตลอด  ยิ่งถ้าให้นางเอกตายในตอนท้ายแล้วให้เรื่องจบเลยก็จะต้องโดนผู้อ่านตามมาด่าถึงสำนักพิมพ์แน่ ๆ  ดีไม่ดีสำนักพิมพ์อาจจะถูกเผาก็เป็นได้ เขาจึงจำเป็นต้องแก้ไขเนื้อหาในตอนท้ายของเรื่องเกือบ 10 รอบ 

“แล้วที่เธอบอกว่าเป็นเรื่องชีวิตดราม่านะมันเป็นยังไงเหรอ?”  คุณป้าหันมาถามสมานอีกครั้ง

สมานต้องกัดฟันตอบ เขารวบรวมสติและพูดเล่าพล็อตของเรื่องให้คุณป้าฟัง  โดยเขาพยายามพูดให้เหมือนกับตอนที่เขาพูดสรุปเรื่องนี้ให้บรรณาธิการฟัง

“ในเรื่องนี้จะพูดถึงชีวิตของนางเอก ที่ครั้งหนึ่งได้ตัดสินใจผิดพลาดในเรื่องความรัก  จนต้องหาทางแก้ไขชีวิตให้ได้  ปมของเรื่องคือนางเอกเป็นเมียน้อยโดยไม่รู้ตัว”

“ปิโธ่!   อีนางเมียน้อย ชอบมาอ้างว่าไม่รู้ไม่รู้  ทั้ง ๆ ที่ตัวเองรู้ดีตลอดล่ะ” คุณป้าเริ่มทำตัวเป็นนักขัดรีบพูดแทรกขึ้นที

สมานรู้สึกเหมือนว่าคุณป้าคนนี้จะต้องเคยแอบอ่านเรื่องที่เขาแต่งครั้งแรกแล้วแน่ ๆ  เขาสงสัยว่าอีคุณป้าคนนี้เป็นคนที่อยู่ในสำนักพิมพ์แล้วปลอมตัวมาหรือไม่? เพราะว่าเรื่องของเขาก็โดนบรรณาธิการให้แก้ว่านางเอกไม่รู้ทั้ง ๆ ในตอนแรกเขาแต่งเรื่องให้นางเอกรู้อยู่เต็มอกก็ตาม

“เหมือนป้าจะเคยอ่านแล้วเลย” สมานพูดเปรยขึ้น

“ป้าอ่านมาเยอะแล้ว เรื่องแบบนี้พล็อตแบบนี้เหมือนกันหมดล่ะ” คุณป้านักอ่านพูดขึ้นอย่างลอยหน้าลอยตา  “แล้วในเรื่องนี้เป็นไงต่อล่ะ?”

สมานจึงเล่าต่อ “ในเรื่องนางเอกก็พยายามต่อสู้กับชีวิตที่ลำบาก  ชีวิตที่ถูกสังคมจำกัดความว่าเป็นเมียน้อย  หลังจากนั้นนางเอกก็ท้อง  พระเอกอยากให้นางเอกเอาลูกออกแต่นางเอกไม่ยอม พระเอกจึงบังคับนางเอกแล้วขับรถพานางเอกไปทำแท้ง”

“แล้วพระเอกก็ขับรถตกหลุมกลางทางกระแทกจนนางเอกแท้งใช่ไหม?” คุณป้านักขัดรีบพูดแทรกขัดขึ้นมาในทันที

“ใช่ครับ” สมานตอบพร้อมกับตะลึงไปชั่วขณะ  คุณป้าคนนี้รู้เรื่องได้อย่างไร? แสดงว่าคุณป้าคนนี้ต้องเป็นคนในกองบรรณาธิการของสำนักพิมพ์ปลอมตัวมาแน่  เพราะว่าเรื่องที่เขาแต่งในตอนแรกนั้นนางเอกยอมไปทำแท้งแต่โดยดี แต่ทางบรรณาธิการไม่ยอมให้นางเอกไปทำแท้งอย่างเด็ดขาด เพราะว่าเป็นเรื่องที่ไม่ดีขัดกับศีลธรรมซึ่งทางสำนักพิมพ์ไม่ยอมแน่ ๆ เขาจึงยอมให้บรรณาธิการแก้เรื่องในตอนที่ไปทำแท้งโดยให้กลายเป็นเกิดอุบัติเหตุในระหว่างขับรถจนนางเอกตกเลือดแทน

“นางเอกแท้งแล้วยังไงต่อ?” คุณป้าถึงแม้ว่าจะขัดแต่ก็ยังอยากจะรู้เรื่องต่ออยู่ดี

สมานเห็นใบหน้าของคนที่ใคร่อยากจะรู้แล้วก็ต้องรีบเล่าต่อ “พอนางเอกแท้งแล้วก็เลยคิดได้  นางเอกคิดถึงเรื่องราวในชีวิตที่ผิดพลาดไป  นางเอกก็พยายามแก้ไขชีวิตให้ดีขึ้นด้วยการลาออกจากที่ทำงานเดิมเพราะไม่อยากเจอหน้าพระเอกอีก”

