ตอนที่ 1 : เทคนิคการทำงานที่ไม่ถนัดอย่างไรให้สำเร็จ

การทำงานที่ไม่ถนัดนั้นเป็นเรื่องที่ค่อนข้างจะเหนื่อยและกินพลังกายพลังใจมาก วันนี้เลยอยากรวบรวมข้อแนะนำจากประสบการณ์ตัวเอง สรุปเป็นแนวทางว่าเราจะผ่านพ้นมันได้อย่างไร เผื่อจะมีคนกำลังตกในสภาวะเดียวกันอยู่นะครับ

ถ้าตอบแบบกำปั้นทุบดิน..

ถ้าตอบแบบตรงไปตรงมาเลย วิธีการแก้ปัญหานี้แบบรวดเร็วก็คือ งานไม่ถนัดก็อย่าไปทำสิ ให้เอาตัวเองออกจากจุดนั้นไปเลย ซึ่งถ้าทำได้ก็แนะนำว่าไม่ต้องอ่านส่วนที่เหลือของบทความนี้แล้วละครับ แต่ในความเป็นจริงมันมีเงื่อนไขอื่นๆต้องคิดอีกมากมาย เช่น มันอาจไม่มีทางเลือก หรือมีความจำเป็นบางอย่างที่ทำให้เราต้องทำงานที่ไม่ถนัดนั้นๆอย่างเลี่ยงไม่ได้ ถ้าคุณอยู่กรณีเหล่านี้ แสดงว่าคุณพร้อมแล้ว อ่านย่อหน้าต่อไปได้เลย

1. กำหนดความสำเร็จขั้นต่ำในการทำงานที่ไม่ถนัดชิ้นนั้น

การทำงานตามภาระกิจให้สำเร็จ บางครั้งก็ไม่จำเป็นว่างานนั้นจะต้องเป็นผลงานชิ้นเอก ไร้คนเทียบเคียง หรือเป็นผลงานที่สุดยอดภาคภูมิใจในชีวิต เราควรต้องกำหนดความสำเร็จขั้นต่ำให้ได้ก่อนว่างานชิ้นนั้นอย่างน้อยที่สุดมันจะมีความเสร็จสมบูรณ์ขนาดไหน แต่ผมก็ไม่ได้ห้ามหากคุณจะกำหนดความสำเร็จขั้นต่ำให้มีมาตรฐานสูงลิบนะครับ อันนั้นเป็นเรื่องของคุณเอง การกำหนดเส้นเป้าหมายเส้นนั้นให้ได้นั้น ก็เพื่อเป็นการกำหนดเป้าหมายเพื่อวัดความสำเร็จในการทำงานของเรานั่นเอง

2. การเพิ่มทักษะ

พอบอกว่าเป็นงานไม่ถนัด แสดงว่าทักษะในงานนั้นเรายังไม่ดีพอ การเพิ่มทักษะในความหมายของผมคือการเพิ่ม 2 อย่าง คือ เพิ่มความรู้ และ เพิ่มเวลาฝึกฝน ให้กับงานชิ้นนั้นๆ (โดยอ้างอิงกับเป้าหมายที่เรากำหนดไว้ในข้อแรกข้างบน)

การเพิ่มความรู้ หรือการเพิ่ม Know-how (หรือศัพท์ร่วมสมัยหน่อยก็คือการ Up-skill) นั้นเป็นการบอกว่าคุณจะต้องรู้อะไรบ้างเพื่อให้ทำงานนั้นๆให้สำเร็จ เช่น ไม่เคยทำอาหารมาก่อน ก็ต้องรู้ว่าการทำอาหารจะต้องมีขั้นตอนอย่างไร ซื้อวัตถุดิบบางอย่างที่ไหน มีสูตรการทำเป็นอย่างไร ซึ่งเรื่องเหล่านี้เราสามารถหาได้หลายแหล่ง ส่วนใหญ่ก็คงหนีไม่พ้นการค้นหาในอินเทอร์เน็ต หรือหาหนังสืออ่านเพิ่มเติม หรืออีกวิธีก็คือหาคนช่วยสอน ไม่ว่าจะเป็นเพื่อน, เพื่อนร่วมงาน หรือญาติพี่น้องที่มีความสามารถในการทำเรื่องที่เราไม่ถนัดนั้นๆ

ส่วนการเพิ่มเวลาฝึกฝน ก็คือการฝึกให้เราทำงานนั้นๆได้เร็วขึ้น ทำได้ดีขึ้น ทำได้ถูกต้องมากยิ่งขึ้น ตรงนี้ต้องอาศัยการทำซ้ำๆให้เกิดความชำนาญ ทำบ่อยขึ้นก็จะรู้ว่าควรทำแบบไหนถึงจะดีที่สุด อย่างที่ผมเคยแนะนำหลายๆคนไปว่า ถ้าเราฉลาดหรือมีต้นทุนความรู้น้อยกว่าคนอื่น เราก็ต้องขยันมากกว่าคนอื่น

3. หาคนช่วย

ในความหมายของผมก็คือ หากมีความจำเป็นต้องทำงานที่ไม่ถนัดจริงๆในช่วงเวลาอันสั้น บางงานเราอาจจะใช้การ Outsource ช่วย ให้คนที่เก่งกว่าทำให้ ยกตัวอย่างเช่น หากผมต้องการทำแบนเนอร์สำหรับโพสต์ขายของในโซเชี่ยล ผมอาจไม่จำเป็นต้องไปเข้าคอร์สเรียนการออกแบบกราฟฟิกก่อนเพื่อมาทำงานที่ไม่ถนัดชิ้นนี้ของตัวเอง การจ้างฟรีแลนซ์ทำงานชิ้นนี้ให้ แล้วเราเอาเวลาไปทำอย่างอื่นอาจดูเข้าท่ากว่า

บทสรุปที่ไม่ใช่การสรุป

(ลงท้ายด้วยประโยคยอดฮิตในช่วงนี้ 😋 ) คืออยากจะปิดท้ายว่า เราไม่จำเป็นต้องหลีกเลี่ยงงานที่ไม่ถนัดเสมอไป ใครจะไปรู้ว่าหากเรามีการปรับตัวฝึกฝนเข้ากับงานที่ไม่ถนัดที่ว่านี้ งานนี้อาจกลายเป็นงานโปรดและทำเงินให้กับเราในอนาคตก็ได้ อย่าปิดกั้น แต่ก็ต้องมีการขีดเส้นไว้ว่าควรใช้เวลากับเรื่องพวกนี้มากน้อยขนาดไหน

ขอบคุณที่อ่านจนจบครับ


อ่าน : 0

แชร์ :

เขียนความคิดเห็น