“แสดงว่านางเอกต้องเป็นเลขาแน่ ๆ เลย ใช่ไหม?” คุณป้านักขัดรีบถามแทรกขึ้นมาในจังหวะนี้พอดีเลย

“ใช่ครับ นางเอกเป็นเลขาของพระเอกครับ คุณป้ารู้ได้อย่างไรล่ะครับ?” สมานตอบพร้อมกับถามต่อด้วยความสงสัยอีกครั้ง

“โอ้ย ... เลขาก็ต้องเป็นเมียน้อยนาย เรื่องแบบนี้พล็อตมันมาแบบนี้ทั้งนั้นล่ะ เลขากับเจ้านายทำงานใกล้ชิดกัน  ไป ๆ มา ๆ เดี๋ยวก็โจ๊ะกันจนได้ล่ะ”

สมานปักใจเชื่อแล้วว่าคุณป้าคนนี้ต้องเป็นคนในกองบรรณาธิการที่ปลอมตัวมาแน่ ๆ เพราะว่ารู้เรื่องที่เขาแต่งเป็นอย่างดี ไม่ใช่ว่าจะรู้แค่เรื่องแต่ยังรู้อีกด้วยว่าเรื่องในตอนแรกเป็นอย่างไร  เพราะว่าในตอนแรกเขาแต่งเรื่องให้นางเอกเป็นแค่พนักงานบริษัทธรรมดา  แต่บรรณาธิการบอกว่าให้แก้ไขใหม่ให้นางเอกเป็นเลขาจะได้สมจริงสมจังในเรื่องที่ต้องสนิทกับพระเอกที่เป็นเจ้านาย 

“แล้วทำไมถึงได้ชื่อเรื่องว่า “ปีกอนงค์” ล่ะ?” คุณป้านักอ่านจอมแทรกได้ถามขึ้นอย่างจริงจังต่อ

“สาเหตุที่ชื่อว่าปีกอนงค์ก็เพราะว่า” สมานหยุดกลืนน้ำลายเล็กน้อย เพื่อที่จะได้พูดอย่างเป็นจริงเป็นจังมากขึ้น “นางเอกต้องต่อสู้กับปัญหาชีวิตและอุปสรรคต่าง ๆ ที่โถมทับเข้าหาตัวเธอ เธอใช้แรงใจของตัวเธอเองในการที่จะขับเคลื่อนและประครองชีวิตให้ผ่านพ้นไปได้  เหมือนมีแรงลมมาช่วยพยุงอยู่ที่ใต้ปีกจึงทำให้ร่างกายของเธอบินฝ่ามรสุมชีวิตออกไปได้”

“โห ... ลึกซึ้งมาก” เป็นครั้งแรกที่คุณป้านักอ่านพูดขึ้นอย่างคล้อยตาม “สุดยอดเลยที่ใช้ชื่อ “ปีกอนงค์” เพราะว่าถ้านางเอกในเรื่องไม่สู้ชีวิตแล้วคิดฆ่าตัวตาย  เรื่องนี้ต้องชื่อ “สิ้นอนงค์” แน่ ๆ เลย”

สมานเหมือนกับเจอนะจังงังที่เป็นมนต์สะกด  เขาทำตาเหลือกจ้องเขม็งไปที่คุณป้าบรรณาธิการ  สมานสงสัยว่าเธอผู้นี้ต้องการอะไรจากสังคมแน่   เพราะเหมือนว่าเธอจะรู้เรื่องทั้งหมดนี้ดีไปกว่าเขาที่เป็นผู้แต่งเสียอีก รวมทั้งรู้อีกด้วยว่าเรื่องนี้เคยถูกตั้งชื่อว่า “สิ้นอนงค์” ด้วย  เขาจำว่าได้ในการสนทนาครั้งนี้เขายังไม่เคยเอ่ยชื่อเรื่องเก่านี้ให้เธอได้ยินเลย

ยังไม่ทันที่สมานจะคิดอะไรต่อได้  คุณป้านักอ่านที่ดูเหมือนบรรณาธิการท่านนี้ก็หยิบหนังสือนวนิยายเรื่อง “ปีกอนงค์” ขึ้นมาจากแผง 2 เล่ม แล้วเธอก็หันไปถามพนักงานขายที่ยืนรออยู่ในบูธ 

“เล่มละเท่าไหร่?”

“ลดแล้วเหลือเล่มละ 250 บาทค่ะ” พนักงานขายที่ยืนรออยู่นานแล้วรีบตอบโดยทันที

“ฉันเอา 2 เล่มนี้” คุณป้าผู้ชื้อยื่นหนังสือทั้ง 2 เล่มส่งให้แก่พนักงานขาย พร้อมทั้งส่งธนบัตรใบละ 500 ตามไปให้ด้วย

“คุณป้าจะซื้อไปทำไมครับ?” สมานถามขึ้นด้วยความสงสัยอีกครั้ง

“ซื้อไปอ่านสิจ๊ะ  ก็เธอเล่าเรื่องเสียสนุกเชียว  ป้าจะไม่ซื้อไปอ่านได้ไงล่ะ”  หญิงผู้ที่อาบน้ำร้อนมาก่อนเขาตอบพร้อมยิ้มให้แก่เขาด้วย

“แต่คุณป้าอ่านแล้วไม่ใช่เหรอครับ?”

“โอ้ย ... อ่านแล้วก็อ่านอีกได้ ไอ้เรื่องพล็อตแบบนี้มันมีแต่งออกมาทุกปีเลย  แล้วป้าก็ซื้อไปอ่านทุกปีเหมือนกัน  ปีนี้ป้าก็ตั้งใจมาซื้ออีก  อยากจะเอาไปอ่านดูว่านักเขียนใหม่คนนี้จะแต่งเรื่องได้ดีกว่าคนก่อน ๆ ไหม?  แล้วสำนวนการเขียนจะพอใช้ได้ไหม? ไอ้เรื่องแบบนี้จะว่าน้ำเน่าก็น้ำเน่า  ถึงแม้ว่าพล็อตจะซ้ำซากแต่เรื่องทำนองนี้อ่านกี่ครั้งกี่ครั้งก็สนุกทุกครั้งล่ะ  แล้วที่ป้าซื้อไป 2 เล่มนี้ก็กะว่าจะเอาไปฝากคนข้างบ้านด้วย จะได้มีเพื่อนอ่านด้วยกัน  อ่านแล้วจะได้เอามาเม้าท์เอามาด่ากันได้ไงล่ะ” คุณป้านักอ่านตอบร่ายยาวเลย

สมานนักเขียนมือใหม่ได้ยินคุณป้านักอ่านมืออาชีพตอบแล้วก็ยิ้มออกมาได้ แต่เขาก็ต้องรีบหุบยิ้มในทันทีเมื่อได้ยินคุณป้าผู้ที่อุดหนุนหนังสือของเขาหันไปถามพนักงานขายว่า

“แล้วคนที่แต่งเรื่องนี้ล่ะ  เขามาแจกลายเซ็นด้วยไหม?” 

สมานต้องสะดุ้งในทันทีเมื่อพนักงานขายหันมาชี้ที่ตัวเขา  ในช่วงเวลานั้นเขาไม่มีโอกาสจะแทรกตัวหลบหนีไปไหนได้ทัน  เมื่อเขาหันไปสบตาคุณป้าคู่สนทนาของเขาแล้วก็ได้แต่ยิ้มให้ด้วยความเขินอาย

“ยังว่าทำไมรู้เรื่องดีนัก เล่าได้ละเอียดเชียวนะ” คุณป้าพูดขึ้นพร้อมทั้งยื่นหนังสือ 2 เล่มที่เธอซื้อมาเป็นกรรมสิทธิ์แล้วให้แก่สมาน “เซ็นหนังสือให้ป้าด้วยนะ  พ่อสามาญวงศ์” 

สมานพูดขึ้นอย่างประหม่าแต่ท่าทางของเขาดูนอบน้อมเป็นอย่างมาก “ได้ครับ  ว่าแต่จะให้ผมเซ็นว่าให้ใครดีล่ะครับ?”

“เขียนว่า ... ให้ป้านักอ่านก็แล้วกัน” ผู้ที่รอคอยลายเซ็นตอบ

แล้วภาพที่นักเขียนกำลังนั่งเซ็นชื่อให้แก่ผู้อ่านที่ซื้อหนังสือของเขาก็มีให้เห็นอยู่ทั่วไปภายในงานหนังสือ รวมทั้งในเวลานี้ที่บูธของสำนักพิมพ์ดักแด้วรรณกรรมด้วย  นักเขียนหน้าใหม่ผู้มีผลงานจัดพิมพ์เป็นครั้งแรกกำลังเซ็นชื่อลงในหนังสือนวนิยายเรื่อง “ปีกอนงค์” ให้แก่คุณป้านักอ่านตัวยงผู้ที่ซื้อหนังสือของเขา 

คงเป็นสัจธรรมในวงการหนังสือ นักเขียนจะอยู่ได้ก็ต้องมีนักอ่านผู้ที่อ่านงานเขียนของเขา ในทางกลับกันนักอ่านทั้งหลายต่างก็เฝ้ารออ่านผลงานใหม่ของนักเขียนที่เขาชื่นชอบอยู่เช่นกัน ทั้งนักเขียนและนักอ่านต่างก็เป็นกำลังใจให้แก่กันเสมอ  ดังที่จะเห็นได้ทั่วไปในงานหนังสือทุก ๆ ครั้ง 

แล้วตัวคุณล่ะ  ... ในวันนี้คุณมีนักเขียนในดวงใจแล้วหรือยัง?

 


อ่าน : 0

แชร์ :

เขียนความคิดเห็น